- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 18 April 2016 16:21
- Hits: 583
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET น่าจะกลับมาแกว่งตัวตามทิศทางราคาน้ำมันโลกที่ปรับฐาน หลังการเจรจาระหว่างผู้ผลิตน้ำมันยังไม่มีข้อสรุป ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1,400 จุด แนะนำให้ถือหุ้นกำไรเด่นงวด 1Q59 (BDMS, ERW, CENTEL, WORK, PTT, IRPC, KCE) เลือก KCE(FV@B100) เป็น Top pick
หุ้นน้ำมันพักฐาน การเจรจาระหว่างผู้ผลิตน้ำมันยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม
ภายหลังการประชุมผู้ผลิตน้ำมันโลก ระหว่างกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC สิ้นสุดวานนี้ (17 เม.ย. 59) พบว่ายังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม แม้ในเบื้องต้นได้มีการร่างข้อตกลงในการให้ คงกำลังการผลิตไว้ที่ระดับเดือน ม.ค. ไปจนถึงเดือน ต.ค. แต่เนื่องจากอิหร่านมิได้เข้าร่วมประชุมด้วย จึงทำให้ที่ประชุมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียฯ ไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงข้างต้น ทั้งนี้คาดว่าจะต้องให้น้ำหนักการประชุมอีกครั้งในวันที่ 2 มิ.ย. 2559 ซึ่งเป็นการประชุมในกลุ่ม OPEC
ขณะที่ฝั่งสหรัฐ พบว่าการผลิตน้ำมันยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือสัปดาห์ที่ผ่านมาการผลิตลดลง เหลือ 8.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน (จากที่แตะระดับสูงสุด 9.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และ ทำให้ EIA ปรับลดประมาณการผลิตปี 2559 ลง 7 หมื่นบาร์เรล เหลือ 8.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน และลดลลอีก 1.9 แสนบาร์เรล เหลือ 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2560 ซึ่ง น่าจะช่วยลดปัญหา Over Supply โลกลงได้บ้าง
อย่างไรก็ตามผลกระทบระยะสั้น กดดันให้ราคาน้ำมันตลาดล่วงหน้าทั้ง WTI และ Brent ปรับลงราว 5% ล่าสุดอยู่ที่ 38.16 และ 40.87 เหรียญฯต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดูไบปรับตัวลงลงราว 3% (ล่าสุด 39.27 เหรียญฯต่อบาร์เรล) และคาดว่าประเด็นดังกล่าวจะกดดันราคาน้ำมันดูไบให้กลับมาเคลื่อนไหวในระดับต่ำกว่า 40 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งอาจจะกดดันให้หุ้นน้ำมันทั้ง PTT, PTTEP มีการปรับฐานอีกครั้ง ทำให้น่าจะมีน้ำหนักกดดันดัชนีให้แกว่งตัวต่ำกว่า 1,400 จุด ต่อไป จนกว่าจะประเด็นใหม่ ๆ เข้ามาหนุน
IMF ตัดลด GDP โลก เท่ากับยืนยันการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายยังจำเป็น
ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวยังมีอยู่ สะท้อนจากสัปดาห์ที่ผ่านมา IMF ได้รายงานการปรับลด GDP Growth โลกในปี 2559 หลายแห่ง กล่าวคือปรับ GDP Growth โลกลง 0.2% เหลือ 3.2% โดยปรับลดประเทศพัฒนาแล้วทุกประเทศ นำโดยญี่ปุ่น ปรับลดมากที่สุด 0.5% มาอยู่ที่ 0.5% ตามมาด้วยอังกฤษ ปรับลด 0.3% มาอยู่ที่ 1.9% สหรัฐและยุโรป ปรับลดประเทศละ 0.2% มาอยู่ที่ 2.4%และ 1.5% ขณะที่ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ มีการปรับลดรัสเซียมากที่สุด โดยปรับลด 0.8% มาอยู่ที่ ติดลบ 1.8% ส่วนเอเซีย ปรับเพิ่ม/ลด แตกต่างกัน คือ จีน ปรับเพิ่ม 0.2% มาอยู่ที่ 6.5% แต่ยังคง อินเดียที่ 7.5% ทั้งนี้ยกเว้นไทย ปรับลด 0.6% มาอยู่ที่ 3% ทำให้ภาพรวมการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังมีความจำเป็นทั่วโลก
