- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 01 March 2016 18:51
- Hits: 655
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การตัดลด RRR ไม่มีน้ำหนักกระตุ้นตลาดเท่าไหรนัก แต่เป็นการตอกย้ำว่าการใช้นโยบายการเงินยังจำเป็นตราบที่เศรษฐกิจยังชะลอ เป็นปัจจัยหนึ่งที่หนุนสินทรัพย์เสี่ยง เช่นน้ำมัน ขณะที่รัฐยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจต่อตราบที่กำลังซื้อในประเทศยังชะลอตัว กลยุทธ์ยังให้ผสมหุ้น Global (PTT, IRPC) + Domestic (P/E ต่ำ ปันผลสูง ADVANC, PS, ASK) เลือก AIT([email protected]) เป็น Top pick
จีนลด RRR ต่อเนื่อง....การใช้นโยบายผ่อนคลายยังมีตราบที่เศรษฐกิจชะลอตัว
วานนื้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ลดอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงอีก 0.5% เหลือ 17% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2555 (ที่เคยขึ้นไปแตะระดับสูงสุด 20%) หลังจากได้มีการลดไปแล้ว 4 ครั้งในปี 2558 (โดยล่าสุดในเดือน ต.ค. 2558 ลด 0.5% พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25%) ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ทั้งนี้แม้ว่าการลด RRR จะไม่มีผลต่อตลาดหุ้นมากนัก แต่ก็เป็นการตอกย้ำว่าการใช้นโยบายผ่อนคลายทางเงินของธนาคารกลางหลัก ๆ ของโลกยังคงมีความจำเป็น ตราบที่เศรษฐกิจโลกชะลอต่ำ
ขณะที่วานนี้ มีการรายงานเงินเฟ้อของกลุ่มยูโรโซน เดือน ก.พ. 2559 พบว่ากลับติดลบเป็นครั้งแรก โดยติดลบ -0.2%yoy หลังจากเงินเฟ้อขึ้นมาเป็นบวกต่อเนื่อง มา เดือน โดยล่าสุดเดือน ม.ค. 2559 เงินเฟ้ออยู่ที่ 0.3% ทั้งนี้เชื่อว่าปัจจัยกดดันหลักยังมาจาก กำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัวตามการส่งออกที่ตกต่ำตามเศรษฐกิจโลก ตราบที่ภาพรวมเศรษฐกิจยูโรโซนยังคงฟื้นตัวล่าช้า น่าจะเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย (ตลาดคาดอาจลดอีก 10 bps เป็นติดลบเพิ่มขึ้น -0.4%) หรือ การเพิ่มวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งต้องติดตามรายละเอียดในการประชุม วันที่ 10 มี.ค. นี้
ตราบที่การใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินยังมีอยู่จะช่วยเพิ่มสภาพคล่อง และ หนุนสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึง fund flow ที่จะกลับเข้ามาในตลาดหุ้นในประเทศเกิดใหม่ได้อีก
อัตราเงินเฟ้อไทยยังติดลบ หนุน กนง. ยืนดอกเบี้ยต่อ
วันนี้กระทรวงพาณิชย์จะมีการรายงานเงินเฟ้อ เดือนก.พ. -0.51% เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยเชื่อว่ายังถูกกดดันจากราคาพลังงานที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ แต่อย่างไรก็ตามคาดว่า เงินเฟ้อน่าจะมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2559 หากราคาน้ำมันดิบสามารถกระเตื้องขึ้น ได้ระดับต่ำสุดในช่วงที่ผ่านมา และ สามารถขึ้นไปแตะระดับ 45 เหรียญฯต่อบาร์เรล (ตาม สมมุติฐานที่ ASPS ประเมินไว้ ทำให้เชื่อว่าแนวโน้มที่ กนง.จะคงดอกเบี้ยไปอีกสักระยะหนึ่ง หรือตลอดปี 2559 ทั้งนี้เนื่องจากยังมีนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐต่อเนื่อง สะท้อนจากสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมี มติให้งบประมาณปี 2559 เพิ่มอีก 5.6 หมื่นล้านบาท ทำให้งบฯ ปี 2559 เพิ่มขึ้นจาก 2.72 เป็น 2.776 ล้านล้านบาท โดยเงินจำนวน 2 หมื่นล้านบาท (แบ่งลงทุนในปี 2559 1.5 หมื่นล้านบาท และอีก 5 พันล้านบาท ปี 2560) นำมาขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศดังกล่าวข้างต้น และเตรียมเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ เพื่อเป็น ASEAN Digital Hub ซึ่งหน่วยงานรัฐที่จะใช้งบส่วนนี้คือ CAT และ TOT ซึ่งน่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับ AIT([email protected]) และ SAMTEL([email protected]) ซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้บริการหลักแก่หน่วยงานรัฐทั้ง 2 แห่ง และคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเงินจากภาครัฐนั้นได้กำหนดไว้ 2 ช่วง คือ มี.ค. และ ก.ย. 2559
ขณะที่สัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลได้ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าและ SMEs ต่อเนื่อง ได้แก่ มาตรการช่วยผู้ประสบภัยแล้งและเพิ่มขีดความสามารถให้ภาคเกษตรกร 3 โครงการ วงเงินรวม 9.3 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1) โครงการปรับเปลี่ยนการผลิตของเกษตกรผ่านการให้สินเชื่อวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท 2) เงินกู้ฉุกเฉินให้กับเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งวงเงิน 6 พันล้านบาท และ 3)โครงการเปลี่ยนเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ (1 ตำบล 1 SMEs) วงเงิน 7.2 หมื่นล้านบาท นโยบายเหล่านี้ถือว่าเป็นผลดีต่อหุ้นกลุ่มสินเชื่อ เช่าซื้อ อาทิ ASK TK SAWAD LIT
