- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 19 April 2016 16:30
- Hits: 894
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การฟื้นตัวของสินค้าโภคภัณฑ์..น้ำมัน น้ำตาล เหล็ก & ระวางเรือ หนุน SET ขึ้นเหนือ 1,400 จุดหลังสงกรานต์อีกรอบ ยังชื่นชอบหุ้นกำไรเด่นใน 1Q59 (BDMS, ERW, CENTEL, WORK, PTT, IRPC, KCE) เลือก TMT([email protected]) เป็น Top pick นักวิเคราะห์ ASPS ปรับเพิ่มกำไรขึ้นจากเดิม 55% ราคาหุ้นมี upside 33%
SET ฟื้นตัวหลังสงกรานต์ แต่ยังทดสอบ 1,400 จุดอีกครั้ง
SET Index วานนี้ปรับขึ้นได้กว่า 13 จุด หรือ 0.96% สวนทางกับตลาดหุ้นภูมิภาคที่ลดลงเกือบทั้งหมด (ยกเว้นตลาดหุ้นอินโดนีเซียและอินเดีย ปรับขึ้น 0.87% และ 0.74% ตามลำดับ) แม้จะมีปัจจัยกดดันอยู่บ้างคือเรื่องราคาน้ำมันดิโลกที่ปรับฐาน หลังจากที่แตะ 40 เหรียญฯต่อบาร์เรล แต่กลับมีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศ โดยมีหุ้นนำตลาดวานนี้ สรุปได้ดังนี้คือ
กลุ่มพลังงาน นำโดยหุ้นน้ำมัน และโรงกลั่น โดดเด่น คือ PTT (+0.7%), TOP (+2.86%) และ IRPC (+2.94%) โดยเฉพาะ IRPC นั้น นักวิเคราะห์ ASPS คาดว่างวด 1Q59 กำไรสุทธิจะเติบโตจากงวด 4Q58 เกินกว่า 5 เท่า และตลอดปี 2559 คาดกำไรปกติจะเติบโตได้ราว 15.6%yoy นอกจากนี้ ยังมีแรงเก็งกำไรมาจากหุ้นพลังงานทดแทน หลัง กกพ. มีการประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติจับสลากโครงการโซลาร์ฟาร์มเฉพาะส่วนของสหกรณ์ 300 MW (แต่ยังติดปัญหาเรื่อง พ.ร.บ. ร่วมทุน)เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ ซึ่ง 1 ในผู้ที่ยื่นประมูลรอบนี้ที่คาดว่าจะมีคุณสมบัติคือ GUNKUL เป็นต้น
กลุ่มปิโตรเคมี IVL (+3.45%) และ PTTGC (+2.97%) จากการฟื้นตัวของธุรกิจ ปิโตรเคมีโดยเฉพาะสายโอเลฟินส์ (SCC, PTTGC) ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อผลประกอบการในงวด 1Q59
กลุ่มวัสดุก่อสร้าง หลักๆ มาจาก SCC (+3.56%) คาดว่าน่าจะมาจากคาดการณ์ผลการดำเนินงานงวด 1Q59 คาดว่าจะเติบโต 7%yoy จากแรงหนุนของธุรกิจปิโตรเคมี (สายโอเลฟินส์) ดังกล่าวข้างต้น แม้ธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างยังทรงตัว แต่คาดว่าน่าจะฟื้นตัวได้ในงวด 3Q58 เป็นต้นไป โดยรวมตลอดปี 2559 นักวิเคราะห์ ASPS ประเมินกำไรสุทธิจะเติบโตได้ 8%yoy
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ นำโดย BBL (+2.43%) และ KBANK (+1.88%) น่าจะเป็นเพราะใกล้ช่วงประกาศงบ 1Q59 ซึ่งนักวิเคราะห์ ASPS ได้ทำ Earnings preview คาดว่า BBL จะมีกำไรเพิ่มขึ้น 11.3% qoq ใกล้เคียงกับกลุ่มที่ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 12.3% qoq ยกเว้น KBANK คาดว่ากำไรสุทธิจะ เติบโตมากถึง 62.3% qoq
กลุ่มค้าปลีก นำโดย CPALL (+1.69%), CPN (+1.89%) HMPRO (+3.7%) โดยเฉพาะ ROBINS (+4.85%) ที่คาดว่ายอดขายสาขาเดิม (SSSG) ในงวด 1Q59 น่าจะเริ่มฟื้นตัว หลังจากที่ซบเซามานาน
