- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 26 January 2016 17:16
- Hits: 645
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดหุ้นกลับมาผันผวนอีกครั้ง ตามทิศทางของราคาน้ำมันที่ลดลง แต่เชื่อว่าอยู่ในระดับที่ต่ำสุดแล้ว คาดแนวรับ 1,255 จุด น่าจะรับอยู่ เนื่องจากไม่ได้มีประเด็นกดดันใหม่ ๆ วันเลือกหุ้น low Beta และ high dividend EASTW([email protected]) และ SCC(FV@B595) เป็น Top Picks
รัฐบาลไทย ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ หนุนตลาดหุ้นระยะสั้น
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตั้งแต่ ก.ย.58 โดยมุ่งเน้นกระตุ้นการบริโภคในประเทศ (C)เป็นหลัก ผ่านกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เฟส 1 ดังเช่นการอัดฉีดเงินเข้าสู่กองทุนหมู่บ้านวงเงิน 5.9 หมื่นล้านบาท (หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท) ซึ่งปิดโครงการไปแล้วเมื่อสิ้นปี 2558 ประกอบกับโครงการอัดฉีดเงินเข้าสู่ตำบลทั้งหมด 7 พันตำบล วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท (ตำบลละ 5 ล้านบาท) โดยมีการยกโครงการมาดำเนินการต่อในปี 2559 (สิ้นสุดมี.ค. 59) เนื่องจากมีการเบิกจ่ายล่าช้า ล่าสุดความคืบหน้าเพิ่มเติม โดยวันนี้จะมีการเสนอให้ ครม.พิจารณาโครงการอัดฉีดเงินให้เปล่าหมู่บ้านวงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท โดยให้เปล่าหมู่บ้านละไม่เกิน 5 แสนบาท และเมื่อรวมกับโครงการอัดฉีดเงินเข้าสู่ตำบลๆ 5 ล้านบาทดังกล่าวข้างต้น น่าจะหนุนให้การบริโภค(คิดเป็นสัดส่วน 50% ของGDP) ดีขึ้นต่อเนื่อง ใน1Q59 - 2Q59 ประกอบรัฐบาลเตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นผ่านทางภาษี ดังเช่น เตรียมเสนอลดภาษีเงินได้บุคคลโดยให้ผู้มีรายได้มากกว่า 2 หมื่นบาทแต่ไม่เกิน 3 หมื่นบาท/เดือน ไม่มีภาระต้องเสียภาษี (เดิมผู้มีรายได้ไม่เกิน 2 หมื่นบาทไม่ต้องเสียภาษี) และมาตรการลดภาษีสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นการถาวรเหลือ 20% (เดิมที่ 30%) ที่ได้ผ่านกฎหมายไปแล้ว ทำให้ฝ่ายวิจัยเชื่อว่ามาตรการที่รัฐบาลได้กระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวต่อเนื่องจะหนุนให้ GDP Growth ปี 2559 โตได้ที่ 3.8% จาก 2.7% ในปี 2558
ราคาน้ำมันปรับลงอีกครั้งหลังดีดช่วงสั้น แต่ downside risk ต่ำมากแล้ว
ราคาน้ำมันวานนี้ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 30 เหรียญฯต่อบาร์เรลอีกครั้ง หลังจากดีดตัวขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ จากปัจจัยความหนาวเย็นในภูมิภาคอเมริกาและยุโรป และเกิดจากการปิดสถานะการขาย (cover short) รวมทั้งการชะลอตัวการแข็งค่าขึ้นของ Dollar Index แต่ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิม กล่าวคือ Supply ที่ยังคงล้นตลาด โดยวานนี้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานอิรักออกรายงาน ยอดปริมาณการผลิตน้ำมันในเดือน ธ.ค. สูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ในภูมิภาคนี้ผลิตน้ำมันได้ถึงกว่า 4.