- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 01 February 2016 16:42
- Hits: 904
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การใช้นโยบายการเงินโลกผ่อนคลายต่อเนื่อง น่าจะหนุนสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันดิบฟื้นตัวต่อ ซึ่งดีต่อหุ้นน้ำมัน (PTTEP, PTT) จึงแนะนำให้ switch จากหุ้นที่เคยได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันขาลง (การบิน และขนส่ง เป็นต้น) มาหุ้นที่ underperform มานาน เช่น พลังงาน และอสังหาริมทรัพย์ เลือก PTT(FV@B310) และ SC([email protected]) เป็น Top picks
การเมืองกลับได้เป็นที่สนใจอีกครั้ง การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปลายปี 2560
จุดสนใจของประเด็นการเมืองในปัจจุบันอยู่ที่เรื่องของการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามกำหนดการแล้ว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะจัดทำร่างแรกแล้วเสร็จในวันที่ 29 ม.ค.2559 หลังจากนั้นจะเป็นช่วงของการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆจนถึง 15 ก.พ.2559 ซึ่งคณะกรรมการยกร่างจะนำความเห็นต่างๆ เข้ามาปรับปรุงร่างให้แล้วเสร็จภายใน 29 มี.ค. 2559 และจะเริ่มกระบวนการทำความเข้าใจให้กับประชาชนเพื่อนำไปสู่การจัดทำประชามติในช่วงเดือน ก.ค.2559 หากได้รับความเห็นชอบจากการลงคะแนนเสียงประชามติ (ยังไม่ชัดเจนว่าจะต้องได้คะแนนเกินครึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน หรือ เกินครึ่งของผู้ที่มาใช้สิทธิ์ลงคะแนน) ก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งเดิมกำหนดไว้เป็นช่วงเดือน ก.ค.2560 แต่อย่างไรก็ตามล่าสุด ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ให้ความเห็นว่ากำหนดการเลือกตั้งอาจต้องถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงปลายปี 2560 (ราวเดือน พฤศจิกายน) เพราะหลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ จะต้องมีกระบวนการในการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 8 เดือน และต้องมีเวลาให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาอีกประมาณ 60 วัน หลังจากนั้นต้องใช้เวลาในการจัดเตรียมการเลือกตั้งโดยเลือกตั้ง ส.ส. – ส.ว.ภายใน 150 วัน หลังกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้
กำหนดการต่างๆ ที่นำไปสู่การจัดการเลือกตั้งปลายปี 2560 ดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นกรณีที่กระบวนการต่างๆ ดำเนินไปด้วยความราบรื่น แต่อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงใหญ่ที่อาจทำให้การเลือกตั้งอาจต้องเลื่อนออกไปอีก ได้แก่ผลของการทำประชามติ โดยที่ปัจจุบันเริ่มเห็นกระแสความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในหลายประการ จึงต้องติดตามพัฒนาการของเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะหากรัฐธรรมนูฐไม่ได้รับความเห็นชอบในการทำประชามติ หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็อาจต้องนำไปสู่กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เว้นเสียแต่ว่า คสช. จะมีแนวททางอื่นเพื่อเข้าเร่งรัดกระบวนการเลือกตั้งให้เร็วขึ้น จากนี้ไป การเมื่องจึงน่าจะเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นต่อทิศทางของ SET Index รวมถึง Fund Flow
ญี่ปุ่นใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย หลังเงินเฟ้ออ่อนตัวลง
ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) แม้ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.1% แต่ได้ปรับลดดอกเบี้ยบัญชีกระแสรายวัน (ที่ให้กับ ธ.พ. กรณีที่ฝากกับ ธนาคารกลาง) ลงเป็นติดลบ 0.1% (เดิม +0.1% มีผลตั้งแต่ 16ก.พ.59) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินปล่อยกู้กระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สะท้อนจากผลผลิตภาค อุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 2558 ติดลบ 1.6% เทียบกับ +1.7% ในเดือน พ.ย. รวมทั้งปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำล่าสุดอยู่ที่ 0.2% (หลังทรงตัวที่ 0.3% ติดต่อ 2 เดือน) ทำให้การประชุมรอบนี้ BOJ มีการปรับลดการคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2559 เหลือ 0.8% (เดิมคาดการณ์ไว้ 1.4% ในการประชุมรอบ ต.ค.58) ทั้งนี้เชื่อว่า BOJ ต้องการหลีกเลี่ยง ภาวะเงินฝืดที่เคยเกิดขึ้น ในปี 2541 -2549 ซึ่งเป็นช่วงที่เงินเฟ้อติดลบ ติดต่อกันนานถึง 8 ปี
ทั้งนี้นับว่าสอดคล้องกับธนาคารกลางโลก แม้แต่ธนาคารกลางสหรัฐ ที่เริ่มส่งสัญญานชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2559 หลังประชุม Fed ครั้งหลังสุดคือ 26-27 ม.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากกังวลต่อเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งนับว่าขัดแย้งกับการประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 0.5% เมื่อปลายปี 2558 ที่ถือเป็นการใช้นโยบายการเงินเข้มงวดครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี เนื่องจาก Fed ให้น้ำหนักต่อการฟื้นตัวของตลาดแรงงานเป็นหลัก แม้ว่าจะมีเรื่องเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้าหมายมาก และ เศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวก็ตาม ทำให้ Fed อาจจะต้องปรับลดดอกเบี้ยฯ เป้าหมายในปี 2559 ลงจากเดิม ที่คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยรวม 4 ครั้ง
ขณะที่ทางยุโรปพบว่า เงินเฟ้อล่าสุด มีสัญญานที่ดีขึ้น คือ + 0.4% ในเดือน ม.ค. (จาก 0.2% ในเดือน ก่อนหน้า) แต่ใกล้เคียงกับ ตลาดคาด ซึ่งนับว่าสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2557 แต่ยังคงต่ำกว่าเป้า 2% อยู่มาก ซึ่งจะได้รับแรงผลักดันจากการ ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการขยายวงเงิน QE และ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงต่ำกว่า 0% แล้ว (ล่าสุดที่ -0.3%)
เช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ยังคงใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย นำโดยจีน ยังคง อัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านข้อตกลงซื้อคืนระยะสั้นกว่า 10 ล้านล้านบาท ในเดือนก่อนหน้า เพื่อสร้างสภาพคล่องให้กับเศรษฐกิจก่อนเทศกาลตรุษจีน แม้ได้มีการ ลดดอกเบี้ยนโยบาย และ ลด RRR ต่อเนื่อง รวมถึงมีนโยบายแทรกแซงค่าเงินหยวน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง
ขณะที่ไทยจะมีการประชุม กนง. ในวันที่ 3 ก.พ. นี้ คาดคงอัตราดอกเบี้ยระดับเดิม (ที่ ระดับ 1.5%) หลังกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนภาครัฐและการบริโภคภาคครัวเรือน ช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดจะเริ่มเห็นผลใน ไตรมาส 4 เป็นครั้งแรก
โดยสรุปการที่ธนาคารกลางโลก หันใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายทั่วโลก จะทำให้สภาพคล่องทางการเงินสูงขึ้นเท่ากับเป็นการ เท่ากับเป็นการเพิ่ม money supply ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหนุนสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ และ ทองคำ เป็นต้น ขณะเดียวกันจะทำให้เม็ดเงินต่างชาติกลับเข้ามาในเอเซียอีกรอบหนึ่ง
ต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคเป็นครั้งแรกในปีนี้
วันศุกร์ที่ผ่านมา ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคสูงถึง 711 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ซึ่งถือได้ว่าเป็นการซื้อสุทธิที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา โดยเป็นการซื้อสุทธิทั้ง 5 ประเทศ คือ ไต้หวัน ซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 346 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) รองลงมาคือ เกาหลีใต้ ซื้อสุทธิราว 161 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิราว 31 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 วัน) และอินโดนีเซียซื้อสุทธิราว 103 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) สุดท้ายคือ ไทยต่างชาติซื้อสุทธิราว 70 ล้านเหรียญ หรือ 2,482 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิราว 1,300 ล้านบาท
