- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 08 February 2016 16:29
- Hits: 680
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์วันนี้ Chinese New Year
ตลาดหุ้นวานนี้:
ตลาดหุ้นไทยวันศุกร์ที่ผ่านมา SET INDEX ทะลุ 1,300 จุด และแกว่งเหนือแนวดังกล่าวได้ตลอดชั่วโมงการซื้อขาย นำโดยกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง / กลุ่มธนาคาร / กลุ่มอสังหาฯ ที่พักฐานมาก่อนหน้านี้ อีกทั้งบรรยากาศในกลุ่ม TIP เป็นบวกเด่น ส่งผลให้ SET INDEX ปิดบวกอีก 9.18 จุด มาอยู่ที่ 1,306.29 จุด มูลค่าการซื้อขาย 40,035 ล้านบาท
ด้านกระแสเงินทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้ง 3 ตลาดเป็นวันที่ 2 ตลาดหุ้นซื้อสุทธิอีก 961 ล้านบาท Long สุทธิใน SET50 Index Futures เป็นวันที่ 2 อีก 2,798 สัญญา และซื้อสุทธิตลาดตราสารหนี้อีก 3,376 ล้านบาท เป็นสัญญาณเชิงบวกต่อกระแสเงินทุนต่างชาติ
ปัจจัยสำคัญวันนี้
ตลาดหุ้นจีน / ไต้หวัน /เวียดนาม ปิดทำการตลอดทั้งสัปดาห์นี้
กระแสเงินทุนต่างชาติชะลอตัว เนื่องจาก ฮ่องกงและสิงคโปร์ ปิดทำการวันนี้และพรุ่งนี้
กลุ่ม "เสี่ยเจริญ" เป็นผู้ชนะการเข้าซื้อหุ้น BIGC ต่อจากกลุ่ม Casino ด้วยมูลค่า US$3.5 พันล้าน หรือที่ราคาเฉลีย 252.88 บาท/หุ้น
มุมมองต่อตลาด
เราประเมิน SET INDEX วันนี้แกว่งในกรอบแคบระหว่าง 1,300-1,315 จุด มูลค่าการซื้อขายอาจชะลอตัวลงต่ำกว่า 4.0 หมื่นล้านบาท เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ทำให้นักลงทุนที่มีเชื้อสายจีน และนักลงทุนต่างชาติที่ต้องผ่าน Financial Hub จากทางฮ่องกง และ สิงคโปร์ เกิดข้อจำกัด
อย่างไรก็ตาม หากประเมินปัจจัยแวดล้อมการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ กลับมาเป็น "กลาง" นักลงทุนทั่วโลกต่างรอฟังถ้อยแถลงจากประธานเฟดในคืนวันที่ 10-11 ก.พ. ตามเวลาประเทศไทย เพื่อประเมินถึงโอกาสที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยใน 1H59 ได้หรือไม่ แต่หากพิจารณาถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับสนับสนุนให้เฟดต้องประวิงเวลาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป แม้ว่าอัตราการว่างงานเดือนม.ค.จะลดลงเหลือ 4.9% แต่การจ้างงานนอกภาคการเกษตร และการจ้างงานภาคเอกชน กลับออกมาต่ำกว่าคาด และชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า อีกทั้งภาพรวมเศรษฐกิจที่สำคัญ อย่างอียู จีน ญี่ปุ่น ต่างส่งสัญญาณชะลอตัวทั้งสิ้น
เมื่อปัจจัยสำคัญ ยังต้องรอความชัดเจน หุ้นขนาดกลางและเล็กน่าจะกลับมาโดดเด่นในช่วง 1-2 วันนี้ หุ้นขนาดใหญ่จะเข้าสู่โหมดการพักฐานช่วงสั้น
กลยุทธ์การลงทุน
เราแนะนำให้ "นักลงทุนอาจเริ่มพิจารณาขายทำกำไรรอบสั้นบริเวณ 1,305 จุด +/- และพร้อมเข้าเก็งกำไรหุ้นเป้าหมาย เมื่อราคาย่อตัวระหว่างชั่วโมงการซื้อขาย"
Accumulative Buy: KTB/ TPIPL
Stock Pick of the Day
กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ แนะนำ "ทยอยสะสม" ได้แก่
1. KTB : ราคาปิด 17.90 บาท ราคาเหมาะสม 19.30 บาท
a) MBKET คาดว่าหุ้นกลุ่มธนาคารจะเคลื่อนไหว Outperform ตลาดในเดือน ก.พ. เนื่องจากเป็นหุ้นกลุ่มหลักที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากเม็ดเงินต่างชาติที่ไหลกลับเข้าลงทุนในตลาดหุ้นเอเซียเกิดใหม่
