- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 31 March 2016 16:56
- Hits: 782
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันนี้คาด SET จะกลับมาผันผวน ตามทิศทาง Dollar Index ทำให้ดัชนี 1,400 จุด กลับมาเป็นแนวรับอีกรอบ กลยุทธ์ให้ทยอยขายทำกำไรรายหุ้นที่มี upside จำกัด แต่ให้ถือหุ้นมีประเด็นบวก/ผลประกอบการเด่นงวด 1Q59 (BDMS, ERW, CENTEL, WORK, PTT, IRPC) ยังเลือก BDMS(FV@B25), KCE(FV@B100) เป็น Top picks
ดอลลาร์ผันผวน กดดันดัชนีหุ้นไทยกลับมาทดสอบแนวรับ 1,400 จุด
วานนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวแรงมาก โดยได้รับแรงหนุนจาก fund flow ซึ่งกลับมาซื้อหนักอีกครั้ง หลังจากที่ทยอยขายทำกำไรในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็เป็นภาพที่สอดคล้องกับตลาดหุ้นโลก รวมถึงตลาดหุ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้น่าจะเป็นผลมาจากที่ตลาดน่าจะคลายความกังวลต่อถ้อยแถลงของนาง เยลเลน ซึ่งเป็นประธาน Fed ที่ ส่งสัญญาณจะยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับนี้ไปอีกระยะซึ่ง รอจนกว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจมีสัญญาณที่ฟื้นตัว และเงินเฟ้อที่จะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีการคาดการณ์ว่าปีนี้ จะมีการขึ้นดอกเบี้ยฯ เพียง 2 ครั้งเท่านั้น จากปัจจุบันที่ 0.5% เป็น 0.875% ซึ่งทำให้การประชุม Fed รอบถัดไปคือ 26-27 เม.ย. น่าจะยังคงดอกเบี้ยฯ ที่เดิม รวมผลการสำรวจในการประชุมรอบเดือน มิ.ย. โอกาสขึ้นดอกเบี้ยลดลงเหลือ 28% (จากครั้งก่อนหน้าที่ 38%) แต่โอกาสขึ้นดอกเบี้ยจะเพิ่มมากขึ้นเป็นช่วงปลายปี
ขณะที่การรายงานตลาดแรงงงานภาคเอกชนของเดือนมีนาคม พบว่ากระเตื้องขึ้นต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้นราว 5 แสนตำแหน่ง ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา ทำให้อัตราการว่างงานยังมีแนวโน้มทรงตัว-ลง จากปัจจุบันที่ 4.9% ความคาดหวังต่อการเลื่อนระยะเวลาขึ้นดอกเบี้ยของ FED มีส่วนทำให้ Dollar Index มีทิศทางอ่อนค่าระยะสั้น แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก Dollar Index ได้กลับมาแกว่งตัวอ่อนค่า ลงมาแตะ 94.799 จุด ซึ่งเป็นแนวรับที่มีนัยสำคัญ จึงเป็นไปได้ที่จะแกว่งตัว ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อ หุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ ในช่วงสั้น ๆ จึงทำให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับฐาน โดยมีแนวรับที่ 1,400 จุด กลับมาทำงานอีกรอบ กลยุทธ์ช่วงสั้นแนะนำให้ขายทำกำไรรายหุ้นที่มี upside จำกัด แต่ให้เลือกลงทุนหุ้นที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนชนะตลาดในเดือน เม.ย. และสามารถต่อเนื่องในไตรมาส 2 ของทุกปี คือ หุ้นโรงพยาบาล หุ้นเด่นเป็น Top pick คือ BDMS อ่านรายละเอียดในย่อหน้าท้ายสุด
สต๊อกน้ำมันเพิ่มน้อยกว่าตลาดคาด ราคาน้ำมันดิบโลกน่าจะทรงตัวถึงแกว่งตัวลงเล็กน้อย