และตามด้วยการผลักดัน โครงการรถไฟฟ้า 2 เส้น ได้แก่สายสีเหลือง(ลาดพร้าว -สำโรง) วงเงิน 5.4หมื่นล้านบาท และ สายสีชมพู(แคราย – มีนบุรี) วงเงิน 5.6หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามกรอบเวลาตามโครงการ PPP Fast Track และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ปี 2559-2560 วงเงิน 1.8 ล้านล้านบาท ล่าสุดเร่งรัดเสนอให้ครม. พิจารณา ภายในเดือน มี.ค. และคาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายใน มิ.ย. นี้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อหุ้นกลุ่มรับเหมา และวัสดุก่อสร้าง อาทิ CK ITD STEC SCC เป็นต้น
กำไรงวด 4Q58 ใกล้เคียงคาด และมองข้ามปี 2559 ยังสดใสต่อ
เมื่อวานนี้จนถึงช่วงเย็นและค่ำ มีบริษัทจดทะเบียนรายงานงบออกมาจำนวนมาก ตามที่ฝ่ายวิจัยรวบรวมได้มีบริษัทจดทะเบียนรายงานงบฯ แล้วเกินกว่า 500 บริษัท คิดเป็น Market Cap รวมกันแล้วกว่า 98% กำไรสุทธิงวด 4Q58 ที่รายงานออกมารวมกันได้เกิน 2.7 แสนล้านบาท มากกว่าที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ 2.3 แสนล้านบาท โดยบริษัทที่มี market cap ขนาดใหญ่ ที่รายงานงบช่วงโค้งสุดท้ายวานนี้ เช่น CPALL กำไรงวด 4Q58 กว่า 3.8 พันล้านบาท CPF กำไรใกล้เคียงคาดที่ 1.5 พันล้านบาท BDMS กำไรงวด 4Q58 กว่า 2 พันล้านบาท ดีกว่าคาด CENTEL กำไรต่ำกว่าคาดที่ 300 ล้านบาท THAI มีกำไรพิเศษรวมกัน 5 พันล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้ หากรวมกับ 9M58 ทีกำไรตลาดทำได้ 4.7 แสนล้านบาท ก็น่าจะพอประเมินกำไรตลาดปี 2558 ได้ถึงกว่า 7.5 แสนล้านบาท
ส่วนแนวโน้มกำไรตลาดปี 2559 น่าจะมีแนวโน้มสดใสกว่าปี 2558 โดยคาดมี EPS Growth กว่า 20% แต่ก็มีตัวแปรที่ถือเป็นความเสี่ยงบางส่วนคือสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบซึ่งใช้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 45 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งยังสูงกว่าราคาปัจจุบัน รวมถึงสถานการณ์ของกลุ่ม ICT และ Media ซึ่งต้องติดตามดูสถานการณ์การแข่งขันและต้นทุนใบอนุญาต ซึ่งฝ่ายวิจัยอยู่ในระหว่างรวบรวมตัวเลขสุดท้ายของปี 2558 ก่อนประเมินกำไรตลาดปี 2559 อีกครั้ง แต่เบื่องต้นประเมินว่า EPS จะอยู่ที่ราว 90 บาท คิดเป็น Expected P/E ที่ 14.8 เท่า (ลดลงจากกว่า 17 เท่าจากปี 2558) ใกล้เคียงกับภูมิภาคอย่างมาเลเซียที่ 14.5 เท่า แต่ต่ำกว่าฟิลิปปินส์ที่ 15.1 เท่า แต่ด้วยการเติบโตในอัตราที่สูงกว่า จึงนับว่าตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจ
เดือน ก.พ. ต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาคอีกครั้ง
วานนี้ตลาดหุ้นไต้หวันหยุดทำการเนื่องจากเป็นวันหยุด ส่วนตลาดหุ้นอื่นๆยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่าต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 148 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) และเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 145 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) ตามมาด้วยอินโดนีเซียซื้อสุทธิราว 20 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ส่วนที่เหลืออีก 2 ประเทศต่างชาติขายสุทธิคือ ฟิลิปปินส์ขายสุทธิราว 13 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) และไทยต่างชาติขายสุทธิเล็กน้อยราว 4 ล้านเหรียญ หรือ 135 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 144 ล้านบาท
สรุปแรงซื้อขายจากต่างชาติในเดือน ก.พ. พบว่านักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งเดือนหลัง จนทำให้ยอดซื้อสุทธิสะสมกลับมาเป็นบวกอีกครั้งราว 1.8 พันล้านเหรียญ แต่ยังมียอดขายสุทธิสะสมใน 2 ประเทศ คือ ฟิลิปปนส์และเกาหลีใต้ โดยขายสะสมสุทธิราว 85 ล้านเหรียญ, 43 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศ คือ ไต้หวัน, อินโดนีเซีย และไทย มียอดซื้อสะสมสุทธิราว 1.6 พันล้านเหรียญ, 303 ล้านเหรียญ และ 13 ล้านเหรียญ ตามลำดับ โดยสาเหตุหลักๆน่าจะเกิดจาก การปรับพอร์ตและย้ายการลงทุนจากตราสารหนี้มาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงกว่า อย่างตลาดหุ้น หลังจากสัญญาณการใช้นโยบายการเงินผ่อนเพิ่มมากขึ้น จนทำให้สภาพคล่องโลกเพิ่มขึ้น รวมไปถึงราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา
ส่วนแนวโน้มเดือน มี.ค. โดยจากสถิติ ย้อนหลัง 10 ปี พบว่า ต่างชาติซื้อหุ้นไทยถึง 8 ใน 10 ปี และ SET Index ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 1.30% โดยมีโอกาสที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกราว 50%
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์