- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 13 May 2016 17:37
- Hits: 534
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แม้ผลประกอบการ 1Q59 จะไม่สดใสนัก แต่โดยภาพรวมยังไม่นำไปสู่การปรับลดประมาณการกำไรปี 2559 ลง โดยตัวเลข EPS อยู่ที่ 88.7 บาทต่อหุ้น บนระดับ PER เป้าหมายที่ 16.23 เท่า ให้เป้าดัชนีสิ้นปีที่ 1438 จุด ซึ่งมี Upside ไม่มาก ตัวเลือกการลงทุนที่น่าจะชนะตลาดได้น่าจะเป็นหุ้นขนาดกลาง-เล็ก หุ้น Top Picks เลือก SEAFCO ([email protected]) และ RS (FV@B 14.80) ส่วนหุ้นโภคภัณฑ์เลือก KSL (FV@B 4.82)
BOE คงดอกเบี้ยตามคาด ส่วนไทยติดตามรายงาน GDP Growth สัปดาห์หน้า
นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังคงจำเป็นอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ล่าสุดธนาคารกลางอังกฤษ(BOE) คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตามเดิม(ยาวนานถึง 7 ปี) เช่นเดียวกับประชุมธนาคารกลางฟิลิปปินส์(BSP) คงดอกเบี้ยที่ระดับ 4% (ต่อเนื่องตั้งแต่ ก.ย. 2557) ขณะที่สหรัฐมีการรายงานดัชนีชี้นำในส่วนของตลาดแรงงาน ที่ส่งสัญญาณชะลอตัว กล่าวคือ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ สิ้นสุด 7 พ.ค. เพิ่มขึ้น 2 หมื่นรายจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 2.94 แสนราย(สูงสุดนับตั้งแต่ ก.พ 58) หากคิดเฉลี่ย 4 สัปดาห์เพิ่มขึ้น 1.02 หมื่นราย สู่ระดับ 2.68 แสนราย น่าจะเป็นการตอกย้ำให้ Fed ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป (14-15 มิ.ย.) ออกไป โดยผลสำรวจการขึ้นดอกเบี้ยใน Bloomberg คาดว่าโอกาสขึ้นในรอบ มิ.ย. มีเพียง 4% โดยไปให้น้ำหนักการขึ้นในช่วง 4Q59 เป็นต้นไป
ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังให้น้ำหนัก ต่อการรายงาน GDP Growth งวด 1Q59 ของสภาพัฒน์ฯ ในวันที่ 16 พ.ค. โดย Consensus ในตลาดคาดเฉลี่ยที่ 2.8%yoy ทรงตัวจาก 2.8%yoy ในงวด 4Q58 เทียบกับที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้สูงกว่าที่ 3.1%yoy ผ่านสมมติฐาน การบริโภค (c) คาดที่ 2.3%yoy ชะลอจาก 2.5%yoyในงวด 4Q58 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของรัฐยังคงมีอยู่ แต่ชะลอลงเมื่อเทียบจากช่วงปลายปี 2558 อาทิ เงินตำบลๆละ 5 ล้านบาท, เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งฉุกเฉิน เป็นต้น การใช้จ่ายของภาครัฐ(G) คาดที่ 2.8%yoy ตามการเร่งเบิกจ่ายงบประจำของภาครัฐที่ยังมีต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว และการลงทุน(I) คาดที่ 1.8%yoy ชะลอจาก9.4%ในงวด 4Q58 โดยการลงทุนภาครัฐในหลายโครงการยังคงชะลอตัว จะมีเพียงการลงทุนภาคเอกชนซึ่งเป็นโครงการขนาดเล็ก อาทิ โครงการลงทุนที่เบิกจ่ายไม่เกิน 3 เดือนเป็นตัวขับเคลื่อน ขณะที่การส่งออกและนำเข้า (X&M) ยังมองว่าหดตัวที่ระดับ 1%yoy และหดตัว 12%yoy ตามลำดับเนื่องจากเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ประมาณการเดิมทั้งปี 2559 ฝ่ายวิจัยคาดไว้ที่ 3.5% สูงกว่าตลาดที่คาด 2.8-3%
อย่างไรฝ่ายวิจัยมีโอกาสที่จะปรับประมาณการ GDP Growth ปี 2559 ลง หากแผนการลงทุนภาครัฐล่าช้ากว่าที่คาดและให้น้ำหนักต่อรายงานงวด1Q59ในวันที่16พ.ค.ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้หรือไม่ (โดยก่อนหน้านี้หลายสถาบันได้มีการปรับลงไปก่อน) ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นอีกประการ
ราคา Soft Commodity ยังมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อ
