- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 17 November 2015 17:24
- Hits: 977
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดหุ้นมีแนวโน้มฟื้นตัวตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และ GDP Growth ใน 3Q58 ดีกว่าคาด บวกกับเงินบาทอ่อนค่าใกล้ 36 บาทต่อดอลลาร์ฯ หนุนหุ้นส่งออก กลยุทธ์ ผสมระหว่างหุ้น Global (PTT, KCE, SVI) & Domestic (EASTW, PLANB, ASK, MAKRO) วันนี้เลือก KCE(FV@B80) และ PTT(FV@B360) เป็น Top picks
SET มีแนวโน้มฟื้นตัว หลังปรับฐานนานกว่าสัปดาห์
เดือน ต.ค. เกือบทั้งเดือน เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลก และรวมทั้งตลาดหุ้นเอเชีย นำโดยตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้นถึง 12.3% ตามมาด้วยอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นถึง 10.3% สิงคโปร์ 10% ญี่ปุ่น 7% ฟิลิปปินส์ 6.3% ไทย 5.9% มาเลเซีย 4.5% และเกาหลีใต้ 3.5% จากนั้นตลาดก็เข้าสู่ช่วงการปรับฐานเมื่อเข้าสู่เดือน พ.ย. บางตลาดปรับฐานลงไปมากกว่าที่ปรับขึ้นมาในช่วงก่อนหน้า เนื่องมาจากความกังวลของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่อาจจะมีขึ้นในเดือน ธ.ค. และผลประกอบการในงวด 3Q58 ที่ไม่ค่อยดีนัก โดยตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ลงหนักสุดถึง -7.5% ตามด้วยตลาดหุ้นสิงคโปร์ -5.4% อินโดนีเซีย -5.3% เกาหลีใต้ -5.1% มาเลเซีย -3% ไทย -2.5% ยกเว้นจีนและญี่ปุ่นยังปรับขึ้นได้ต่ออีก 5.2% และ 2.4%
นอกจากนี้ ปัญหาการก่อการร้ายในฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะสร้างความหวาดวิตกให้กับประชาชน แต่น่าจะเป็นเพียงปัจจัยกดดันระยะสั้นเท่านั้น สะท้อนจากตลาดหุ้นยุโรปและสหรัฐวานนี้ที่ยังวิ่งขึ้นในแดนบวก ขณะที่หุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาถือว่ายังแข็งแกร่ง ปรับฐานไปน้อยกว่าประเทศอื่น ขณะที่ตลาดได้ซึ่มซับข่าวร้ายต่างๆ ไปมากแล้ว จึงน่าจะเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการทยอยสะสมหุ้นใหญ่ Big Cap ที่ยัง underperform เมื่อเทียบกับตลาด ได้แก่ กลุ่มพลังงาน กลุ่ม ธ.พ. และกลุ่ม ICT ซึ่งปรับฐานลงค่อนข้างหนักถึง -3%, -3.8% และ -7.7% ตามลำดับ โดยทั้ง 3 กลุ่มนี้คาดว่าในปีหน้า ผลการดำเนินงานน่าจะฟื้นตัวได้โดดเด่นจากปีนี้ แนะนำทยอยสะสม KBANK, TCAP, PTT, ADVANC, INTUCH
หุ้นโภคภัณฑ์มีสัญญาณบวก ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจบางแห่งทรง/ฟื้นตัว
วานนี้มีการรายงานอัตราเงินเฟ้อของ ยูโรโซน เดือน ต.ค. อยู่ที่ 0.1% yoy เทียบกับ 0% ก.ย. และ -0.1% ใน ส.ค. จากราคาอาหารสดในกลุ่ม ผักและผลไม้มีราคาสูงขึ้น ยกเว้นราคาน้ำมันยังคงปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตามยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย 2% มาก และ GDP Growth ในงวด 3Q58 อยู่ที่ 0.3% เทียบกับไตรมาสก่อนที่ 0.4% ยังมีลักษณะทรงตัว ทำให้ตลาดยังคาดหวังว่า ธนาคารกลาง(ECB) มีแนวโน้มขยายวงเงินและระยะเวลาของมาตรการ QE เพิ่มเติมจากเดือนละ 60 พันล้านยูโรจนถึงเดือนกันยายนปี 2016 มูลค่ารวมทั้งสิน 1.1 ล้านยูโร ซึ่งต้องติดตามในการประชุมในเดือน ธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตามวานนี้ตลาดหุ้นยุโรป ยังสามารถปรับตัวบวกมาได้ แม้จะเกิดโศกนาฏกรรมในกรุงปรารีส ในวันก่อนหน้าก็ตาม
