- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 22 July 2016 17:58
- Hits: 968
บล.เอเซีย พลัส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การ Take profit เพิ่งเริ่มต้น เชื่อว่าตลาดผิดหวังที่อังกฤษ และยุโรป ไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ระยะสั้นดัชนีมีโอกาสลงทดสอบ 1,490-1495 จุด ยังให้ ขายหุ้นที่เกิน Fair Value และะสลับหุ้น Domestic ราคายัง Laggard/ปันผลสูง (ADVANC, ASK, BBL, RATCH, SCCC, TMB) Top pick เลือก SCCC(FV@B390) มีกระแสเงินสดมั่นคง/ปันผลสูง กระทบจากเศรษฐกิจโลกจำกัด
ตลาดน่าจะผิดหวัง ทั้งยุโรปและ อังกฤษยังไม่มีมาตรการกระตุ้นขณะนี้
เชื่อว่าตลาดน่าจะผิดหวังหลังจากที่ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงนโยบายเดิม ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0% (ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์) และคงดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ ติดลบ 0.4% และคงวงเงิน QE ที่ระดับ 8 หมื่นล้านยูโร/เดือน สอดสอดคล้องกับ การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ(BOE) ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งยังคงดอกเบี้ย 0.5% (ยาวนานราว 7 ปี) อย่างไรก็ตามนับจากนี้คงต้องให้น้ำหนักการประชุม ECB รอบถัดไปคือ 8 ก.ย. ซึ่งคาดว่าจะมีการขยายระยะเวลาโครงการ QE ออกไปจากเดิม สิ้นสุดเดือน มี.ค.60 ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะตลาดคลายความกังวลต่อ Brexit
ทั้งนี้คาดว่ากว่าที่ อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป อาจจะกินเวลานานเกิน 2 ปี (ระหว่างนี้ อังกฤษยังคงได้สิทธิในการเป็นสมาชิกเหมือนเดิม) เนื่องจากขั้นตอนการออกจากสหภาพยุโรปมีความซับซ้อน นับตั้งแต่การขอฉันทามติจากรัฐสภาอังกฤษเพื่อขอใช้มาตรา 50 ภายใต้สนธิสัญญาลิสบอน (2550) ต่อ European Council ในการเริ่มกระบวนการออกจากสหภาพ หลังจากนี้จึงจะสามารถเริ่มต้นเจรจาด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศสมาชิกที่ยังคงอยู่ในสหภาพยุโรป และเมื่อผลการเจรจาคืบหน้า ต้องนำผลเจรจากจากทุกประเทศไปขออนุมัติ ทั้งรัฐสภาของอังกฤษ และฝั่งสหภาพยุโรปต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกทั้ง 27 แห่ง และหลังจากนี้จะต้องทำสัญญาร่วมกันระหว่าง อังกฤษ กับสหภาพยุโรป เพื่อร่างสนธิสัญญาการค้าใหม่ ซึ่งจะต้องนำมาลงมติ พร้อมได้รับ เสียงสนับสนุนเกิน 60% ของสมาชิกสหภาพทั้งหมด
ระยะสั้นจึงต้องกลับมาติดตามดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของยุโรป ซึ่งยังส่งสัญญาชะลอตัวต่อเนื่อง ทั้งฝั่งภาคครัวเรือน พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. ทำจุดต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ตามมาด้วยยอดค้าปลีกชะลอตัวลงติดต่อกัน 3 เดือน และภาคการผลิต พบว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ PMI ที่ยังแกว่งตัวผันผวน ขณะที่สหรัฐ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจมีสัญญานฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคครัวเรือนพบว่า ยอดขายบ้านมือสอง เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดคาด 1.1% mom อยู่ที่ระดับ 5.57 ล้านหลัง (ทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 ปี) สอดคล้องกับต้นสัปดาห์การรายงานยอดสร้างบ้านใหม่ (Housing Start) และยอดขออนุญาตก่อสร้าง (Building Permit) เดือน มิ.ย. ขยายตัว 4.8%mom และ 1.5%mom แต่เงินเฟ้อยังทรงตัว 1% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และปัญหา Brexit ทำให้คาดว่า Fed ยังชะลอการขึ้นดอกเบี้ยไปถึงสิ้นปีนี้
แรงขายรับงบ ธ.พ. ยังมีอยู่ มองข้าม 2H59 กำไร ธ.พ. ไม่สดใส
กลุ่มธนาคารพาณิชย์รายงานงบ 2Q59 เสร็จสิ้น โดย ธ.พ. 10 แห่ง ที่ฝ่ายวิจัยศึกษาทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 5.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.2%qoq และทรงตัว yoy โดยพบว่า ธ.พ. ขนาดกลาง-เล็ก ส่วนใหญ่มีผลประกอบการออกมาดีกว่าคาด นำโดย LHBANK เติบโตถึง 40%qoq และ 91%yoy ตามด้วย KKP เติบโต 17%qoq และ 73%yoy, TCAP เติบโต 8.6%qoq และ 5.3%yoy ส่วน TISCO เติบโต 20%yoy แต่หดตัวเล็กน้อย 3.8%qoq
ขณะที่ ธ.พ. ขนาดใหญ่ ที่มีการเติบโตอย่างมีนัยฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า คือ SCB และ KTB เติบโต 21%qoq และ 15%qoq ตรงข้ามกับ TMB, BBL, KBANK และ BAY ค่อนข้างทรงตัว