วานนี้มีรายงานสต็อกน้ำมันของสำนักสารสนเทศด้านพลังงาน (EIA) รายสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 มี.ค. พบว่า เพิ่มขึ้นต่ำกว่าตลาดคาด (เพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล vs ตลาดคาดเพิ่มขึ้น ราว 3.3 ล้านบาร์เรล) สวนทางกับน้ำมันสำเร็จรูปที่โดยรวมปรับลดลง 3.6 ล้านบาร์เรล ลดลงมากกว่าตลาดคาดการณ์ ทั้งนี้เป็นการลดลงของทั้งน้ำมันดีเซล คือลดลง1.07 ล้านบาร์เรล และเบนซินลดง 2.51 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นการลดลงติดต่อกัน เป็นสัปดาห์ที่ 7 เป็นผลจากที่โรงกลั่นหลายแห่งอยู่ในช่วงซ่อมบำรุงตามแผนทุกปี รวมถึงปริมาณการนำเข้าที่ลดน้อยลง แต่การใช้น้ำมันในภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้แม้ปัญหา Oversupply จะยังคงมีอยู่แต่เริ่มผ่อนคลายลง สะท้อนจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐที่เมีแนวโน้มลดลง (ล่าสุดเหลือ 9.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากสูงสุดราว 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน) แม้การผลิตในกลุ่ม OPEC จะยังคงเห็นการเพิ่มขึ้น ของผู้ผลิตอย่างอิหร่าน ที่กลับมาผลิตในระดับเดิมหลังได้รับการยกเลิกการคว่ำบาตร แต่อย่างไรก็ตามผู้ผลิตอันดับหนึ่งอย่างซาอุดิอาระเบียนั้น ได้คงระดับการผลิต แสดงความร่วมมือเพื่อจัดการกำลังการผลิตส่วนเกิน ซึ่งจะมีการประชุมในกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ที่กรุงโดฮา วันที่ 17 เม.ย. นี้
อย่างไรก็ตามล่าสุดราคาน้ำมันโลกมีสัญญาณแกว่งตัว ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจาก Dollar Index ที่อ่อนค่ามาที่ระดับ 94.84 จุด ซึ่งทำให้มีโอกาสฟื้นตัวระยะสั้น จึงเป็นอุปสรรคต่อทิศทางของราคาน้ำมันโลก โดยล่าสุดราคาน้ำมันตลาดล่วงหน้า Brent และ WTI ยังคงผันผวนต่ำกว่า 40 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล โดยทรงตัวที่ 39.26 และ 38.08 เหรียญฯ ตามลำดับ ขณะที่น้ำมันดิบดูไบ เพิ่มขึ้น 1.56% ปิดตลาด 35.20 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งยังคงหนุนหุ้นปิโตรเคมีและพลังงาน
นอกจากนั้น จากการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (QA) สถิติย้อนหลัง 10 ปี (2549-2558) พบว่าต้นไตรมาส 2 เดือน เม.ย. หุ้นในกลุ่มปิโตรเคมีและพลังงานจะให้ผลตอบแทน Outperform ตลาดราว 3.51% และ 1.39% ด้วยความน่าจะเป็น 80% โดยมีหุ้นเด่นรายตัวคือ PTTEP ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 5.48% ด้วยความน่าจะเป็น 100% ตามด้วย IRPC และ PTT ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6.41% ,7.85% ตามลำดับ ด้วยความน่าจะเป็น เท่ากันที่ 70% จึงยังคงแนะนำสะสมหุ้น PTT, PTTEP
ต่างชาติกลับมาซื้อตลาดหุ้นไทยมากสุดในรอบ 3 ปี 4 เดือน
วานนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ด้วยมูลค่าสูงถึง 770 ล้านเหรียญ โดยเป็นการซื้อสุทธิทั้ง 5 ประเทศ นำโดยตลาดหุ้นไต้หวันซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคกว่า 485 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิ 36 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับตลาดหุ้นอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 7 ล้านเหรียญ, 4 แสนเหรียญ ตามลำดับ ส่วนตลาดหุ้นไทย วานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยมากที่สุดเป็นลำดับที่ 8 นับตั้งแต่ตลาดหุ้นไทยก่อตั้ง ด้วยมูลค่าสูงถึง 242 ล้านเหรียญ หรือราว 8.6 พันล้านบาท และยังเป็นการซื้อสุทธิสูงสุดในรอบ 3 ปี 4 เดือน (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิราว 2.2 พันล้านบาท
นอกจากนี้นักลงทุนต่างชาติยังซื้อตราสารหนี้ไทยสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องวันที่ 3) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิราว 6.8 พันล้านบาท
หุ้นที่คาดจะชนะตลาดใน เม.ย. : PTTEP, PTT, IRPC, BDMS, KCE
