- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 30 March 2016 18:07
- Hits: 604
บล.เอเชีย เวลท์ : Daily Market Outlook
เยลเล็นผ่อนคลายนโยบายชัดเจน
คาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวขึ้น เช่นเดียวกับตลาดหุ้นโลกส่วนใหญ่หลังจากที่ประธาน Fed เจเน็ท เยลเล็น แถลงว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างระมัดระวังบ่งชี้ว่ายังกังวลเศรษฐกิจโลก ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงช่วยให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ดีดตัวกลับหลังชั่วโมงซื้อขายปกติน่าจะส่งผลบวกต่อการซื้อขายในวันนี้ ปัจจัยภายในประเทศวันนี้มีทั้งลบและบวก ครม.อนุมัติรถไฟสายสีเหลืองและชมพู และมาตรการกระตุ้นช่วงสงกรานต์เป็นบวก IMF คาดการณ์เศรษฐกิจไทยโตปานกลางถือว่ากลางๆ ในขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวเป็นลบ
หุ้นเด่นวันนี้ : TPCH (ราคาปิด 17.20 บาท; ซื้อ; ราคาเป้าหมาย AWS ปี 59 24.16 บาท)
จากงานประชุมนักวิเคราะห์ของบริษัท ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 29 มี.ค. พบว่าบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์และแผนการลงทุนที่วางไว้ เพื่อที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศ ปัจจุบันโรงไฟฟ้าชีวมวลกำลังการผลิตรวม 17 เมกะวัตต์ที่ผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้เป็นที่น่าพอใจ ขณะที่ยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในมือ ขนาดรวมทั้งสิ้น 78 เมกะวัตต์ เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาวแม้จะมีความล่าช้าของโครงการไปบ้าง ด้วยฐานะทางการเงินที่แข็งแรง ประกอบกับเงินสดในมือและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เพียงพอจึงเชื่อว่า TPCH จะสามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนดังกล่าวได้ คาดกำไรสุทธิปีนี้เติบโตโดดเด่น 265% YoY จากการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของโครงการ 17 เมกะวัตต์ในปัจจุบันเต็มที่ทั้งปีเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะเดินหน้าทำระดับสูงสุดใหม่ต่อเนื่องในระยะยาวจากการทยอยผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของโครงการส่วนที่เหลือในมือ นอกจากนี้ด้วยความเป็นผู้นำและความพร้อมของ TPCH ในทุกๆ แง่ในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศ เราจึงเชื่อว่ายังมีโอกาสการเติบโตใหม่ๆ ให้ TPCH ได้แสวงหาอีกมาก ทั้งนี้เราปรับราคาเป้าหมายลงเล้กน้อยมาอยู่ที่ 24.16 บาท (เดิม 25.68 บาท) เพื่อสะท้อนความล่าช้าของโครงการ ในส่วนของ Price Pattern ของ TPCH มีความแข็งแกร่งทั้งในระยะสั้นและระยะกลางจากการเกิดทั้ง Daily & Weekly Buy Signal แม้ว่ายังคงโดนกดดันจากการเกิด Monthly Sell Signal อยู่ ทั้งนี้เมื่อพิจารณา Price Pattern ของ TPCH ที่สามารถ Break ด้วยการปิดตลาดเหนือเป้าหมายแรกไปแล้วที่ 16.50 บาท คาดว่าน่าจะได้เห็นการปรับตัวขึ้นไปทดสอบเป้าหมายเบื้องต้นต่อไปที่ 18.30 บาท โดย TPCH มีจุด Stop Loss ในรอบนี้อยู่ที่ 15.90 บาท (แนวต้าน: 17.60, 18.00, 18.70; แนวรับ: 16.90, 16.50, 15.80)
ปัจจัยสำคัญ
ประเด็นในประเทศ :
IMF คาดยังเห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระดับปานกลาง โดยประเมินตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจที่แท้จริง (real GDP) ในปีนี้ไว้อยู่ที่ 3% ต่อเนื่องการฟื้นตัว 2.8% ในปีที่แล้ว ก่อนที่จะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2559 อีก 3.2% โดยการลงทุนภาครัฐจะยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีนับจากนี้ ควบคู่ไปกับการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มฟื้นตัวรวมไปถึงราคาพลังงานในระดับต่ำจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค โดยรวมแล้วจะส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานกลับมาเป็นบวกได้ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม IMF ได้ระบุถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ ความล่าช้าของโครงการลงทุนภาครัฐ เงินเฟ้อที่อ่อนแอต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนในระดับสูงในปัจจุบัน รวมไปถึงปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศ อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและความผันผวนของตลาดการเงินโลก (IMF/Bangkok Post)
อนุมัติรถไฟสายสีชมพูและสีเหลือง คณะรัฐมนตรีวานนี้ได้อนุมัติโครงการมูลค่า 1.11 แสนลบ. เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟสายสีชมพูระยะทาง 34.5 กม. จากกรุงเทพฯ ไปนนทบุรี และโครงการรถไฟสายสีเหลืองระยะทาง 30.4 กม. จากกรุงเทพฯ ไปสมุทรปราการ โครงการดังกล่าวจะใช้วิธีการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งจะเริ่มกระบวนการเปิดประมูลในอีกสามเดือนข้างหน้า (Bangkok Post)
มาตรการภาษีกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงสงกรานต์ คณะรัฐมนตรีวานนี้ได้อนุมัติมาตรการจูงใจทางภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศและกระตุ้นให้คนออกมาใช้เวลาท่องเที่ยวในช่วงวันหยุด โดยสามารถนำใบกำกับภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายอาหารในระหว่าง 9-17 เม.ษ. มาใช้ลดหย่อนภาษีบุคคลสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติอนุมัติการต่ออายุสิทธิลดหย่อนทางภาษีจากค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวและโรงแรมจำนวนไม่เกิน 15,000 บาทออกไปอีก 1 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 59 (Bangkok Post) ความเห็น: หุ้นที่น่าจะได้รับประโยชน์จากข่าวนี้โดยตรง ได้แก่ ERW (AWS 59 TP 5.50 บ.) , CENTEL (AWS 59 TP 47.00 บ.), MINT, SPA, M ขณะที่หุ้นที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์อ้อม ได้แก่ AAV, BA, THAI, NOK, RP ROBINS, CPN.
ผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงในเดือน ก.พ. ตามข้อมูลจาก รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง 1.62% YoY ในเดือน ก.พ. แต่ยังลดลงน้อยกว่าประมาณการของรอยเตอร์ที่ 2.55% ผลผลิตในเดือน ก.พ. ที่ลดลงโดยหลักมาจากรถยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, เสื้อผ้าและเหล็ก ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.7% ในเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้นจาก 63.93% ในเดือน ม.ค. (Bangkok Post)
LHBANK (2.02 บ.) ประกาศว่า วานนี้ คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้บริษัทเข้าลงนามในบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสัญญาจองซื้อหุ้นกับ CTBC Bank ภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้ บริษัทได้ตกลงที่จะออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 7.545 พันล้านหุ้น เพื่อเสนอขายต่อ CTBC ผ่านทางการขายต่อบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) และ CTBC ได้ตกลงที่จะจองซื้อหุ้นดังกล่าวในราคา 2.20 บาทต่อหุ้น หลังจากที่ธุรกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้น CTBC จะถือหุ้นทั้งหมด 35.6% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัท (SET) ความเห็น: ข้อตกลงนี้นับเป็นความสำเร็จของ LHBANK หลังจากที่บริษัทมีการหาพันธมิตรทางธุรกิจมานาน ซึ่งกลยุทธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนในการขยายธุรกิจธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อสนับสนุนการเติบโตในระยะยาว กระบวนการของธุรกรรมทั้งหมดคาดว่าจะเสร็จสิ้นในไตรมาส 3/59
ต่างประเทศ
เยลเลนสัญญาณ dovish อย่างชัดเจน นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดเรียกร้องให้ใช้ความระมัดระวังในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในความเห็นแรก ๆ นับแต่เฟดคงอัตราดอกเบี้ย นางเยลเล็นกล่าวว่ายังคงมีความเสี่ยงในตลาดโลก รวมทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจจีนและราคาน้ำมันที่ดิ่งลง คำพูดในเชิงระมัดระวังของประธานเฟดนั้นตรงข้ามกับความเห็นจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่น ๆ ของเฟดในช่วงที่ผ่านมาซึ่งสนับสนุนวิธีการเชิงรุกในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ (Reuters)
โอกาสในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยลดลง Fed Fund Futures บ่งบอกว่าตลาดในตอนนี้มองว่ามีโอกาสเพียง 5% ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเฟดเดือนเม.ย. นี้ และมีโอกาส 33% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อวันจันทร์ว่ามีโอกาส 10% และ 37% ตามลำดับ (Reuters’ IFR)
ราคาพันธบัตรสหรัฐปรับขึ้นเล็กน้อยเมื่อวันอังคาร เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.ของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้ลดความกังวลเกี่ยวกับการใช้จ่ายผู้บริโภคที่อ่อนกำลังลงในไตรมาส 1/59 ราคาพันธบัตรอายุ 10 ปี ล่าสุดเพิ่มขึ้น 7/32 และให้อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 1.860% ลดลง 0.02% จากเมื่อวันจันทร์ (Reuters)
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นเมื่อวันอังคาร หลังจากนางเจเน็ท เยลเลน ประธานเฟดได้กล่าวสุนทรพจน์เชิง dovish ต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินยูโรแข็งค่าขึ้นเกือบ 1% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 1.1302 ดอลลาร์สหรัฐ ข้ามระดับ 1.13 ดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกในช่วง 11 วัน และเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วง 1 วันเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ (Reuters)
สหรัฐ :
ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปิดเพิ่มขึ้นเมื่อวันอังคาร โดยดัชนี S&P500 ปิดสูงสุดในปีนี้หลังจากประธานเฟดเรียกร้องให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างระมัดระวังซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องการได้ยินมาตลอด (Reuters)