กลุ่มขนส่ง ทั้งธุรกิจสนามบิน AOT (+1.02%) สายการบิน BA (+3.81%) AAV (+1.67%) และธุรกิจเดินเรือ นำโดยเรือคอนเทนเนอร์ RCL (+3.91%) PSL (+1.37%) และ TTA เรือเทกอง (+12.65%) ซึ่งพบว่าดัชนีเรือเทกองคือ BDI ได้ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว กล่าวคือนับจากต้นปี เพิ่มขึ้นถึง 32% ตามความต้องการใช้เรือเทกองที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้น นอกจากนี้ราคาหุ้น TTA ยัง laggard เมื่อเทียบกับหุ้นเดินเรือเทกองอื่นๆ จึงทำให้เกิดการเก็งกำไรขึ้น
อาจกล่าวได้ว่า การปรับขึ้นของ SET Index เป็นไปตามสถิติในอดีต ที่หลังสงกรานต์ ดัชนีมักจะฟื้นตัวขึ้นเฉลี่ย 2.3% ด้วยความน่าจะเป็นถึง 90%
สินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมัน น้ำตาล เหล็ก และค่าระวางเรือ ฟื้นตัวดัน SET ยืนเหนือ 1,400 จุด
แม้การเจรจาระหว่างผู้ผลิตน้ำมันโลก เพื่อควบคุมการผลิตยังไม่มีข้อยุติ การ supply น้ำมันบางส่วนได้ลดลง โดยเฉพาะจากผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าผู้ผลิตในตะวันออกกลาง หนุนให้น้ำมันดิบโลกกลับมาเคลื่อนไหวใกล้เคียงระดับ 40 เหรียญฯ ต่อบาร์เรลอีกครั้ง ซึ่งเป็นระดับที่ถือว่าฟื้นตัวอย่างมากจากจุดต่ำสุดที่ 23 เหรียญฯ ในช่วงต้นปี นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ โดยเฉพาะเหล็ก ฟื้นตัวได้เป็นอย่างมากดังที่กล่าวไปเมื่อวานนี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลดีต่อ Metal Spread ผู้ผลิตเหล็กให้กว้างขึ้นในงวด 1Q59 ส่งผลดีต่อเนื่องถึงผู้ผลิตเหล็กเส้น ได้แก่ TSTH (Switch: [email protected]) และ BSBM (Switch: [email protected]) ผลประกอบการน่าจะ Turnaround ฟื้นตัวกลับมามีกำไรสุทธิในงวด 1Q59 อีกทั้งด้วยลักษณะร่วมของทั้ง 2 บริษัทที่ราคาหุ้นซื้อขายต่ำกว่า Book Value จึงแนะนำเก็งกำไร
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กลุ่มเหล็กได้มีการปรับประมาณการกำไรของ TMT (ซื้อ: [email protected]) ขึ้น โดยคาดกำไรงวด 1Q59 โดดเด่นมากที่ 265 ล้านบาท เติบโต 3.1 เท่าตัว QoQ และ 2.8 เท่าตัว YoY โดยแรงหนุนหลักๆเกิดจากราคาขายเหล็กเฉลี่ยงวด 1Q59 ที่ปรับขึ้น 5% QoQ เป็น 1.89 หมื่นบาท/ตัน ตามทิศทางราคาเหล็กโลก และอุปทานเหล็กในประเทศที่ขาดแคลนในระยะสั้นจากการที่ผู้ผลิตเหล็กหลายรายขาดทุนในช่วงปีก่อนหน้า และประสบปัญหาสภาพคล่อง ขณะที่ TMT มีสต็อกต้นทุนเหล็กแผ่นรีดร้อน (HRC) ต้นทุนต่ำอยู่ คาดหนุน Gross Margin งวด 1Q59 ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 14% เทียบกับที่ทำได้ 7.7% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนแนวโน้ม 2Q59 ยังมีทิศทางที่ดี ตามราคาขายเหล็กปัจจุบันที่ขึ้นต่อเนื่องทะลุ 2 หมื่นบาท/ตัน แล้ว ซึ่งด้วยราคาเหล็กที่ฟื้นตัวเร็วและแรงกว่าคาด ทำให้ฝ่ายวิจัยปรับประมาณการกำไรปี 2559 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 55% เป็น 574 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายบน Expected PER เพียงแค่ 7.5 เท่า และมี Dividend Yield น่าจูงใจมากถึง 10.7%
นอกจากนี้ อานิสงส์ของราคาเหล็กที่ฟื้นตัว ยังทำให้ดัชนีค่าระวางเรือเทกองโลก (BDI) ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันฟื้นตัวได้กว่า 37.8% ทำให้เกิดกระแสเก็งกำไรในหุ้นเดินเรือเทกอง คือ TTA([email protected]) และ PSL([email protected]) เนื่องมาจากความต้องการใช้เรือขนส่งสินแร่เหล็กอย่างฉับพลัน อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ประเมินผลการดำเนินงานในงวด 1Q59 คาดผู้ประกอบการเรือเทกองยังประสบปัญหาขาดทุนอยู่ ต่อเนื่องจนถึงช่วงที่เหลือของปี (แต่เป็นไปในทิศทางที่ขาดทุนน้อยลง) บวกกับการฟื้นตัวในอนาคตยังไร้ปัจจัยเกื้อหนุนที่เป็นสาระสำคัญ จึงแนะนำเพียงเก็งกำไรช่วงสั้นเท่านั้น
