- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 11 February 2016 17:09
- Hits: 1013
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ประเมินว่า Downside ของ SET Index น่าจะเหลืออยู่อย่างจำกัด โดยการเคลื่อนไหวของ SET Index ช่วงที่ผ่านมาได้ดูดซับปัจจัยลบต่างๆ ไปมากแล้ว แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีปัจจัยบวกที่มีน้ำหนักมากพอขับเคลื่อนให้ปรับตัวขึ้นไปแรง ภาวะดังกล่าวแนะนำให้เลือกหุ้น High Dividend Yield เพื่อ lock ผลตอบแทน เลือก ADVANC(FV@B187) เป็น Top pick รวมถึง INTUCH(FV@B75)
Fed น่าจะยังยืนดอกเบี้ยจนถึงปลายปี
หลังจากสหรัฐ นำร่องขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 0.5% (ครั้งแรกในรอบ 9 ปี) ในช่วง ธ.ค.58 และการประชุมในเดือน ม.ค.59 ที่ยังคงดอกเบี้ยตามเดิม ล่าสุดวานนี้นางเจเน็ต เยลเลน ประธาน Fed ได้ออกมาเผยถึงความเชื่อมั่นต่อภาคแรงงานที่ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง และเงินเฟ้อจะฟื้นตัวเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% (ล่าสุดเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.7% ฟื้นตัวติดต่อกัน 3 เดือน) แต่ยังมีความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว (โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน) และปัญหา Over Supply ของสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งกระทบต่อผู้ส่งออกน้ำมันทำให้สภาวะการเงินของภาคธุรกิจสหรัฐตึงตัว อย่างไรก็ตาม Fed ยังเชื่อว่าจะดำเนินนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยตลาดมีการคาดการณ์กันว่า Fed ยังคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในเดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้ สะท้อนจากผลสำรวจ Fed Fund Rate ของ Bloomberg พบว่าโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยรอบ มี.ค. มีเพียง 2 % และคาดว่าจะคงระดับเดิมสูง 98% ผลดังกล่าวน่าจะทำให้ค่าเงิน USD ยังอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่าต่อไปอีกระยะ หนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่าง ทองคำให้อยู่ระดับสูง ขณะที่ตลาดหุ้นยังอยู่ภายใต้แรงกดดัน
ในส่วนของยุโรป ประธาน ECB มาริโอ ดรากี ได้ส่งสัญญาณว่าจะมีทบทวนการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม ในการประชุมรอบ 10 มี.ค. ที่จะถึงนี้ เพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.4% และกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ทั้งนี้ ภูมิภาคยุโรปและสมาชิกหลายประเทศจะมีการรายงาน GDP Growth งวด 4Q58 โดยในส่วนของยูโรโซนคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 1.5% (9M58 อยู่ที่ 1.5%) จะทำให้ทั้งปีโตเท่ากับที่ IMF คาดการณ์ไว้ในปี 58 โตที่ 1.5% และอาจจะเป็นอีกปัจจัยที่หนุนให้ ECB เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ก็เป็นได้
หนีร้อนมาพึ่งเย็น นักลงทุนหันมาหา Risk-free Asset แต่ตลาดหุ้นน่าจะใกล้ฟื้นตัวแล้ว
