WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASP copyบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
  แม้ตลาดปรับฐาน จากแรงขายต่างชาติ และน่าจะแกว่งตัวต่ำกว่า 1,500 จุด อีกพักจนกว่าจะมีปัจจัยบวกหนุนที่ชัดเจนกว่านี้ จึงยังแนะนำให้สะสมหุ้นกำไรเด่นงวด 4Q59 (ASK, WHA, SAWAD, HMPRO, BJC) และยังเลือก BJC (FV@B64) และ CK(FV@B) เป็น Top picks

(-) Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยปีนี้..การเลือกตั้งประธานธิบดียังถ่วงตลาด
  ผลการประชุม FOMC วานนี้เป็นไปตามคาด กล่าวคือ คณะกรรมการ Fed มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.25-0.50% ตามเดิม โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจและการจ้างงานฟื้นตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรก แม้เงินเฟ้อยังต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาวที่ 2% แต่ก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ประเด็นความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกระยะสั้นเริ่มผ่อนคลายและเข้าสู่สมดุลมากขึ้น ทำให้ตลาดให้น้ำหนักต่อการขึ้นดอกเบี้ยในการเดือน ธ.ค. (เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้) แต่การขึ้นดอกเบี้ยจะแบบค่อยเป็นค่อยไป โดย ยังคงให้ความสำคัญไปที่ตัวเลขชี้นำทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก (ผลสำรวจ Fed Fund Futures เพิ่มน้ำหนักการขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. ขึ้นเป็น 78% จากวันก่อนหน้าที่ 68% )
  อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นสหรัฐกลับไม่ได้ตอบรับในเชิงบวก รวมทั้งผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี ร่วงลงสู่ 1.80% จาก 2 วันก่อนหน้าที่ขึ้นไปสูงถึง 1.88% เช่นเดียวกับเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด Dollar Index ลดลงจากระดับสูงสุดที่ 98.77 (ช่วงปลาย ต.ค.) สู่ 97.28 เช้านี้ หรือ กว่า 1.16% ขณะที่ดัชนีวัดความผันผวน VIX Index พุ่งขึ้นสูงถึง 19.32 จากวันก่อนหน้าที่ 18.56 ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐ และตลาดเงินปรับฐานแรงในช่วงนี้ มาจากความกังวลเรื่องการเลือกตั้งของประธานาธิบดีสหรัฐ จึงน่าจะเป็นเหตุผลอีกประการที่ทำให้ Fed ยังไม่ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้

(0) ดอลลาร์อ่อนค่า กังวลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดี
  นอกจากประเด็นผลประชุม Fed ข้างต้น ช่วงนี้เป็นช่วงรายงานผลประกอบการบริษัทสหรัฐ งวด 3Q59 ซึ่งโดยภาพรวมกำไรออกมาค่อนข้างดี คือ ราว 70% ของบริษัทที่ประกาศงบฯ แล้ว มีกำไรดีกว่าคาด เช่น Citi Group, Bank of America Corp Goldman Sachs Group Inc ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ กลับมีผลการดำเนินงานทรงตัว อาทิ Apple, Wells Fargo & Co นอกจากนี้ตลาดหุ้นกลับมากังวลต่อผลการเลือกตั้งของประธานาธิบดีสหรัฐที่ใกล้จะถึงในต้นสัปดาห์หน้า 8 พ.ย.59 ล่าสุด ผลสำรวจคะแนนนิยมของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับนาง ฮิลลารี คลินตัน (สะท้อนจากผลสำรวจล่าสุดของ Bloomberg ทรัมป์ ขึ้นมาอยู่ที่ 45.5% เพิ่มติดต่อกันจาก 42.2% ในวันที่ 26 ต.ค. เทียบกับ คลินตัน ลดลงเหลือ 47.2% จาก 48.4% ในวันที่ 26 ต.ค.)
  อย่างไรก็ตามหากทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็น ประธานาธิบดี เชื่อว่าจะสร้างความกังวลทั่วโลก เนื่องจาก ทรัมป์ ซึ่งมีฐานเสียงมาจากนักธุรกิจ นายทุนและผู้มีฐานะ โดยเสนอให้ยกเลิก ประกันสุขภาพ (Obamacare) แต่กลับเสนอให้ลดภาษีเงินได้บุคคลลและนิติบุคคล และประเด็นที่สร้างความกังวลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกคือชูนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งน่าจะกระทบต่อประเทศที่ส่งออกหลักไปสหรัฐ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึง ยกเลิกสนธิสัญญา ที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐ อาทิ KORUS FTA และ TPP นอกจากนี้นโยบายกันผู้อพยพต่างชาติ โดยเฉพาะเชื้อชาติมุสลิม น่าจะสร้างความขัดแย้งในวงกว้าง
  ผลกระทบต่อประเทศเอเซีย และรวมถึงไทย จึงมิอาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักเป็นอเมริกา อันดับ 1 คือ จีน (ราว 54% ของการค้าที่ US-ASIA) รองลงมา ญี่ปุ่น(ราว 15%) และอันดับ 3 คือ เกาหลีใต้ (ราว 8%) ขณะที่ผลกระทบต่อไทย อาจจะมีทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะสหรัฐถือว่าเป็นคู่ค้าหลักของไทย ( ตลาดส่งออกหลักของไทย ปี 2559 พบว่า อันดับ 1คือ สหรัฐราว 11.4% สินค้าที่ไทยส่งออกสหรัฐ คือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ 30.6% รองลงมาคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า 17.1% และชิ้นส่วนอัญมณี 7.9% ยางรถยนตร์ 6% และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 5%) แต่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สหรัฐอาจจะมีผลกระทบจำกัด เนื่องจากมีสัดส่วนลงทุนน้อยมากราว 0.7% ของ FDI รวมทั้งหมด

