- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 25 May 2016 17:51
- Hits: 680
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
Dollar แข็งค่าช่วงสั้น ตลาดเชื่อ Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น กดดันให้เงินเอเชียอ่อนค่า น่าจะกลับมาหนุนหุ้นส่งออกอีกรอบ แต่ยังไม่มีน้ำหนักหนุน SET ซึ่งทำให้ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ 1,375-1,385 จุด กลยุทธ์ยังชอบหุ้นกำไรเด่นปี 2559 โดยเฉพาะหุ้นส่งออกคือ KCE(FV@B100) และ TU(FV@B25) จึงเลือกเป็น Top picks
Dollar ยังแข็งค่าช่วงสั้น...ตลาดคาด Fed จะขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น แต่เชื่อว่าเป็นไปได้น้อย
ล่าสุดการรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงมีความขัดแย้งกัน กล่าวคือ ภาคการบริโภคภาคครัวเรือน ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง กล่าวคือ ยอดขายบ้านใหม่ (New Home Sales) เดือน เม.ย. ออกมาดีกว่าที่ตลาด โดยเพิ่มขึ้น 16.6%mom อยู่ที่ระดับ 6.19 ล้านหลัง (สูงสุดในรอบ 8 ปี) สอดคล้องกับตัวเลขยอดขายบ้านมือสอง (Existing Home sales) ในเดือนเดียวกันที่รายงานในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว เพิ่มขึ้น 1.7%mom อยู่ที่ระดับ 5.45 ล้านหลัง (สูงสุดในตั้งแต่ ม.ค.2559) ตรงข้ามกับฝั่งภาคการผลิตที่ยังไม่ฟื้นตัว สะท้อนจากดัชนี PMI สำรวจโดย มาร์กิต พ.ค. หดตัว -0.4%mom อยู่ที่ระดับ 50.8 จุด สอดคล้องกับ ยอดผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดสั่งซื้อสินค้าจากโรงงาน ยังคงหดตัวต่อเนื่อง 7 และ 3 เดือนติดต่อกัน ตามลำดับ
เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ ล่าสุด ยังคงต่ำกว่าเป้าหมาย 2% แม้พลิกจากที่ติดลบต่อเนื่องมามา 3 เดือนก่อนหน้า มาเป็นบวก 1.1% ในเดือน พ.ค. ทำให้ ASPS ยังเชื่อว่าชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม รอบ 14-15 มิ.ย ออกไปก่อน และน่าจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วสุดใน ช่วง 4Q59 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามต้องติดตาม 27 พ.ค.กับผลแถลงการณ์ของประธาน Fed เจเน็ต เยลเลน ต่อทิศทางดอกเบี้ย ซึ่งจะนำไปสู่การคาดการณ์ของตลาดอย่างไรต่อไป ถือว่ามีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นโลก
อย่างไรในช่วงสั้นพบว่า Dollar index มีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง ล่าสุด อยู่ที่ระดับ 95.61 จุด สะท้อนว่า ตลาดกลับมาให้น้ำหนักต่อการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยกดดันสินค้าโภคภัณฑทุกชนิด ทั้งราคาเหล็ก น้ำตาลและกากถั่วเหลือง ยกเว้น น้ำมันดิบที่ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการปรับฐานระยะสั้น ล่าสุดพบว่า ราคาน้ำมันตลาดล่วงหน้า WTI ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 50 เหรียญฯต่อบาร์เรล (ล่าสุด 49.21เหรียญฯต่อบาร์เรล) เนื่องจากตลาดคาดว่าสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐในสัปดาห์นี้จะลดลง ประกอบกับกำลังการผลิตน้ำมันในกลุ่ม OPEC ยังคงลดลงราว 4.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการปิดซ่อมบำรุงและปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง ลดแรงกดดันปัญหา Oversupply
ขณะที่ราคาน้ำมันดูไบอยู่ที่ 44.88 เหรียญฯต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย ASPS ที่ 45 เหรียญฯต่อบาร์เรล (แม้ราคาเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 34.68 เหรียญฯต่อบาร์เรล แต่คาดว่าในในช่วงที่เหลือของปีนี้ ราคาน้ำมันดิบดูไบน่าจะยกตัวขึ้นยืนเหนือระดับ 52 เหรียญฯต่อบาร์เรลได้ ) ขณะที่สมมติฐานน้ำมันดิบดูไบในปี 2560 อยู่ที่ 50 เหรียญฯ และเพิ่มเป็น 55 เหรียญฯ ในปี 2561 และ ยืนที่ 60 เหรียญฯ นับจากปี 2562 ซึ่งประเมินแล้วถือว่าสมมติฐานของนักวิเคราะห์ ASPS ยังเป็นไปได้ จึงยังแนะนำให้สะสมหุ้น PTTEP, PTT สำหรับนักลงทุนระยะกลางและยาว
ค่าเงินเอเชียอ่อนค่าสวนทาง Dollar สะสมหุ้นส่งออกที่กำไรโดดเด่น : KCE, TU
ขณะที่พบว่าค่าเงินในเอเชียมีแนวโน้มอ่อนค่า สวนทางกับเงินดอลลาร์ดังกล่าวข้างต้น โดยพบว่าค่า เงินบาท ล่าสุด อยู่ที่ 35.74 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าราว 2.49% จากจุดที่แข็งค่าสุดเมื่อ 3 เดือน พ.ค. 2559 เช่นเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค กล่าวคือ ริงกิต อ่อนค่า 5.48% จากจุดแข็งค่าสุดเมื่อ 21 เม.ย. 2559 ตามมาด้วย เงินรูเปียะห์ อ่อนค่า 3.9% จาก 21 เม.ย. 2259 ยกเว้นเงินเปโซที่อ่อนค่าน้อยสุด เพียง 1.23% ในช่วงเวลาเดียวกัน เนื่องจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนในระยะสั้น ๆ
ในภาวะที่ค่าเงินอ่อนค่าจึงน่าจะเป็นโอกาสสะสมหุ้นส่งออกที่มีแนวโน้มการทำกำไรสดใส โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มอาหาร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่ากำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลส่งออกในงวดไตรมาส 2 และจะกำไรสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้นักวิเคราะห์ ASPS ชื่นชอบหุ้นชิ้นส่วนมากสุดคือ KCE(FV@B100) ด้วยจุดเด่นที่เน้นผลิตและส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ บริษัทมีความพร้อมในการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตได้ตลอดเวลา คาดว่าในงวด 2Q59 จะสามารถทำกำไรสูงกว่าไตรมาสแรกของปีนี้ที่กำไรได้ 751 ล้านบาท และน่าจะทำกำไรในงวด 3Q59 สูงกว่างวด 2Q59 โดยรวมในปี 2559 น่าจะทำกำไรสุทธิได้ 3.1 พันล้านบาท หรือเติบโตราว 39% เทียบกับปี 2558 ที่มีกำไรสุทธิก่อนรายได้การพิเศษ เติบโตถึง 22%
หุ้นถัดมาคือ TU(FV@B25) คาดว่างวด 2Q59 จะทำกำไรได้ดีกว่างวด 1Q59 เนื่องจากเข้าฤดูกาลส่งออกกุ้ง ซึ่งมีผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้สามารถเร่งการส่งออกได้ต่อเนื่องและน่าจะทำสถิติสูงสุดในงวด 3Q59 โดยรวมจะทำให้กำไรสุทธิในปี 2559 เท่ากับ 6.7 พันล้านบาท เติบโต 22% เทียบกับปี 2558 เติบโตเพียง 15%
ต่างชาติสลับมาขายหุ้นในภูมิภาคต่อ หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว
วานนี้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 137 ล้านเหรียญฯ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) และมีเพียงตลาดหุ้นอินโดนีเซียเท่านั้นที่ยังซื้อสุทธิราว 4 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ส่วนที่เหลืออีก 4 ประเทศต่างชาติสลับมาขายสุทธิ คือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 80 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่อง 8 วัน) ตามมาด้วยไต้หวันและฟิลิปปินส์ขายสุทธิ 48 ล้านเหรียญ และ 2 ล้านเหรียญ ตามลำดับ เช่นเดียวกับไทยที่ต่างชาติขายสุทธิสุทธิราว 10 ล้านเหรียญ หรือ 374 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 3 วัน) และเช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ยังคงขายสุทธิราว 820 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่อง 4 วัน)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ 1.0 พันล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 1.7 หมื่นล้านบาท
ท่ามกลางตลาดผันผวน หลบเข้าหุ้น Defensive : LPH, BDMS, TU
ท่ามกลางสภาวะตลาดที่ไร้ปัจจัยบวกใหม่ๆ หลังจากผ่านพ้นช่วงประกาศงบ 1Q59 ไป ขณะที่ปัจจัยกดดันยังคงมีอยู่ ทั้งจากกระแส Fund Flow ที่ดูแผ่วเบาลงไป และยังมีปัจจัยกดดันภายนอก จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน และกระแสการขึ้นดอกเบี้ย Fed ในเดือน มิ.ย. จึงทำให้ตลาดหุ้นโลก รวมทั้ง SET Index ในช่วงนี้ยังคง Sideway ท่ามกลางภาวะผันผวนเช่นนี้ ฝ่ายวิจัยจึงแนะนำเลือกหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 หรือการบริโภคในชีวิตประจำวัน อาทิ กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มอาหาร รวมทั้งกลุ่มสาธารณูปโภค (โรงไฟฟ้า-ผลิตประปา)
ฝ่ายวิจัยยังคงแนะนำ TU (FV@B25) เนื่องจากสถานการณ์ประมงผิดกฎหมายจากสหภาพยุโรปมีความชัดเจนในทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จากการเปิดเผยของภาครัฐอย่างไม่เป็นทางการว่าประมงไทยจะรอดใบแดง แต่คาดจะคงสถานะใบเหลืองต่ออีก 6 เดือน ถือเป็นบวกต่อราคาหุ้นที่ถูกกดดันมาตลอดในช่วงก่อนหน้า ทั้งยังให้น้ำหนักบวกกับพื้นฐานต่อไป โดยคาดกำไรจากการดำเนินงานปี 2559-60 จะเติบโตถึง 21.9% yoy และ 8.6% yoy ตามลำดับ จากธุรกิจแบรนด์ในยุโรปและสหรัฐฯ ที่เติบโตต่อเนื่อง รวมถึงการบริหารต้นทุนของกลุ่มบริษัทฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจากการขยายตลาดใหม่ๆ ไปที่ตะวันออกกลาง อาเซียนและจีนมากขึ้น
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์