โดยการประชุมธนาคารกลางยุโรป(ECB) ในวันที่ 21 เม.ย. เชื่อว่าจะยังคงใช้นโยบายการเงินเผ่อนคลายต่อเนื่อง แต่จะยังไม่มีอะไรใหม่ เนื่องจาก ECB ได้กระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วในครั้งก่อนหน้า และในสัปดาห์หน้า การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED)คาดว่ายังให้น้ำหนักต่อการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้ สะท้อนจากผลสำรวจ Fed Fund rate คาดว่ารอบ 26 -27 เม.ย. จะไม่ขึ้นดอกเบี้ย และรอบ มิ.ย. โอกาสขึ้นมีเพียง 13%
หุ้น ICT ยังคงกดดัน ตราบที่ต้นทุนการประมูลใบอนุญาต 900 เริ่มต้นที่สูงเท่า JAS ทำไว้
หลังตลาดปิดทำการเมื่อวันอังคารที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา คสช.ได้ประกาศใช้ ม.44 ให้ กสทช. จัดการประมูลคลื่น 900 MHz ใน 27 พ.ค. นี้ โดยกำหนดราคาประมูลเริ่มต้นที่ 75,654 ล้านบาท (ราคาเดียวกับ JAS ประมูลได้) และให้ผู้ประมูลวางหลักประกัน 3,783 ล้านบาท โดยให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย คือ ADVANC, DTAC และ TRUE มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลได้ ยกเว้น JAS นอกจากนี้ คสช. ยังให้ กสทช. คุ้มครองผู้ใช้บริการ 2G คลื่น 900 MHz ของ ADVANC ต่อไปถึง 30 มิ.ย.นี้
ASPS ประเมินว่าราคาประมูลในครั้งนี้ไม่น่าจะสูงกว่าราคาเริ่มต้นมากนัก เพราะหากพิจารณาศักยภาพของผู้ประมูลน่าจะมีข้อจำกัดมากขึ้น เริ่มจาก TRUE น่าจะมีข้อจำกัดด้านเงินทุนหลังจากที่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตการประมูลที่ผ่านมา 7.63 หมื่นล้านบาท และอยู่ระหว่างการเพิ่มทุนผ่าน TSR
ขณะที่ DTAC ก็มีความเห็นว่าราคาตั้งต้นสูงเกินไป และเชื่อว่าน่าจะรอจนคลื่น 850 MHz หมดอายุสัมปทานปี 2561 จึงคาดว่า ADVANC จะเป็นผู้ประมูลที่มีจะได้ในครั้งนี้ สำหรับมาตรการเยียวยาที่ขยายไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. นั้น ส่งผลให้ ADVANC สามารถใช้งานคลื่น 900 เพื่อให้บริการลูกค้าเดิมที่ยังอยู่บนคลื่นดังกล่าวซึ่งยังเหลืออยู่ 7.0 ล้านรายได้ต่อไป โดยไม่ต้องไปพึ่งการขอเชื่อมสัญญาณ 2G กับ DTAC ช่วยประหยัดต้นทุนค่าเชื่อมต่อสัญญาณ ซึ่งแม้ปี 2559 จะยังคง ประมาณการกำไรเดิม แต่คาดว่าจะต้องปรับลดประมาณการในปี 2560 ลง 10%-15% (ยังไม่รวม Upside จากศักยภาพแย่งลูกค้าจากคู่แข่งสูงขึ้น จากคลื่นที่มีมากขึ้น) และกดดันมูลค่าพื้นฐานลดลงเหลือ 185-190 บาท ขึ้นอยู่กับราคาชนะประมูล จากปัจจุบัน 210 บาท แต่อย่างไรก็ตาม ADVANC ยังมีจุดเด่นที่การจ่ายเงินปันผล ซึ่งคาดว่าจะจ่ายได้ในอัตรา 100% ในระยะ 3 ปีนี้ (ปี 2559-61) เพราะจะยังเป็นช่วงที่จ่ายเงินค่าคลื่น 900 MHz (ในกรณีที่ได้) ไม่สูง คือ 8.0, 4.0 และ 4.0 พันล้านบาท ตามลำดับ (แต่อาจจะจ่ายลดลง นับจากปี 2563 ที่จะต้องจ่ายเงินค่าใบอนุญาตงวดสุดท้ายที่สูงเกือบ 6 หมื่นล้านบาท) ประกอบกับราคาหุ้นนับจากต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาลดลงไปเกินกว่า 16% จึงแนะนำทยอยสะสม
ช่วงหยุดสงกรานต์ ต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาค 1.6 พันล้านเหรียญฯ
วันอังคารที่ 12 เม.ย. 59 ซึ่งเป็นวันทำการสุดท้ายของตลาดหุ้นไทย ก่อนจะเข้าสู่วันหยุดยาวเนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ พบว่านักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 111 ล้านเหรียญ แต่เป็นการซื้อสุทธิเพียง 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้และอินโดนีเซียถูกซื้อสุทธิราว 123 ล้านเหรียญ และ 19 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศขายสุทธิ คือ ไต้หวัน,ไทย และฟิลิปปินส์ ราว 21 ล้านเหรียญ, 16 ล้านเหรียญ และ 6 ล้านเหรียญ ตามลำดับ โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทย ต่างชาติได้ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 (มียอดขายสุทธิสะสมในช่วง 6 วันรวมสูงถึง 1.0 หมื่นล้านบาท) สวนทางกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ทำให้มียอดซื้อสุทธิสะสมรวมราว 4.9 พันล้านบาท
ส่วนในช่วงวันหยุดสงกรานต์ (13–15 เม.ย. 59) แม้ตลาดหุ้นไทยจะหยุดทำการ แต่ตลาดหุ้นเพื่อนบ้านยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่า มียอดซื้อสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นเอเชียราว 1.6 พันล้านเหรียญ โดยเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ ไต้หวันและเกาหลีใต้ ด้วยยอดซื้อสุทธิสูงถึง 1.0 พันล้านเหรียญ และ 623 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วนตลาดหุ้น TIP ยังขายสุทธิ เช่น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ขายสุทธิราว 33 ล้านเหรียญ และ 21 ล้านเหรียญ ตามลำดับ
ราคาเหล็กฟื้นตัวตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หนุนดัชนีค่าระวางเรือ
หลังจากราคาน้ำมันดิบโลกได้ผ่านจุดต่ำสุด และฟื้นตัวต่อเนื่องมานานกว่า 3 เดือน พบว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ มีสัญญาณฟื้นตัวลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะราคาผลิตภัณฑ์เหล็ก พบว่าราคาสินแร่เหล็ก 62% Fe ที่ท่าเรือ Tianjin ปรับเพิ่มขึ้นแรงกว่า 36%ytd จากการที่โรงเหล็กในจีนได้สะสมวัตถุดิบเพื่อเตรียมผลิต ขณะที่ทิศทางราคาเหล็กในตลาด East Asia Import เมื่อสิ้นงวด 1Q59 ที่ผ่านมา มีทิศทางปรับขึ้นเป็นทิศทางเดียวกันกับราคาสินแร่เหล็ก โดยราคาเหล็กแผ่นรีดร้อน (HRC) และราคาเหล็กเส้น (Rebar) เพิ่มขึ้นประมาณ 32%ytd และ 26%ytd ตามลำดับ
เช่นเดียวกับราคาเหล็กในประเทศก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 0.6%yoy ปรับขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 (mom) (หลังจากเมื่อเดือน ก.พ. ดัชนีฯ เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน) หลักๆ มาจากสินค้าในหมวดเหล็ก เพิ่มขึ้นถึง 3.6%yoy เนื่องจากราคาเหล็กในประเทศปรับสูงขึ้นในหลายผลิตภัณฑ์ โดยราคาเหล็กเส้นในประเทศขยับขึ้นเป็น 1.4 หมื่นบาท/ตัน เทียบกับช่วงเดือน ธ.ค. 58 ที่แกว่งตัวในช่วง 1.25-1.27 หมื่นบาท/ตัน เป็นผลจากเหล็กขาดตลาด สาเหตุเพราะขาดวัตถุดิบในการผลิต Billet ที่นำเข้าจากจีนไม่เป็นไปตามกำหนด และเศษเหล็ก (Scrab) ไม่เพียงพอต่อการผลิต นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างขนาดเล็กที่หน่วยราชการท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณ เช่น เงินลงทุนตำบลละไม่เกิน 5 ล้านบาท ที่ยังคงเดินหน้าได้ต่อเนื่อง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนนำปริมาณการใช้เหล็กให้สูงขึ้น
ปัจจัยดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลดีต่อ Metal Spread ผู้ผลิตเหล็กให้กว้างขึ้นในงวด 1Q59 ส่งผลดีต่อเนื่องถึงผู้ผลิตเหล็กเส้น ได้แก่ TSTH (Switch: [email protected]) และ BSBM (Switch: [email protected]) ผลประกอบการน่าจะ Turnaround ฟื้นตัวกลับมามีกำไรสุทธิในงวด 1Q59 และมีโอกาสที่นักวิเคราะห์กลุ่มเหล็กจะปรับประมาณการกำไรขึ้น อีกทั้งด้วยลักษณะร่วมของทั้ง 2 บริษัทที่ราคาหุ้นซื้อขายต่ำกว่า Book Value จึงแนะนำเก็งกำไร
นอกจากนี้ อานิสงส์ของราคาเหล็กที่ฟื้นตัว ยังทำให้ดัชนีค่าระวางเรือเทกองโลก (BDI) ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันฟื้นตัวได้กว่า 32% ทำให้เกิดกระแสเก็งกำไรในหุ้นเดินเรือเทกอง คือ TTA([email protected]) และ PSL([email protected]) อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ประเมินผลการดำเนินงานในงวด 1Q59 คาดผู้ประกอบการเรือเทกองยังประสบปัญหาขาดทุนอยู่ ต่อเนื่องจนถึงช่วงที่เหลือของปี (แต่เป็นไปในทิศทางที่ขาดทุนน้อยลง) บวกกับการฟื้นตัวในอนาคตยังไร้ปัจจัยเกื้อหนุนที่เป็นสาระสำคัญ จึงแนะนำเพียงเก็งกำไรช่วงสั้นเท่านั้น
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์