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนับเป็นยอดสูงสุดใหม่ ผนวกกับประเด็นอิหร่านได้รับการยกเลิกการคว่ำบาตรสามารถกลับมาผลิตได้อีกราว 5 แสนบาร์เรลต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มเป็น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในอีก 6 เดือนจากนี้ ยังคงเป็นประเด็นกดดันราคาน้ำมันต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าราคาน้ำมันที่ลดลงมาที่ระดับเดิม เป็นการสะท้อนราคาน้ำมันได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว รวมถึงหุ้นในกลุ่มพลังงานที่ราคาถือว่าปรับฐานลงมาก จึงเป็นจังหวะเข้าสะสม ทั้ง PTT(FV@B310) มี upside 39.64% และ PTTEP(FV@B60) มี upside 18.81%
คลื่น 900 MHz ยังต้องติดตามความคืบหน้า
นับแต่การประมูล 4G คลื่น 900 MHz ที่ดุเดือดได้ผ่านพ้นไปเมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2558 ที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าที่สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งปรากฏว่าตอนนี้ทั้ง TRUE และ JAS ผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 ราย ยังไม่มีรายใดมาชำระเงินประมูลคลื่น 900 MHz งวดแรกจำนวน 8.04 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 รายมีกำหนดเวลาชำระเงินงวดแรกภายใน 90 วัน นับตั้งแต่ กสทช.ประกาศรับรองผลการประมูล (21 ธ.ค. 2558) หรือยังมีเวลาถึง 21 มี.ค. 2559 ทั้งนี้
การจ่ายเงินค่าใบอนุญาต 900 MHz แบ่งเป็นงวดแรก 8,040 ล้านบาท งวดที่ 2 อีก 4,020 ล้านบาท ภายใน 15 วัน เมื่อครบ 2 ปีหลังจากชำระงวดแรก งวดที่ 3 อีก 4,020 ล้านบาท ภายใน 15 วัน เมื่อครบ 3 ปีหลังจากชำระงวดแรก และงวดที่ 4 จำนวนที่เหลือภายใน 15 วัน เมื่อครบ 4 ปีหลังจากชำระงวดแรก) โดยการจ่ายเงินงวดแรกจะต้องมาพร้อมกับหนังสือค้ำประกันจากธนาคารเท่ากับยอดวงเงินที่จะต้องจ่าย 3 งวดที่เหลือ กสทช. จึงจะสามารถออกใบอนุญาตให้ได้
ทั้งนี้ ความคืบหน้าล่าสุด ได้มีธนาคารเจ้าหนี้บางรายอยู่ในระหว่างการพิจารณาออกหนังสือค้ำประกันให้กับทั้ง 2 ราย ดังนี้ TRUE จะต้องขอแบงก์การันตีเป็นมูลค่ากว่า 88,000 ล้านบาท (ใบอนุญาต 1800 MHz 20,000 ล้านบาท และ 900 MHz อีก 68,000 ล้านบาท) โดยมี SCB เป็นเจ้าภาพหลัก อย่างไรก็ตาม SCB มี Single Lending Limit (SLL) ราว 60,000 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องมี ธ.พ. รายอื่นมาร่วมออกหนังสือค้ำประกันด้วย อาทิ KBANK (SLL : 6.2 หมื่นล้านบาท) BBL (SLL : 8.5 หมื่นล้านบาท) KTB (SSL : 5.6 หมื่นล้านบาท) และ CIMB เป็นต้น ซึ่งหากพิจารณาในแง่ของความแข็งแกร่งของฐานเงินทุนที่มี CP Group และ China Mobile ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แล้ว เชื่อว่า TRUE น่าจะสามารถขอกู้ได้ แต่ด้วยภาระที่สูงในช่วงแรกทั้งจากค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาตทั้ง 2 ใบ (900 และ 1800 MHz) รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ตามมาจากการลงทุน ขณะที่การแย่งชิงลูกค้าจากคู่แข่ง โดยใช้ความได้เปรียบด้านศักยภาพคลื่นที่เหนือกว่า คาดว่าจะต้องค่อยเป็นค่อยไป จึงเชื่อว่า TRUE น่าจะกลับเผชิญผลขาดทุนอีกครั้ง จึงยังแนะนำให้ Switch (ภายใต้มูลค่าพื้นฐานที่ 6.8 บาท)
