- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 10 November 2016 17:19
- Hits: 2575
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดหุ้นโลกยังผันผวนและมีโอกาสต่ำกว่า 1,500 จุด หลังสหรัฐได้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่มีนโยบายต่างประเทศที่สุดโต่ง ซึ่งน่าจะกดดันเศรษฐกิจ และค่าเงินโลกผันผวน ลดน้ำหนักหุ้นส่งออกหรือที่มีความเสี่ยงต่อค่าเงิน และให้มาเน้นหุ้นเติบโตจากเศรษฐกิจในประเทศ ก่อสร้าง/อุปโภคบริโภค (CK, UNIQ, WHA, SAWAD, BJC) Top pick BJC(FV@B64)
(-) นโยบายการค้าต่างประเทศสุดโต่งของทรัมป์ฯ กดดันคู่การค้าโลก
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐวานนี้นายโดนัลด์ ทรัมป์ (รีพับลิกัน) ได้รับชัยชนะเหนือฮิลลารี คลินตัน (เดโมแครต) พลิกความคาดหมายของโพลล์ทุกสำนัก ด้วยคะแนนเสียง Electoral Vote (เลือกตัวแทนของพรรค) 279 ต่อ 228 เสียง แม้ผลการเลือก Popular Vote (ประชาชนเลือกตัวแทน) พบว่าคลินตันได้คะแนนเสียง 59,814,018 คะแนน มากกว่าทรัมป์ที่ได้ 59,611,678 คะแนน (เหตุการณ์นี้คล้ายกับการเลือกตั้งปี 2543 ที่จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี โดยมี คะแนนเสียง Electoral Vote เหนือ อัล กอร์ ที่ 271 ต่อ 266 เสียง แม้แพ้ popular vote)
ขั้นตอนหลังจากนี้ในวันที่ 19 ธ.ค. จะมีการคัดเลือกประธานาธิบดีในรอบสุดท้าย จากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College casts votes) โดยใช้คะแนนเสียงของสภาคองเกรส (สส. และ สว) และเนื่องจาก พรรครีพับลิกันมี สส. จำนวน 239 ต่อเดโมแครต 192 ที่นั่ง และวุฒิสภา (Senate) ที่ 51 ต่อ 48 ที่นั่ง ทำให้กระบวนการลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีไม่น่าจะพลิกจากผลการเลือกตั้งล่าสุด
ด้วยนโยบายของทรัมป์ที่เน้นเรื่องการกีดกันทางการค้า และแรงงานต่างชาติ คาดว่าหากทรัมป์เดินหน้าทำตามที่ให้คำสัญญาไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียง เชื่อว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกในวงกว้าง หากพิจารณาคู่ค้าหลักของสหรัฐในตลาดโลก 2 ลำดับแรก คือ สหภาพยุโรป 18% ของยอดส่งออกทั้งหมดของสหภาพยุโรป (เฉพาะอังกฤษ 9%) และ จีน 17% ส่วนประเทศเอเชียอื่น ๆ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ 14% อินโดนีเซีย 13.4% และ ญี่ปุ่น 11% เกาหลีใต้ 8.7% มาเลเซีย 8.4% และ ไทย 6.9% นอกจากนี้มีโอกาสยกเลิกสนธิสัญญาทางการค้าที่สหรัฐเสียดุลการค้า อาทิ TPP/FTA น่าจะกดดันต่ออุตสาหกรรมส่งออก ที่ประเทศแถบเอเซียส่งออกไปสหรัฐมากสุด ดังนี้
Labor Intensive คือ อุตสาหกรรม รองเท้า เสื้อผ้า และเครื่องนุ่งห่ม หลักๆ มาจากอินโดนีเซียสัดส่วนสูงถึง 32% ของยอดส่งออกไปสหรัฐ รองลงมาคือ อินเดีย 19.6% ฮ่องกง 19.2.7% จีน 15.5% ฟิลิปปินส์ 12% ไทย 5.5% และเกาหลีใต้ 2.1%
Semi-Skill Labor คือ
อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลักๆมาจาก ประเทศมาเลเซียสัดส่วนสูงสุดถึง 62%ของยอดส่งออกไปสหรัฐ รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ 52% ไทย 48% จีน 44% อินโดนีเซีย 12% อินเดีย 7.7%
อุตสาหกรรมยาง มาจาก อินโดนีเซีย 11.1% ไทย 10.3% มาเลเซีย 3.7% จีน 4.4%
Capital Intensive คือ
เครื่องจักรไฟฟ้า นำโดยไต้หวัน 36.7%
พลาสติก เกาหลีใต้ 4.5% ญี่ปุ่น 3.4%
เครื่องจักร และชิ้นส่วนฯ นำโดยฮ่องกง 49.4%ของยอดส่งออกรวม รองลงมาคือ เกาหลีใต้ 35% และ ญี่ปุ่น 32%
รถยนต์/ขนส่ง นำโดยญี่ปุ่น 40%ของยอดส่งออกรวม เกาหลีใต้ 33% ไต้หวัน 6.3% อินเดีย 4.9% ฟิลิปปินส์ 4.2% จีน 4.1% และ ไทย 4%
เหล็ก มาจาก เกาหลีใต้ 10.5% อินเดีย 6.6% ไต้หวัน 6.1%
คาดว่าแนวโน้มตลาดหุ้นโลกในระยะนี้น่าจะแกว่งตัวลดลง เพราะหากพิจารณาสถิติการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐใน 6 สมัยที่ผ่านมา (2535 - 2555) ตลาดหุ้น Dow Jones มักจะปรับลงหลักการเลือกตั้งราว 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะหากผลการเลือกตั้งได้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่เปลี่ยนพรรคการเมือง (ปี 2535 , 2543 และ 2551) ซึ่งโดยเฉลี่ยลดลง 6% ซึ่งน่าจะมาจากความไม่มั่นใจต่อนโยบายเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไปจากรัฐบาลก่อนหน้า