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคแข็งแกร่งกว่าที่คาดในเดือนมี.ค. ผลสำรวจของ Conference Board เมื่อวันอังคารระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 96.2 จุดในเดือนมี.ค. หลังจากที่แตะระดับ 94.0 จุดในเดือนก.พ. นักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 94.0 จุด (Reuters)
ราคาบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยวในสหรัฐเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดในเดือนม.ค. ดัชนี S&P/Case Shiller composite index ซึ่งสำรวจราคาอสังหาริมทรัพย์ในเมือง 20 เขตเมืองใหญ่เพิ่มขึ้น 5.7% YoY ในเดือนม.ค. สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นในเดือนก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นดังกล่าวต่ำกว่าตัวเลขประมาณการของนักวิเคราะห์จากผลสำรวจของรอยเตอร์สที่ 5.8% (Reuters)
ยุโรป :
ตลาดหุ้นยุโรปเมื่อวันอังคารปรับตัวสูงขึ้น นำโดยหุ้นกลุ่มประกันภัย อาทิ RSA Insurance และ NN Group หลังจากที่โบรกเกอร์และนักวิเคราะห์ออกมาให้ควาเห็นในเชิงบวก อย่างไรก็ตามนักลงทุนเฝ้ารอถ้อยแถลงของ Janet Yellen ประธาน Fed ซึ่งมีขึ้นหลังจากตลาดหุ้นยุโรปปิดทำการซื้อขายไปแล้ว (Reuters)
สินเชื่อในยูโรโซนเติบโตแข็งแกร่งในเดือน ก.พ. โดย ECB รายงานว่าวงเงินการให้กู้ยิมแก่บริษัทผู้ประกอบการและครัวเรือนในยูโรโซนมีการขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2554 ซึ่งนับเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจยูโรโซนกำลังฟื้นตัว (Reuters)
เอเชีย :
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นเดือน ก.พ. หดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งปีดังกล่าวเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ทำให้การผลิตต้องหยุดชะงัก โดยผลผลิตเดือน ก.พ. ลดลง 6.2% MoM เป็นไปตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ จากการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่ 3.7% ในเดือน ม.ค. ก่อนหน้า (Reuters)
รัฐสภาญี่ปุ่นอนุมัติงบประมาณประจำปี 2559 วงเงิน 96.72 ล้านล้านเยน (8.515 แสนล้านดอลลาร์ฯ) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งบ่งชี้ว่าญี่ปุ่นพร้อมที่จะขยายการลงทุนเพิ่มเติมมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะงักงันในปัจจุบัน ทั้งนี้ Shinzo Abe นายกฯ ญี่ปุ่นต้องการที่จะเร่งเบิกจ่ายในช่วงต้นปีงบประมาณ นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีการเลื่อนการขึ้นภาษีผู้บริโภคออกไปก่อนจากกำหนดการเดิมในเดือน เม.ย. 2560 (Reuters)
ยอดนำเข้าทองคำสุทธิของจีนเพิ่มขึ้นในเดือน ก.พ. มาอยู่ที่ 53.869 ตัน จากระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือนเมื่อเดือน ม.ค. ก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 33.041 ตัน โดยได้แรงหนุนจากผลของเทศกาลตรุษจีนและความต้องการลงทุนทองคำที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการขยายตัวดังกล่าวยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยรายเดือนในปีที่แล้ว (Reuters)
สินค้าโภคภัณฑ์ :
ราคาน้ำมันร่วงลง 3% เมื่อวันอังคาร สะท้อนถึงความกังวลที่ความต้องการของน้ำมันไม่สามารถตามปริมาณที่มีออกมาในตลาดได้ ซึ่งรวมถึงปริมาณผลิตใหม่จากคูเวตและซาอุดิอาระเบีย น้ำมัน Brent ปรับลง 1.13 ดอลลาร์ (-2.8%) อยู่ที่ 39.14 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลง 1.11 ดอลลาร์ (-2.8%) อยู่ที่ 38.28 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (Reuters)
ราคาทองเพิ่มขึ้นมากกว่า 1% วันอังคาร หลังจากความเห็นออกมาจากประธาน Fed เจเน็ต เยลเลน ราคาทองคำตลาดจรขึ้น 1.4% ที่ 1,238.21 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ฟื้นตัวจากราคาเมื่อวันจันทร์ที่ต่ำสุดในรอบ 1 เดือนที่ 1,208.15 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาทองคำล่วงหน้าส่งมอบเม.ย. ขึ้น 17.50 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 1,237.60 ดอลลาร์สหรัฐ (Reuters)
Thailand Research Department
Mr. Warut Siwasariyanon (No.17923) Tel: 02 680 5041
Mr. Krit Suwanpibul (No.17968) Tel: 02 680 5090
Mr. Narudon Rusme, CFA (No.29737) Tel: 02 680 5056
Mr. Napat Siworapongpun (No.49234) Tel: 02 680 5094
Ms. Sukanya Leelarwerachai (No.68790) Tel: 02 680 5331