- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 19 February 2016 17:11
- Hits: 1936
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เชื่อว่าแนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกยังเป็นปัจจัยชี้นำตลาดฯ หลังมีความพยายามของผู้ผลิตน้ำมัน โลกที่ต้องการลด Oversupply ยังหนุนหุ้นน้ำมัน (PTT, PTTEP) ขณะที่เข้าสู่ฤดูจ่ายเงินปันผล เลือก หุ้น P/E ต่ำ เงินปันผล และ upside สูง (PTT, ADVANC INTUCH) Top pick คือ PTT(FV@B310)
อินโดนีเซียลดดอกเบี้ยฯ หนุนสภาพคล่องโลก
ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้สถานการณ์ปรับลด GDP Growth โลกยังมีอยู่ ล่าสุด Moody’s เป็นหนึ่งในสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของโลก ได้ทำการปรับลดคาดการณ์เติบโตของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ G20 (กลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ชาติ) และกลุ่ม BRICS ลง ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) โดยเฉพาะจีน และ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ชะลอตัว เป็นต้น
ทั้งนี้ Moody’s ได้ปรับลด GDP Growth กลุ่ม G20 ในปี 2559 ลงเหลือ 2-3% จากเดิม 2.5-3.5% โดยปรับลดรายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อังกฤษ จีน และ ญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังปรับคาดการณ์ GPD Growth กลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันด้วย โดยซาอุดิอาระเบีย ลดจาก 2.7% สู่ 1.5% รัสเซีย ลดจาก -1.5% สู่ -2.5% บราซิล ลดจาก -1% สู่ -3% และแอฟริกาใต้ลดจาก 1.4% สู่ 0.5% เป็นต้น
นับสอดคล้องกับ IMF ที่ได้ออกมาปรับลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก (GDP Growth) ก่อนหน้านี้ โดยปรับลดโลกลง 0.2% เหลือ 3.4% ทั้งนี้ในส่วนประเทศพัฒนาแล้ว ปรับลด สหรัฐลง 0.2% เหลือ 2.6% ตรงข้ามกับยุโรป ปรับเพิ่ม 0.1% อยู่ที่ระดับ 1.7% ส่วนญี่ปุ่นและอังกฤษ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนา ทั้งจีนและอินเดีย ยังให้คงที่ 6.3% และ 7.5% ตามลำดับ แต่ปรับลดบราซิลลงจาก 2.5% เป็น ติดลบ 3.5%
และเช่นเดียวกับ ธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับ GDP Growth โลกเหลือ 2.9% (เดิมคาดการณ์ที่ 3.3%) โดยฝั่งประเทศพัฒนาแล้วได้ปรับลดลงประเทศ กล่าวคือ สหรัฐและกลุ่มยูโรโซนปรับลงประเทศละ 0.2% เหลือ 2.7% และ 1.7% ส่วนญี่ปุ่นปรับลง 0.4% เหลือ 1.3% อังกฤษปรับลง 0.2% เหลือ 2.4% ส่วนประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเซีย ได้ปรับจีนลง 0.3% เหลือ 6.7% อินเดียปรับลง 0.1% เหลือ 7.8% ขณะในประเทศกลุ่มTIPS ปรับลงทุกประเทศ โดยมาเลเซีย ปรับลงมากที่สุด 0.5% เหลือ 4.5% ตามมาด้วย อินโดนีเซียปรับลง 0.2% เหลือ 5.3% ฟิลิปปินส์ ปรับลง 0.1% เหลือ 6.4% และไทย ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง 2%
และล่าสุด ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5% เหลือ 7% โดยยังคง RRR ที่ 12% เนื่องจากแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่ลดลง จากที่เคยเฉลี่ยสูง 7-8% ในปีที่ผ่านมาลงมาเหลือ 3% ในเดือน ธ.ค. และ 4% ในเดือน ม.ค ตามลำดับ ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกลดลง โดยเฉพาะถ่านหิน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก
แนวโน้มการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายที่ยังมีอยู่ทั่วโลก ตราบที่การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายยังมีอยู่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่ายังเป็นปัจจัยหนุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้น และน้ำมัน เป็นต้น และทำให้มีกระแส fund flow กลับเข้ายังประเทศกำลังพัฒนาอีกครั้ง หลังจากที่ขายหุ้นไทยไปกว่า 4 แสนล้านบาทในรอบกว่า 3 ปีที่ผ่านมา และหนุนให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียกลับมาแข็งค่าอีกครั้งหนึ่ง
มีแนวโน้มปรับลด GDP Growth ไทยลงราว 0.2% จากเดิมที่ 3.8%
ภายหลังจากสภาพัฒน์ฯ รายงาน GDP Growth งวด4Q58 อยู่ที่ 2.8%yoy (vs 2.9%yoy งวด3Q58) โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจาก การใช้จ่ายภาคครัวเรือน(C) ปรับเพิ่มขึ้น 2.5%yoy เทียบกับ 1.8%yoy ในงวด3Q58 ซึ่งมาจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐ และการลงทุนรวม (I) ที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด 9.4% เทียบกับงวด 3Q58 ที่หดตัว 2.6%yoyในงวด 3Q58 หลัก ๆ มาจากการลงทุนภาครัฐ (การเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนพัฒนาระบบน้ำและการคมนาคม) โดยขยายตัว 41%yoy เทียบกับงวดก่อนหน้าขยายตัว 20% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัว และสุดท้ายการใช้จ่ายของภาครัฐ(G) ขยายตัว 4.8%yoy เทียบกับ 2.3%yoy งวด 3Q58 โดยรวมทำให้GDP Growth ทั้งปี 2558 อยู่ที่ 2.8% ดีกว่า ASPSคาดที่ 2.7% เล็กน้อย
สำหรับแนวโน้มปี 2559 นี้ คาดการณ์เดิม GDP Growth ของ ASPS จะอยู่ที่ 3.8% ซึ่งพบว่าสูงกว่า Consensus ที่คาดการณ์ เฉลี่ย3.5% ซึ่งพบว่าความแตกต่างเกิดจาก 2 ส่วน คือ C และ I กล่าวคือ C ของ ASPS ประเมินไว้ที่ 3% สูงกว่า consensus ที่ราว 2.7% (ของสภาพัฒน์) แต่ตรงกันข้ามที่ I ที่ ASPS ประเมินต่ำเกินไปคือ 3% เทียบกับ 4.9% ของ Consensus ทั้งนี้หากพิจารณาปัจจัยแวดล้อมในปี 2559 คาดว่า ทั้ง I และ C ยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะตัว I โดยเฉพาะการลงทุน 1.8 ล้านล้านบาท ในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นของรัฐ ซึ่งกำหนดกรอบการประมูลไว้ในปี 2559-2560 และ ล่าสุดรัฐบาลได้เตรียมแผนเสนอของบประมาณรายจ่ายพิเศษ 5.6 หมี่นล้านบาท ซึ่งจะใช้แหล่งที่มาของเงินจากการประมูลคคลื่น 4G เพื่อนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น/โครงการเร่งด่วน ต่อเนื่องจากปี 2558 ซึ่งโดยรวม อาจจะทำให้ ASPS จะต้องปรับเพิ่ม I ขึ้น แต่อาจจะลด การบริโภคครัวเรือนลงเล็กน้อย ซึ่งอาจจะทำให้ GDP Growth ปีนี้เหลือ 3.5-3.6% ติดตามรายละเอียดใน Economic Update ในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบโลกทรงตัว...สต๊อกน้ำมันดิบเพิ่มน้อยกว่าคาด
วานนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ สิ้นสุด 12 ก.พ. เพิ่มขึ้นราว 2.15 ล้านบาร์เรล แต่เพิ่มน้อยกว่าตลาดคาด 3.92 ล้านบาร์เรล นับเป็นการเพิ่มครั้งแรก หลังจากปรับตัวลดลงติดต่อกัน 4 สัปดาห์ ส่งผลให้สต็อกน้ำมันดิบ และ สต็อกน้ำมันสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ขณะที่ผลการหารือระหว่างผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ทั้งในกลุ่ม OPEC และ NON-OPEC ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในประเด็นการควบคุมปริมาณการผลิต แต่เริ่มเห็นสัญญาณการร่วมมือกันครั้งแรก สะท้อนว่าราคาน้ำมันดิบที่ลดลงในช่วงก่อนผ่านจุดต่ำสุดแล้ว อย่างไรก็ตาม ล่าสุดราคาน้ำมันตลาดล่วงหน้า WTI ย่อตัวลงเล็กน้อย แต่ยังคงสามารถยืนเหนือระดับ 30 เหรียญฯต่อบาร์เรล (ล่าสุด 30.47 เหรียญฯต่อบาร์เรล) แต่ราคาน้ำมันดูไบยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเพิ่มขึ้นกว่า 2.18 เหรียญฯต่อบาร์เรล (ล่าสุด 30.69 เหรียญฯต่อบาร์เรล) คาดราคาน้ำมันจะยังคงแกว่งตัวตัวในทิศทางบวก หนุนหุ้นผลิตและสำรวจปิโตรเลี่ยม ทั้ง PTTEP, PTT ยังแนะนำให้สะสมหุ้น PTT เนื่องจากมี P/E ต่ำ และ upside สูง
ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัว ยังคงกดดันค่าการกลั่นระยะสั้น ล่าสุดอยู่ที่ 5.86 ซึ่งนับเป็นค่าต่ำสุดนับแต่ต้นปี ลดลงกว่า 46.5 % จากจุดสูงสุดเกือบ 11 เหรียญฯต่อบาร์เรลในช่วง กลางเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงต่ำสุดแล้ว และการเข้าสู่ช่วงฤดูกาล ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปสูงขึ้นในช่วง 1H59 แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาค่าการกลั่นในช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน (YTD) ยังอยู่ที่ 8.59 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งยังคงสูงกว่าช่วงเดียวกันในปีก่อนที่เฉลี่ยราว 7.86 เหรียญฯต่อบาร์เรล อยู่ประมาณ 9.3% และเมื่อเทียบกับสมมติฐานของ ASPS ที่กำหนดค่าการกลั่นไว้ที่ 6.5 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ทรงตัวจากปี 2558 (อ้างอิงจากตลาดสิงคโปร์) ยังคงเหลือหุ้นโรงกลั่นและปิโตรเคมีคือ IRPC เป็น Top pick
ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยติดต่อกัน 4 วันทำการ
วานนี้ ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 499 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) แต่เป็นการขายสุทธิอยู่ประเทศเดียว คือ ฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 17 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ส่วนที่เหลืออีก 4 ประเทศต่างชาติยังคงซื้อสุทธิ คือ ไต้หวันซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 339 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) รองลงมาคือ เกาหลีใต้ขายสุทธิราว 114 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) ตามมาด้วยอินโดนีเซียซื้อสุทธิราว 27 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6) และไทยต่างชาติซื้อสุทธิราว 35 ล้านเหรียญ หรือ 1,245 ล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 โดยมียอดซื้อสุทธิสะสมรวม 4,736 ล้านบาท) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 183 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศยังคงซื้อสุทธิราว 13,720 ล้านบาท สวนทางกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 5,027 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งคาดว่าน่าจะปรับลดพอร์ตการลงทุนในตราสารหนี้ มาสู่ตลาดหุ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากสัญญานการใช้นโยบายการเงินผ่อนเพิ่มมากขึ้น จนทำให้สภาพคล่องโลกเพิ่มขึ้น
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์