- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 08 April 2016 18:27
- Hits: 3978
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดยังปรับฐาน จากแรงขายหุ้น ธ.พ. และสื่อสาร ยกเว้นหุ้นกลาง-เล็กที่มีกำไรเด่นงวด 1Q59 ซึ่งคาดจะให้ผลตอบแทนชนะตลาดในเดือน เม.ย. (BDMS, ERW, CENTEL, WORK, PTT, IRPC, KCE) เลือก BDMS(FV@B25), WORK(FV@B45) เป็น Top picks
นักวิเคราะห์พลังงานโลก มีมุมมองเชิงบวกต่อราคาน้ำมันดิบมากขึ้น
จากการสำรวจของ Bloomberg พบว่านักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานในสหรัฐ เริ่มมีมุมมองเชิงบวกต่อราคาน้ำมันโลกมากขึ้น โดยประเมินค่าเฉลี่ยที่ 30-35 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าการประเมินครั้งก่อนที่ต่ำกว่า 30 เหรีญฯต่อบาร์เรล (ของบางแห่ง) โดยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะค่อยๆ ขยับขึ้นแตะ 38 เหรียญฯต่อบาร์เรล และในปี 2560 น่าจะขึ้นไปแตะระดับ 55-60 เหรียญฯต่อบาร์เรล ทั้งนี้เนื่องจากระดับราคาดังกล่าวต่ำกว่าต้นทุนของผู้ผลิตน้ำมันโดยใช้เทคโนโลยีอย่าง Shale oil และ Shale gas ซึ่งได้กดดันให้มีการลดลงกำลังการผลิตน้ำมันในสหรัฐติดต่อกัน 11 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสัปดาห์ล่าสุดลดลงสู่ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน สะท้อนจำนวนหลุมขุดเจาะก็ปรับตัวลงทำระดับต่ำสุด ที่ 450 หลุม เท่ากับเป็นการลด Supply โลก
ประกอบกับวันนี้จะมีการประชุมของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันในละตินอเมริกา เพื่อหาข้อสรุปเบื้องต้นก่อนการประชุมใหญ่ของผู้ผลิตน้ำมันทั้งในกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC วันที่ 17 เม.ย.นี้ ซึ่งคาดว่าจะยังคงเป็นปัจจัยช่วยผ่อนคลายความกังวลต่อปัญหา Over Supply แม้จะยังต้องมีการเจรจาควบคุมการผลิตระหว่างผู้ผลิตรายใหญ่อย่างอิหร่านและผู้ผลิตรายอื่นๆ ประกอบกับ Dollar Index ที่ทรงตัว (ล่าสุด 94.482 จุด) ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวคาดจะทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกแกว่งตัวระยะสั้น ซึ่งถือว่าช่วยประคองราคาน้ำมัน และ หุ้นในกลุ่มน้ำมัน จึงยังคงแนะนำสะสม PTT, PTTEP, IRPC
การใช้จ่ายช่วงสงกรานต์ หนุนเศรษฐกิจและหุ้นท่องเที่ยว
กำลังเข้าสู่เทศกาลวันหยุดยาว เนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ ประกอบการมาตรการกระตุ้น การจับจ่ายในช่วงสงกรานต์เป็นเวลา 2 สัปดาห์ (9 -17เม.ย. 59) ผ่านการนำใบเสร็จจากการกิน - ท่องเที่ยวมาลดหย่อนภาษี ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ซึ่งน่าจะดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการบริโภค - ท่องเที่ยว เป็นหลัก ล่าสุดผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงสงกรานต์ประจำปี 2559 โดย มหาวิทยาลัยหอการค้า พบว่าในช่วงดังกล่าว จะมีเม็ดเงินสะพัดอยู่ที่ 1.24 แสนล้านบาท ขยายตัว 4.51%yoy (เทียบกั. 1.19 แสนล้านบาท ในปี 2558) นับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งน่าจะ เป็นปัจจัยหนุนการบริโภค (C) ตั้งแต่ 2Q59 เป็นต้นไป ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวน่าจะมีความคล้ายกับในช่วง 4Q58 ที่รัฐได้ใช้มาตรการช็อปช่วยชาติหนุนให้ (C) หนุนให้ GDP Growth งวด 4Q58 2.5%yoy) และน่าจะขับเคลื่อนให้ GDP Growth โตได้เฉลี่ยที่ 3.5%
