- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 04 July 2016 19:07
- Hits: 2463
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
"ไม่ผ่านและยืนเหนือ 1450...เลือกขายก่อน"
หุ้นที่เปลี่ยนคำแนะนำทางปัจจัยพื้นฐานวันนี้ : ไม่มี
ปัจจัย&กลยุทธ์ทางปัจจัยพื้นฐาน : ตลาดหุ้นไทยวันพฤหัสฯ ซึ่งเป็นวันซื้อขายสุดท้ายของไตรมาส 2/59 ปรับขึ้นเล็กน้อย ปิดตลาด SET Index +2.33 จุด ปิดที่ 1444.99 และสูงกว่าระดับปิดสิ้นไตรมาส 1/59 อยู่ 2.6% ทั้งนี้ในตลาดมีการทำ Big lot หุ้น CPALL มูลค่า 5.0 พันล้านบาท ทำให้รายงานออกมาเป็นนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 6.8 พันล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 6.9 พันล้านบาท สถาบันในประเทศขายสุทธิ 600 ล้านบาท พอร์ตบล.ซื้อสุทธิ 470 ล้านบาท
สำหรับสัปดาห์นี้ ตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมิ.ย.ของสหรัฐออกมาดีขึ้น (โดยอยู่ที่ 51.3 การสูงกว่า 50 แสดงว่าเติบโต MoM) ส่วนตัวเลขสำคัญที่ติดตาม คือ ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย.59 ของสหรัฐ ซึ่งจะออกมาในวันศุกร์ที่ 8 ก.ค.นี้ ซึ่งหากออกมาดีมาก ตลาดก็อาจกลับมากังวลกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบ แต่ถ้าต่ำกว่าคาดก็นำไปสู่ความวิตกเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เพราะประเด็นเรื่อง Brexit ก็นำมาซึ่งความกังวลเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยรวมแล้ว เรามองว่าปัจจัยภายนอกยังมีความเสี่ยงและไม่แน่นอนสูง ขณะที่การลงทุนโครงการภาครัฐของไทยมีความคืบหน้าดีขึ้น รฟท.เปิดขายซองประมูลสายสีส้ม สายสีชมพู และสายสีเหลือง ในเดือนก.ค.นี้ ขณะที่ภาคท่องเที่ยวยังไปได้ดี เพราะนักท่องเที่ยวชาวจีนและเอเชียยังเติบโตแข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเป็นลำดับต่อไป การที่สหรัฐประกาศยกระดับ TPP ไทยขึ้นเป็น Tier-2 ที่ต้องจับตามอง (เดิม Tier-3) เป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มส่งออกอาหารทะเล หุ้นเด่น คือ TU กลยุทธ์ : เน้นลงทุนในหุ้น Domestic & AEC Play โดยหุ้น Top Picks ของเดือนก.ค.59 เป็น CK, CPALL, CPN, JASIF และ Dark Horse คือ ANAN, BWG สำหรับหุ้นแนะนำเชิงกลยุทธ์วันนี้เป็น CPN
การวิเคราะห์ทางเทคนิค : ภาพตลาดเป็นลบเล็กๆ แต่ไม่ทิ้งโอกาสที่จะรีบาวด์ก่อนลงต่ำต่อ ซื้อใหม่เน้นตามด้วยค่าบวก การปรับขึ้นต่อมีแนวต้านระยะสั้น 1450, 1460, 1470 จุด ค่าลบที่ต่ำกว่าแนวฟิวเตอร์หลัก 1430 จุดดูไม่ดี ในทางเทคนิคแนะนำให้ลดพอร์ตตาม
การ SCAN หุ้นที่มีสัญญาณทางเทคนิคดีและมีโอกาสปรับขึ้น พบว่าหุ้นที่เข้ามาใหม่ คือ ASK, BWG, KBS, MCS, SIS ส่วนหุ้นที่ยังอยู่ใน List คือ FSMART, SYNEX, THANI, QTC, VIH, STEC, UNIQ หุ้นที่หาจังหวะ Take Profit คือ FORTH, BAY, BTS, CBG หุ้นที่หลุด List -ไม่มี-
ปัจจัยต่างประเทศ
+ สหรัฐ : PMI ภาคการผลิตเดือนมิ.ย.59 เพิ่มขึ้นดี
มาร์กิตเปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนมิ.ย.59 ของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 51.3 ลดลงเล็กน้อยจากตัวเลขเบื้องต้นที่ 51.4 แต่สูงกว่าระดับ 50.7 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2552 และใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 51.4