b) มี Downside Risk ที่จำกัด เนื่องจากจะเข้าสู่การประกาศเงินปันผลปี 2558 ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ. 2559 โดยคาดว่า KTB จะประกาศเงินปันผลปี 2558 หุ้นละ 0.80 บาท คิดเป็น Dividend Yield 4.5%
c) KTB ได้ประโยชน์โดยตรงจากแผนลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐฯ เนื่องจากมีสัดส่วนการปล่อยกู้ให้กับภาครัฐสูงที่สุดในกลุ่มธนาคาร และรุกเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อ SME ดังนั้น MBKET คาดว่ามีโอกาสที่สินเชื่อปี 2559 จะสูงกว่าเป้าหมายที่ผู้บริหารวางไว้
d) คาดกำไรสุทธิปี 2559 เติบโต +10% yoy เป็น 3.03 หมื่นล้านบาท และมี Upside Risk ที่ยังไม่รวมไว้ในประมาณการ คือ การกลับรายการหนี้สูญจากการขายที่ดินกรณีกฤษดามหานครที่ศาลตัดสินในปีที่ผ่านมาอีกสูงถึง 10,000 ล้านบาท
e) Valuation ถูก ซื้อขายระดับ PER2559 ที่ 8.1 เท่า และ PBV2559 ที่ 0.9 เท่า
2. TPIPL : ราคาปิด 2.30 บาท ราคาเหมาะสม 3.40 บาท
a) MBKET คาดการณ์กำไรสุทธิ 4Q58 ที่ 391 ล้านบาท พลิกกลับจากขาดทุนสุทธิ -509 ล้านบาท ใน 3Q58 และ -237 ล้านบาท ใน 4Q57
b) จากแรงหนุนของธุรกิจโรงไฟฟ้าซึ่งจะสร้างกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 200 ล้านบาท ใน 4Q58 จากการรับรู้รายได้เต็มไตรมาสของโรงไฟฟ้าขยะอีก 55 MW ส่งผลให้ TPIPL มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้นเป็น 113 MW ได้แก่ โรงไฟฟ้าความร้อนทิ้ง 40MW และโรงไฟฟ้าขยะ 73MW
c) ขณะที่ธุรกิจที่เหลือ คาดว่าธุรกิจปูนซีเมนต์จะมีกำไรสุทธิราว 150 ล้านบาท แต่ถูกหักลบจากธุรกิจปิโตรเคมีที่คาดว่าจะมีผลขาดทุนราว150 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม TPIPL จะมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนราว 191 ล้านบาทใน 4Q58 จากค่าบาทที่แข็งค่าขึ้นราว 1.47 บาทต่อยูโร เนื่องจาก TPIPL มีหนี้สินในรูปสกุลยูโรราว 163 ล้านบาท
d) คงมุมมองเชิงบวกต่อผลประกอบการปี 2559 โดยคาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตถึง +1,041.9% เป็น 2,879 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าจำนวน 113MW แบบเต็มปี และคาดว่าธุรกิจปูนซีเมนต์จะฟื้นตัวในปี 2559 จากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นตามแผนลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐฯ
Fund Flow Analysis
Fund Flow in Emerging Markets
ซื้อสุทธิเป็นวันแรกในรอบ 3 วันทำการ US$190 ล้าน จากวันก่อนหน้าขายสุทธิ US$4 ล้าน
Foreign Investors Action วานนี้
ต่างชาติซื้อสุทธิทั้ง 3 ตลาด เป็นวันที่ 2
นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยเป็นวันที่ 2 อีก 961 ล้านบาท รวม 2 วันทำการซื้อสุทธิ 1,799 ล้านบาท เทียบกับ 3 วันทำการก่อนหน้าซื้อสุทธิ 2,614 ล้านบาท ส่งผลให้ YTD นักลงทุนกลุ่มนี้ขายสุทธิลดลงเป็น 8,782 ล้านบาท
ด้าน SET50 Index Futures นักลงทุนกลุ่มนี้คงการ Long สุทธิเป็นวันที่ 2 อีก 2,798 สัญญา รวม 2 วันทำการ Long สุทธิ 14,741 สัญญา เทียบกับ 3 วันทำการก่อนหน้า Short สุทธิ 10,913 สัญญา คาดเป็นการเปิดสถานะ Long ต่อเนื่อง และ S50H16 ยืนเหนือ 810 จุดอย่างแข็งแกร่ง และทำให้ S50H16 ปิดต่ำกว่า SET50 Index กว้างขึ้นเป็น 11.68 จุด จากวันก่อนหน้า Discount เท่ากับ 10.80 จุด และทำให้ QTD นักลงทุนกลุ่มนี้ Long สุทธิทะลุ 70,000 สัญญา มาเป็น 74,338 สัญญา
