- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 26 May 2016 18:03
- Hits: 514
บล.เอเชีย เวลท์ : Daily Market Outlook
มุมมองเป็นบวกจากตลาดหุ้นทั่วโลก
คาดหุ้นไทยเดินหน้าต่อวันนี้ หนุนโดยหุ้นสหรัฐและยุโรปปิดบวก ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น นักลงทุนโดยรวมของโลก เริ่มเคยชินกับแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้การที่สหภาพยุโรปให้ความช่วยเหลือกรีซรอบใหม่ทำให้ธนาคารยุโรปมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตามอุปสรรคของตลาดคือการลงประชามติออกหรือไม่ออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษในเดือนหน้า ปัจจัยภายในประเทศเป็นกลางและลบ ขณะที่การส่งออกที่กลับมาหดตัวในเดือน เม.ย. ดับความหวังของการที่อุปสงค์โลกจะฟื้นตัวต่อเนื่องไป ยอดขายรถยนต์ออกมาทั้งดีและไม่ดี คือดีขึ้นจากปีก่อน แต่แย่ลงจากเดือนที่แล้ว ที่ดีจริงคือยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น YoY เป็นครั้งแรกในรอบปีนี้
หุ้นเด่นวันนี้ : TU (ราคาปิด 21.90 บาท; ซื้อ; ราคาเป้าหมายปี 59 ของ AWS 25.00 บาท)
บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป คือผู้ผลิตทูน่ากระป๋องอันดับหนึ่งของโลกและมุ่งมั่นที่จะก้าวเป็นผู้นำในการผลิตอาหารทะเลป้อนสู่ตลาดโลก เราคาดว่ายอดขายของบริษัทจะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในปี 59-60 สนับสนุนโดยการเติบโตต่อเนื่องจากธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน, การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ บวกกับความสำเร็จในการเจรจาควบรวมกิจการ (M&A) ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจกุ้งของบริษัทก็ได้ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหลังสามารถแก้ไขปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (อีเอ็มเอส) ได้สำเร็จ ผลประกอบการไตรมาส 2/59 ของบริษัทยังมีแนวโน้มเติบโตได้ QoQ และ YoY สนับสนุนโดยการเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจสัตว์น้ำ, การรวมผลประกอบการหลังควบรวม Rugen Fisch AG ในเดือน ก.พ. ขณะที่ ราคาวัตถุดิบปลาทูน่าในเดือนเม.ย. ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจะช่วยกระตุ้นยอดขายปลาทูน่าที่บริษัทรับจ้างผลิตผ่านกลยุทธ์การตั้งราคาขายซึ่งสามารถปรับขึ้นลงตามต้นทุนได้ เราประมาณการกำไรจากการดำเนินงานปี 59 เติบโต 20% YoY และ 8% YoY ในปี 60 (ยังไม่ได้รวมดีลการเจรจาควบรวมกิจการใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติม) เมื่อเร็วๆ นี้ อียูยังได้ตัดสินใจต่ออายุใบเหลืองสำหรับปัญหาการประมงผิดกฎหมายของไทยไปอีก 6 เดือนก่อนจะกลับมาประเมินอีกครั้ง ช่วยลดความกังวลที่อียูจะห้ามนำเข้าอาหารทะเลของไทย ขณะที่ผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวต่อ TU นับว่าค่อนข้างจำกัดเนื่องจากบริษัทได้วางแผนกระจายแหล่งการผลิตและความเสี่ยงในการดำเนินงานมาเป็นเวลากว่าหนึ่งปี
ปัจจัยสำคัญ
ประเด็นในประเทศ :
รมต.ชี้ส่งออก เม.ย.ร่วง ทำให้ยากจะไปถึงเป้าโต 5% ปีนี้ รมว.พาณิชย์รายงานว่าการส่งออกของไทยใน เม.ย. ร่วงลง 8% เทียบปีก่อน อยู่ที่ 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐหลังจากเติบโตใน 2 เดือนที่ผ่านมาขณะที่การนำเข้าลดลง 14.9% สู่ระดับ 1.48 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลให้ดุลการค้าเกินดุล 721 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับมูลค่าส่งออก 4 เดือนแรกลดลง 1.24% เทียบปีก่อนอยู่ที่ 6.937 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ รมช.พาณิชย์คาดว่าส่งออกน่าจะเติบโต 2.5% ปีนี้ในกรณีดีสุด และไม่เติบโตหรือติดลบเล็กน้อยในกรณีเลวร้าย จากก่อนหน้านี้คาดว่าโต 5% (Bangkok Post/The Nation)