ด้านผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่าดัชนีภาคการผลิตของ ISM อยู่ที่ระดับ 53.2% ในเดือนมิ.ย.59 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2558 และเพิ่มขึ้นจากระดับ 51.3% ในเดือนพ.ค. ซึ่งการขยายตัวของดัชนี ISM ได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อใหม่ และการผลิต ขณะที่การจ้างงานได้ฟื้นตัวขึ้น หลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้านี้
ตลาดหุ้นสหรับปิดปรับขึ้นเล็กน้อย...นักลงทุนกลับมาโฟกัสตัวเลขเศรษฐกิจอย่างที่เราคาดไว้
ประเด็นเรื่อง Brexit มีน้ำหนักต่อตลาดน้อยลงหลังจาก Price in ไปมากในสัปดาห์ก่อน นักลงทุนกลับมาสนใจตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่จะรายงานออกมา ซึ่งตัวเลข PMI ภาคการผลิตของเดือนมิ.ย.59 สหรัฐออกมาแข็งแกร่ง ช่วยหนุนตลาดหุ้นสหรัฐ แต่ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐขยับขึ้นเล็กน้อย 0.1-0.2% สำหรับดัชนี DJIA และ S&P500 เพราะตลาดหุ้นสหรัฐจะปิดทำการในวันจันทร์ที่ 4 ก.ค.เนื่องในวันชาติสหรัฐ
+ ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นต่อ
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 66 เซนต์ หรือ 1.4% ปิดที่ 48.99 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วน BRENT เพิ่มขึ้น 67 เซนต์ หรือ 1.3% ปิดที่ 50.35 ดอลลาร์/บาร์เรล ปัจจัยหนุนคือ EIA รายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลงมากเกินคาด (-4.1 ล้านบาร์เรลเป็น 526.6 ล้านบาร์เรล) แม้ว่าบริษัทเบเกอร์ ฮิวส์ รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐที่เปิดดำเนินงานในระหว่างสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11 แห่งเป็น 431 แห่ง
+ ราคาทองคำบวกราว 1.4%
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 18.40 ดอลลาร์ หรือ 1.39% ปิดที่ 1,339 ดอลลาร์/ออนซ์
ปัจจัยในประเทศ & หุ้นเด่น
กลุ่มส่งออกอาหารทะเล : สหรัฐปรับเพิ่มไทยเป็น Tier-2 ที่ต้องจับตามอง กรณีจัดการต่อต้านการค้ามนุษย์
สหรัฐประกาศปรับเพิ่มอันดับให้ไทยขึ้นเป็น Tier-2 ที่ต้องจับตามอง หลังจากถูกจัดอยู่ที่ระดับ Tier-3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน สำหรับประเทศเพื่อนบ้านไทยที่ถูกจัดให้อยู่ใน Tier-1 คือ ฟิลิปปินส์ ส่วน Tier-2 ได้แก่ กัมพูชา, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, สิงคโปร์ และบรูไน Tier-2 ที่ต้องจับตามอง คือ ลาว และมาเลเซีย ด้าน Tier-3 เป็นของเมียนมาร์ โดยรายงานนี้เป็นการประเมินความพยายามของรัฐบาลทั่วโลกจำนวน 188 ประเทศในการจัดการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยรายงานได้จัดอันดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศต่างๆ เป็น 4 ระดับ คือ Tier-1, Tier-2, Tier-2 ที่ต้องจับตามอง และ Tier-3
ความเห็นเชิงกลยุทธ์ Retail Research : หลังได้รับการปรับอันดับขึ้นเป็น Tier-2 ที่ต้องจับตามอง ภาพลักษณ์ของไทยก็ดูดีขึ้น โดยเฉพาะในสินค้าอาหารทะเลส่งออก ซึ่งใน 5M59 สินค้าอาหารทะเลส่งออกของไทยมีมูลค่าลดลง 7.4%YoY เป็น 1,532 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.8% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด) ซึ่งการลดลงส่วนใหญ่มาจากบริษัทขนาดเล็ก ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ในที่จดทะเบียนในตลาดฯยอดขายยังเติบโตได้เพราะสินค้ามีคุณภาพสูงและไม่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย นอกจากนั้นยังมีการเติบโตจากการเข้าซื้อกิจการเข้ามาช่วยหนุนด้วย หุ้นเด่นในกลุ่มอาหารทะเลส่งออก คือ TU (ทาง DBSV แนะนำซื้อ และให้ราคาพื้นฐาน 26.50 บาท)
