- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 21 January 2016 17:24
- Hits: 727
บล.ฟินันเซีย ไซรัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
SET ยังแกว่งผันผวนได้ ดังนั้นไม่ต้องรีบซื้อไล่ราคาช่วงบวก!!
กลยุทธ์ : เรายังคาดว่า SET มีสิทธิที่จะแกว่งตัวขึ้น-ลงผันผวน ดังนั้นยังไม่แนะนำให้ไล่ซื้อในช่วงบวก แต่น่ารอเลือกหุ้นทยอยซื้อช่วงลบมากกว่าเช่นเดิม อย่างไรก็ตามในส่วนลงทุน เรายังแนะนำให้เน้นถือต่อเนื่องเพื่อรอขายสูงได้
หุ้นเด่นทางเทคนิค : THCOM, TVO, SVI(buy back)
แนวโน้ม : เนื่องจากตลาดหุ้นเอเชียวานนี้ปรับตัวลงกันแรง หลังราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง ส่งผลกดดันให้ SET ก็ปรับตัวลงแรงพอควรด้วยเช่นกัน แต่ถือว่าในจังหวะอ่อนตัวลงแต่ละครั้ง ตลาดหุ้นไทยยังมีแรงซื้อกลับเข้ามาช่วยพยุงตลาดได้อยู่ แม้ว่าเมื่อคืนนี้ตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปจะปิดปรับตัวลงรุนแรงจากความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ยังร่วงลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ก็ถือว่าเป็นการปรับตัวลงตามตลาดหุ้นเอเชียเมื่อวานนี้ ในขณะที่เช้านี้ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่สามารถพลิกกลับมาเปิดด้านบวกได้อีกครั้ง ถึงแม้ว่าหลายแห่งจะมีจังหวะแกว่งตัวผันผวนและย้อนลบอีกบ้าง แต่ก็เริ่มลบแคบ โดยคาดว่านอกเหนือจากแรงซื้อเก็งกำไรจากการปรับลงแรงวานนี้แล้ว ยังมาจากการเก็งกำไรตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เช้านี้เริ่มมีจังหวะฟื้นตัวให้เห็นบ้าง ทำให้ FSS คาดว่า SET ก็ยังมีลุ้นโอกาสรีบาวด์กลับมาแกว่งบวกได้ด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากยังไม่ได้มีปัจจัยใหม่เข้ามาช่วยหนุน รวมทั้งการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบก็ยังไม่หนักแน่นพอ นอกจากนี้ความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนก็ยังมีอยู่ ดังนั้นเรายังไม่แนะนำให้ซื้อช่วงบวก แต่ยังเน้นถือเพื่อรอรอบขาขึ้นจริงจังของตลาดในช่วงถัดไปได้เช่นเดิม
แนวรับ 1245-1240 , 1235-1225 จุด
แนวต้าน 1253-1260 , 1266-1270 จุด
Fund Flow กระแสเงินยังมีทิศทางไหลออกจากภูมิภาค ตามความกังวลในการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่อาจพ่วงไปถึงประเทศเศรษฐกิจสำคัญอื่นในเอเชียเช่น ญี่ปุ่น ขณะที่ เงินดอลล่าร์ฯแข็งค่าขึ้นและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอ่อนตัวลงมากสุดในรอบ 3 เดือน สะท้อนว่าสินทรัพย์ปลอดภัยมีความน่าสนใจมากกว่าสินทรัพย์เสี่ยง แนวโน้มกระแสเงินจึงยังมีโอกาสไหลออกจนถึงวันประชุม FOMC 26-27 ม.ค. 16
ข่าว/หุ้นเด่นมีประเด็น
