- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 18 February 2016 21:54
- Hits: 620
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันนี้ SET โอกาสฟื้นตัวจากทิศทางราคาน้ำมันโลกที่ฟื้นตัวแรง หลังจากที่เห็นความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตน้ำมันที่ต้องการควบคุมปริมาณการผลิต หนุนหุ้นน้ำมัน PTT, PTTEP ยังคงเน้นกลยุทธ์หุ้น P/E ต่ำ เงินปันผล และ upside สูง (IRPC, PTT, INTUCH, PS) วันนี้เลือก PTT(FV@B>310) และ IRPC(FV@B>5.70) เป็น Top picks
น้ำมันยังฟื้นตัวต่อ ตามความคาดหวังว่าจะมีมาตรการควบคุมการผลิต
ท่ามกลางปัญหาปริมาณผลผลิตที่เกินความต้องการประมาณวันละ 1.1 ล้านบาร์เรล แต่การส่งสัญญาณความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตน้ำมันหลัก ๆ ของโลก ที่ต้องการควบคุมปริมาณการผลิต แม้ยังไม่มีรายละเอียดก็ตาม แต่ถือว่าเป็นสัญญาณบวกที่บ่งบอกว่าราคาน้ำมันดิบที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาได้ผ่านจุดเลวร้ายหรือจุดต่ำสุดไปแล้ว ทั้งนี้หลังจากที่มีการเริ่มเจรจาครั้งแรกระหว่างผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของ OPEC คือ ซาอุดิอาระเบีย กับ ผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่ม OPEC คือ รัสเซีย ในวันอังคารที่ผ่านมา และ เมื่อวันพุธหรือวานนี้ มีการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้ผลิตน้ำมันในกลุ่ม OPEC คือ อิหร่าน อิรัก และ เวเนซุเอลา ซึ่งถือผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของกลุ่ม OPEC แม้ยังไม่ได้ข้อสรุป หรือข้อตกลงใดๆ อย่างเป็นทางการก็ตาม
การร่วมมือดังกล่าวได้หนุนให้ราคาน้ำมันดิบราคาน้ำมัน Brent ปรับตัวขึ้น 2.32 เหรียญฯต่อบาร์เรล ปิดตลาด 34.50 เหรียญฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบตลาดล่วงหน้าปรับตัวขึ้นกว่า 2.6 เหรียญฯต่อบาร์เรล (ล่าสุด 31.54 เหรียญฯต่อบาร์เรล) ซึ่งน่าจะหนุนหุ้นผลิตและสำรวจปิโตรเลี่ยม ทั้ง PTTEP, PTT ยังแนะนำให้สะสมหุ้น PTT เนื่องจากมี P/E ต่ำ และ upside สูง
อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบที่ฟื้นตัว กลับมากดดันหุ้นโรงกลั่นอีกครั้ง หลังจากที่ค่าการกลั่นทำสถิติสูงสุดเกือบ 11 เหรียญฯต่อบาร์เรลในช่วง กลางเดือน ม.ค. ซึ่งนอกจากเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงต่ำสุดแล้ว ยังเป็นผลจากเข้าสู่ช่วงฤดูกาล ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปสูงขึ้นในช่วง 1H59 (อานิสงส์จากการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวในหลายทวีปทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงในช่วงปลายงวด 1Q59 ต่อเนื่องด้วยต้นงวด 2Q59 ยังเป็นช่วงฤดูกาลที่โรงกลั่นหลายแห่งในโลกหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงประจำปี ซึ่งจะส่งผลให้ Supply โดยรวมลดลง) โดยพบว่าล่าสุดค่าการกลั่นอยู่ที่ 6.44 เหรียญฯต่อบาร์เรล ลดลง 41% จากจุดสูงสุด แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาค่าการกลั่นในช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน (YTD) ยังอยู่ที่ 8.68 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งยังคงสูงกว่าช่วงเดียวกันในปีก่อนที่เฉลี่ยราว 7.84 เหรียญฯต่อบาร์เรล อยู่ประมาณ 9.6% และเมื่อเทียบกับสมมติฐานของ ASPS ที่กำหนดค่าการกลั่นไว้ที่ 6.5 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ทรงตัวจากปี 2558 (อ้างอิงจากตลาดสิงคโปร์)
ในสถานการณ์นี้อาจจะกดดัน TOP(FV@B>68) มากสุด เนื่องจากมีสัดส่วนธุรกิจโรงกลั่นมากสุด 75% ที่เหลือ 25% เป็นธุรกิจปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ ซึ่งพบว่า ระยะสั้น-กลาง ธุรกิจปิโตรเคมี ยังมีแนวโน้มชะลอตัว ตราบที่เศรษฐกิจจีนยังไม่กลับมาฟื้นตัวชัดเจน โดยเฉพาะสายอะโรเมติกส์ยังอยู่ในสถานะ oversupply ขณะที่สายโอเลฟินส์ (โพลิเอทิลีนและสายโพรพิลีน) น่าจะมีปัญหา oversupply ที่น้อยกว่า ขณะที่ราคาหุ้น TOP มี upside เหลือน้อยเพียง 8% จึงแนะนำให้ Switch มา IRPC และ PTTGC ซึ่งยังมี ซึ่งมีการกระจายรายได้ดี และมี upside ที่สูงกว่า คือ IRPC (FV@B>5.7) ซึ่งมีสัดส่วนกำลังการผลิตโอเลฟินส์ 40% อะโรเมติกส์ 10% สไตรีนิกซ์ 20% และโรงกลั่น 30% คาดแนวโน้มกำไรปกติในปี 2559 ยังคงเติบโตต่อเนื่องอีก 15.6%yoy โดยได้รับผลบวกหลังจากโครงการ UHV แล้วเสร็จเชิงพาณิชย์ตั้งแต่งวด 2Q59 เป็นต้นไป จะส่งผลให้ GIM ในปี 2559 เพิ่มขึ้นได้อย่างน้อย 1 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งถือเป็นการยกระดับฐานกำไรของ IRPC ให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป จึงเลือกเป็น Top pick
และตามมาด้วย PTTGC (FV@B>68) ซึ่งมีสัดส่วนกำลังการผลิตโอเลฟินส์ 50% อะโรเมติกส์ 25% และโรงกลั่น 25% โดยคาดกำไรในปี 2559 ทยอยเพิ่มขึ้นรายไตรมาส โดยในช่วง 1H59 ความโดดเด่นจะตกอยู่ที่ธุรกิจโรงกลั่น ส่วนช่วง 2H59 คาดหวังได้จากธุรกิจปิโตรเคมีที่จะกลับมาเติบโต อีกทั้งให้ Dividend Yield 2H58 สูงถึง 2.5%
Fund flow ไหลกลับ สภาพคล่องโลกเพิ่ม นโยบายการเงินผ่อนคลายยังมีอยู่
ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวยังมีอยู่ โดยล่าสุดญี่ปุ่นรายงานยอดภาคการผลิต และบริการยังชะลอตัวต่อเนื่อง กล่าวคือคำสั่งซื้อเครื่องจักร เดือนม.ค. ติดลบ 17.2%yoy (ชะลอตัวติดต่อกัน 4 เดือน) ตามด้วยยอดค้าปลีกซึ่งหดตัวติดต่อกันตั้งแต่ เม.ย. 2557 ซึ่งเป็นผลจากการขึ้น sale tax ในช่วงดังกล่าว (5% เป็น 8%) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทรงตัวที่ 0.2% (ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2) ทำให้เชื่อว่าการประชุมของ BOJ ในวันที่ 15 มี.ค. ที่จะถึง อาจจะมีการกระตุ้นเพิ่มเติมผ่านการใช้นโยบายผ่อนคลาย หลังจากมีการลดดอกเบี้ยกระแสรายวันที่ ธ.พ.มาฝากกับธนาคารกลางฯ(BOJ) ลงเป็นติดลบ 0.1% เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และทำให้แผนการขึ้นภาษี sale tax จาก 8% เป็น 10% อาจจะต้องเลื่อนออกจากแผนเดิมกำหนดไว้ เม.ย. 2560
ขณะที่ สหรัฐ มีการรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจล่าสุดกระเตื้องขึ้น แต่ยังเป็นไปอย่างล่าช้า กล่าวคือ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมกระเตื้องในเดือน ม.ค.อยู่ที่ 0.9% เป็นครั้งแรกหลังจากหดตัวตั้งแต่กลางปี 58 ขณะที่ยอดสร้างบ้าน (Housing Start) เพิ่มขึ้นในอัตราชะลออยู่ที่ 1.09 ล้านหลัง (ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4) ภาพโดยรวมทำให้ Fed ต้องเพิ่มความระมัดระวังการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ สะท้อนจาก ผลสำรวจของ Bloomberg พบว่าความน่าจะเป็นที่จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มี.ค. อยู่ที่ 10% จากเดิมที่คาดไว้ 50%
และอังกฤษ รายงานอัตราการว่างงานทรงตัว อยู่ที่ระดับ 5.1% (ติดต่อกัน 2 เดือน) แต่ภาคการผลิตที่ยังชะลอตัว โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือนติด) ทำให้โอกาสที่ BOE จะหันกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอีกครั้ง หลังจากคงดอกเบี้ย ที่ 0.5% ตั้งแต่ปลายปี 2551
ขณะที่ผลการสำรวจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (ICI) เดือน ม.ค. ปรับตัวลดลงจากเดือน ธ.ค. 1.37% mom โดยเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน และยังคาดการณ์ว่าในระยะ 3 เดือนข้างหน้า จะลดลงราว 1.85% ทั้งนี้เป็นผลกระทบจากผู้ประกอบการ กังวลต่อปัจจัยภายนอก และปัญหาภัยแล้งในประเทศ รวมถึงการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนช่วงปลายปี 2558 ทำให้กำลังซื้อแผ่วเบาลงในเดือน ม.ค. ทั้งนี้ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ในช่วงเดียวกันที่ลดลง 0.79% mom ด้วยเหตุนี้จึงคาดว่า ธปท. น่าจะยังคงยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ต่อเนื่องตลอดปี 2559 เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อและการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งคาดว่าทุกอย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อโครงการลงทุนภาครัฐที่กำหนดกรอบการลงทุนในปี 2559-2560 ราวเกือบ 2 ล้านล้านบาท (เป็นการลงทุนในโครงการรถไฟทางคู่ โครงข่ายรถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ ระบบขนส่งทางอากาศ เป็นต้น)
เชื่อว่าสภาพคล่องทางการเงินโลก ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายที่ยังมีอยู่ทั่วโลก และยังต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหนุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้น และน้ำมัน เป็นต้น และทำให้มีกระแส fund flow กลับเข้ายังประเทศกำลังพัฒนาอีกครั้ง สะท้อนได้จากค่าเงินในภูมิภาคเอเชียกลับมาแข็งค่าอีกครั้งหนึ่ง
ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยสูงเกือบ 3 พันล้านบาท
วานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีกราว 130 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) แต่เป็นการขายสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ขายสุทธิราว 68 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) และฟิลิปปินส์ขายสุทธิราว 13 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศต่างชาติยังคงซื้อสุทธิ คือ ไต้หวันซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 87 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยอินโดนีเซียซื้อสุทธิราว 42 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) และไทยต่างชาติซื้อสุทธิสูงถึง 82 ล้านเหรียญ หรือ 2,909 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ตรงข้ามกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิสูงถึง 5,959 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศยังคงซื้อสุทธิราว 8,977 ล้านบาท สวนทางกับนักลงทุนต่างชาติที่สลับมาขายสุทธิราว 1,763 ล้านบาท ตามลำดับ
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์