ส.อ.ท. คงคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ภายในประเทศลดลง แม้ว่าจะมีการฟื้นตัวของยอดขายรถกระบะใน เม.ย. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยรายงานว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1.7% เทียบปีต่อปีสู่ 54,986 คัน ขณะที่ยอดสี่เดือนยังลดลง 6.1% เหลือ 236,546 คัน ยอดส่งออกลดลง 2% เหลือ 80,491 คันใน เม.ย. แต่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 10.2% สู่ 4.31 หมื่น ลบ. เพราะส่งออกรถ PPV ได้มากขึ้น ยอดส่งออกสี่เดือนลดลง 5.39% เหลือ 388,251 คัน แต่มูลค่าส่งออกสี่เดือนเพิ่ม 11.1% เท่ากับ 2.07 แสน ลบ. ส.อ.ท.คงเป้ายอดขายรถยนต์นั่งไว้ที่ 7.5-7.8 แสนคันปีนี้ลดลง 2.5-6.2% เทียบปีก่อน (Bangkok Post)
รถไฟฟ้าสามโครงการจะถูกประมูลเดือนหน้า ตามข้อมูลจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ โครงการรถไฟฟ้าสามสายได้แก่ สีส้ม สีชมพู และสีเหลือง มูลค่ารวม 2 แสนลบ. จะเปิดให้ประมูลในเดือน มิ.ย. รัฐได้เร่งผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อให้ศรษฐกิจยังขับเคลื่อนต่อและกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนเพื่อกระตุ้นการเติบโตของจีดีพีท่ามกลางการส่งออกที่ยังซบเซา (Bangkok Post)
ต่างประเทศ
ปัญหาต่อไปของตลาด: ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการลงประชามติของสหราชอาณาจักรในเดือนมิ.ย. ว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) หรือไม่ รวมทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพ.ย. ขวางการเติบโตของตลาดและอาจสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นทั่วโลกในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า (Reuters)
ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลดลงจากที่ใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 10 สัปดาห์เทียบกับเงินยูโรและแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินเยนเมื่อวันพุธ เนื่องจากเทรดเดอร์ที่เก็งว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ ได้ขายทำกำไรหลังจากที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ดอลลาร์สหรัฐล่าสุดปรับตัวขึ้น 0.11% เทียบกับเงินเยนที่ระดับ 110.10 เยน หลังจากแตะระดับสูงสุดของวันที่ 110.45 เยน (Reuters)
ราคาพันธบัตรสหรัฐลดลงเมื่อวันพุธ โดยผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นและระยะกลางแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 สัปดาห์จากแรงหนุนของราคาหุ้นในตลาดวอลล์สตรีทเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ราคาพันธบัตรอ้างอิงอายุ 10 ปีปิดลดลง 3/32 และผลตอบแทนอยู่ที่ 1.870% เพิ่มขึ้น 0.01% จากเมื่อวันอังคาร (Reuters)
การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G7 เป็นเวลา 2 วัน จะเริ่มขึ้นในวันนี้ที่ญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าข้อตกลงเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคดูจะคลุมเครือก็ตาม แต่ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะเป็นหัวข้อหลักสำหรับผู้เข้าร่วมประชุม (Reuters)
สหรัฐ :
ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐทะยานขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 2 เมื่อวันพุธ โดยได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นและนักลงทุนผ่อนคลายมากขึ้นต่อแนวโน้มที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นในเดือนหน้า หุ้นกลุ่มการเงินเป็นตัวนำตลาดขึ้นเนื่องจากสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเนื่องจากสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มกับผู้ขอกู้ได้ (Reuters)