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงปรับตัวขึ้นต่อจากปัญหา Supply ที่มีแนวโน้มลดลง ทั้งกากถั่วเหลืองและน้ำตาล กล่าวคือ วานนี้ราคาน้ำตาลดิบโลกปรับตัวขึ้นอีก 1.25% อยู่ที่ 16.77 เซ็นต์ต่อปอนด์ หรือ 7.2% wow ปัจจัยจากค่าเงินเรียลบราซิลที่แข็งค่าขึ้นทำให้ประเทศบราซิลลดปริมาณการส่งออกน้ำตาลลง ผนวกกับปรากฎการณ์เอลนีโญ ส่งผลทำให้เกิดภัยแล้งในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทยและอินเดีย ทำใหปริมาณน้ำตาลออกสู่ตลาดลดลง เหลือ 10 ล้านตัน ทำระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี สอดคล้องกับ International Sugar Organization (ISO)ที่คาดการณ์ว่าน้ำตาลทั่วโลกจะขาดดุลราว 5.02 ล้านตัน ส่งผลดีต่อภาพรวมกลุ่มน้ำตาลที่จะได้ Sentiment เชิงบวกต่อราคาขายเฉลี่ยปี 58/59 ทั้ง KSL,KTIS และ KBS โดยแนะนำซื้อ KSL([email protected]) เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลเท่ากับ 70% ของรายได้
เช่นเดียวกับ ราคากากถั่วเหลืองที่ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น ปรับเพิ่มขึ้น 6.5% wow อยู่ที่ 364.40 เหรียญ/ตัน ขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี จากสภาพอากาศแห้งแล้งในประเทศบราซิล และปัญหาน้ำท่วมในประเทศอาร์เจนตินา กดดันปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองออกสู่ตลาดลดลงอย่างน้อย 5 ล้านตัน ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของสหรัญฯ (USDA)ปรับลดคาดการณ์ผลผลิตถั่วเหลืองโลกในปี 58/59 ลง 5 ล้านตัน เหลือ 3.8 ล้านตัน ซึ่งทำให้แนวโน้มถั่วเหลืองส่งออกสู่ตลาดจะขาดดุลราว 3.8 ล้านตัน ส่งผลบวกต่อ TVO([email protected]) เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์อิงราคาตลาดโลก และมีรายได้จากการขายกากถั่วเหลือคิดเป็น 60% ของรายได้รวม แต่ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นไปแล้วกว่า 20% ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา แนะนำซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว โดยปัจจุบันให้ Dividend Yield กว่า 6.79%
แม้กำไรฯ กลุ่ม Real Sector งวด 1Q59 ไม่สดใส แต่ยังคงประมาณการฯ ปีนี้
เข้าสู่ช่วงท้ายของการรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนงวด 1Q59 จากข้อมูลที่รวบรวมมาจนถึงช่วงเย็นวานนี้ มีบริษัทรายงานงบออกมาแล้วราว 251 บริษัท คิดเป็น Market Cap ราว 69% ของทั้งตลาด ซึ่งโดยภาพรวมที่ออกมานั้นไม่ค่อยสดใส โดยเฉพาะในกลุ่มฯ หลักที่มี Market Cap ขนาดใหญ่ คือ ธนาคารพาณิชย์ ที่นักวิเคราะห์ได้มีการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิกลุ่มลงไปแล้ว 2 รอบ รวมกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่กลุ่ม ICT แม้ในปีนี้จะยังคงประมาณการกำไรกลุ่มฯ แต่ก็ปรับปีหน้าลง สะท้อนต้นทุนใบอนุญาต 4G ที่จะรับรู้เต็มปี ขณะที่กลุ่มวัสดุก่อสร้างโดยรวมยังค่อนข้างทรงตัว มีเพียง SCC เท่านั้นที่ผลการดำเนินงานค่อนข้างสดใส ล่าสุด กลุ่มสื่อ-บันเทิง มีแนวโน้มต้องปรับประมาณการฯ ปีนี้ลง สะท้อน BEC ที่ปรับกำไรสุทธิลงกว่า 200 ล้านบาท ตรงข้ามกับกลุ่มที่น่ามีแนวโน้มปรับประมาณการกำไรขึ้นอย่างมีนัยฯ คือ กลุ่มขนส่งทางอากาศ น่าจะปรับขึ้นราว 1 พันล้านบาท สะท้อนผลการดำเนินงานธุรกิจสายการบินที่ออกมาดีกว่าคาด ขณะที่กลุ่มค้าปลีก คาดปรับขึ้นราว 550 ล้านบาท
ขณะที่กลุ่มที่เป็นความหวังอย่างพลังงาน ยังคงต้องติดตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกว่าจะเป็นไปในทิศทางใด โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย QTD อยู่ที่ 40.6 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ย YTD อยู่ที่ 34 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งหากจะให้เป็นไปตามสมมติฐานนักวิเคราะห์ที่ 45 เหรียญ/บาร์เรล ราคาน้ำมันเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องขึ้นยืนอยู่ที่ 56 เหรียญ/บาร์เรล ฝ่ายวิจัยจึงยังคงประมาณการกลุ่มพลังงาน