+ CPN (ราคาปิด 59.75 บาท) : มีเส้นทางการเติบโตที่ชัดเจน
เดือนก.ค.นี้บริษัทจะเปิดศูนย์การค้าแห่งที่ 30 ที่จ.นครศรีธรรมราช (OR ก่อนเปิดก็สูงกว่า 80% แล้ว) ส่วนศูนย์การค้าที่อยู่ใน Pipe line ที่จะเปิดใหม่มีอีก 14 แห่ง แบ่งเป็นในประเทศ 11 แห่ง และต่างประเทศ 3 แห่ง) สำหรับยอดขายคอนโด 3 แห่งที่เชียงใหม่ ระยอง และขอนแก่นไปได้ดีมาก และโครงการมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงราว 40% เพราะต้นทุนค่าที่ดินต่ำ (บันทึกส่วนหนึ่งไปแล้วตอนทำศูนย์การค้า) จะรับรู้รายได้และกำไรในปี 61 ซึ่งเป็นช่วงที่เปิดสาขาต่างประเทศแห่งแรกที่รัฐสลังงอ มาเลเซียด้วย บริษัทยังมีที่ดินเหลือทำโครงการที่พักอาศัยได้อีกอย่างน้อย 15 จังหวัด ซึ่งบริษัทมีแผนจะเปิดโครงการคอนโดเพื่อขายปีละประมาณ 3 โครงการ และในอนาคตถ้า CPNRF แปลงเป็น REIT บริษัทก็มีโอกาสขายสินทรัพย์เข้ากองทุนและบันทึกกำไรได้อีก (จะตัดสินใจใน 3Q59) แนะนำซื้อ ให้ราคาพื้นฐานปี 59 ที่ 70 บาท
IVL (ราคาปิด 29 บาท) : คาดกำไรสุทธิ 2Q59 เติบโต QoQ
ผู้บริหารกล่าวว่า Brexit ส่งผลกระทบต่อบริษัทไม่มาก เพราะส่งออกไปอังกฤษน้อยมากคือ ไม่ถึง 1% สำหรับโรงงานที่อยู่ในยูโรปมีการผลิตและขายสินค้าภายในประเทศที่ตั้งโรงงานและใกล้เคียง ด้านค่าเงินใช้วิธี Natural Hedge กล่าวคือ จัดซื้อ กู้เงิน ขายสินค้า ด้วยเงินยูโร ทั้งนี้บริษัทมีรายได้จากธุรกิจในยุโรปประมาณ 30% ของรายได้รวม
สำหรับแนวโน้มกำไรสุทธิไตรมาส 2/59 คาดว่าจะขยายตัว YoY เพราะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น และมีการงบการเงินรวมกับ BP Amoco และ Cepsa ในต่างประเทศด้วย ซึ่งทั้งสองบริษัทมีกำไรดีจึงรับรู้เข้ามาได้เลย ส่วนในระยะยาว คาดการณ์ว่ากำไรสุทธิจะขยายตัวได้ทั้งจากการเข้าซื้อกิจการเพิ่ม การขยายกำลังการผลิต และการเพิ่มสัดส่วนสินค้า High Value-added : HVA ฝ่ายวิจัยฯ DBSV คาดว่า Core EBITDA/ตัน จะขยับขึ้นต่อเนื่อง จาก 93 ดอลลาร์/ตันในปี 58 เป็น 97-98 ดอลลาร์/ตันในปี 61 เนื่องจากสัดส่วนสินค้า HVA เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ (สัดส่วน HVA ในปี 58 อยู่ที่ 21% ของทั้งหมด) และคาดการณ์ว่า Core EBITDA/ตันจะสูงขึ้นกว่า 100 ดอลลาร์/ตันในปี 62 เมื่อโรงงานเอทธีลีนในสหรัฐเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปลายปี 60 หรือต้นปี 61 เป็นต้นไป แนะนำซื้อ ให้ราคาพื้นฐาน 40 บาท
LPH (ราคาปิด 9.65 บาท) : ชงบอร์ดพิจารณาการซื้อโรงพยาบาลเดชาในเดือนก.ค.59
ผู้บริหาร LPH เผยว่าบริษัทมีความสนใจซื้อโรงพยาบาลเดชา โดยขณะนี้กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน โดยทางเจ้าของปัจจุบันเสนอขายกิจการที่ราคา 500-700 ล้านบาท หากตัดสินใจลงทุนจะหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน (หนึ่งในแนวทางคือ การเพิ่มทุนแบบ PP ให้กับพันธมิตร) และกู้ยืมบางส่วน นอกจากนั้นกำลังศึกษาเข้าซื้อโรงพยาบาลอื่นอีก 2 แห่งด้วย
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2/59 บริษัทให้ Guidance ว่าจะเติบโตเมื่อเทียบ YoY เพราะมีรายได้จากลูกค้าเงินสดและประกันสังคมเพิ่มขึ้น แต่น่าจะทรงตัว QoQ (ไตรมาส 1/59 มีกำไรสุทธิ 42 ล้านบาท) สำหรับทั้งปี 59 คาดว่าจะทำกำไรเป็นสถิติสูงสุดใหม่ ทางฝ่ายวิจัยฯ DBSV คาดการณ์ว่ากำไรสุทธิปี 59 จะเติบโต 85% (EPS : 0.24 บาท/หุ้น) ส่วนราคาพื้นฐานให้ไว้ที่ 9.10 บาท โดยยังไม่รวมการเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลเดชาและโรงพยาบาลอื่นๆ
นักวิเคราะห์ : อาภาภรณ์ แสวงพรรค - [email protected]