ภาวะการกลัวความเสี่ยงของนักลงทุน อันเนื่องมาจากความปั่นปวนขึ้นในตลาดหุ้นโลกในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลให้ทิศทาง Fund Flow ไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง (Risky Assets) ไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย (Risk-Free Assets) มากขึ้น เห็นได้ชัดจากพันธบัตรรัฐบาลในภูมิภาคต่างๆ ที่ราคาปรับเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ Bond Yield ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นที่ถือเป็น Safe Haven นักลงทุนต่างเข้าถือครองจนทำให้ Bond Yield ติดลบครั้งแรกเป็นประวัติการณ์ในทุกช่วงอายุ ทั้งตราสารหนี้ระยะสั้น 1 ปี ระยะกลาง 5 ปี ระยะยาว 10 ปี อยู่ที่ -0.235%, -0.25% และ -0.025% ตามลำดับ เช่นเดียวกับ Bond Yield พันธบัตรสหรัฐ ลดลงเช่นกันนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยอายุ 1, 5 และ 10 ปี อยู่ที่ 0.5102%, 1.1818% และ 1.7565% ตามลำดับ แต่ยังไม่ทำจุดต่ำสุดเทียบกับช่วงปลายปี 2554 ถึงกลางปี 2556 ที่ Bond Yield ทรงตัวในระดับต่ำเป็นเวลานาน ส่วน Bond บ้านเรานั้น อายุ 10 ปี อยู่ที่ 2.18% ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ส่วนอายุ 5 ปี และ 1 ปี อยู่ที่ 1.84% และ 1.44% ตามลำดับ แม้ยังไม่ทำจุดต่ำสุดแต่ก็ใกล้เคียงกับช่วงปี 2552
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในทุกครั้งที่ Bond Yield ลดลงทำจุดต่ำสุดในแต่ละช่วง ตลาดหุ้นจะมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นมากลับมาแทบจะในช่วงเวลาเดียวกัน หรืออาจจะหลังจาก Bond Yield เริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่ก็หลังจากนั้นไม่มาก ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากตลาดหุ้นน่าจะซึมซับประเด็นข่าวเชิงลบไปมากแล้ว เมื่อ downside risk เริ่มจำกัด บวกกับผลตอบแทนของพันธบัตรเริ่มไม่น่าจูงใจ นักลงทุนจึงพร้อมที่จะสลับพอร์ตการลงทุนมายังสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาอีกช่วงหนึ่งในการที่จะทำให้นักลงทุนกลับมายอมรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นแลกกับผลตอบแทนที่ดีกว่า Bond Yield
ราคาน้ำมันฟื้นตัวช่วงสั้น ไม่น่าทำ new low แล้ว
วานนี้ มีรายงานสต็อกน้ำมันของสำนักสารสนเทศด้านพลังงาน (EIA) สิ้นสุดวันที่ 5 ก.พ. สต็อกน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ราว 8 แสนบาร์เรล ส่งผลให้สต็อกน้ำมันดิบอยู่ที่ 501 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 4 สัปดาห์ สวนทางกับนักวิเคราะห์คาดการณ์เพิ่มขึ้น 3.2 ล้านบาร์เรล คาดปัจจัยหลักจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงมากในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่สต็อกน้ำมันสำเร็จรูป อาทิ สต็อกน้ำมันกลั่น Heating Oil และน้ำมันดีเซล ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ราว 1.26 ล้านบาร์เรล ส่งผลทำให้สต็อกน้ำมันกลั่น Heating Oil และน้ำมันดีเซล อยู่ที่ 255.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นปริมาณสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2533 ใกล้เคียงกับสต็อกน้ำมันเบนซิน ที่เพิ่มขึ้นราว 1.28 ล้านบาร์เรล จากสต็อกน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันสามารถฟื้นตัวได้ช่วงสั้นๆ โดยราคาน้ำมันตลาดล่วงหน้าทั้ง Brent และ WTI ปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 5
อย่างไรก็ตาม แรงกดดันปัญหา Over supply ยังคงมีอยู่ หลังการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปในการลดการผลิตในกลุ่ม OPEC ยังไม่ได้ข้อสรุป และกลุ่ม OPEC ยังได้ปรับลดคาดการณ์ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นในปี 2559 ลดลง 1.25 เหลือ 94.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้วานนี้ราคาน้ำมันตลาดล่วงหน้า WTI ขยับขึ้นแตะระดับ 29 เหรียญฯต่อบาร์เรล ก่อนย่อตัวปิดตลาดที่ 27.45 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 49 เซนต์จากวันก่อนหน้า เช่นเดียวกันน้ำมันดูไบที่กลับมาอยู่ระดับต่ำกว่า 30 เหรียญฯต่อบาร์เรลปิดตลาด 27.27 เหรียญฯต่อบาร์เรล ขณะที่ Brent ปิดตลาดวานนี้เพิ่มขึ้น 52 เซนต์ (ล่าสุดที่ 30.84 เหรียญฯต่อบาร์เรล) โดยภาพรวมยังเชื่อว่าราคาน้ำมันในช่วงเดือน ก.พ. ไม่น่าจะสร้างจุดต่ำสุดใหม่เมื่อเทียบกับจุดต่ำสุดเดือน ม.ค.2559 จึงน่าจะส่งผลดีต่อหุ้นน้ำมันทั้ง PTT และ PTTEP