ราคาน้ำตาลโลกฟื้นตัวรอบใหม่ ดีต่อ KSL, KTIS, KBS
ราคาน้ำตาลพลิกกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา วานนี้ 18 เม.ย. อยู่ที่ 15.54 เซ็นต์ ต่อ ปอนด์ จาก 14.29 เซ็นต์ หรือกว่า 8.7% จากวันที่ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยยังได้รับแรงหนุนจากปรากฎการณ์ เอลนีโญ ทำให้คาดปริมาณอ้อยของไทยที่จะส่งออกสู่ตลาดปี 2558/2559 ลดลงจากงวดก่อนหน้า เหลือ 97 ล้านตันอ้อย หรือทำให้ผลผลิตน้ำตาลทรายออกสู่ตลาดลดลงราว 11.5% yoy เหลือ 10 ล้านตัน เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับว่าสอดคล้องกับ International Sugar Organization (ISO) คาดการณ์ว่าปริมาณ ผลิตน้ำตาลโลกในปี 2558/59 (เมื่อ ก.พ.2559) ว่าจะขาดดุล 5.02 ล้านตัน เป็นการขาดดุลจากประมาณการเดิมที่คาดไว้ 3.53 ล้านตัน (พ.ย. 2558)
ในสถานการณ์นี้ถือว่าดีต่อผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ KSL, KTIS, KBS และ BRR
KSL([email protected]) มีโครงสร้างรายได้กระจายตัว กล่าวคือ มาจากน้ำตาล 70% ของรายได้รวม ที่เหลือมาจากธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น เอทานอล และ โรงไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ราคาน้ำตลาดในตลาดโลกขณะนี้ถือว่าดีกว่าสมมติฐานที่นักวิเคราะห์ของ ASPS ประเมินไว้ที่ 15.5 เซ็นต์/ปอนด์ (จาก Analyst meeting วานนี้ KSL เปิดเผยว่าบริษัทอ้อยและน้ำตาลทรายได้ทำสัญญาขายน้ำตาลดิบเฉลี่ยปี 58/59 ไว้แล้ว 70% ของยอดขายทั้งหมดที่ราคา 15.5 เซ็นต์ต่อปอนด์ คาดว่า KSL ทำสัญญาขายไว้ใกล้เคียงกัน) ส่วนที่เหลืออีก 30% น่าจะได้ประโยชน์จากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ (ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ที่ 18 เซนต์ต่อปอนด์ รวมค่า premium ของน้ำตาลไทยแล้ว 1 เซ็นต์/ปอนด์ เนื่องจากไทยขายน้ำตาลในปริมาณน้อยกว่าและอยู่ใกล้ประเทศผู้นำเข้ามากกว่า อาทิ อินโดนีเซีย เป็นต้น) ทำให้โดยรวมแล้ว ฝ่ายวิจัยคาดว่า อนท.จะทำสัญญาขายน้ำตาลเฉลี่ยปี 2558/59 ที่ 16.25 เซ็นต์/ปอนด์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาภัยแล้ง ทำให้แนวโน้มปริมาณขายน้ำตาลปี 2558/59 ของ KSL จะลดลงจากคาดการณ์เดิมราว 7.8% จึงหักล้างปัจจัยบวกข้างต้นไป ทั้งนี้ ราคาหุ้น KSL ได้ปรับขึ้นไปแล้วกว่า 10% วานนี้ แต่ยังมี upside อีกกว่า 13.7% จึงยังแนะนำ ซื้อ
นอกจากนี้ ยังแนะนำ KTIS ([email protected] อิง PBV 3.6) โครงสร้างรายได้มาจากธุรกิจน้ำตาล 80% ที่เหลือ ได้แก่ เอทานอล 8%, กระดาษ 7%, ไฟฟ้า 3% และอื่นๆ 2% โดยคาดกำไรปี 2559 อยู่ที่ 955 ล้านบาท เติบโต 30.8% ประเมิน Fair Value ไว้ที่ 8.50 บาท อิง PBV 3.6 เท่า (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 1.5 ปีที่ 4.2 เท่า) มี upside ราว 18.9%
