WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASP copyบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน



กลยุทธ์การลงทุน
       SET มีโอกาสดีดตัวขึ้นจากแรงกดดันที่ลดลง ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ ผลประกอบการ 1Q59 และการประมูลคลื่น 900 MHz นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น เชื่อว่า SET จะมายืนเหนือ 1400 จุด อีกครั้ง Stock Picks วันนี้แนะนำ BDMS (FV@B 25) และ MCS (FV@B 15.75) โดยนำเข้าสู่พอร์ต แทน RS และ TMT ที่ปรับออก ส่วน SEAFCO (FV@B 11.75) สามารถทยอยสะสมได้

ยังคงประมาณการ GDP Growth 2559 หลัง 1Q59 ใกล้เคียงคาด
      วานนี้ สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) รายงาน GDP Growth งวด1Q59 ขยายตัว 3.2%yoy (สูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส) ใกล้เคียงกับ ASPS คาดที่ 3.1%yoy และดีกว่าที่ตลาดคาดที่ 2.8%yoy เป็นการเพิ่มขึ้นจาก 2.8%yoy ในงวด 4Q58 โดย GDP Growth ในไตรมาสนี้ที่ออกมาดีกว่าที่คาดนั้น ได้แรงหนุนมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ (G) และ การลงทุนรวม (I) เป็นหลัก กล่าวคือ การใช้จ่ายภาครัฐ (G) ขยายตัว 8%yoy เพิ่มขึ้นจาก 4.8% ในงวด 4Q58 และสูงกว่า ASPS คาดที่ 3%yoy ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวในค่าตอบแทนแรงงานและสวัสดิการพนักงานที่เพิ่มขึ้น และการลงทุนรวม (I) ขยายตัว 4.7%yoy ชะลอจาก 9.7%ในงวด 4Q58 ซึ่งมาจากการลงทุนภาครัฐขยายตัว 12.4 %yoy ชะลอจาก 41.4% ในงวด 4Q58 และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.1% เพิ่มขึ้นจาก 1.9% ในงวด4Q58
      ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือน (C) ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวใกล้เคียงที่ ASPS คาดที่ 2.3%yoy ลดลงจาก 2.5%ในงวด 4Q58 ทั้งนี้แม้ได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ แต่ยังถูกกดดันจากรายได้เกษตรกรที่เริ่มได้ผลกระทบจากภัยแล้ง เช่นเดียวกันกับการค้าระหว่างประเทศที่มีสัญญาณการฟื้นตัวล่าช้า กล่าวคือ การส่งออก (X) ในรูปดอลลาร์ ขยายตัว 0.87%yoy เพิ่มขึ้นจากติดลบ 4.68%ในงวด 4Q58 หลังจากการส่งออกพลิกกลับมาเป็นบวกตั้งแต่เดือน ก.พ. ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 (เป็นการขยายตัวในส่วนของทองคำและน้ำมัน ขณะที่สินค้าหมวดอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัว) และการนำเข้า (M) ในรูปดอลลาร์ ติดลบ 12.1% yoy เพิ่มขึ้นจาก ติดลบ 6.4%ในงวด 4Q58
โดยภาพรวม GDP Growth ในงวด1Q59 ที่ออกมา ถือว่าใกล้เคียงกับที่นักเศรษฐศาสตร์ของ ASPSคาด ทำให้ยังคงประมาณการ GDP Growth ทั้งปี 2559 ที่ 3.5% ซึ่งช่วยผ่อนคลายตลาดหุ้นในระยะต่อไป โดย ASPS ยังให้น้ำหนักต่อแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่คาดว่าจะเกิดในช่วง 2H59 แต่หากล่าช้าและไม่เป็นตามคาด ทำให้ยังมีโอกาสที่จะปรับลดประมาณการลงได้ในระยะถัดไป
จุดต่ำสุดของกลุ่ม ICT กำลังจะผ่านไป ทยอยสะสม ADVANC
       แรงกดดันจากความไม่แน่นอนเรื่องคลื่นความถี่ 900 MHz คลี่คลายลงไปตามลำดับ หลังจากที่ TRUE ประกาศไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 พ.ค. นี้ โดยก่อนหน้านี้ DTAC ก็ได้ประกาศไม่เข้าร่วมประมูลไปแล้ว สถานการณ์ดังกล่าวถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อ ADVANC ซึ่งน่าจะเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่จะเข้าประมูล เนื่องจากเป็นการผ่อนคลายความเสี่ยงที่ ADVANC อาจได้คลื่นมาในที่สูงกว่าราคาตั้งต้น 7.5 หมื่นล้านบาท (ในกรณีที่มีคู่แข่งร่วมประมูล) โดยการได้คลื่นมา ช่วยให้มีข้อดีในระยะสั้น คือ เรียกคืนความเชื่อมั่นจากลูกค้า และจะมีคลื่นพร้อมให้บริการลูกค้าที่ยังอยู่บนคลื่นดังกล่าวอีกราว 7 ล้านราย ขณะที่จะช่วยประหยัดต้นทุนที่ต้องไปขอเชื่อมต่อสัญญาณ 2G จาก DTAC ซึ่งทั้งหมดช่วยชดเชยต้นทุนคลื่น 900 MHz ที่คาดเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลังได้
      ทั้งนี้ ด้วยภาระเรื่องตันทุนใบอนุญาต และการลงทุนที่จะเข้ามาเต็มที่ในปีหน้า ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดกำไรปี 2560-61 หลัง ADVANC ประกาศงบ 1Q59 ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ก็ถือเป็นผลดีในระยะยาว คือ จะช่วยขจัดปัญหาการขาดแคลนคลื่นของ ADVANC ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง หนุนความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นอย่างมีนัยฯ และเชื่อว่า ADVANC จะรักษาตำแหน่งผู้นำต่อไปได้ในระยะยาว ขณะที่ราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมาน่าจะปรับตัวลงสะท้อนความกังวลต้นทุนคลื่นที่สูงมากเกินไป เห็นได้จากมูลค่าตลาด ADVANC ที่ลดลงราว 8.0 หมื่นล้านบาท (หลังแสดงท่าทีต้องการได้คลื่น) สูงกว่าราคาใบอนุญาตที่คาดจะได้มาราคาใกล้เคียง 7.5 หมื่นล้านบาทแล้ว จึงเชื่อว่าน่าจะเห็นการฟื้นตัวหุ้นในวันนี้ได้ อีกทั้งมูลค่าพื้นฐานปัจจุบันที่ฝ่ายวิจัยได้รวมต้นทุนค่าคลื่น 900 MHz แล้วที่ 189 บาท ยังมี Upside อีกราว 29% จึงยังคงคำแนะนำ “ซื้อ”


ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจลดลงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นทั่วโลก
      เม็ดเงินจากต่างชาติมีโอกาสไหลเข้ามาในตลาดหุ้นอื่นๆมากกว่าไทย ถึงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยอย่าง GDP งวด 1Q59 ออกมาดีกว่าคาดก็ตาม แต่หากพิจารณาผลตอบแทนของ SET Index ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่า มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมามากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆทั่วโลก โดยปรับตัวขึ้นถึง 8.8% ซึ่งสูงกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคอย่าง ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียที่เพิ่มขึ้น 7.9% และ 3.1% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกกลับให้ผลตอบแทนติดลบ เช่น อินเดีย, เยอรมนี, ญี่ปุ่น และจีน ปรับตัวลดลงถึง 2.4%, 7.4%, 12.7% และ 19.9% ตามลำดับ นอกจากนี้หากพิจารณาจากผลตอบแทนคาดหวังในช่วงที่เหลือของปี 59 ต่อหนึ่งหน่วยความเสี่ยงของตลาดหุ้นทั่วโลก (ข้อมูล Consensus จาก Bloomberg) เปรียบเทียบกับ SET Index (ที่ ASPS คาดการณ์ไว้ช่วงปลายปี 59 อยู่ที่ 1,438 จุด) พบว่า ณ หนึ่งหน่วยความเสี่ยงที่เท่ากัน ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกยังมีโอกาสให้ผลตอบแทนคาดหวังที่ดีกว่าตลาดหุ้นไทยมาก โดยตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนคาดหวังในช่วงที่เหลือของปี 59 ต่อหนึ่งหน่วยความเสี่ยงเพียง 4.1% ขณะที่ตลาดหุ้น S&P500, อินเดีย,อินโดนีเซีย, เยอรมนี, ดาวโจนส์, ญี่ปุ่น และจีน มีค่าสูงกว่าถึง 14.8%, 14.7%, 12.1%, 12%, 10.8%, 10.6% และ 8.1% ตามลำดับ จากที่กล่าวมาทั้งหมดจึงสรุปได้ว่า ตลาดหุ้นไทยในปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากจนมี Upside จำกัด ทำให้ความน่าสนใจต่อการที่จะดึงดูดให้ Fund Flow จะไหลเข้ามามีไม่มาก เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศอื่นๆที่กล่าวมาข้างต้น

กำไร 1Q59 ประกาศแล้ว 94% ทำกำไรได้ตามเป้า 2.15 แสนล้านบาท
     จากข้อมูลที่ฝ่ายวิจัยรวบรวมถึงช่วงเย็นวานนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประกาศงบ 1Q59 มีบริษัทจดทะเบียนรายงานงบฯ แล้วกว่า 494 บริษัท คิดเป็น 94% ของ Market Cap ทั้งตลาด บริษัทฯ ทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 2.15 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 32%qoq แต่ลดลง 5.4%yoy โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่แสดงถึงการเติบโตที่โดดเด่นของกำไรสุทธิเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (yoy) คือ รับเหมาก่อสร้าง เติบโต 65% ตามด้วย ปิโตรเคมี เติบโต 39.1% อสังหาฯ เติบโต 21.1% อาหาร 19.4% ค้าปลีก 17% วัสดุก่อสร้าง 14.8% ส่วนกลุ่มฯ ที่มีการลดลงของกำไรฯ yoy คือ ประกัน ลดลงถึง 188.9% บันเทิง ลดลง 57.1% ICT ลดลง 48.5% ยานยนต์ ลดลง 22.2% ชิ้นส่วนฯ ลดลง 16.7% และธนาคารพาณิชย์ ลดลง 8.8%
     โดยในภาพรวม คาดว่างวด 1Q59 บริษัทจดทะเบียนน่าจะทำกำไรสุทธิได้ถึงระดับ 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับค่าเฉลี่ยกำไรสุทธิไตรมาสที่ 1 และเป็นไปตามเป้าหมายที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้จากทั้งปีที่ราว 8.4 แสนล้านบาท แม้ว่าผลประกอบการหุ้นที่มี Market Cap. ใหญ่จะไม่โดดเด่นในไตรมาสนี้ก็ตาม แต่เชื่อว่าขณะนี้ยังจะไม่นำไปสู่การปรับประมาณการลง ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไรตลาดปี 2559 ที่ 8.4 แสนล้านบาท คิดเป็น EPS ที่ 88.66 บาท บนระดับ PER เป้าหมายที่ 16.23 เท่า ได้เป้าดัชนี ณ สิ้นปีที่ 1438 จุด

แรงขายจากต่างชาติชะลอตัวลงและสลับมาซื้อเล็กน้อยในบางประเทศ
      แม้วานนี้ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 13 ด้วยมูลค่าราว 61 ล้านเหรียญ แต่แรงขายเริ่มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า โดยเป็นการขายสุทธิอยู่ 3 ประเทศ คือ ไต้หวันถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 72 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 13) ตามมาด้วยเกาหลีใต้และอินโดนีเซียที่ขายสุทธิราว 11 ล้านเหรียญ และ 4 หมื่นเหรียญตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีก 2 ประเทศต่างชาติยังคงซื้อสุทธิ คือ ฟิลิปปินส์ถูกซื้อสุทธิราว 6 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และไทยต่างชาติซื้อสุทธิราว 16 ล้านเหรียญ หรือ 578 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันฯที่ซื้อสุทธิราว 788 ล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6)
      ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 7.4 พันล้านบาท ต่างกับต่างชาติที่ขายสุทธิราว 2.9 พันล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3)

ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!