ขณะที่ JAS จะต้องขอหนังสือค้ำประกันเป็นมูลค่ากว่า 68,000 ล้านบาท ขณะนี้มี BBL ที่เตรียมพิจารณาปล่อยกู้ ขณะที่ KBANK แม้อาจร่วมปล่อยกู้ด้วย แต่ยังให้เงื่อนไขว่าต้องอยู่ภายใต้ความเสี่ยงธุรกิจที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งหากพิจารณาความเสี่ยงการรุกสู่ธุรกิจมือถือของ JAS ค่อนข้างสูง เพราะเสียเปรียบรายเดิมแทบทุกด้าน กล่าวคือ ยังไม่มีฐานลูกค้า หรือมีโครงข่ายให้บริการ อีกทั้งยังประมูลคลื่นที่จะใช้บริการมาในราคาแพง ซึ่งลำพังเพียงต้นทุนค่าตัดจำหน่ายค่าคลื่นสูงถึงปีละ 5.0 พันล้านบาทแล้ว โดยยังสูงเกิน 2 เท่าตัว จากคาดการณ์ในรายได้ธุรกิจใหม่ในปีแรกที่ 2.1 พันล้านบาท ภายใต้สมมติฐาน ASPS ที่ให้มองโลกในแง่ดีปีแรก JAS มีลูกค้า 7.0 แสนราย (30% ของฐานลูกค้าธุรกิจปัจจุบันอินเตอร์เนตความเร็วสูง) และมีรายได้ต่อเลขหมาย (APRU) สูงราว 500 บาท จึงคาดว่า JAS มีความเสียงขาดทุนจากธุรกิจใหม่ บั่นทอนกำไรธุรกิจเดิม ขณะที่ราคาปัจจุบันสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานที่ 2.8 บาท จึงยังคงแนะนำ ขาย
ภาพรวม จึงยังต้องติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าของการมาชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่สามารถชำระได้ ปัจจุบัน กสทช. มีแนวทางเพียงจะยึดค่าประกันที่วางไว้ก่อนประมูลจำนวนราว 644 ล้านบาท ขณะที่คลื่นที่ผู้ชนะไม่มาชำระเงิน ยังไม่มีการออกหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนไว้ก่อนหน้านี้ ดังนั้นหากจะเลื่อนให้ผู้ชนะลำดับถัดไป (Slot ของ JAS คือ DTAC ส่วน Slot ของ TRUE คือ ADVANC) ซึ่งคงต้องได้รับการความยินยอมจากรายดังกล่าวด้วย หรือ จะเป็นการนำคลื่น 900 MHz กลับมาประมูลใหม่ ซึ่ง กสทช. จะสามารถหาหาแนวทางเรียกค่าชดเชยเงินค่าประมูลที่ กสทช. ได้รับน้อยกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่
แรงขายที่เบาลง และเริ่มมีแรงซื้อกลับมาบ้างในบางประเทศ
วานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 184 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 7 วัน) และเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 3 ประเทศ คือ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 180 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6) รองลงมาคือ อินโดนีเซียถูกซื้อสุทธิราว 27 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 8 วัน) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ถูกซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 3 หมื่นเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 5 วัน) ส่วนที่เหลืออีก 2 ประเทศ แม้ต่างชาติจะยังขายสุทธิ แต่เป็นแรงขายที่เริ่มแผ่วลง ซึ่งประกอบด้วย เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 20 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 8) และไทยถูกต่างชาติขายสุทธิเล็กน้อยราว 3 ล้านเหรียญ หรือ 96 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิสูงถึง 2,429 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ที่นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 10,917 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 9,634 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดยล่าสุดอยู่ที่ 35.97 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์