WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
      FOMC ยังให้น้ำหนักต่อตลาดแรงงาน โดยไม่กำหนดเวลาขึ้นดอกเบี้ยเช่นเดิม ขณะที่ตลาดหุ้นไทยน่าจะยังปรับฐาน หลังสะท้อนความคาดหวังเชิงบวกต่อประเด็นการเมือง จึงยังแนะนำปรับพอร์ต และถือหุ้นปันผล BECL(FV@B45), PTTEP(FV@B195) เลือก PYLON([email protected]) เป็น Top pick

น่าจะสรุปรายชื่อ สนช. 3 ส.ค. และเปิดสภาฯ กลาง ส.ค. นี้
      เป็นที่ชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ในการแต่งตั้งบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยล่าสุดได้มีการกำหนดสัดส่วนของบุคคลจากหน่วยงานต่างๆ ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก รวมไม่เกิน 220 คน ประกอบด้วย ตัวแทนจากกองทัพบก 60 คน, กองทัพไทย 20-30 คน, กองทัพเรือ 20 คน, กองทัพอากาศ 20 คน, กระทรวงกลาโหม 5-10 คน , ตำรวจ 5-10 คน และอื่นๆ 60–80 คน (ที่มา นสพ. กรุงเทพธุรกิจ) ทั้งนี้คาดว่าจะมีการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. – 3 ส.ค.2557 โดยหลังจากได้รับการโปรดเกล้าฯ แล้ว คาดว่าจะมีการเปิดประชุมสภาฯ ได้ในช่วงกลางเดือน ส.ค. นี้ ซึ่งเมื่อเปิดสภาฯ แล้วก็จะมีการพิจารณากฎหมายเร่งด่วนต่างๆ และการสรรหาตัวบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี
    ถือได้ว่ากระบวนการทำงานโดยรวมของ คสช. เป็นไปตามกรอบเวลาที่วางไว้ และจากนี้ไปจะเห็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นตามลำดับ เฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งองค์กรต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ปฎิรูประเทศ อย่างไรก็ตามต้องถือว่าการปรับตัวขึ้นมาของ SET Index นับแต่การเข้าควบคุมอำนาจการปกครองเมื่อ 22 พ.ค.2557 (SET Index 1405.21 จุด) SET Index ได้ปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 8% ซึ่งน่าจะเป็นการตอบสนองต่อความเสี่ยงทางการเมืองที่ลดลงไปแล้ว จากนี้ไปการเคลื่อนไหวของ SET Index จะขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าในการดำเนินงานของ คสช. และผลของการดำเนินการแต่ละขั้นตอน เช่น การที่ต้องรอดูว่า ใครจะเข้ามาทำหน้าที่รัฐบาลในการบริหารประเทศในช่วง 1 ปี เศษข้างหน้า, การเดินหน้าแผนงานในการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอย่างไรเป็นต้น ซึ่งภาวะดังกล่าว อาจทำให้ Upside มีจำกัดและทิศทางการเคลื่อนไหวของ SET Index ผันผวนต่อเนื่อง เฉพาะอย่างยิ่งที่ระดับ Current PER บริเวณ 16 เท่า ซึ่งสูงกว่าภาวะปกติ

FOMC ยังให้ความสำคัญกับตลาดแรงงาน
แม้การรายงานเศรษฐกิจสหรัฐล่าสุดสร้างความประทับใจต่อตลาดอย่างมาก โดยพบว่า GDP Growth 2Q57 เติบโต 2.4%yoy เป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ 3Q56 และดีขึ้นจากที่เติบโต 1.9% ใน 1Q57 (แก้ไขจากการรายงานครั้งก่อนที่ 1.5%) ซึ่งทำให้ 1H57 อยู่ที่ 2.15% ซึ่งทำให้การเติบโตสามารถเกินเป้าหมายได้ไม่ยาก หากพิจารณาการคาดการณ์ของ IMF ที่ 1.7% นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ในช่วง 2H57 จะต้องขยายตัวไม่ต่ำกว่าไตรมาสละ 1.25% แต่อย่างไรก็ตามผลการประชุมของ FOMC ล่าสุดระหว่างวันที่ 29-30 ก.ค. ยังตัดลดวงเงิน QE 1 หมื่นล้านเหรียญฯ (เป็นครั้งที่ 6) ลงเหลือ 2.5 หมื่นล้านเหรียญฯ สิ้นเดือนนี้ และคาดว่าจะเสร็จสิ้น ต.ค. นี้ โดยยังมิได้กำหนดกรอบระยะเวลาที่จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ชัดเจน และยังให้ความสำคัญการฟื้นตัวของตลาดแรงงานเป็นหลัก เนื่องจากเห็นว่าอัตราค่าจ้างยังต่ำ และอัตราการว่างงานยังมีโอกาสลดลงได้อีกจากปัจจุบันที่ 6.1% ทั้งนี้แม้ล่าสุด มีการรายงานตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน (จาก ADP) เดือน ก.ค. ยังคงเพิ่มขึ้น 218,000 ตำแหน่ง และเป็นระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปี 2557 ขณะที่การรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรจะรายงานพรุ่งนี้ ซึ่งน่าจะมีแนวโน้มในทิศทางเดียวกับเอกชน

สหรัฐ และ ยุโรป เพิ่มการคว่ำบาตรรัสเซีย
เพื่อตอบโตรัสเซีย ที่เข้าแทรกแซงการเมืองในยูเครน ล่าสุด สหภาพยุโรป (EU) เพิ่มการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเพิ่มเติม คือ ควบคุมไม่ให้รัสเซียสามารถเข้าถึงการระดมทุนจากธนาคารและเทคโนโลยีอันทันสมัย คุมเข้มการส่งออกอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการปรับปรุงอุตสาหกรรมน้ำมันให้ทันสมัย (อุตสาหกรรมน้ำมันถือเป็นเศรษฐกิจหลักของรัสเซีย) และระงับสัญญาการขายอาวุธฉบับใหม่ให้กับรัสเซีย (รวมถึงการส่งออกเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับยุทธปัจจัยทางทหารด้วย)
ตามมาด้วยสหรัฐ ได้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตร โดยพุ่งเป้าไปที่ธนาคาร 3 แห่งของรัฐบาลรัสเซีย ได้แก่ แบงก์ ออฟ มอสโคว์, รัสเซียน อะกริคัลเจอรัล แบงก์ และวีทีบี แบงก์ โดยห้ามไม่ให้หน่วยงานหรือบุคลากรของสหรัฐจัดหาเงินทุนก้อนใหม่ให้กับสถาบันการเงินทั้ง 3 แห่งนี้ และรวมทั้งจำกัดการเข้าถึงอุตสาหกรรมพลังงานและการผลิตอาวุธ
ส่วนทางด้านรัสเซีย ตอบโต้การคว่ำบาตรสหรัฐและสหภาพยุโรป โดยเตรียมเสนอสภา ร่างกฎหมายห้ามบริษัทตรวจสอบบัญชีสัญชาติอเมริกัน เช่น Deloitte LLP และ KPMG LLP เข้ามาทำธุรกิจในประเทศเพื่อความมั่นคงและสงวนไว้ให้กับชาวรัสเซียเอง พร้อมกับประกาศสั่งห้ามการนำเข้าไก่จากสหรัฐฯและผลไม้จากยุโรป
ดูเหมือนการตอบโต้ระหว่าง 2 ฝ่ายกำลังขยายตัวเข้าสู่การค้า ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งเป็น เป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ของโลก และส่งออกไปยังรัสเซียมากเป็นเป็นอันดับสองรองมาจากเม็กซิโก (ปี 2556 สหรัฐส่งออกไก่ไปรัสเซียกว่า 309 ล้านเหรียญฯ) นอกจากนี้ รัสเซียยังนำเข้าไก่จากญี่ปุ่นด้วย ดังนั้นหากญี่ปุ่นคว่ำบาตรรัสเซียเช่นเดียวกับพันธมิตร อาจจะทำให้ตลาดส่งออกไก่ไปรัสเซียจะกลายเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ส่งออกไทย และ จีน