ขณะที่สหรัฐ ดัชนีในส่วนของตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง โดยการรายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ (Jobless Claims) สิ้นสุด 2 เม.ย. ปรับลดลง 9,000 ราย อยู่ที่ระดับ 2.67 แสนราย (คิดเฉลี่ย 4 สัปดาห์อยู่ที่ 2.66 แสนราย) แต่อย่างไรก็ตามภาคการผลิตที่ยังฟื้นตัวอย่างไม่มั่นคงประกอบกับความเห็นของประธาน Fed ซึ่งล่าสุดส่งสัญญาณการชะลอขึ้นดอกเบี้ย สอดคล้องกับผลการสำรวจ Fed Fund rate ที่ประเมินว่าการประชุมรอบถัดไป คือ 26-27 เม.ย. ไม่ขึ้นดอกเบี้ย และมีโอกาสขึ้นน้อยในการประชุมรอบ ถัดไปคือราว 14-15 มิ.ย. (โอกาสขึ้นดอกเบี้ยเหลือเพียง 19% จากเดิม 24%)
แรงกดดันจากการลดดอกเบี้ยฯ ยังกดดันหุ้น ธ.พ. และ SET ต่ำกว่า 1400 จุด
สถานการณ์ตลาดยังอยู่ในช่วงปรับฐาน ปัจจัยกดดันหลักมาจาก 2 กลุ่มหลัก คือ
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ หลังจาก ธ.พ. 5 แห่ง คือ SCB, KBANK, KTB, BBL, TMB ได้มีการประกาศปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงขาเดียว ไม่ได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงด้วย ทำให้กระทบต่อผลการดำเนินงานปีนี้และปีหน้า โดยนักวิเคราะห์กลุ่ม ธ.พ. ได้ปรับลดประมาณการกำไรกลุ่มฯ ปี 2559-60 ลง 5.0% และ 3.3% จากเดิม พร้อมปรับลดน้ำหนักเป็น น้อยกว่าตลาด จากเท่ากับตลาด ล่าสุด แบงก์รัฐ 2 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน และเอสเอ็มอีแบงก์ ประกาศปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงเช่นกัน โดยธนาคารออมสินลดดอกเบี้ย MLR ลง 0.2% สู่ 6.5% และลดดอกเบี้ย MRR ลง 0.35% สู่ 7.125% ส่วนเอสเอ็มอีแบงก์ ลดดอกเบี้ย MLR ลง 0.125% สู่ 6.875%, ลดดอกเบี้ย MRR ลง 0.325% สู่ 8.925% และลดดอกเบี้ย MFR ลง 0.625% สู่ 6.75%
และ กลุ่ม ICT แรงกดดันหลักมาจาก ADVANC หลังจากจำใจต้องเข้าประมูลคลื่น 900 MHz ด้วยต้นทุนที่สูง จากที่ JAS เป็นผู้เปิดเกมทิ้งไว้ให้เป็นที่ระลึก ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ ผลประกอบการปี 2559 น่าจะต่ำกว่าสมมติฐานเดิมที่ไม่รวมคลื่น 900 MHz ทั้งนี้ในเบื้องต้นคาดว่างวด 1Q59 ของ ADVANC น่าจะมีกำไรลดลงถึง 27%qoq และ 20%yoy และน่าจะต่ำสุดในงวด 2Q59 ส่งให้ผลประกอบการปี 2559 ลดลงกว่า 22% จากปี 2558 (ขณะที่กลุ่ม ICT จะลดลง 42%yoy ในปี 2559) ทั้งนี้เป็นผลจากต้นทุนการดำเนินงานงานที่สูงขึ้นจากการพยายามรักษาลูกค้าและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ที่รุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาทางด้านราคาหุ้นพบว่า ปรับฐานลงหนักเกินกว่าการปรับลดประมาณการ กล่าวคือ กลุ่ม ธ.พ. ปรับตัวลดลงไปหนักถึง 8% ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา โดย 5 ธ.พ. ที่ลดดอกเบี้ยล้วนแต่ปรับลงหนัก คือ BBL 10%, KBANK 9.5% SCB 9.2% TMB 7.1%, KTB 7%
และกลุ่ม ICT ดัชนีกลุ่มลลดวานนี้ลงไป 9% ในช่วงเกือบ 2 สัปดาห์ นำโดย DTAC 32% , ADVANC และ INTUCH ลดลง 18% ใกล้เคียงกัน จึงทำให้เกิดคำถามว่า ราคาหุ้นลงหนักไปหรือไม่ ฝ่ายวิจัยจึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าสะสม ฝ่ายวิจัยยังคงชอบ ADVANC (FV@B210) ที่มีศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมดีที่สุด และ KBAKNK (FV@B238) จากความได้เปรียบทั้ง coverage ratio สูง และศักยภาพการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมฯ สูง
ตลาดหุ้นไทยมักลงก่อนสงกรานต์ 1 สัปดาห์ แต่จะฟื้นตัวหลังจากนี้
ดังที่กล่าวไปแล้ววานนี้ถึงแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วง 1 สัปดาห์ ก่อนเข้าสู่ฤดูกาลหยุดยาว เนื่องจาก เทศกาลสงกรานต์ นักลงทุนบางส่วนเริ่มหยุดพักผ่อนท่องเที่ยว ทำให้มูลค่าการซื้อขายชะลอตัว ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง10 ปี (2549 - 2558) ของนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ พบว่า ตลาดหุ้นไทยมักปรับตัวลงเฉลี่ย 0.3% ในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ 1 สัปดาห์ ด้วยโอกาสที่จะเกิดขึ้น 5 ใน 10 ปี แต่เป็นที่สังเกตว่ามีหุ้นบางกลุ่มฯ ที่ที่สามารถ outprtform ได้สวนตลาด คือ กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มโรงพยาบาล รวมทั้งกลุ่มพลังงาน
แต่เป็นที่สังเกตว่าหุ้นในกลุ่มดังกล่าวได้ขึ้นมามากและชนะตลาดไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้มี upside จำกัด เช่น กลุ่ม ค้าปลีก ขึ้นมาเกือบ 10% ในช่วงเกือบ 1 เดือน นำโดย ROBINS ให้ผลตอบแทน 33%, HMPRO 26%, ยกเว้น CPALL ขึ้นเพียง 8% ตามมาด้วย MAKRO และ TNP ยังคงแกว่งตัวและ upderperform ในช่วงเดียวกัน
ส่วนกลุ่มโรงพยาบาลให้ผลตอบแทน 9.6% ในช่วงเกือบ 1 เดือน นำโดยหุ้น หุ้น TNH ให้ผลตอบแทนสูงถึง 50% CHG 25%, LPH 25%, RAM 20%, BCH 15%, BDMS 9% ยกเว้น BH ทรงตัวไม่ไปไหนถือว่า laggard ที่สุด
และหุ้นพลังงาน ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาทรงตัว เพราะได้ให้ผลตอบแทนที่สูงมากกว่า 25% เนื่องจากการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบดูไบที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด 24 เหรียญฯต่อบาร์เรล ขึ้นมาที่ยืนเหนือ 30 เหรียญฯ โดยล่าสุดอยู่ที่ 35.74 เหรียญฯต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามพบว่าในช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา หุ้นที่ outperform ตลาดมากที่สุด คือ PTT, PTTGC และ IRPC โดยให้ผลตอบแทนมากกว่า 20% ยกเว้น BCP ส่วน TOP กับ PTTEP ก่อนหน้านี้ให้ผลตอบแทนชนะตลาดและกลุ่มมาก แต่ในช่วง 1 เดือน อยู่ในภาวะปรับฐาน
แต่หากพิจารณาเหตุการณ์ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ จนกระทั่งถึงสิ้นเดือน เม.ย. ตลาดจะพลิกกลับมาเป็นบวก ด้วยโอกาสที่จะเกิดขึ้นถึง 9 ใน 10 ปี โดยให้ผลตอบเฉลี่ยราว 2.3% โดยกลุ่มที่ outperform ได้ดีกว่าตลาด คือ กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มพลังงาน และกลุ่มบันเทิง
โดยสรุปกลยุทธ์การลงทุนในเดือน เม.ย. ยังแนะนำให้ลงทุน โรงพยาบาล ชิ้นส่วนฯ กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มพลังงาน
ทั้งนี้ Top picks ชอบ BDMS (FV@B25) และ KCE (FV@B100) รวมทั้ง WORK (FV@B45)
คาดต่างชาติจะมีซื้อ-สลับขายสุทธิ หุ้นในภูมิภาค ตลอดเดือน เม.ย.
แรงซื้อหุ้นของต่างชาติเริ่มชะลอตัวลง และเริ่มมีการสลับซื้อ/ขาย ในช่วงต้นเดือน เม.ย. เป็นต้นมา ขณะที่วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเล็กน้อยราว 22 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน) โดยเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 242 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และอินโดนีเซียซื้อสุทธิ 52 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7) ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ ตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิราว 183 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ที่ถูกขายสุทธิราว 8 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) และตลาดหุ้นไทยที่วานนี้ปรับตัวลดลงถึง 16.90 จุด หรือคิดเป็น 1.23% โดยเกิดจากต่างชาติแรงขายของนักลงทุนต่างชาติกว่า 81 ล้านเหรียญ หรือราว 2.8 พันล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ตรงข้ามกับนักลงทุนรายย่อยที่ซื้อสุทธิสูงมากในช่วง 2 วันที่ผ่านมา โดยมีมูลค่ารวมกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 3.2 หมื่นล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิเล็กน้อยราว 238 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์