- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 07 October 2016 18:22
- Hits: 5557
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ราคาน้ำมันดิบโลกยังฟื้นต่อ นอกจากหวังผลการเจรจาลดกำลังผลิตโลกแล้ว สัปดาห์หน้าอาจจะมีพายุเฮอริเคน ทำให้สต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง ทำให้หุ้นน้ำมันยังนำตลาด กลยุทธ์ให้ถือหุ้น 30% และสะสมหุ้นกำไรเด่นงวด 2H59 (WHA) และปันผลสูง (ASK, MCS, HANA) Top picks คือ WHA([email protected]) และ PTTEP(FV@102) ราคาน้ำมันฟื้นตัวหนุนกำไรปี 2560
(0) ค่าเงินโลกผันผวน จากปอนด์หลัง Brexit เงินเอเซียแกว่งตัว
ค่าเงินโลกกลับมาผันผวนสูงจากผลกระทบ Brexit ล่าสุด เงินปอนด์–ดอลลาร์ อยู่ที่ระดับ 1.128 ปอนด์ อ่อนค่าเกือบ 20% นับจากผลการทำประชามติ แต่ยังลดลงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤติซับไพร์มปี 2551 ที่ลดลง 30% ขณะที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่า 2.5% ในช่วงเดียวกัน แต่ถือว่ายังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤติฯ ที่อ่อนค่า 18% การอ่อนค่าของเงินปอนด์ถือว่าไม่น่าแปลกใจ เพราะยังมีความเสี่ยงจาก Brexit ต่อเศรษฐกิจทั้งการค้าและการลงทุนในยุโรป ปัจจุบันอังกฤษพึ่งพาการค้าสหภาพยุโรป 58% ของมูลค่าการค้ารวมของอังกฤษ (ประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปที่มีสัดส่วนการค้ามากที่สุดคือ เยอรมนี 22% อังกฤษ 10% และฝรั่งเศส 10%) ขณะที่สหภาพยุโรปมีสัดส่วนการการค้าโลกใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกราว 10% รองจากสหรัฐ และจีน
ทั้งนี้แม้อังกฤษมีแผนที่จะเดินหน้าออกจากยุโรปภายในงวด 1Q60 แต่จะต้องใช้เวลาในการเจรจาการค้า และการลงทุนกับสมาชิกฯ ที่เหลือ 27 ประเทศ พร้อมออกกฎหมายรองรับ ซึ่งน่าจะกินเวลาเป็นปี ความเสี่ยงที่ยังประเมินยากคือ ผลกระทบการค้า และการลงทุน
ด้านเงินดอลลาร์ยังคงแกว่งตัวทิศทางแข็งค่า ล่าสุดอยู่ที่ 96.87 จุด จากความคาดหวัง Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยในปลายปีนี้ (ผลสำรวจ Fed Fund Future ล่าสุดโอกาสขึ้นรอบ 13-14 ธ.ค. เพิ่มเป็น 64% เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 9 วัน จากต่ำสุดที่ 49.9% ในวันที่ 27 ก.ย.) แต่เชื่อว่ายังขึ้นกับการรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคการเกษตร(Non-farm payrolls) เดือน ก.ย. ในวันนี้ (ตลาดคาดเพิ่ม 1.72 แสนราย จาก 1.51 แสนรายในเดือน ส.ค. และอัตราว่างงาน คงที่ 4.9% ติดต่อกัน 3 เดือน ปัจจัยเหล่านี้ยังคงเอื้อให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเซีย แกว่งตัวทิศทางแข็งค่า เนื่องจากเม็ดเงินต่างชาติยังคงซื้อสลับขายและสลับระหว่างตราสารหนี้และตราสารทุน
(+) ราคาน้ำมันแตะ 50 เหรียญฯ ความหวังกำลังผลิตส่วนเกินลดลง
ราคาน้ำมันดิบโลกยังคงฟื้นตัวเหนือความคาดหมาย ล่าสุดยืนเหนือ 50 เหรียญฯต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. ซึ่งนอกจากสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐที่ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 5 แล้ว ความร่วมมือกันที่ชัดเจนมากขึ้นระหว่างผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC สะท้อนจากที่จะมีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการอีกครั้งในช่วง 8-10 ต.ค. นี้ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี เพื่อหาข้อสรุปในการตัดลดกำลังการผลิตรายประเทศ หลังผลการประชุมในกลุ่ม OPEC เมื่อปลาย ก.ย. เบื้องต้นให้ลดกำลังผลิตลง ราว 2-7 แสนบาร์เรลต่อวัน เหลือ 32.5-33 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะทำให้ปัญหา Over Supply ลดลงเหลือ 1- 1.5 ล้านบาร์เรล (จากปัจจุบันที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้า ตลาดยังคาดว่าสต็อกน้ำมันดิบจะยังคงลดลงต่อเนื่อง จากผลกระทบจากพายุเฮอริเคนแมตทิว ที่จะเข้าสู่ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ในอีก 2–3 วันข้างหน้านี้ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งน้ำมันเข้าสู่สหรัฐ ล่าสุดหนุนราคาน้ำมันดูไบล่าสุดปิดตลาด 48.98 เหรียญฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 8.45% นับตั้งแต่ต้นเดือน ทำให้ ytd อยู่ที่ 39.49 เหรียญฯต่อบาร์เรล แม้ยังห่างจากสมมุติฐาน ASPS ที่ระดับ 45 เหรียญฯต่อบาร์เรลปีนี้ แต่ปี 2560 สมมุติฐานปี 2560 ที่ 50 เหรียญฯต่อบาร์เรล มีความเป็นไปได้สูง และดีต่อหุ้น PTTEP(FV@B102) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปิโตรเลี่ยม (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) จึงน่าได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้มากสุด