และตลาดตราสารหนี้ นักลงทุนกลุ่มนี้ซื้อสุทธิอีก 3,376 ล้านบาท รวม 2 วันทำการซื้อสุทธิ 10,636 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทยังเป็นไปในทิศทางแข็งค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเนื่อง ขณะที่ราคาพันธบัตรไทยกลับทรงตัว ผ่านผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นเป็นวันที่ 2 เพียง 0.02bps จากวันก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 2.05bps ปิดที่ 2.299%
Short-Selling วานนี้
ลดลงเป็นวันที่ 2 เป็น 849 ล้านบาท จากวันก่อนหน้า 902 ล้านบาท
NVDR Movement
NVDR ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 เน้นซื้อกลุ่มธนาคาร / พลังงาน แต่คงการขาย ICT
การซื้อขายผ่าน NVDR คงการซื้อสุทธิเร่งขึ้นเป็น 983 ล้านบาท จากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ 267 ล้านบาท โดยยังคงเป็นการปรับน้ำหนักระหว่างกลุ่มหลักต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม ICT ที่ยังถูกลดน้ำหนักการลงทุนอย่างต่อเนื่อง สรุปภาพรวมได้ดังต่อไปนี้
1. กลุ่มธนาคาร ถูกซื้อสุทธิสูงสุด 520 ล้านบาท จากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ 385 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มพลังงาน ซื้อสุทธิ 403 ล้านบาท จากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ 523 ล้านบาท กลุ่มค้าปลีก ซื้อสุทธิ 199 ล้านบาท กลุ่มขนส่ง ซื้อสุทธิ 121 ล้านบาท และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ซื้อสุทธิ 110 ล้านบาท
2. ส่วนกลุ่ม ICT ขายสุทธิสูงสุดเป็นวันที่ 2 มากถึง 549 ล้านบาท จากวันก่อนหน้าขายสุทธิ 515 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มอสังหาฯ ขายสุทธิ 80 ล้านบาท
ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ - การเงินรายภูมิภาค
สหรัฐอเมริกา
ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาเป็นลบ
การจ้างงานนอกภาคการเกษตร เดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 1.51 แสนตำแหน่ง ต่ำกว่า Bloomberg consensus คาด 1.88 แสนตำแหน่ง และเดือนก่อนหน้าที่ 2.62 แสนตำแหน่ง
การจ้างงานภาคเอกชน เดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 1.58 แสนตำแหน่ง ต่ำกว่า Bloomberg consensus คาด 1.80 แสนตำแหน่ง และเดือนก่อนหน้าที่ 2.51 แสนตำแหน่ง
อัตราการว่างงาน เดือนม.ค. เท่ากับ 4.9% ดีกว่า Bloomberg consensus คาดที่ 5.0% และเดือนก่อนหน้าที่ 5.0%
ดุลการค้าเดือนธ.ค. ขาดดุล US$4.35 หมื่นล้าน ขาดดุลมากกว่า Bloomberg consensus คาด US$4.30 หมื่นล้าน แต่ดีกว่าเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล US$4.22 หมื่นล้าน โดยการส่งออกยังคงหดตัว 0.3% mom ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 0.3% mom นำโดยการนำเข้ายานยนต์ และวัตถุดิบด้านอุตฯ
ยุโรป
ไม่มี
จีน
ตลาดหุ้นชิคาโกถูกซื้อโดยกลุ่มทุนจีน: Chicago Stock Exchange รายงานว่า กลุ่มทุนจีน เห็นชอบที่จะเข้าซื้อตลาดหุ้นชิคาโก คือกลุ่ม Chongqing Casin Enterprise Group ได้ลงนามในสัญญาการเข้าซื้อ มูลค่าดีลนี้ไม่ต่ำกว่า US$100 ล้าน คาดว่าดีลนี้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ใน 2H59 เพราะต้องรอการอนุมัติในแง่ของกฎหมาย ทั้งนี้ตลาดหุ้นชิคาโกมีขนาด 0.5% ของการซื้อขายหุ้นสหรัฐฯ ทั้หมด แต่จะเป็นการเปิดทางให้เข้าสู่การซื้อขายหุ้นโดยรวม US$22 ล้านล้าน ในสหรัฐฯ