มาร์กิตเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการบริการเบื้องต้นในเดือนพ.ค.ของสหรัฐ ลดลงอยู่ที่ระดับ 51.2 จากระดับ 52.8 ในเดือนเม.ย. นอกจากนี้ คำสั่งซื้อใหม่ลดลงอยู่ที่ระดับ 51.7 จากระดับ 52.2 ในเดือนเม.ย. (Reuters)
ยุโรป :
ตลาดหุ้นยุโรปเมื่อวันพุธปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ ซึ่งยังคงนำโดยการปรับตัวสูงขึ้นของหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินหลังจากที่การเจรจาหนี้กรีซมีความคืบหน้า ขณะที่ตลาดยังได้แรงหนุนส่วนหนึ่งจากหุ้นกลุ่มพลังงานตามการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบ (Reuters)
ยูโรโซนและ IMF ได้อนุมัติเงินกู้งวดใหม่ให้แก่กรีซ โดยเงินกู้งวดใหม่มีมูลค่า 1.03 หมื่นล้านยูโร หรือ 1.15 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ หลังจากที่รัฐสภากรีซได้ผ่านมาตรการรัดเข็มขัดรอบใหม่ ขณะที่ยูโรโซนเห็นชอบให้มีมีการผ่อนปรนหนี้ให้แก่กรีซในปี 2561 หากสามารถทำตามเงื่อนไขที่จำเป็นในการจ่ายคืนหนี้ได้ (Reuters)
เอเชีย :
ญี่ปุ่นเตรียมขึ้นภาษีการขายในปีหน้าตามแผน: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น Taro Aso กล่าวในวันพุธว่า เขาได้ประกาศในที่ประชุมผู้นำทางการเงินกลุ่ม G7 เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าญี่ปุ่นจะดำเนินการปรับขึ้นภาษีการขายตามที่กำหนดไว้ในปีถัดไป (Reuters)
หุ้นจีนในวันพุธปรับตัวลงในช่วงท้ายตลาดทั้งที่ขึ้นไปก่อนหน้านี้ ขณะที่ตลาดฮ่องกงรีบาวด์แรง ขณะที่ตลาดเกิดความวิตกเรื่องเงินหยวนอ่อนค่า และเงินเหรียญสหรัฐฯ กลับแข็งขึ้น และเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า เงินหยวนผ่อนคลายลงหลังจากธนาคารกลางจีนตรึงค่ากลางในระดับที่อ่อนตัวลงมากที่สุด เมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ นับแต่ มีนาคม 2554 (Reuters)
สินค้าโภคภัณฑ์ :
ราคาน้ำมันบวกราว 2% วันพุธ หลังสหรัฐรายงานน้ำมันคงคลังสหรัฐลดลงมากกว่าคาด แต่การขายทำกำไรหลังข้อมูลออกมาทำให้ระดับราคายังอยู่ต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อย่างที่คนมองขาขึ้นมุ่งหวัง Brent ล่วงหน้าปรับขึ้น 1.13 ดอลลารสหรัฐ (+2.3%) ปิดที่ 49.74 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยได้ไปแตะจุดสูงสุด 49.96 ดอลลาร์หลังช่วงการซื้อขาย ราคาน้ำมันสหรัฐเพิ่มขึ้น 94 เซนต์ สู่ 49.62 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จุดสูงสุดในรอบ 7 เดือน (Reuters)
EIA ประกาศปริมาณสำรองน้ำมันดิบคงเหลือสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึง 20 พ.ค.59 ลดลง 4.2 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ในผลสำรวจของรอยเตอร์ว่าลดลงเพียง 2.5 ล้านบาร์เรล แต่ไม่มากเท่าที่เทรดเดอร์ของสถาบันปิโตรเลียมอเมริกันที่คาดว่าลด 5.1 ล้านบาร์เรล (Reuters)
ราคาทองร่วงสู่จุดต่ำสุดรอบ 7 สัปดาห์ในวันพุธ หลังตัวเลขยอดขายบ้านสหรัฐออกมาดีในช่วงการซื้อขายก่อนเพิ่มการคาดการณ์ว่า Fed จะแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย ราคาทองคำตลาดจรลดลง 0.2% ปิด 1,223.93 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ราคาทองคำล่วงหน้าส่งมอบ มิ.ย. ลดลง 0.4% ปิด 1,223.80 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (Reuters)
Thailand Research Department
Mr. Warut Siwasariyanon (No.17923) Tel: 02 680 5041
Mr. Krit Suwanpibul (No.17968) Tel: 02 680 5090
Mrs. Vajiralux Sanglerdsillapachai (No. 17385) Tel: 02 680 5077
Mr. Narudon Rusme, CFA (No.29737) Tel: 02 680 5056
Mr. Napat Siworapongpun (No.49234) Tel: 02 680 5094
Ms. Sukanya Leelarwerachai (No.68790) Tel: 02 680 5331