ดังที่ได้กล่าวไปในวานนี้ว่า ในเดือน เม.ย. ตลาดหุ้นไทยมักให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ยราว 3.5% ด้วยความน่าจะเป็นถึง 90% โดยกลุ่มที่สามารถ outperform ได้มากกว่าตลาด ที่โดดเด่นคือ กลุ่มโรงพยาบาล ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยกว่า 6% ด้วยความน่าจะเป็นถึง 90% กลุ่มปิโตรเคมี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเกินกว่า 6% ด้วยความน่าจะเป็นถึง 80% กลุ่มพลังงาน ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ด้วยความน่าจะเป็นถึง 80% เช่นกัน และกลุ่มชิ้นส่วนฯ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเกือบ 5% ด้วยความน่าจะเป็น 60% ในวันนี้จะนำเสนอกลุ่มอสังหาฯ และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่ให้ผลตอบแทนในเดือน เม.ย. ที่น่าพอใจเช่นกัน
กลุ่มอสังหาฯ มักปรับขึ้นในเดือน เม.ย. ด้วยโอกาสสูงถึง 8 ใน 10 ปีหลังสุด ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ยราว 3.7% โดยในส่วนของผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยนั้นพบว่า PF ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 7.7% ด้วยความน่าจะเป็นกว่า 80% ตามด้วย PS ผลตอบแทนเฉลี่ย 7.2% แต่ความน่าจะเป็นน้อยราว 60% ส่วนบริษัทอื่นๆ ได้แก่ RML ผลตอบแทนเฉลี่ย 7% ด้วยความน่าจะเป็นราว 70%, BLAND ผลตอบแทนเฉลี่ย 6.8% ด้วยความน่าจะเป็น 80%, AP ผลตอบแทนเฉลี่ย 6.8% ความน่าจะเป็น 60%, SIRI ผลตอบแทนเฉลี่ย 4.2% ความน่าจะเป็น 70%, LPN ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.9% ความน่าจะเป็น 70%, LH ผลตอบแทนเฉลี่ย 2.6% ความน่าจะเป็น 60% และ SPALI ผลตอบแทนเฉลี่ย 2% ความน่าจะเป็น 60%
ทั้งนี้คาดว่าปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยนั้น น่าจะมาจากผลการดำเนินงานงวด 1Q59 จะเติบโตมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากจะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ที่จะหมดอายุลงในวันที่ 28 เม.ย. 2559 (ปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะพิจารณาต่ออายุมาตรการหรือไม่) ทำให้ผู้พัฒนาฯ มีการกระตุ้นยอดขาย และเร่งการโอนฯ มากขึ้น
กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ปรับขึ้นในเดือน เม.ย. ด้วยโอกาสสูงถึง 8 ใน 10 ปีเช่นกัน ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ยราว 3.5% หุ้นที่มักให้ผลตอบแทนดีในเดือน เม.ย. ได้แก่ TASCO ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 9.3% ด้วยความน่าจะเป็นราว 60% ส่วน VNG ก็ให้ผลตอบแทนที่ดีเช่นกัน คือ 5.7% ด้วยความน่าจะเป็น 70% ตามด้วย DCC ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 4.3% ด้วยความน่าจะเป็นกว่า 60%, TPIPL ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 4% ด้วยความน่าจะเป็น 70%, DRT ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 3.9% ด้วยความน่าจะเป็น 80% ส่วน SCC ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 3.4% แต่ด้วยความน่าจะเป็นน้อยกว่า คือ 60%
แนวโน้มของกลุ่มวัสดุก่อสร้างในช่วง 1H59 น่าจะฟื้นตัวเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะมีแรงขับเคลื่อนเดียวจากการลงทุนภาครัฐที่เติบโต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในโครงการขนาดเล็ก แต่เชื่อว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐที่จะทยอยออกมาตั้งแต่ช่วง 2Q59 เป็นต้นไป น่าจะทำให้แนวโน้มผลประกอบการใน 2H59 มีทิศทางที่ดีขึ้น
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์