รองลงมาคือ PTT(FV@B400) เนื่องจากเป็นฐานธุรกิจมีการกระจายตัวดีที่สุดกล่าวคือถือหุ้น PTTEP (PTT ถือหุ้น65.3%) และยังถือหุ้นโรงกลั่นและ ปิโตรเคมีคือ PTTGC (PTT ถือหุ้น 49%) และ TOP (PTT 48.9%) เป็นต้น ตามด้วย BANPU([email protected]) ได้ประโยชน์เช่นกัน แม้ราคาถ่านหินจะมีการปรับเพิ่มช้ากว่าราคาน้ำมัน แต่ถือว่าได้ผ่านจุดต่ำสุด และการที่ BANPU ถือหุ้นในโรงไฟฟ้า IPP อีกหลายแห่งน่าจะทำให้ BANPU มีฐานรายได้ที่กระจายตัวที่ดีอีกแห่งหนึ่งในอนาคต
(-) ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นไทยเล็กน้อย แต่ภาพคล้ายกับใน TIP
วานนี้แม้ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 แต่ด้วยมูลค่าเพียง 41 ล้านเหรียญ แต่เป็นการซื้อสุทธิในตลาดหุ้นเกาหลีใต้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ด้วยมูลค่าราว 106 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 4 ประเทศต่างชาติสลับมาขายสุทธิ คือ ไต้หวันขายสุทธิราว 39 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 3 วัน) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 7 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2), อินโดนีเซีย 6 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) และไทยที่สลับมาขายสุทธิราว 14 ล้านเหรียญ หรือ 471 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ต่างกับนักลงทุนสถาบันฯที่ซื้อสุทธิ 792 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว)
ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิราว 1.7 หมื่นล้านบาท สวนทางกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 704 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ซึ่งแรงขายทั้งตลาดหุ้นและตราสารหนี้ไทย ยังเป็นปัจจัยที่กดดันให้บาทเริ่มมีแนวโน้มอ่อนค่าขึ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ 34.83 บาท/เหรียญสหรัฐฯ
กลยุทธ์ยังเน้นถือเงินสด 70% สะสมหุ้นเด่น : WHA, HANA, MCS, PTTEP
ฝ่ายวิจัยมีมุมมองเชิงบวกต่อมาตรการภาครัฐที่ออกมาในระยะนี้ โดยเฉพาะร่าง พรบ. ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ที่มีศักยภาพและเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่แข็งแกร่งจากการอยู่ใกล้ท่าเรือน้ำลึก และสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งยังมีการเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติด้วยการออกมาตรการจูงใจต่างๆ พิจารณาจากข้อมูลของ BOI พบว่า 7 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ามีผู้ที่ยื่นขอส่งเสริมโครงการลงทุนทั้งสิ้น 510 โครงการ (เพิ่มขึ้น 96%yoy) เงินลงทุนกว่า 1.33 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้น 210%yoy) โดยญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีผู้ยื่นขอส่งเสริมสูงสุด คิดเป็น 20% ของ FDI ทั้งหมด
เบื้องต้นภาครัฐได้คาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออกสูงถึงราว 1.5 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า จึงเชื่อว่าน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะยาว
ในส่วนของเงินบาทนั้น แนวโน้มต่อไปน่าจะทรงตัว หรือแข็งค่าขึ้น ยังเป็นปัจจัย fund flow แม้อาจจะเป็นแรงซื้อสลับขาย แต่เป็นภาพเดียวกับที่เกิดในประเทศเพื่อนบ้าน และราคาน้ำมันที่ยังปรับขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จึงน่าจะเป็นปัจจัยผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้สามารถยืนเหนือ 1,500 จุดได้ ต่อเนื่องถึงสัปดาห์หน้าน่าจะยังคงแกว่งตัวเชิงบวกได้ต่อเนื่อง
กลยุทธ์การลงทุน ยังให้ถือเงินสด 70% และลงทุนหุ้น 30% โดยปรับพอร์ตขายหุ้นที่เกิน Fair Value หรือปรับขึ้นมามากเกิน และเลือกหุ้นแบบ Selective Buy เน้นหุ้นที่มีกำไรโดดเด่นในงวด 2H59 แต่ราคาหุ้นยังมี upside คือ
อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ERW ([email protected]), CENTEL (FV@B48), MINT (FV@B48) รวมทั้ง AOT (FV@B490) จากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวไตรมาส 4
โรงพยาบาล BCH (FV@B14), BH (FV@B213) รวมทั้ง LPH (FV@B13)
หรือหุ้นที่มีกำไรเด่นงวด 3Q59 หรือมีเงินปันผลสูง บวกราคาหุ้นยัง Laggard ได้แก่ ASK ([email protected]), HANA (FV@B42), MCS ([email protected]) รวมถึงหุ้นที่ประเด็นบวกในช่วงนี้ ได้แก่ WHA ([email protected]) และ TPIPL ([email protected]) ที่เริ่มรับรู้กำไรจะธุรกิจโรงไฟฟ้าชัดเจนขึ้น และกำลังจะนำบริษัทย่อยที่ทำธุรกิจโรงไฟฟ้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในเดือน พ.ย. นี้ เป็นต้น
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์