โดยสรุปในเดือน ม.ค. พบว่า ต่างชาติยังมียอดขายสุทธิสะสมในตลาดหุ้นภูมิภาคสูงถึง 4.5 พันล้านเหรียญ โดยเป็นการขายสุทธิสะสมทั้ง 5 ประเทศ ประกอบด้วยเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 2.3 พันล้านเหรียญ ตามมาด้วย ไต้หวัน, ไทย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ขายสุทธิราว 18,000 ล้านเหรียญ, 2,200 ล้านเหรียญ, 1,600 ล้านเหรียญ และ 43 ล้านเหรียญ ตามลำดับ โดยสาเหตุหลักๆ จะเกิดจากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และการใช้นโยบายการเงินเข้มงวดของสหรัฐ เท่ากับต่างชาติขายหุ้นสุทธิในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ด้วยเหตุนี้จึงคาดว่าแรงขายต่างชาติที่เบาลง และเริ่มเห็นสัญญาณซื้อน่าจะชัดเจนขึ้นในเดือน ก.พ. ทั้งนี้จากสถิติในช่วง 10 ปีย้อนหลังพบว่า ก.พ. ตลาดหุ้นไทยมักให้ผลตอบแทนเป็นบวก เฉลี่ยราว 2.78% ด้วยโอกาสที่จะขึ้นถึง 80%
และล่าสุดแรงซื้อของต่างชาติทั้งตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นช่วยหนุนให้ เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ 35.70 บาท/ดอลลาร์ และอาจจะมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องหากต่างชาติกลับมาซื้อเพิ่มขึ้นนักจากนี้ ซึ่งอาจจะกดดันหุ้นส่งออก ที่เคยได้ประโยชน์จากสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่า เช่น DELTA, KCE, เป็นต้น
ราคาน้ำมันที่ฟื้นตัว กดดันหุ้นที่เคยได้ประโยชน์น้ำมันขาลง
การปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากว่า 4% ส่งผลดีโดยตรงต่อกลุ่มผู้ประกอบการน้ำมัน แม้การฟื้นตัวจะยังไม่มั่นคง เนื่องจากปัญหา oversupply และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวยังเป็นปัจจัยกดดันอยู่ แต่เป็นการสะท้อนว่าราคาน้ำมันดิบได้ผ่านจุดต่ำสุด หลังจากที่ได้ลดลงแตะระดับต่ำกว่าต้นทุนผู้ผลิตหลัก ๆ ของโลก โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง และในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบกำลังฟื้นตัวคาดว่า จะทำให้นักลงทุน ผู้ใช้น้ำมันเป็นต้นทุนหลัก หรือนักลงทุนระยะสั้น/เก็งกำไร ที่เคยมีสถานะ Short น้ำมันดิบ/หุ้นน้ำมัน จะต้องกลับสถานะเป็น long ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันดิบให้มีโอกาสฟื้นตัวระยะสั้น ๆ ต่อได้ โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบอาจจะขยับขึ้นมาที่ระดับ 34 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล และถัดไปคือ 45 เหรียญฯต่อบาร์เรลในระยะกลาง
ในสถานการณ์นี้จึงน่าจะกลับมากดดันหุ้นที่เคยได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันขาลง ซึ่งสรุปได้ดังนี้
ธุรกิจโรงกลั่น : ราคาที่น้ำมันดิบโลกที่ฟื้นตัวเร็ว ได้กดดันให้ค่าการกลั่น (ราคาน้ำมันสำเร็จรูป หัก ต้นทุนราคาน้ำมันดิบ) ลดลงอย่างรวดเร็วจากระดับสูงสุดที่ 11 เหรียญฯ ต่อบาร์เรลในช่วงก่อนหน้านี้ (19 ม.ค. 2559) อย่างไรก็ตามปกติค่าการกลั่นจะสูงตามฤดูกาลคือในช่วงไตรมาสแรก ต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 2 และ จะเริ่มลดลงในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของทุกปี แต่ในปี 2558 พบว่าค่าการกลั่นโดยรวมสูงกว่าปี 2557 เนื่องจากต้นทุนน้ำมันที่ลดลงต่ำผิดปกตินับจากครึ่งหลังของปี 2558 การกลั่นที่มีลดช่วงบวกสูงๆ ในช่วงที่ผ่านมา จึงกดดัน หุ้นโรงกลั่นระยะสั้น ๆ โดยเฉพาะ TOP(FV@B68 ที่ราคาตลาดขึ้นไปใกล้เคียงกับ Fair Value ของปี 2559 จึงแนะนำ Switch ไป IRPC([email protected]) ซึ่งราคาหุ้นยังมี upside 33% และ เช่นเดียวกับ PTTGC(FV@68) ยังมี upside 30% ขณะที่ยังแนะนำให้ Switch หุ้น BCP([email protected]) เนื่องจากราคาปัจจุบันมี upside จำกัด