และ KBS (FV@B9 อิง PBV 1.34) โครงสร้างรายได้มาจากธุรกิจน้ำตาล 80% ที่เหลือ ได้แก่ ไฟฟ้า 10% และอื่นๆ อีก 10% คาดกำไรปี 2559 อยู่ที่ 100 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน 50 ล้านบาทในปี 2558 ประเมิน Fair Value ไว้ที่ 9 บาท อิง PBV 1.34 เท่า (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 4 ปีที่ 1.62 เท่า) มี upside กว่า 20.8%
ส่วน BRR ([email protected] อิง PBV 3.87) โครงสร้างรายได้มาจากธุรกิจน้ำตาล 80% ที่เหลือ ได้แก่ ไฟฟ้า 10% และอื่นๆ อีก 10% คาดกำไรปี 2559 อยู่ที่ 350 ล้านบาท เติบโต 28.4%yoy ประเมิน Fair Value ไว้ที่ 13.12 บาท อิง PBV ค่าเฉลี่ย 1.3 ปีที่ 3.87 เท่า ซึ่งนับว่าค่อนข้างแพง ประกอบกับราคาปัจจุบันใกล้เคียง FV ไปแล้ว จึงแนะนำ switch มายัง KTIS และ KBS
ต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นทั้งภูมิภาค
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ด้วยมูลค่าราว 301 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิทั้ง 5 ประเทศ นำโดยเกาหลีใต้ซื้อสุทธิสูงสุดราว 179 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) ตามมาด้วยไต้หวันซื้อสุทธิ 41 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) อินโดนีเซียซื้อสุทธิสุทธิราว 25 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และฟิลิปปินส์สลับมาซื้อสุทธิสุทธิเล็กน้อยราว 4 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 4 วัน) และไทย ต่างชาติซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติกว่า 51 ล้านเหรียญ หรือ 1.8 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่องถึง 6 วัน) รวมถึงนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 307 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิราว 1.2 หมื่นล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิเล็กน้อยราว 205 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3)
รัฐกระตุ้นการใช้จ่ายครัวเรือน.. ผ่านการลดภาษี + เพิ่มค่าลดหย่อน บุคคลธรรมดา
รัฐยังใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีแผนที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐเรือน โดยวันนี้ ที่ประชุมครม. จะนำเสนอมาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนชนชั้นกลาง ผ่านทางมาตรการภาษี อาทิ ขยายฐานเงินได้ของผู้เสียภาษี ทำให้การจ่ายภาษีเงินได้ลดลง (ดังตาราง) และ ตามมาด้วย มาตรการเพิ่มค่าลดหย่อนค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล เปลี่ยนเป็นหักค่าใช้จ่ายได้ 50%ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 1แสนบาท (เดิมหักค่าใช้จ่ายได้ 40%ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาท) รวมถึงเพิ่มหักค่าลดหย่อนบุตร จากเดิมที่กำหนดลดหย่อน 15,000บาท /คน แต่ต้องไม่เกิน 3คน เปลี่ยนเป็น ไม่จำกัดจำนวนบุตร
โดยรวมทำให้ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ (G)ควบคู่ไปกับ การใช้จ่ายภาคครัวเรือน (C)ซึ่งน่าจะช่วยหนุนให้ GDP Growth ในปี 2559 น่าจะเป็นไปตามที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ 3.5%
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์