เอเชียแปซิฟิก
เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวดีกว่าคาดใน 4Q58: เติบโต 5.04% yoy ทำให้ปี 2558 เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัว 4.79% ชะลอตัวเล็กน้อยจากปี 2557 ที่เติบโต 5.02% โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึง 4.9% yoy แม้ว่าการส่งออกจะหดตัว 6.4% yoy จากผลของเศรษฐกิจจีนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างถ่านหิน และน้ำมันปาล์มที่ลดลง สำหรับเป้าหมายเศรษฐกิจในปี 2559 รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 5.3% จากการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการผ่อนคลายนโยบายการเงิน
ธนาคารกลางออสเตรเลียส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้: ธนาคารกลาง คงประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ ภายใต้การผ่อนคลายนโยบายการเงิน แม้ว่าจะมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอย่างจีนก็ตาม โดยคงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ
ครม.ญี่ปุ่นสรุปแผนโครงสร้างภาษีแล้ว: ภาษี VAT ในส่วนของอาหารจะคงไว้ที่ 8% ยกเว้นอาหารในภัตตาคารจะขยับขึ้นเป็น 10% เช่นเดียวกับสินค้าและบริการอื่นๆ ส่วนภาษีนิติบุคคล จะเสนอให้ลดจากปัจจุบัน 32.11% เป็น 29.97% ในปีงบประมาณ 2559 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2559 และจะลดลงเหลือ 29.74% ในปี 2561
ญี่ปุ่นรายงานดุลการค้าเกินดุลเป็นเดือนที่ 18: เดือนธ.ค. เกินดุล Yen9.607 แสนล้าน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่เกินดุล Yen2.259 แสนล้าน แต่ต่ำกว่า Bloomberg consensus คาดเกินดุล Yen1.05 ล้านล้าน ทั้งนี้การท่องเที่ยว และรายได้จากการลงทุน เป็นตัวที่ช่วยภาวะเกินดุลในเดือนธ.ค. และชดเชยการชะลอตัวของภาคการส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ
อัตราเงินเฟ้อของไต้หวันมากกว่าคาด: เพิ่มขึ้น 0.81% yoy ในเดือน ม.ค. จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.14% yoy เทียบกับ Bloomberg Consensus คาด +0.75% yoy ทั้งนี้ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 1.57% yoy จากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง 0.85% yoy ด้านราคาอาหารเพิ่มขึ้น 2.71% yoy
อัตราเงินเฟ้อฟิลิปปินส์ชะลอตัวลง: เพิ่มขึ้น 1.3% yoy สำหรับเดือน ม.ค.เท่ากับ Bloomberg Consensus คาด ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 1.5% yoy ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ระดับที่ต่ำกว่ากรอบที่ทางการวางเป้าหมายไว้ที่ 2-4% ในปี 2559-2561
ยอดส่งออกของมาเลเซียขยายตัวต่ำกว่าคาด: เพิ่มขึ้นเพียง 1.4% yoy ในเดือน ธ.ค. จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 6.3% yoy เทียบกับ Bloomberg Consensus คาด +4.9% yoy จากการส่งออกปิโตรเลียมและแก๊สธรรมชาติหดตัว 6% และ 36.7% ตามลำดับ ด้านการนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.2% yoy ทำให้ดุลการค้าเกินดุลอยู่ที่ 7.99 พันล้านริงกิต ต่ำกว่าที่ตลาดคาด 1 หมื่นล้านริงกิต
ไทย
ไม่มี
Strategist Team Maybank KimEng
Mayuree Chowvikran, CISA Strategist / Analyst 662-6586300 x 1440
Padon Vannarat Equity Analyst 662-6586300 x 1450
Rinrada Lianghathaitham Assistant Analyst 662-6586300 x 1530