ขณะที่ตลาดหุ้นไทย ไม่ค่อยสัมพันธ์กับตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงเลือกตั้งมากนัก โดย 6 ครั้งที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยมักจะปรับขึ้นหลังการเลือกตั้ง 1 วัน 5 ครั้ง หรือมีโอกาสถึง 70% ด้วยผลตอบแทนราว 1% แต่หลังจากการเลือกตั้งราว 1 เดือน ตลาดหุ้นไทยจะปรับลงด้วยโอกาสถึง 70% เช่นกัน เฉลี่ยลดลงแรงถึง 9%
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อตลาดหุ้นโลกในการเลือกตั้งปี 2559 นี้ อาจต่างไปจากอดีต เนื่องจากมีนโยบายการค้าที่สุดโต่ง จึงทำให้เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังคงเผชิญกับแรงกดดัน ประกอบกับระดับ Valuation ตลาดหุ้นไทยที่มี Expected P/E สูงถึง 16.7 เท่า รวมทั้งแรงขายในหุ้นรับการประกาศงบ 3Q59 น่าจะทำให้ SET Index อยู่ในภาวะที่ทรงกับลง
กลยุทธ์การลงทุน จึงยังแนะนำสะสมหุ้นผันผวนต่ำ เงินปันผลสูง เช่น ASK, TMT รวมทั้งหุ้นที่แนวโน้มผลประกอบการ 4Q59 เติบโตโดดเด่น เช่น WHA, ASK และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศ เช่น BJC รวมทั้งหุ้นในกลุ่มพลังงาน PTT, PTTEP ที่อาจได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี จากโอกาสที่ OPEC จะร่วมมือกันควบคุมการผลิตในการประชุมวันที่ 30 พ.ย. นี้
(-) ค่าเงินโลกผันผวน ยังไร้ทิศทาง เงินเอเชียน่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่า
จากที่คาดการณ์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าแล้ว คาดว่าน่าจะกระทบต่อสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งน้ำมันและทองคำ ที่ยังมีแนวโน้มผันผวน เพื่อหาจุดดุลภาพ หรือ ระดับที่รองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สะท้อนได้ค่าเงินดอลลาร์ (Dollar Index) อ่อนค่าในช่วงเช้า แต่กลับแข็งค่าในช่วงบ่าย ตรงกันข้ามกับเงินเยน และเงินยูโร ที่แข็งค่าในช่วงเช้าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่กลับแข็งค่าในช่วงบ่าย
เช่นเดียวกันราคาทองคำที่แกว่งตัวสูงมาก โดยช่วงเข้าขึ้นไปสูงสุดที่ 1,337 เหรียญต่อออนซ์ในช่วงตลาดช่วงเช้า แต่ได้อ่อนตัวลงมาต่ำกว่า 1,275 เหรียญฯ ช่วงปิดตลาด ยกเว้นราคาน้ำมันดิบฯ ที่ผันผวนน้อยกว่า เพราะปัจจัยกดดันหลักมาจากผลผลิตที่ยังเกินความต้องการ หรือ Oversupply (Demand มากกว่า Supply น้ำมันโลก) มากกว่าเรื่องของค่าเงิน
(-) ต่างชาติขายหุ้นทั่วทั้งภูมิภาค หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ
วานนี้ตลาดหุ้นเอเชียผันผวนอย่างหนัก หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัยการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯอย่างพลิกความคาดหมาย ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างชาติได้เทขายหุ้นในภูมิภาคทุกประเทศ ด้วยมูลค่าสูงถึง 728 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 11) และหากพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่า ตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิสูงถึง 460 ล้านเหรียญ (หลังซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 184 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5), อินโดนีเซีย 4 ล้านเหรียญ, ฟิลิปปินส์ 4 ล้านเหรียญ และไทยที่ถูกขายสุทธิราว 75 ล้านเหรียญ หรือ 2.6 พันล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 13 โดยมียอดขายสุทธิรวมกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันฯที่ขายสุทธิราว 657 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน)
ด้วยความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจของผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ ในระยะสั้นน่าจะกดดันให้ Fund Flow ยังคงไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์