WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASP copyบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
      ปัญหาในจีนยังเป็นปัจจัยกดดันหลัก ขณะที่การปรับลด EPS ตลาดปี 2559 ยังมี ตามการปรับลดEPS กลุ่ม ICT ที่คาดว่าจะตัดลดราว 30% จากประมาณเดิม แต่เชื่อว่าได้สะท้อนราคาหุ้นหลายบริษัทแล้ว จึงแนะนำให้ซื้อหุ้นสื่อสารที่มีเงินปันผลเด่น เลือก INTUCH(FV@B68) เป็น Top pick

ความเสี่ยงของตลาดหุ้นจีน ยังกดดันตลาดหุ้นโลก
     ตลาดหุ้นทั่วโลกยังถูกแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจจีน ที่คาดการณ์กันในวงกว้างว่ากำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัว หลังการรายงานดัชนีภาคการผลิตสำคัญ ๆ ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดพบว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เดือน ธ.ค. ลดลงมาอยู่ที่ 3.33 ล้านล้านดอลลาร์ (ต่ำสุดในรอบ 3 ปี) ซึ่งเกิดจากการส่งออกที่หดตัวและภาวะเงินทุนไหลออก ขณะที่รัฐบาลกลางจีนออกมาตรการพยุงหุ้นหลายอย่างสร้างความสับสนให้กับตลาดอย่างมาก นับตั้งแต่การแทรกค่าเงินหยวนอย่างน้อย 2 ครั้งในช่วงสัปดาห์แรกของปีนี้ การห้ามผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ถือหุ้นเกิน 5%) ขายหุ้นเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะครบรอบ ในวันที่ 8 ม.ค. ล่าสุด กลต. ของจีน ได้ออกมาตรการเพิ่มเติม คือ รายใหญ่ขายหุ้นได้ไม่เกิน 1% ภายใน 3 เดือน และต้องแจ้งให้ กลต. ทราบล่วงหน้า 15 วัน และได้ประกาศยกเลิกการใช้(Circuit Breaker) โดยมีผลในวันนี้ ซึ่งเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้ยังกดดันให้เกิด panic sell ต่อเนื่อง
ปัญหาเศรษฐกิจจีนจะกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหรือไม่ต้องติดตามต่อไป โดยเฉพาะในทางประเทศพัฒนาแล้ว พบว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในฝั่งประเทศพัฒนาแล้วยังดูดี โดยเฉพาะตลาดแรงงาน พบว่า สหรัฐ ยังคงแข็งแกร่ง โดยล่าสุดพบว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการครั้งแรกรายสัปดาห์ สิ้นสุด 2 ม.ค. ปรับลดลง 10,000 ราย อยู่ที่ระดับ 270,000แสนราย (คิดเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ลดลง 1,250 ราย อยู่ที่ระดับ 2.75 แสนราย) แต่อย่างไรก็ตามภาคการผลิตที่ยังชะลอตัว สะท้อนจากยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนและ ยอดสั่งซื้อสินค้าจากโรงงงาน(หดตัวติดต่อกัน 3 เดือน) ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ยังมีความเสี่ยงและน่าจะมีผลต่อการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมของ Fedรอบถัดไป (26-27 ม.ค. 2559) ซึ่งคาดว่าจะขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
    และเช่นเดียวกับ ยุโรป ตลาดแรงงานส่งสัญญาณดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานเดือน พ.ย. ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 10.5% (ลดลงติดต่อกัน 4 เดือน) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. ทรงตัวอยู่ที่ระดับ -5.7 (ก่อนหน้านี้หดตัวติดต่อกัน 2 เดือนติด) หลังจากเหตุการณ์ที่ ISIS ระเบิดที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส

วิกฤตในตลาดหุ้นจีนยังคงกดดันให้ต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาค
     วานนี้ความกังวลต่อวิกฤตในตลาดหุ้นจีน ส่งผลให้ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคสูงถึง 653 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6) ยังเป็นการขายทุกประเทศ ยกเว้นยังซื้อสุทธิอยู่ประเทศเดียว คือ ฟิลิปปินส์ถูกซื้อสุทธิราว 11 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน) ประเทศที่ขายสุทธิสูงสุด เรียงลำดับมากไปน้อยคือ ไต้หวันขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 352 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) รองลงมาคือ เกาหลีใต้ขายสุทธิราว 236 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) และอินโดนีเซียขายสุทธิราว 33 ล้านเหรียญ และ ไทย วานนี้ดัชนีปรับลดลงอย่างหนักราว 35 จุด โดยเกิดจากแรงขายของต่างชาติราว 41 ล้านเหรียญ หรือ 1,500 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) และหนุนด้วยแรงขายสถาบันในประเทศอีกราว 2,267 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว)
สวนทางกับทางด้านตราสารหนี้ที่นักลงทุนสถาบันในประเทศยังคงซื้อสุทธิ 30,703 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 50 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทยังคงประคองตัวอยู่ที่อยู่ที่ 36.25 บาท/ดอลลาร์

การปรับลด EPS ตลาดหุ้นไทย เกิดจากการปรับลดหุ้นสื่อสาร
     ประมาณการกำไรปี 2559 มีความเสี่ยงที่จะปรับลดลงอีกครั้งจากประมาณการเดิม ทั้งนี้เป็นผลจากการปรับลดประมาณการหุ้นในกลุ่ม ICT ภายหลังจากการประมูลคลื่น 1800 และ 900 Mhz ซึ่งนอกจากมีต้นทุนการประมูลที่สูงเกินไปแล้ว (เป็นค่าใบอนุญาต และ เงินลงทุนในโครงข่ายสำหรับ 4G และ 3G) ผู้ชนะประมูลยังมีผิดฝาผิดตัว ผู้ประกอบการที่ควรจะได้อย่าง ADVANC และ DTAC ควรจะได้คลื่น 900 ก็ไม่ได้ แต่กลับเป็น TRUE ซึ่งมีคลื่นมากสุดอยู่แล้ว ขณะที่ JAS ต้องการเข้ามาเป็นผู้ให้บริการมือถือรายที่ 4 ทั้ง ๆ ที่ไม่มีฐานลูกค้า คาดว่าการแข่งขันในการแย่งชิงลูกค้าสำหรับรายใหญ่ และการปกป้องลูกค้ารายเดิมของ ADVANC และ DTAC ทำให้ต้นทุนในการขายและบริหารของทุกรายเพิ่มขึ้น
     ล่าสุด นักวิเคราะห์กลุ่ม ICT ได้มีการปรับลดประมาณของหุ้นในกลุ่มฯ 3 แห่งคือ ADVANC ปรับลดประมาณการกำไรปี 2559 และ ปี 2560 ลงจากเดิม 35% และ 25% หรือลดลงราว 1.46 และ 1.05 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ตามมาด้วย INTUCH ในฐานะที่เป็นบริษัทแม่ของ ADVANC (ถือหุ้น 40.45%) โดยได้ปรับลดจากประมาณเดิม ปี 2559 และ 2560 ลงราว 33% และ 24% หรือลดลง ราว 7.16 และ 5.40 พันล้านบาท ตามลำดับ และ DTAC ปรับลดประมาณการเดิมปี 2559 และ 2560 เล็กน้อย เพราะไม่มีต้นทุนใบอนุญาตใหม่เหมือนรายอื่น ๆ นอกจากเงินลงทุนในโครงการเดิม ซึ่งได้รวมไว้ในประมาณการแล้ว จึงปรับเพิ่มเฉพาะค่าใช้จ่ายในการขายและบริการที่เพิ่มขึ้นเพื่อปกป้องลูกค้าเดิม กล่าวคือปรับลดลง 0.1% และ 1.3% เท่านั้น ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ
      ขณะที่ TRUE และ JAS อยู่ในระหว่างทบทวนปรับลดประมาณการ โดยจะสรุปผลจากการเข้าพบผู้บริหารอีกครั้ง แต่ ในเบื้องต้นคาดการณ์ทั้ง 2 บริษัท น่าจะประสบภาวะขาดทุน กล่าวคือ TRUE น่าจะขาดทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ราว 1.2 พันล้านบาท และ 1 พันล้านบาทในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ (รวมเฉพาะใบอนุญาตคลื่น 1800 Mhz) มาเป็นขาดทุนราวปีละ 5-10 พันล้านบาท เมื่อรวมคลื่น 900 Mhz เข้ามาด้วย ส่วน JAS คาดว่าจะพลิกจากที่มีกำไร 4.3 พันล้านบาท และ 3.5 พันล้านบาท ในปี 2559 และ 2560 เป็นขาดทุนราวปีละ 5 พันล้านบาท จึงคาดว่าจะต้องปรับลด Fair Value ปี 2559 ของทั้ง 2 บริษัทลงด้วย