(-) ปัจจัยภายนอกยังไม่นิ่ง ความกลัวเรื่องใหม่มีเข้ามาอีก ราคาน้ำมันที่ยังไม่หยุดไหล ทำให้เริ่มมีความกังวลว่าอาจมีแรงขายสินทรัพย์ทางการเงินของกองทุนความมั่นคงแห่งชาติ (Sovereign Wealth Funds: SWFs) เพื่อชดเชยฐานะการคลังที่แย่งลงของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมัน ทั้งนี้ ขนาดของสินทรัพย์ของ SWFs สิ้นปี 2015 มี US$7.2 ล้านล้านเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจากปี 2007 จากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นในปี 2010-14 ข่าวนี้จะทำให้ตลาดหุ้นโลกผันผวน แต่เป็นข่าวดีสำหรับทองคำและตลาดพันธบัตร
(-) IMF ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกในปี 2016-17 ลง 0.2% จากที่คาดเมื่อ ต.ค. 2015 เป็นขยายตัว 3.4% ในปีนี้และ 3.6% ปีหน้า ส่วนใหญ่เป็นการปรับลดการเติบโตของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก โดยปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทุกตลาดเหลือ US$41.97 ในปี 2016 (-17.6% Y-Y) และ US$48.21 ในปี 2017 (+14.9% Y-Y) สำหรับเอเชีย IMF ปรับลดลงเพียงเล็กน้อย 0.1-0.2% โดยยังคงคาดว่าจีนจะขยายตัว 6.3% ในปีนี้และ 6.0% ปีหน้า ลดลงจากปี 2015 ที่โต 6.9%
(+) ความกังวลต่อ NPL ผ่อนคลายลงมาก ปัจจุบัน 7 ใน 9 แบงก์ที่เราศึกษารายงานผลประกอบการแล้ว กำไร 4Q15 +6.8% Q-Q, -0.7% Y-Y ดีกว่าที่เราคาด 10% ทำให้กำไรทั้งปี 2015 ลดลง 2.5% Y-Y ดีกว่าเดิมที่คาดว่าจะลดลง 5-6% (ยังเหลือ KBANK และ KTB ที่จะรายงานกำไรวันนี้) ความน่าประทับใจของ 4Q15 คือ NPL ที่ลดลงและ Coverage ratio ที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นความกังวลหลักที่กดดันราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ขณะนี้เหลือเพียงความกังวลต่อการเติบโตของสินเชื่อซึ่งขึ้นกับการลงทุนภาครัฐ แต่ถ้าเทียบกับ Forward PE ปีนี้ที่ 8.7 เท่าและ PBV 1.0 เท่า ถือว่าน่าลงทุน สำหรับแบงก์ใหญ่เราชอบ KBANK (ราคาพื้นฐาน 210 บาท) ส่วนแบงก์ขนาดกลางเราชอบ TMB (ราคาพื้นฐาน 3.04 บาท) และ TCAP (ราคาพื้นฐาน 43 บาท)
(+) BBL กำไรสุทธิ 4Q15 ใกล้เคียงที่เราคาด +15.7% Q-Q, +12.9% Y-Y แต่น้อยกว่าตลาดคาด ส่วน NPL ลดลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2014 ทำให้ NPL Ratio ทรงตัวเท่ากับ 3Q15 ที่ 2.8% Coverage ratio เพิ่มเป็น 185.3% จาก 172.5% ใน 3Q15 ซึ่งมากที่สุดในกลุ่ม ราคาหุ้น BBL ที่ underperform กลุ่ม (-5% YTD vs Banks +0.5% YTD) เพราะตลาดกังวลต่อการที่ BBL ค้ำประกันให้ผู้ประกอบการในธุรกิจทีวีดิจิตอล (ไทยทีวีและ CTH) และธุรกิจ 4G จนมองข้าม Valuations ที่ถูก โดยมี PE 7.7 เท่าและ PBV 0.7 เท่า ยังแนะนำซื้อ ราคาพื้นฐาน 195 บาท แต่ชอบ KBANK มากกว่า BBL