ตลาดหุ้นไทยเหลือ Downside จำกัด เลือกหุ้นปันผล เพื่อ Lock Yield
เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของ SET Index ในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงปัจจัยกดดันทั้งภายนอก และภายใน ที่หลากหลายไปมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของตลาดหุ้นจีน การปรับตัวลดลงแรงของราคาน้ำมัน และการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน หากสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่ไม่ได้มีความรุนแรงมากขึ้น อย่างเช่นราคาน้ำมันสร้างจุดต่ำสุดใหม่ที่ลึกกว่าช่วงต้นเดือน ม.ค.2559 ก็เชื่อว่า SET Index ก็น่าจะอยู่ในภาวะที่รองรับแรงกดดันดังกล่าวได้โดยที่ไม่ปรับตัวลดลงแรง อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวช่วยลดผลกระทบจากแรงกดดันภายนอกได้แก่ สถานะการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าปกติมาก ทำให้แรงขายมีออกมาไม่มาก และอยู่ในระดับที่กำลังซื้อจากกลุ่มนักลงทุนในประเทศจะดูดซับไว้ได้ ด้วยองค์ประกอบดังกล่าว ทำให้เชื่อว่า SET Index ในช่วงเวลานี้มี Downside ที่ค่อนข้างจำกัด แต่ขณะเดียวกันการที่จะเห็น SET Index ปรับตัวขึ้นไปอย่างรวดเร็ว ก็เป็นเรื่องที่ยากเช่นกัน เหตุเพราะยังขาดทั้งปัจจัยบวกที่มีน้ำหนักเข้ามาหนุน และ Fund Flow ก้อนใหม่ กลยุทธ์ที่น่าจะสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงเวลานี้จึงให้เน้นไปที่การคัดเลือกหุ้นที่ให้ Dividend Yield สูงเข้าพอร์ต เนื่องจากปัจจุบันเข้าใกล้ช่วงเวลาของการประกาศงบการเงินงวดปี 2558 และการจ่ายเงินปันผล โดยที่ระดับราคาปัจจุบันมีหุ้นที่ให้ Dividend Yield เกิน 5% ต่อปี มีอยู่มาก โดยหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอปีละมากกว่า 1 ครั้ง ก็มีตัวเลือกโดดเด่นอย่าง ADVANC (FV@B 187), INTUCH (FV@B 75) ส่วนบริษัทที่จ่ายปันผลปีละครั้งที่โดดเด่นเช่น SC (FV@B 4.56), STPI (FV@B 17.70) เป็นต้น
ต่างชาติยังคงขายหุ้นในกลุ่ม TIP
วานนี้ตลาดหุ้นไต้หวันและเกาหลีใต้หยุดทำการ เนื่องจากเป็นวันหยุด แต่ตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้ว พบว่า ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในกลุ่ม TIP ราว 91 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) และเป็นการขายสุทธิทั้ง 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซียที่ถูกขายสุทธิราว 10 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 3 วัน) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 11 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน) และไทยต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 71 ล้านเหรียญ หรือ 2,505 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 959 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 8,377 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 927 ล้านบาท ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ 35.30 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์