- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 24 March 2016 15:59
- Hits: 570
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ดัชนี ขึ้นเหนือ 1,400 จุด อาจเผชิญกับแรงขายทำกำไรระยะสั้น แนะนำทยอยปรับลดพอร์ตที่ราคาหุ้นเกิน Fair Value (AOT, TRUE, THAI, BCP) แต่ยังให้สะสมหุ้นที่มีผลประกอบการงวด 1Q59 สดใสต่อ (BDMS, LPH, ERW, CENTEL) และหุ้นน้ำตาลที่ยังฟื้นตัวตามตลาดโลก กลยุทธ์ระยะสั้นเลือก LPH(FV@B9) และ KTIS([email protected])
กนง. ยืนดอกเบี้ยฯ ที่เดิมตามคาด เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์
ผลการประชุม กนง. วานนี้ ให้ยืนดอกเบี้ยฯ ที่ 1.5% เป็นไปตามคาด จึงไม่น่าจะมีน้ำหนักต่อตลาดมากนัก เพราะรัฐยังคงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ๆ ผ่านการบริโภคในประเทศ อย่างต่อเนื่องจากปลายปี 2558 นอกเหนือจากแผนลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ระบบขนส่ง ถนน สนามบิน) มูลค่า 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งทำให้รัฐจะต้องแย่งชิงเงินออมในระยะกลาง ซึ่งอาจทำให้สภาพคล่องในระบบมีแนวโน้มตึงตัวในช่วง 2H59
และเช่นเดียวกับการประชุมธนาคารกลางฟิลิปปินส์ วานนี้ ให้คงดอกเบี้ยฯ ที่ 4% ซึ่งนับว่าต่อเนื่องตั้งแต่ ก.ย. 2557 เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะฟื้นตัว และเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากการบริโภคในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกน้อยที่สุดในภูมิภาค ทำให้คาดว่า GDP Growth ในปีนี้จะสูง 6% เทียบกับ 5.8% ในปี 2558 ขณะที่เงินเฟ้อยังคงทรงตัวที่ 1.5%
ขณะที่ปัจจัยภายนอก คาดยังไม่มีประเด็นใหม่ หลัง FED ชะลอแผนการขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยังส่งสัญญานการฟื้นตัวล่าช้า โดยเฉพาะภาคการผลิต (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ ISM และ ผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวติดต่อกัน 4 และ 7 เดือน) สวนทางกับภาคครัวเรือนที่ฟื้นตัวตามตลาดแรงงาน (อัตราการว่างงานอยู่ที่ 4.9% เป็นระดับต่ำสุดที่ ใกล้เคียงกับก่อนวิกฤติหนี้ซับไพรม์) ซึ่งสะท้อนได้ยอดขายบ้านใหม่ เดือน ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้น 2%mom อยู่ที่ระดับ 5.12 แสนยูนิต (เพิ่มติดต่อกัน 5 เดือน) และยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 3.1%yoy (ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3) ทำให้ Fed มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือปีนี้น้อยลง (ตลาดคาดว่าจะเหลือเพียง 2 ครั้ง และ ดอกเบี้ยเป้าหมายฯ สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 0.875% จากเดิมคาดที่ 1.375%) โดยตลาดยังให้น้ำหนักการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นเป็นในการประชุมรอบ 14-15 มิ.ย. และปลายปี 13-14 ธ.ค. 2559 กดดันให้ Dollar index ผันผวนในกรอบ 95-100 จุด
สต๊อกน้ำมันเพิ่มมากกว่าคาด กดดันหุ้นน้ำมันระยะสั้น
วานนี้สำนักสารสนเทศด้านพลังงาน (EIA) รายงานสต๊อกน้ำมันดิบรายสัปดาห์ สิ้นสุด 18 มี.ค. เพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดคาดถึง 9.4 ล้านบาร์เรล (vs ตลาดคาดเพิ่มขึ้น ราว 2.7 ล้านบาร์เรล) เช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลที่กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.17 แสนบาร์เรล หลังจากปรับตัวลดลง 2 สัปดาห์ติดต่อกัน ยกเว้นน้ำมันเบนซินที่ยังคงลดลงต่อเนื่อง 4.6 ล้านบาร์เรล ติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 ซึ่งลดลงมากกว่าตลาดคาด ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุงในไตรมาส 4 ต่อเนื่องมาในไตรมาส 1 ประกอบกับ ปริมาณการใช้น้ำมันในภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล
แม้ว่า สต็อกที่เพิ่มขึ้นนั้นคาดจะสร้าง Sentiment เชิงลบต่อราคาน้ำมัน แต่คาดว่าจะเป็นในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากปัญหา Over Supply นั้นเริ่มผ่อนคลายลงแล้ว หลังผู้ผลิตน้ำมันในกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC เริ่มหันหน้าเจรจา โดยมีการกำหนดการประชุมหารือ จัดการกำลังผลิตส่วนเกิน (ที่กรุงโดฮา วันที่ 17 เม.ย. นี้) ขณะที่กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐมีแนวโน้มลดลง (สะท้อนจากปริมาณการผลิตที่ลดลงติดต่อกัน 2 สัปดาห์ ล่าสุด 9.04 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากสัปดาห์ก่อนที่ 9.07 ล้านบาร์เรล) ทำให้ล่าสุดราคาน้ำมันดูไบยังปรับตัวขึ้น ปิดตลาด 37.72 เหรียญฯต่อบาร์เรล สวนทางกับน้ำมันตลาดล่วงหน้าทั้ง WTI ที่กลับมาระดับต่ำกว่า 40 เหรียญฯต่อบาร์เรล(ล่าสุด 39.57 เหรียญฯต่อบาร์เรล) เช่นเดียวกับ Brent ที่ปรับตัวลดลง 3.15% จากวันก่อนหน้า (ล่าสุด 40.47 เหรียญฯต่อบาร์เรล) ราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นโอกาสสะสม ทั้ง PTT และ PTTEP
ต่างชาติยังซื้อสุทธิในภูมิภาค แต่ในอัตราที่ลดลง
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 133 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 20 โดยมีมูลค่ารวมสูงถึง 9.1 พันล้านเหรียญ) แต่แรงซื้อสุทธินั้นเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง และหากพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่า ตลาดหุ้นไต้หวันซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 88 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 19) รองลงมาคือ อินโดนีเซียที่สลับมาซื้อสุทธิราว 25 ล้านเหรียญ ตามมาด้วยเกาหลีใต้ซื้อสุทธิเพียง 6 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 10) และฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 2 ล้านเหรียญ ส่วนไทยต่างชาติซื้อสุทธิราว 12 ล้านเหรียญ หรือ 436 ล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 155 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิราว 5.2 พันล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่สลับมาขายสุทธิราว 2.2 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 4 วัน)
ระยะสั้นแนะนำปรับลดพอร์ต ขายทำกำไรหุ้นที่เกิน Fair Value
วานนี้ SET Index สามารถขึ้นทะลุแนวต้าน 1,400 จุดไปได้ โดยในช่วงบ่ายก่อนปิดตลาดราว 1 ชม. โดยมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นขนาดใหญ่ ที่มีผลต่อการดันดัชนี ทำให้สามารถขึ้นไปปิดที่ 1,412 จุด เพิ่มขึ้น 1.07% นำโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นถึง 2.31% (BAY 5.3%, KTB 2.7%, TMB 2.4%, KBANK 2%, BBL 2%) ตามด้วยกลุ่มโรงพยาบาล เพิ่มขึ้น 2.01% (BDMS 2.7%, CHG 2.3%) กลุ่มส่งออกอาหาร เพิ่มขึ้น 1.88% (CPF 6.9%, KSL 6.8%), กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 1.26% (TASCO 2.9%, TPIPL 2.3%), กลุ่มอสังหาฯ เพิ่มขึ้น 1.14% (LPN 4.8%, CPN 3.1%) และกลุ่มปิโตรฯ เพิ่มขึ้น 1.11% (PTTGC 1.7%)
โดยรวมส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีถึงวานนี้ SET Index ให้ผลตอบแทนสูงถึง 9.6% (สูงสุดในภูมิภาค) โดยกลุ่มที่สามารถให้ผลตอบแทนชนะตลาด ได้แก่ สื่อสาร (21.5%), ธ.พ. (17.1%), ปิโตรฯ (14.5%), พลังงาน (14.4%), ค้าปลีก (11.9%), ชิ้นส่วนฯ (10.7%) และขนส่ง (9.9%)
การที่ดัชนีปรับขึ้นได้ outperform เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ด้วยกัน ทำให้ upside ที่ฝ่ายวิจัยประเมินดัชนี ณ สิ้นปีที่ 1465 จุด เหลือน้อยเพียง 4% (อิง Expected P/E 16.2 เท่า) จึงมีโอกาสที่จะเกิดการปรับ port การลงทุนขึ้นได้ โดยเฉพาะหุ้นที่ราคาปัจจุบันเกินมูลค่าพื้นฐาน หรือมี upside เหลือน้อย เช่น กลุ่มสื่อสาร (TRUE, DTAC) ธุรกิจโรงกลั่น (BCP, TOP) สายการบิน-สนามบิน (THAI, AOT) จึงแนะนำให้สลับไปลงทุนในหุ้นที่ยัง laggard แต่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง เช่น ERW, MINT, JMART, KBANK, ASK, MCS เป็นต้น
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
พาสุ ชัยหลีเจริญ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์