สายการบิน : ต้นทุนน้ำมันเป็นต้นทุนหลักของสายการบิน คือ กว่า 30%-40% ของต้นทุนรวม ในช่วงราคาน้ำมันต่ำๆ สายการบินต่างๆ ได้มีการป้องกันความเสี่ยงในอัตราที่ไม่มากนัก กล่าวคือ AAV และ BA มีการป้องกันความเสี่ยงเพียง 25% ขณะที่ THAI ทำทำการป้องกันราว 40% ดังนั้นหากราคาน้ำมันดิบเริ่มกลับเป็นนขาขึ้น อาจจะกระทบต่อสายการบินที่ทำการป้องกันความเสี่ยงไว้ไม่มาก อย่างไรก็ตาม สมมติฐานราคาน้ำมันเครื่องบินปี 2559 ฝ่ายวิจัยกำหนดไว้ที่ 70 เหรียญฯ/บาร์เรล ซึ่งยังสูงกว่าราคาปัจจุบัน จึงยังไม่น่ามีผลกระทบต่อผลประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจเป็น sentiment เชิงลบต่อกลุ่ม
ขนส่งทางเรือ : เช่นเดียวกับสายการบิน กลุ่มขนส่งทางเรือมีต้นทุนน้ำมันเตาเป็นต้นทุนหลัก (สัดส่วน 30% ของต้นทุน) ซึ่งจะไปกดดันอัตรากำไรขั้นต้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวล่าช้าทำให้ความต้องการใช้เรือ เพื่อขนส่งสินค้ายังคงมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป (ทั้งในส่วนของเรือเทกอง และเรือคอนเทนเนอร์) นอกจากนี้ปริมาณการต่อเรือใหม่ ๆ ยังคงเพิ่มขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยกดดันผลการดำเนินงานในปี 2559
วัสดุก่อสร้าง : คาดไม่น่าจะได้รับผลกระทบ โดยมากเป็นเพียงผลทางอ้อมเท่านั้น ทั้งในส่วนของธุรกิจปูนซีเมนต์ และธุรกิจกระเบื้อง ที่ต้นทุนพลังงาน คือ ค่าไฟ คิดเป็นสัดส่วนราว 60% และ 30% ของต้นทุนการผลิตตามลำดับ ซึ่งค่าไฟฟ้าจะแปรผันตามราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสูตรกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติจะมี Lag time จากราคาน้ำมันเตาประมาณ 6 เดือน ขณะที่ต้นทุนค่าขนส่ง อาจมีผลกระทบบ้างในส่วนของน้ำมันดีเซลที่อาจมีการปรับราคาขึ้นหลังจากนี้ แต่เชื่อว่าไม่น่ามีผลต่ออัตรากำไรอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากมีสัดส่วนที่น้อย
กลยุทธ์ให้ลงทุนในหุ้น Laggard : PTT, SC
ในช่วงปี 2558 ที่ผ่านไปนั้น SET Index ปรับตัวลดลงถึง 14% โดยปรับตัวลดลงแรงในช่วงปลายปี ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มที่ปรับลดลงหนักและมากกว่าตลาดในรอบปีที่ผ่านมา ได้แก่ ICT -39%, ธ.พ. -29%, สื่อ-บันเทิง 22%, พลังงาน -21% ยกเว้นกลุ่ม ส่งออกอาหาร ยานยนต์ และอสังหาฯ ลดลงใกล้เคียงกับตลาด คือ -12%, -12% และ -11% ตามลำดับ
สำหรับปี 2559 นี้ ผ่านพ้นเดือน ม.ค. ไป ท่ามกลางความผันผวน ดัชนีร่วงลงไปทำจุดต่ำสุดติดลบกว่า 5.2% ก่อนที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวพลิกกลับมายืนในแดนบวกได้ 1% ซึ่งน่าสังเกตว่า มีบางกลุ่มที่เคยปรับลดลงหนัก หรือ underperform กว่าตลาด จะสามารถฟื้นตัวขึ้นมาแรงกว่า SET อย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ ICT 7.4%, ธ.พ. 6.2%, ปิโตรเคมี 4.4% ขณะที่กลุ่มที่ปีที่แล้ว outperform อยู่แล้ว ปีนี้ยังปรับขึ้นได้ต่อ คือ ขนส่ง 4.2% และ ชิ้นส่วนฯ 3.3% เป็นต้น รายละเอียดดังภาพด้านล่าง
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นมาแรงของกลุ่มดังกล่าว อาจทำให้ upside เหลือค่อนข้างจำกัด อาทิ ADVANC, KKP, SCB, TMB, AOT, AAV, BIGC เป็นต้น จึงแนะนำให้สลับมาลงทุนในหุ้นกลุ่มที่ยัง laggard กับตลาด แต่ยังมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ได้แก่ PTT (FV@B 310), PS (FV@B38), SPALI ([email protected]), SC([email protected]), SCC (FV@B595), SAT ([email protected]), ERW ([email protected]) ซึ่งน่าจะสามารถ outperform ได้ในช่วงถัดไป
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์