โดยภาพรวมฝ่ายวิจัยคาดว่ากำไรตลาดปีนี้จะอยู่ที่ 8.4 แสนล้านบาท คิดเป็น EPS ที่ 88.66 บาท กำหนดดัชนีเป้าหมาย อิง Expected PER ที่ 16.23 เท่า ได้ที่ 1438 จุด
MSCI Play แนะนำเก็งกำไร EGCO, ROBINS
หุ้นไทยที่ถูกคัดเลือกเข้าคำนวณดัชนี MSCI Global Standard รอบ พ.ค. 2559 มี 2 บริษัทได้แก่ EGCO และ ROBINS โดย EGCO เดิมอยู่ในกลุ่ม Small Cap แต่ด้วยขนาด Market Cap ที่ใหญ่ขึ้นจึงเปลี่ยนกลุ่มมาอยู่ใน MSCI Global Standard และครั้งนี้ไม่มีหุ้นใดที่ถูกคัดออกจากดัชนี ขณะที่ดัชนี MSCI Global Small Cap รอบนี้ มีหุ้นไทยที่ถูกคัดเลือกเข้าดัชนีทั้งสิ้น 3 บริษัท คือ DNA, GL และ S ส่วนหุ้นที่ถูกคัดออกจากดัชนีมี 6 บริษัท คือ EFORL, SAMTEL, SAT, SRICHA, TIPCO และ TTCL ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2559 เป็นต้นไป
ทั้งนี้จากการศึกษาข้อมูลในอดีตตั้งแต่ปี 2551 พบว่า หุ้นที่ถูกคัดเลือกเข้าคำนวณดัชนี MSCI Global Standard ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยราว 4.7% และมีความน่าจะเป็นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกราว 83% โดยหากซื้อที่ราคาเปิดของวันที่ประกาศ และขายทำกำไรใน 2 สัปดาห์ให้หลัง แต่อย่างไรก็ตามราคาจะค่อยๆ ลดลงหลังจากถูกนำเข้าคำนวณดัชนีแล้ว
ส่วนหุ้นที่ถูกคัดเลือกเข้าคำนวณดัชนี MSCI Global Small Cap ราคาของหุ้นที่ได้รับคัดเลือกเข้าคำนวณกลับไม่ได้ตอบรับเชิงบวกมากนัก โดยหากซื้อในราคาเปิดของวันที่ประกาศ และขายทำกำไรใน 1 สัปดาห์ ราคาหุ้นมีโอกาสปรับขึ้นราว 54% และให้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 1.5% อย่างไรก็ตามราคาจะค่อยๆ ลดลงจนกระทั่งติดลบหลังจากถูกนำเข้าคำนวณดัชนีแล้ว ส่วนหุ้นที่ถูกคัดออกจากดัชนีที่ราคาหุ้นมักจะปรับตัวลงหลังจากวันประกาศราว 1 เดือน หลังจากนั้นราคาจะค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้น (ติดตามรายละเอียดฉบับเต็มได้จากการรายงาน Quantitative Analysis ในวันนี้)
กลยุทธ์การลงทุนเน้นเก็งกำไรระยะสั้นในหุ้นที่ถูกคัดเลือกเข้าคำนวณดัชนี MSCI Global Standard อย่าง EGCO และ ROBINS แต่เนื่องจากราคาหุ้นเริ่มจะเต็มมูลค่าแล้ว เมื่อเทียบกับมูลค่าพื้นฐานปี 2559 จึงแนะนำให้เก็งกำไรโดยการซื้อในวันที่ประกาศและขายทำกำไรหลังจากนั้น 2 สัปดาห์ ซึ่งน่าจะให้ผลตอบแทนชนะตลาดได้ และถือเป็นตัวเลือกที่ดียามตลาดหุ้นผันผวนในเวลานี้
ต่างชาติยังคงขายหุ้นไทย แต่สถาบันกลับซื้อสุทธิสูงถึง 2.7 พันล้านบาท
วานนี้ นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 11 ด้วยมูลค่า 84 ล้านเหรียญ แต่มีอยู่ 2 ประเทศที่ถูกต่างชาติซื้อสุทธิ คือ อินโดนีเซียและเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิราว 27 ล้านเหรียญ และ 12 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ ไต้หวันถูกขายสุทธิราว 98 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 11) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ที่ถูกซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 7.5 แสนเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นไทยวานนี้ปรับตัวพุ่งขึ้นแรงราว 16.9 จุด หรือ 1.22% โดยเกิดจากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันฯเป็นหลัก ด้วยมูลค่าสูงถึง 2.7 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) สวนทางกับต่างชาติที่ยังคงขายสุทธิราว 879 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 โดยมียอดขายสุทธิรวม 6.5 พันล้านบาท)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1.5 หมื่นล้านบาท ต่างกับต่างชาติที่ขายสุทธิสูงถึง 8.6 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 5 วัน) โดยรวมแล้วทั้งแรงขายหุ้นและตราสารหนี้ส่งผลให้เงินบาทยังคงอ่อนค่าอยูที่บริเวณ 35.37 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์