เป็นที่สังเกตว่าการตั้งสำรองหนี้ฯ งวด 2Q59 นี้ลดลงจาก 1Q59 ราว 4.9%qoq โดย ธ.พ. ที่มีการลดลงของสำรองหนี้ฯ มากที่สุด คือ LHBANK ลดลง 41%qoq ตามด้วย KBANK, TCAP, KTB และ BAY ลดลง 31%, 20%, 10% และ 7.6% ตามลำดับ
ขณะที่ผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงขาเดียว โดยที่ไม่ได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ Yield ในงวด 2Q59 ลดลงสู่ 4.38% จาก 4.51% เมื่อ 1Q59 แต่อย่างไรก็ตาม Funding Cost ที่ลดลงสู่ 1.67% เทียบกับ 1.72% เมื่อไตรมาสก่อนหน้า ช่วยลดผลกระทบต่อ NIM ไม่ปรับลดลงแรงมาก มาอยู่ที่ 3% จาก 3.08% เมื่อ 1Q59 แต่ก็เชื่อว่า ในงวด 3Q59 NIM มีโอกาสที่จะอ่อนตัวลงอีกเมื่อรวมกับผลกระทบของการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม e-Payment ที่จะเห็นชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น น่าจะกดดันให้กำไรสุทธิของกลุ่ม ธ.พ. ในช่วง 2H59 มีแนวโน้มที่จะทรงกับลง
เชื่อว่า การปรับขึ้นไปแรงของหลายหุ้นในกลุ่ม ธ.พ.ในช่วงที่ผ่านมา น่าจะถูก Sell on fact หลังการประกาศงบฯ เสร็จสิ้น โดยรวมจึงแนะนำให้ขายทำกำไร และอาจหาจังหวะลงทุนหุ้น ธ.พ. ที่ปันผลสูง เมื่อราคาอ่อนตัว เช่น TCAP ([email protected]) เป็นต้น
ต่างชาติซื้อหุ้นไทยติดต่อกัน 9 วัน ด้วยมูลค่ารวมกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท
แม้วานนี้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาคจะมีการปรับตัวลดลง แต่ Fund Flow ยังคงไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง โดยต่างชาติได้ซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคติดต่อกันเป็นวันที่ 11 ด้วยมูลค่ารวม 787 ล้านเหรียญ จนทำให้ยอดซื้อสุทธิสะสมรวมทั้ง 5 ประเทศในเดีอน ก.ค. เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.4 พันล้านเหรียญ (ซึ่งเริ่มเข้าใกล้กับยอดซื้อสุทธิสะสมสูงสุดในเดีอน มี.ค. ที่ 9.4 พันล้านเหรียญ) และหากพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่า ตลาดหุ้นไต้หวันมีการซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 527 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 10) รองลงมาคือ เกาหลีใต้ 120 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 9) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 38 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 18), ฟิลิปปินส์ 28 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 10) และไทยซื้อสุทธิราว 74 ล้านเหรียญ หรือ 2.6 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 9 โดยมียอดรวมอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท) ตรงข้ามกับนักลงทุนสถาบันฯที่ขายสุทธิราว 2.6 พันล้านบาท
ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิราว 2.0 หมื่นล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 546 ล้านบาท
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
กลยุทธ์ระยะสั้นขายทำกำไรหุ้นรายตัวและซื้อหุ้น Domestic เงินปันผลสูง : SCCC, RATCH
หลังจากดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับตลาดหุ้นโลก นับจากปลายเดือน มิ.ย เป็นต้นมา หรือปรับขึ้นเกือบ 90 จุดหรือราว 6% ซึ่งนับว่าใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ ฟิลิปปินส์ปรับขึ้น 6% อินโดนีเซีย ปรับขึ้น 7.9% ยกเว้น มาเลเซีย ให้ผลตอบแทนน้อยเพียง 1.4% แต่ ณ ระดับดัชนีปัจจุบันถือว่ามีค่า P/E สูเกือบ 18 เท่า ทำให้ความเสี่ยงต่อการปรับฐานยังมีอยู่ โดยคาดว่ามีโอกาสลงไปทดสอบ 1,495-1490 จุด
กลยุทธ์การลงทุน จึงแนะนำให้ขายหุ้นที่เกิดมูลค่าพื้นฐานปี 2559 ได้แก่ BAY, SCB, KTB, KBANK, TRUE, JAS, HMPRO, ROBINS, CPALL, THAI, BEM, AAV, VGI, BANPU, LANNA, TISCO, EGCO, SIM, RML, CHG, TFG, MCOT และ GUNKUL เป็นต้น และให้ switch มายังหุ้น Domestic ราคาหุ้น laggard และ ที่สำคัญมีกระแสเงินสดมั่นคง และ จ่ายเงินปันผลสูง ได้แก่ SCCC, RATCH, ADVANC ซึ่งตามสถิติจะทยอยประกาศจ่ายเงินปันผลหลังรายงานงบงวด 2Q59 จบประมาณกลางเดือน ส.ค. ซึ่งนักลงทุนที่ต้องการเงินปันผลน่าจะทยอยซื้อล่วงหน้าก่อนประกาศจ่ายเงินปันผล 1 เดือน ซึ่งคาดว่าจะให้ผลตอบแทนแทนเฉลี่ย 4% (ซึ่งเกินกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นที่ให้เงินปันผลสม่ำเสมอเพียง 2.49% ในช่วง 1 เดือน) วันนี้จึงเลือก SCCC เป็น Top pick
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์