- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 09 July 2014 16:22
- Hits: 2285
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ยังเน้นกลยุทธ์หุ้นปันผลเด่นหุ้น Big Cap เด่นคือ PTTEP, ADVANC ส่วน Mid-Small Cap เด่น BECL และ KKP วันนี้เลือก KKP เป็น Top pick ราคาหุ้นขึ้นช้าสุดในกลุ่ม ขณะที่ P/E ต่ำ 8.7 เท่า และ P/BV 1 เท่า ขณะเงินปันผลสูง 5.8% เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มธนาคารรายย่อย
การใช้นโยบายการตึงตัว มีน้ำหนักกดดันตลาดหุ้นโลกเพิ่ม
สหรัฐ VS อังกฤษ น่าจะนำการขึ้นดอกเบี้ยแห่งแรกในกลุ่มพัฒนาแล้ว ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังส่งสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยล่าสุดพบว่า ตำแหน่งงานเปิดใหม่ (Job Openings) ในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 171,000 ตำแหน่ง (มากกว่าคาดราว 6.7%) เป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี โดยมาจากตำแหน่งงานในบริษัทก่อสร้างเป็นหลัก นับว่าสอดคล้องกับตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้อัตราการว่างงานเดือน มิ.ย. ลดลงมาเหลือ 6.1% แม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ห่างไกลจะระดับปกติที่ 5.5% ในช่วงก่อนวิกฤติซับไพร์ม แต่ก็ถือว่าได้ลดลงต่ำสุดในรอบ 6 ปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อได้ขึ้นมาแตะระดับ 2.1% ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 เดือน และ เกินกว่าเป้าหมายที่ 2% ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ บางกลุ่มได้แก่ Goldman Sachs, JP Morgan และ Bank of Tokyo เริ่มกลับมาให้น้ำหนักต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ เร็วขึ้นจากเดิม 1Q59 เป็น 3Q58
อย่างไรก็ตาม พรุ่งนี้จะมีการรายงานผลการประชุม FOMC ครั้งล่าสุดเมื่อ 17-18 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะทำให้การพูดถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงินมีความชัดเจนขึ้น ซึ่งน่าจะมีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นโลกอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้คาดว่า สหรัฐน่าน่าจะเป็นประเทศแรกในกลุ่มพัฒนาแล้วที่จะเริ่มใช้มาตรการเงินตึงตัว และน่าจะพร้อม ๆ กับอังกฤษที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วสุดในฝั่งยุโรป โดยพบว่าในงวด 1Q57 GDP น่าจะอยู่ในระดับที่สูงถึง 3.1% ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญจาก 1.8% และ 2.7% ในงวด 3Q56 และ 4Q56 ตามลำดับ ขณะที่อัตราการว่างงานได้ลดลงต่อเนื่องจากระดับสูงสุด 8.37% ในต้นปี 2555 เหลือ 6.97% ในปัจจุบัน และเช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อยืนอยู่ที่ 1.5% ติดต่อกันมานาน 2 เดือน ซึ่งนับว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% จึงทำให้ตลาดเชื่อว่าอังกฤษจะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2558 ใกล้เคียงกับสหรัฐ