      โดยรวมทั้ง 5 บริษัท เบื้องต้นคาดว่าจะต้องปรับประมาณการกำไรปี 2559 ลงรวมทั้งสิ้นราว 3.9 หมื่นล้านบาท และลดลง 3.2 หมื่นล้านบาท ปี 2560 ส่งผลให้ประมาณการกำไรตลาดปี 2559 ลดลงจาก 8.84 เหลือ 8.45 แสนล้านบาท ทำให้กำไรต่อหุ้น (EPS) ลดลงจาก 94.45 เป็น 90.22 บาท หายไปราว 4.23 บาท หรือลดลง 4.5% หากเปรียบเทียบกับดัชนีตลาดที่ปัจจุบันมีค่า PER 13.5 เท่า แม้ว่าจะถือว่าถูก เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก แต่ภายใต้ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่ยังมีอยู่อาจจะทำให้ความเสี่ยงขาลงยังมีอยู่ ดังนั้นในสถานการณ์นี้จึงแนะนำให้ลงทุนในหุ้นปันผล ดังจะดังในย่อหน้าถัดไป

หุ้นใหญ่ถูกขายหนัก จากแรงขายนักลงทุนสถาบันไทยและเทศ
      สำหรับ ตลาดหุ้นไทยในปีนี้เปิดทำการได้เพียง 4 วัน ปรากฏว่าปรับลดลงไปหนักถึง 4.9% หากรวมกับปีที่แล้ว SET Index ลดลงหนักถึง 18.9% หากพิจารณาเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม จะพบว่า กลุ่มฯ ที่มี market cap ขนาดใหญ่ที่ลดลงหนักสุด ได้แก่ กลุ่ม ICT ปี 2558 ลดลง 39.5% ปี 2559 (ytd) ลดลงอีก 9% รวมลดลงกว่า 50% (เทียบกับการปรับลดประมาณการของทั้งกลุ่มลงราว 30% ในปี 2559-2560) ตามมาด้วยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ปี 2558 ลดลง 28.6% ปี 2559 (ytd) ลดลงอีก 5.3% รวมลดลงกว่า 34%, กลุ่มพลังงาน ปี 2558 ลดลง 20.7% ปี 2559 (ytd) ลดลงอีก 7.6% รวมลดลงกว่า 28%
     ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าการลดลงของ 3 กลุ่มหลักดังกล่าวข้างต้น น่าจะเป็นการ panic sell มากเกินไป โดยเฉพาะกลุ่ม ICT มีการปรับลดลงมากเกินไปถึง 50% เมื่อเทียบกับการปรับประมาณการกำไรกลุ่มฯ ที่คาดว่าจะลดลงราว 30% ในส่วนของกลุ่มพลังงาน ก็ลดลงมากเกินไปเช่นกันกว่า 28% ขณะที่คาด 4Q58 อาจมีการขาดทุนสต็อกน้ำมันราว 1 หมื่นล้านบาท หรือจะกดดันประมาณการปี 2558 ลงราว 10% (IRPC คาดว่าจะขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 2.5 พันล้านบาท PTTGC ขาดทุน 2.7 พันล้านบาท BCP ขาดทุน 2 พันล้านบาท และ TOP ขาดทุน 2.9 พันล้านบาท)
สะสมหุ้นปันผลเด่น พร้อมทั้งมี PER ต่ำ และ Upside สูง
      แม้ตลาดหุ้นจะอยู่ภาวะที่ยังปรับตัวลง แต่ถือเป็นโอกาสในการเข้าสะสมหุ้นที่ราคาปรับฐานลงมาลึกเกินปัจจัยพื้นฐานแล้ว ประกอบกับใกล้ที่จะเข้าสู่ช่วงของการประกาศงบผลการดำเนินงานรอบปี 2558 และจากนั้นก็จะเข้าสู่ช่วงของการจ่ายปันผล ราวเดือน มี.ค. – พ.ค. ซึ่งโดยปกติแล้วนักลงทุนมักจะทยอยซื้อสะสมตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป เนื่องจากราคาหุ้นที่ปันผลสูง มักจะมีการปรับขึ้นอย่างมีนัยฯ โดยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณได้ค้นหาหุ้น Dividend Lover โดยใช้เกณฑ์ดังนี้ คือ Dividend Yield สูงกว่า 4.4% มี PER ปี 59 ต่ำกว่า 13 เท่า พร้อมทั้งมี Upside สูงเกิน 20%
ฝ่ายวิจัยแนะนำ BJCHI, INTUCH, SPALI, STPI และ MCS เป็นตัวเลือกการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนที่ต้องการหาจังหวะเข้าสะสมหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูงในยามที่ตลาดผันผวนและปรับฐานลงมาลึกเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!