(-) ราคาน้ำมันลดลงเกือบ 13% สะท้อนสต็อกน้ำมันเพิ่มมากกว่าคาดแล้ว
  ราคาน้ำมันลงแรงต่อเนื่องเป็นสัปดาหี่ 3 โดยราคาน้ำมันดูไบลดลงมาต่ำกว่า 44 เหรียญฯต่อบาร์เรลหรือลดลงเกือบ 13% ทั้งนี้หลัก ๆ น่าจะเป็นเพราะตลาดน่าจะผิดหวังหรือลดความหวังเชิงบวก ต่อการเจรจาปรับลดกำลังผลิตของกลุ่ม OPEC ที่จะมีการประชุมอย่างเป็นทางการ 30 พ.ย. นี้ หลังจากผู้ผลิตน้ำมันหลายแห่ง ส่งสัญญาณที่จะไม่ตัดลดกำลังการผลิตอย่างที่มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการก่อนหน้า ล่าสุดเป็น อิรัก ผู้ผลิตน้ำมันใหญ่อันดับ 2 ของ OPEC ตามหลัง อิหร่าน ไนจีเรีย และ ลิเบีย ประกอบกับการรายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐล่าสุด 28 ต.ค. เพิ่มขึ้น 14.42 ล้านบาร์เรล มากกว่าตลาดคาดมากและเป็นยอดเพิ่มสูงสุดในรอบ 34 ปี (จากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบกว่า 2 ล้านบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี ในสัปดาห์ที่ผ่านมา) สวนทางกับน้ำมันสำเร็จรูปเบนซินและดีเซลที่ลดลง 2.21 และ 1.83 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ
  ทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าวมีน้ำหนักหักล้าง Dollar Index ที่อ่อนตัวลง 1.4% หลังจากที่แตะระดับสูงสุดที่ 98.77 เมื่อ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา น่าจะช่วยหนุนราคาน้ำมันให้ทรงตัวที่ระดับปัจจุบันหรือฟื้นตัวในระยะสั้น ๆ ได้ โดยคาดว่าปัญหาหาด้าน Oversupply น่าจะค่อย ๆ ลดลง และต้องติดตามผลการประชุม OPEC อีกครั้ง หากราคาน้ำมันยืน จะหนุนหุ้น PTT, PTTEP และจะข่วยประคองตลาดให้อยู่ในทิศทางแกว่งตัวได้ แม้ยังไม่มีประเด็นใหม่ ๆ มาหนุนก็ตาม

(-) ต่างชาติยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาค รวมถึงไทย
  วานนี้ต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ด้วยมูลค่า 262 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นอินโดนีเซียเพียงแห่งเดียวที่สลับมาซื้อสุทธิราว 19 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 4 แห่งต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ ไต้หวันขายสุทธิราว 179 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 47 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน), ฟิลิปปินส์ 30 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6) และไทย 24 ล้านเหรียญ หรือ 846 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 8 โดยมียอดขายสุทธิรวมกว่า 9.3 พันล้านบาท) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันฯสลับมาขายสุทธิราว 1.0 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน)
  ดังที่กล่าวข้างต้น ผลการประชุม Fed ยังส่งสัญญานการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ฯ 1 ครั้งในปีนี้ น่าจะยังหนุน Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องนับจากนี้
  ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯยังคงซื้อสุทธิราว 1.2 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 2.5 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)

ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!