(+) BAY กำไรสุทธิ 4Q15 +5.3% Q-Q, +30% Y-Y น่าประทับใจจากรายได้หลัก (ดอกเบี้ยรับและค่าธรรมเนียม) ที่ดีกว่าคาด ส่วน NPL Ratio อยู่ที่ 2.24% ลดลงจาก 2.44% ใน 3Q15 และ Coverage ratio ยังแข็งแกร่ง 140% สำหรับกำไรทั้งปีอยู่ที่ 1.86 หมื่นล้านบาท +31.5% Y-Y โดดเด่นสุดในกลุ่มจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยตามสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ยังรักษา NIM ได้สูง 4.1% เรายังคงประมาณการกำไรปี 2016 +6% Y-Y คงราคาพื้นฐาน 34 บาท เพิ่มคำแนะนำเป็นซื้อ จากถือ จาก upside ที่กว้างขึ้น
(-) ตลาดหุ้นสหรัฐฯเมื่อคืนที่ผ่านมาร่วงลงต่อเนื่องอีกราว 250 จุด ท่ามกลางความผันผวนและตื่นตระหนก หลังราคาน้ำมันดิบยังร่วงลงอย่างต่อเนื่อง
(-) ส่วนตลาดหุ้นยุโรปเมื่อคืนปิดในแดนลบเฉลี่ยกว่า 3% กดดันโดยราคาน้ำมันที่ดิ่งลงต่อเนื่อง รวมถึงผลประกอบการที่ย่ำแย่ของ Royal Dutch Shell
(0) อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้พลิกมาเคลื่อนไหวในแดนบวกหลังจากร่วงแรงวานนี้ แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาดูราคาน้ำมันรวมถึงทิศทางเศรษฐกิจจีนซึ่งยังมี่ความไม่แน่นอน
(0) ค่าเงินบาทยังแกว่งทรงตัวออกด้านข้าง โดยล่าสุดเคลื่อนไหวในกรอบ 36.20-36.35 บาท/ดอลลาร์
(-) ราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. ร่วงแรง 1.91 ดอลาร์/บาร์เรล มาอยู่ที่ 26.55 ดอลลาร์/บาร์เรล หลัง API รายงานว่าสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐฯพุ่งขึ้นเกินคาด ประกอบกับนักลงทุนยังกังวลต่อสถานการณ์อุปทานที่ล้นตลาด
(-) ราคาทองคำ COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. พุ่งขึ้น 17.10 ดอลลาร์/ออนซ์ มาอยู่ที่ 1,106.20 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงแรงจากความกังวลทั้งด้านเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่ดิ่งลง ซึ่งหนุนให้ถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
21 ม.ค. - ไทย: KBANK, KTB ประกาศผลประกอบการปี 2015
- ยูโรโซน: ECB ประชุม, อัตราเงินเฟ้อ (ธ.ค.), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (ม.ค.)
22 ม.ค. - ไทย: ดุลการค้า (ธ.ค.)
- ยูโรโซน: Markit Eurozone Composite PMI (ม.ค.)
25 ม.ค. - มาเลเซีย: ตลาดหุ้นปิดทำการ วัน Thaipusam Day
26-27 ม.ค. - สหรัฐ: ประชุม Fed
26 ม.ค. - อินเดีย: ตลาดหุ้นปิดทำการ
- เกาหลีใต้: 4Q15 GDP
- สหรัฐ: ดัชนีราคาบ้าน S&P/Case-Shiller Index (พ.ย.)
27 ม.ค. - ไทย: ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (ธ.ค.)
- สหรัฐ: ยอดขายบ้านใหม่ (ธ.ค.)
28-29 ม.ค. - ญี่ปุ่น: BOJ ประชุม
28 ม.ค. - ฟิลิปปินส์: 4Q15 GDP
- สหรัฐ: คำสั่งซื้อสินค้าคงทน (ธ.ค.), Pending home sales (ธ.ค.)
- ยูโรโซน: ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (ม.ค.)
29 ม.ค. - ไทย: ธปท.รายงานภาวะเศรษฐกิจเดือน ธ.ค.
- สหรัฐ: 4Q15 GDP (ตลาดคาด +0.9% ชะลอจากไตรมาสก่อนที่ +2%)
Contact person : Somchai Anektaweepon
Register : 002265 Tel: 02-646-9967, 02-646-9852
www.fnsyrus.com FB: Finansia Syrus Research, IG: finansiasyrusresearch