การเพิ่มเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน QE ในญี่ปุ่นมีความหวังน้อยลง การพลิกฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น (จากติดลบมาเป็นบวก) นับจากช่วง 2Q56 และจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับสามารถหลุดพ้นจากเงินฝืด กล่าวคือเงินเฟ้อสามารถขึ้นจากติดลบ ยืนเหนือเป้าหมาย 2% ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 เดือน ทำให้อัตราเงินเฟ้อจากต้นปีจนปัจจุบันอยู่ที่ 2.6% Ytd แต่อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อได้ปรับตัวแรงขึ้นในช่วง 2 เดือนหลัง ซึ่งเป็นผลจากต้นทุนภาษีจ่าย ภายหลังจากการขึ้นภาษีขาย (Sale tax) จาก 5% เป็น 8% เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นนี้อาจจะเป็นอุปสรรคต่อกำลังซื้อของประชาชนในช่วงที่เหลือของปีนี้ (เพราะยังมิได้มีการปรับขึ้นค่าแรงงานชดเชย) ทำให้ทางธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงจะยืดการใช้มาตรการ QE ที่กำหนดไว้ 65-70 ล้านล้านเยนต่อปี จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ 101 ล้านล้านเย็นต่อปี พร้อมกับจะปรับลดภาษีนิติบุคคลที่จัดเก็บในอัตรา 35% ลงให้ต่ำกว่า 30% เป็นการชดเชยเรื่องภาษีดังกล่าว และให้สอดคล้องกับอัตราภาษีในประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ซึ่งทำให้ประเด็นที่ตลาดคาดหมายว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะมีเพิ่ม QE ในปีหน้านั้น เริ่มมีน้ำหนักลดน้อยลง
เศรษฐกิจไทยน่าจะจบลงด้วยการเติบโต 1.5-2% ในปีนี้
ล่าสุดสภาพัฒน์ฯ ออกมาย้ำเตือนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ในปี 2557 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ในช่วง 1.5-2.5% ตามการส่งออกที่ขยายตัว 3.7% (ใกล้เคียงที่ ธปท. คาดไว้ที่ 3%) และภายใต้สมมติฐานการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 สามารถประกาศใช้ทันภายใน 1 ต.ค. 2557 รวมทั้งความเชื่อมั่นในผู้บริโภค ในเดือน พ.ค.ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ถือเป็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับที่ ธปท. ได้ประเมินไว้ก่อนหน้าว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะขยายตัว 1.5% โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบ V-Shape กล่าวคือ ในงวด 1H57 คาดว่าจะขยายตัว -0.5% (งวด 2Q57 จะ -0.4% vs งวด 1Q57 -0.6%) แต่น่าจะพลิกฟื้นมาเติบโต 3.4-3.5% ต่อไตรมาส (ASP ประเมิน 2H57 ไว้ที่ 3.9% ทำให้ตลอดทั้งปีอยู่ที่ 2%) ซึ่งหากเปรียบเทียบกับดัชนีหุ้นไทยที่ฟื้นตัวขึ้นแตะระดับ 1,500 จุดมีค่า Current P/E 16 เท่า นับว่าเริ่มแพงแล้ว กลยุทธ์การลงทุนน่าจะเริ่มทยอยขายหุ้นที่มี P/E สูง ๆ พร้อมกับราคาหุ้นได้ขยับขึ้นมากแรงๆ เกินไป ซึ่งให้ติดตามอ่านในย่อนหน้าถัดไป ส่วนหุ้นเลือกลงทุนยังเน้นหุ้นใน 2 กลุ่มหลักคือ 1) EPS Growth สูง เกิน 10% และ P/E ไม่เกิน 15% และราคาหุ้นยังมี upside เกิน 10% ได้แก่ INTUCH (FV@B 109), STPI(FV@B 28.46), PTTEP(FV@B 195), SYNTEC(FV@B 2.23), AP(FV@B 7.1 และ 2) Dividend Yield สูงเกิน 4% มีค่า P/E ไม่เกิน 15 เท่า และราคาหุ้นยังมี upside เกิน 10% ได้แก่ INTUCH (FV@B 109), PTTGC(FV@B 87), BCP(FV@B 36), TTW(FV@B 13.3), BECL(FV@B 45.0), KKP (FV@B 52.2), TISCO(FV@B 47.31), PTT(FV@B 360), PTTEP(FV@B 195)
ขายหุ้นแพง โดยเฉพาะ P/E สูง และราคาหุ้นขึ้นรุนแรง
นับตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. ที่ SET ลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 1,375 จุด จนถึงปัจจุบันที่ 1,507 จุด ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นถึง 132 จุด หรือ 9.6% โดยเฉพาะในช่วง 10 วันทำการหลังสุดที่ดัชนีปรับขึ้นทุกวันถึง 3.9% จนทำให้ current P/E พุ่งขึ้นมาถึง 15.9 เท่า หรือ Expected P/E ที่ระดับ 15.36 เท่า
ทั้งนี้ ในช่วงเวลากว่า 1.5 เดือนที่ผ่านมา มีหุ้นหลายบริษัทที่ปรับขึ้นอย่างรุนแรง ส่งผลให้หลายหุ้นมีค่า Current P/E เพิ่มขึ้นสูงมาก เช่น IFEC (current P/E 506 เท่า เพิ่มขึ้น 58%) NWR (current P/E 285 เท่า เพิ่มขึ้น 29%) TSTH (current P/E 261 เท่า เพิ่มขึ้น 21%) PF (current P/E 89 เท่า เพิ่มขึ้น 42%) GL (current P/E 43 เท่า เพิ่มขึ้น 44%) ITD (current P/E 35 เท่า เพิ่มขึ้น 50%) WORK (current P/E 31 เท่า เพิ่มขึ้น 29%) จึงมีความเสี่ยงที่หุ้นดังกล่าวจะปรับลดลงในระยะต่อไป จึงแนะนำให้นักลงทุนขายหุ้นแพงดังกล่าว และสลับกลับมาลงทุนในหุ้นที่ปรับขึ้นน้อยกว่าตลาด และมีค่า Expected P/E ไม่สูงมาก ได้แก่ INTUCH (เพิ่มขึ้น 2% Expected P/E 14 เท่า), KKP (เพิ่มขึ้น 2.2% Expected P/E 9.8 เท่า) BECL (เพิ่มขึ้น 0.7% Expected P/E 10.9 เท่า) นอกจากนี้ ยังได่ประเด็นหนุนจากการเป็นหุ้นปันผลเด่นในงวด 2Q57 อีกด้วย (ติดตามอ่านได้จากรายงาน Quantitative Analysis ฉบับวานนี้)
เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาภูมิภาคต่อเนื่องอีกครั้ง
เงินทุนจากต่างชาติยังคงไหลเข้าภูมิภาคต่อเนื่อง โดยที่วานนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 2 ราว 423 ล้านเหรียญฯ แต่ลดลง 6% จากวันก่อนหน้า โดยเป็นการซื้อสุทธิในทุกประเทศเช่นเดิม ต่อเนื่องจากวันนี้ แต่ซื้อสุทธิสูงสุดกลับเป็นอินโดนีเซีย ที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 135 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า) ส่วนเกาหลีใต้ ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 9 ราว 109 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 40% จากวันก่อนหน้า) ใกล้เคียงกับไต้หวันที่ซื้อสุทธิราว 101 ล้านเหรียญฯ (ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2, ลดลง 23%) ตามมาด้วยไทยซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 เช่นกัน ราว 66 ล้านเหรียญฯ (2.1 พันล้านบาท, เพิ่มขึ้น 24%) และ ฟิลิปปินส์ ซื้อสุทธิเบาบางราว 12 ล้านเหรียญฯ (ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2)
ทั้งนี้ กระแสเงินทุนจากต่างชาติเริ่มไหลกลับเข้ามาในภูมิภาคอีกครั้ง โดยที่เป็นการซื้อสุทธิถึง 26 จาก 29 วันหลังสุด ในขณะที่นักลงทุนกลุ่มนี้เริ่มกลับเข้ามาซื้อตลาดหุ้นไทยไทยอีกครั้ง (6 จาก 7 วันหลังสุด รวม 9.2 พันล้านบาท) เช่นเดียวกับตลาดตราสารหนี้ที่ยังคงถูกซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 9 ราว 1.1 พันล้านบาท (รวม 9 วัน ซื้อสุทธิ 4.9 หมื่นล้านบาท) คาดว่าในระยะสั้นต่างชาติจะยังคงซื้อสลับขายหุ้นไทยต่อไป หลังจากที่เทขายอย่างหนักในช่วงก่อนหน้า และมีปัจจัยหนุนจากช่วงประกาศงบ
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล