- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 27 June 2016 17:36
- Hits: 678
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ผลกระทบจาก Brexit ยังมีอยู่ แม้วันศุกร์ SET ปรับตัวแรงก็ตาม น่าจะมีโอกาสแตะแนวรับ 1,380 จุด กลยุทธ์เน้น Domestic Play และเป็นหุ้นผันผวนน้อย P/E ต่ำ และปันผลสูง (TCAP, RATCH, ASK, TK) รวมถึงกองทุนที่มีกระแสเงินสดมั่นคง เลือก RATCH(FV@B60), TFUND([email protected]) และ BJC(FV@B47) ได้ประโยชน์จากเงินยูโรอ่อนค่า เพราะมีหนี้สินยุโรปสูง 51% ของหนี้รวม 2.4 แสนล้านบาท
อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป กระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะค่าเงินโลกผันผวน
ผลการทำประชามติของอังกฤษ เมื่อ 23 มิ.ย. ได้ข้อสรุปที่ผิดความคาดหมาย เพราะมีเสียงสนับสนุนให้ออกจากสหภาพยุโรป 52% ของผู้ลงประชามติทั้งหมด (48% ยังอยู่ต่อ) ซึ่งกดดันตลาดเงินและตลาดระยะสั้น ส่วนระยะยาวยังคงต้องประเมินผลดี-ผลเสีย แม้ตลาดทราบไปในระดับหนึ่งแล้ว แต่ความสับสันวุ่นวาย หรือหาจุดสมดุลของราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น ค่าเงิน ยังมีอยู่ สะท้อนจากเมื่อวันศุกร์ค่าเงินปอนด์แกว่งตัวในกรอบ 1.5-1.3628 เหรียญฯต่อปอนด์ หรือราว 12% เทียบกับ 1 สัปดาห์ก่อนลงประชามติ เงินปอนด์แข็งค่าราว 4% แต่เป็นที่สังเกตว่าเงินปอนด์ได้ลดลงต่ำกว่าช่วงวิกฤติหนี้สาธารณะในปี 2552 ซึ่งตอนนั้นร่วงลงไปที่ 1.41 เหรียญฯต่อปอนด์ จึงคาดว่าโอกาสการลดลงมากกว่ามีจำกัด ขณะที่เงินยูโรแกว่งตัวในกรอบ 1.14-1.11 เหรียญฯต่อยูโร หรือราว 2.7% จากที่แกว่งตัวในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา และเป็นที่สังเกตว่าค่าเงินยูโร ขณะนี้ต่ำกว่าช่วงวิกฤติหนี้สาธารณะปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 1.19 เหรียญฯต่อยูโร ระยะสั้นถือว่าตลาดเงินตอบรับไประดับหนึ่งแล้ว ระยะสั้นทั้ง 2 สกุลยังแกว่งตัวทิศทางอ่อนค่าแต่กรอบแคบ ๆ
ทางปฏิบัติการออกจากสหภาพยุโรปต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ระหว่างนี้อังกฤษยังต้องปฏิบัติตามกฏหมายของสหภาพยุโรปโดยไม่มีสิทธิออกเสียงใดๆ ในการออกกฏหมาย และสุดท้ายต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภา ระหว่างนี้อังกฤษต้องสามารถเจรจากับคู่ค้าทั้งในกลุ่มฯ เพื่อรองรับอนาคตหลังจากที่อังกฤษต้องโดดเดี่ยว เรามาสรุปผลกระทบของ Brexit กันย่อ ๆ อีกครั้ง (ติดตามอ่านรายละเอียดย้อนหลังใน Global Economic Outlook 20 มิ.ย.)
ผลกระทบสหภาพยุโรปและอังกฤษ ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีมูลค่าการค้าเป็นอันดับ 3 ของการค้าโลก ราว 10% รองจาก จีน และ ญี่ปุ่น ขณะที่อังกฤษ มีมูลค่าการค้าราว 3% ของการค้าโลก แต่อังกฤษมีสัดส่วนการค้ากับสหภาพยุโรป สูงถึง 50% ของมูลค่าการค้าของอังกฤษ ซึ่งนอกจากจะทำให้อังกฤษต้องสูญเสียสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่เคยได้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรปต้องหมดไป (ต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศในสหภาพสูงขึ้น) อังกฤษยังต้องเผชิญกับการแข่งขันในเวทีการค้าโลกเพิ่มขึ้น แม้สิ่งที่อังกฤษจะได้คืนมาคือ อิสรภาพที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ของสหภาพยุโรป และลดค่าใช้จ่าย ทั้งค่าสมาชิกและ รับผิดชอบต่อยอดผู้อพยพเข้าสหภาพยุโรปกว่าปีละ 1.2 ล้านคน
สินค้าสำคัญที่อังกฤษส่งออกไปในสหภาพยุโรป คือ รถยนต์ และชิ้นส่วนเครื่องยนต์ เป็นหลัก อังกฤษยังเป็นฐานการผลิตและการเงินที่สำคัญ ในการเข้าสู่กลุ่มสหภาพยุโรป ปัจจุบันมีศูนย์กลางทางการเงินของโลก ทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งมาตั้งสำนักงานใหญ่ในอังกฤษ อาทิ HSBC ทำให้อังกฤษมีรายได้จากภาคการเงินราว 12% ของ GDP ทั้งนี้ยังมิได้ประเมินผลกระทบอื่น ๆ อาทิ การลงทุนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ หรือสินทรัพย์ที่พัฒนาร่วมกันเช่นสาธารณูปโภค เป็นต้น
ขณะที่ผลกระทบโดยตรงต่อไทย คาดว่าจะมีจำกัด เนื่องจากการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปรวมกันอยู่ที่ราว 10% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย โดยไทยเป็นผู้ส่งออกสุทธิ (Net Export) หรือเกินดุลการค้า สินค้าส่งออกมีลักษณะกระจายตัว กล่าวคือ สินค้าส่งออก 5 อันดับแรก อาทิ อุปกรณ์บรรจุข้อมูล เช่น CD DVD ราว 4%, เนื้อสัตว์ 4%, Memory card 4%, ชิ้นส่วนเครื่องประดับ 2% และ เลนส์แว่นตา 2% เป็นต้น และค้าขายกับอังกฤษ 1.5% ของการค้ารวม ไทยเป็นผู้ส่งออกสุทธิไปกับอังกฤษ สินค้าส่งออก 5 อันดับแรก คือ ไก่แปรรูปมากสุด 14% รองลงมาคือ รถยนต์และ อุปกรณ์ฯ 7.4% อัญมณีและเครื่องประดับ 7% อาหารทะเลกระป๋อง 5.7% และคอมพิวเตอร์ 3.7% เป็นต้น
แต่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จะมีผลกระทบมากกว่า แต่น่าจะเป็นผลกระทบในระยะยาว เพราะหากพิจารณา FDI ปัจจุบันพบว่าเม็ดเงินลงทุนจากยุโรปคิดราว 22% ของ FDI ทั้งหมด โดยมีเงินลงทุนจากเนเธอร์แลนด์ สูงสุด รองลงมาคือ เยอรมนี และอังกฤษ ตามลำดับ และหากพิจารณาเป็นเป็นรายอุตสาหกรรม พบว่ากระจุกตัวในอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น (ติดตามอ่านรายละเอียดผลกระทบของ Brexit ต่อตลาดการเงิน และ กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทย part 2 ภายในวันนี้)
ต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาค หลังอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป
วันศุกร์ที่ผ่านมา หลังจากทราบผลการลงประชามติว่า ชาวอังกฤษส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นในภูมิภาคราว 506 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 5 วัน) โดยเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ ยกเว้นฟิลิปปินส์ที่ซื้อสุทธิราว 26 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7) ส่วนที่เหลืออีก 4 ประเทศต่างชาติสลับมาขายสุทธิ คือ ไต้หวันถูกขายสุทธิสูงถึง 412 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 5 วัน), ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 51 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2), อินโดนีเซีย 48 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) และไทย 22 ล้านเหรียญ หรือ 784 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันฯที่ขายสุทธิสูงถึง 7.5 พันล้านบาท (ขายสุทธิสูงสุดในรอบ 10 เดือน) และพอร์ตโบรกเกอร์ขายสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 4.6 พันล้านบาท
ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิราว 9.3 พันล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 1.7 พันล้านบาท
ตลาดผันผวนให้เน้นหุ้น Domestic: TCAP, ASK, TK, S11, RATCH, SC
วันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงหนักจนลงไปทำจุดต่ำสุดกว่า 40 จุด ก่อนจะลดช่วงลบลงเหลือราว 23 จุดเมื่อปิดตลาด การลดลงหลักๆ มาจากหุ้น Market Cap ขนาดใหญ่ ทั้ง PTT, PTTEP, PTTGC, IVL, AOT, SCB, BBL, KBANK, SCC เป็นต้น
ทั้งนี้ เชื่อว่า การปรับลดลงแรงของตลาดหุ้นไทยต่อประเด็น Brexit นั้น ค่อนข้าง overreact มากเกินไป เมื่อเทียบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรงที่ไม่มากนัก แต่ความผันผวนค่าเงินยังน่าจะมีต่อซักระยะ ในช่วงสั้นแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ Global Play หรือการส่งออก และให้สลับมายังหุ้น Domestic Play ที่มีประเด็นหรือปัจจัยบวกสนับสนุน อาทิ หุ้นที่ได้รับผลบวกจากโครงการก่อสร้างหรือมาตรการกระตุ้นภาครัฐ หุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศ
นอกจากนี้ ยังแนะนำหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ มีค่า P/E อยู่ในระดับต่ำ และมี dividend yield สูง หรือมีกระแสเงินสดมั่นคง พร้อมเงินปันผลสูง เช่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ เช่น CPNRF และ TFUND รวมถึงหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากค่าเงินยูโรปที่อ่อนค่า เช่น BJC(FV@B47) ได้ประโยชน์จากเงินยูโรอ่อนค่า เพราะมีหนี้สินยุโรปสูง 51% ของหนี้รวม 2.4 แสนล้านบาท
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์