เศรษฐกิจไทย -0.3% 2Q57 ดีขึ้นจาก -0.6% 1Q57
The Wall Street Journal เช้านี้ ระบุว่ากระทรวงคลัง ได้เปิดเผยตัวการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในงวด 2Q57 หดตัวราว 0.3%yoy (+0.2%qoq) นับว่าดีขึ้นจากงวด 1Q57 ที่หดตัว 0.6% (ดีกว่า ธปท. คาด ว่าจะหดตัว 0.4%yoy และ ASP คาดจะขยายตัว 0.6%yoy) ทั้งนี้เป็นผลกระทบจากปัญหาการเมืองในประเทศ โดยภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักคือ ท่องเที่ยว การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นเหตุผลทำให้กระทรวงการคลังปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงเหลือ 2% จากเดิม 2.6% แต่ก็ดีกว่า ธปท. ที่คาดการณ์ไว้เพียง 1.5% (ASP คาดไว้ 2% เช่นกัน) และดีกว่านักวิเคราะห์ต่างประเทศเช่น Moody’s คาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะหดตัว 0.4% ตลอดปี 2557 ทั้งนี้ปัจจัยบ่งชี้เศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอจากการหดตัวของหลายอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ที่หดตัว 26.1% และ เครื่องใช้ไฟฟ้าลดลง 8.73%
      แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะมีสัญญาณการฟื้นตัวตามลำดับในงวด 3Q57 และ 4Q57 เนื่องจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ดีขึ้น หลังความวุ่นวายทางการเมืองยุติช่วงสั้น ภายหลังการยึดอำนาจ โดยคาดว่าน่าจะเติบโตระหว่าง 3.5-4% ต่อไตรมาส โดยปัจจัยขับเคลื่อนน่าจะมาจาก การบริโภคภาคครัวเรือน และการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่ปี 2558 คาดว่าน่าจะเติบโตในระดับ 3.5-4% โดยน่าจะได้รับแรงหนุนเพิ่มเติม จากการลงทุนภาครัฐ หลังจากที่มีแผนเดินหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท (ดังที่ได้กล่าวไว้ใน Market Talk วานนี้) และ ภาคส่งออกน่าจะกระเตื้องขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ต่างชาติเริ่มเข้าซื้อหนักรายประเทศ
      วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ด้วยยอดสูงถึง ราว 827 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 51% จากวันก่อนหน้า) โดยที่ยอดซื้อสูงสุดยังคงมาจากเกาหลีใต้ โดยซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 15 ด้วยมูลค่าสูงถึง 597 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 79% จากวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยไต้หวันซื้อต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ราว 279 ล้านเหรียญฯ ใกล้เคียงกับวันก่อนหน้า ส่วนฟิลิปปินส์กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง และซื้อสุทธิเ 3 ล้านเหรียญฯ (เป็นวันที่ 2) แต่ลดลง 34% กลับกัน ไทยขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 53 ล้านเหรียญฯ หรือ 1.7 พันล้านบาท (ใกล้เคียงกับวันก่อนหน้า) ขณะที่ตลาดหุ้นอินโดนีเซียยังปิดทำการเนื่องจากวันสำคัญทางศาสนา
        ทั้งนี้ แม้ว่าวานนี้นักลงทุนต่างชาติจะเป็นผู้ขายสุทธิหุ้นไทยออกมาราว 1.7 พันล้านบาท แต่ถ้าหากหักยอด BIG Lot ของ SIM ออกไปจำนวน 2.8 พันล้านบาท จะพบว่า ต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิหุ้นไทยสุทธิราว 1.2 พันล้านบาท เช่นเดียวกับในตลาดตราสารหนี้ที่นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิราว 4.0 พันล้านบาท (ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2, ซื้อ 23 จาก 24 วันหลังสุด) แต่อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่าในระยะสั้นนักลงทุนกลุ่มนี้น่าจะยังซื้อสลับขายหุ้นไทย หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้ากว่า 2.3 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดในกลุ่ม TIP ที่ต่างชาติเริ่มชะลอการซื้อและสลับขายออกมาบ้าง

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!