ขณะที่ทางฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐมีการฟื้นตัวเมื่อคืนนี้เช่นกัน เชื่อว่า ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจาก การฟื้นตัวของสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันดิบโลก ราคาน้ำตาล เป็นต้น และน่าจะเกิดจากมุมผู้จัดการกองทุนบางแห่ง เริ่มมีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นน้ำมัน โดยล่าสุดนาย Thomas Lee, Manager Part ของ Fundstrat Global Advisory ได้มีการปรับน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มพลังงานเป็น Overweight จากเดิมที่ upderweight โดยการปรับลดน้ำหนักกลุ่ม Consumer Discreationary เป็น underweight จากเดิม overweight เนื่องจากมีความกังวลต่อต้นทุนแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น (หลังจากเพิ่มขึ้น 2.5%yoy) จะกระทบต้นทุนการผลิต ซึ่งจะทำให้หุ้นโภคภัณฑ์มีแนวโน้มกลับมานำตลาดได้อีกรอบหนึ่ง
ขณะที่นักวิเคราะห์กลุ่มพลังงาน โรงกลั่น และปิโตรเคมี ของ ASPS ได้ทำการปรับเพิ่มคำแนะนำ หุ้นในกลุ่มปิโตรเคมีและโรงกลั่น จากเดิม ถือ เป็น ซื้อ (TOP, PTTGC) นับจากการรายงานงบงวด 3Q58 ซึ่งแม้ว่าผลประกอบการจะตกต่ำสุดๆ ในงวดนี้ก็ตาม แต่มีสัญญานที่ดีขึ้นในงวด 4Q58 และ 1Q59 เนื่องจากคาดว่าธุรกิจโรงกลั่นจะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลหนาวในหลายทวีปของโลกอีกครั้ง นับจากงวด 4Q58 ต่อเนื่อง 1Q59 (หนุนค่าการกลั่นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงดังกล่าว) นักวิเคราะห์ ASPS จึงเตรียมปรับเพิ่มคำแนะนำกลุ่มโรงกลั่นและ ปิโตรเคมี เป็น Overweight จากเดิม Neutrual โดยยังชอบ IRPC([email protected]) มากสุด รองลงมาคือ TOP(FV@B64), PTTGC(FV@B73) ติดตามอ่านรายละเอียดใน Industry Update ได้เร็ว ๆ นี้ และชื่นชอบ PTT(FV@B360) เนื่องจากถือหุ้นใหญ่ในโรงกลั่นเหล่านี้
GDP งวด 4Q58 ดีกว่าปี 2558 น่าจะได้ถึง 3%
วานนี้ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ รายงาน GDP Growth งวด 3Q58 ขยายตัว 2.9 % YoY สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.6% YoY และดีกว่างวด 2Q58 ที่เติบโตราว 2.8% ทั้งนี้เกิดจากการฟื้นตัวของภาคครัวเรือน โดยพบว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือน (C) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 1.7% เทียบกับ 1.6% งวด 2Q58 และ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของภาครัฐ (G) เพิ่มขึ้น 1% (ตามค่าตอบแทนแรงงานที่เพิ่มขึ้น ส่วนค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการสุทธิลดลง ) ยกเว้นการลงทุนโดยรวม (I) ที่เติบโตในอัตราลดลงคือเพียง 1.2% เทียบกับที่ขยายตัว 2.7% งวด 2Q58 ( โดยพบว่าการลงทุนภาครัฐขยายตัวชะลอลง เหลือ 15.9% เทียบกับ 2Q58 ที่ขยายตัว 24.9 % ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากถึง 6.6% เทียบกับที่ขยายตัว 3.4% ในงวด 2Q58)
ส่วนการค้าระหว่างประเทศพบว่าเกินดุล 398.9 พันล้านบาท (ดุลการค้าเกินดุล 340.0 พันล้านบาท และดุลบริการเกินดุล 58.9 พันล้านบาท ) ซึ่งเป็นผลจากจากตัวเลขการส่งออก (X) หน่วยบาทขยายตัว 1.8% และการนำเข้า (M) ติดลบ 2.4% โดยหากพิจารณาเป็นรายภาค พบว่าภาคการเกษตรหดตัว 5.7 % เทียบกับที่หดตัว 6.2% ในงวด 2Q58 โดยเกิดจากผลผลิตพืชผลที่สำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวโพด อื่นๆ หดตัว 5.8% ประมง หดตัว 3.1% (จากการยกเลิกสัมปทานในน่านน้ำอินโดนีเซีย และบังคับใช้กฎหมายประมงที่เข้มงวด) ส่วนภาคนอกการเกษตรยังขยายตัว 3.4% กล่าวคือภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว 0.8% เทียบกับที่หดตัว 0.6% งวด 2Q58 และ ภาคบริการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น สาขาโรงแรมและภัตตาคาร การขนส่งและโทรคมนาคม เป็นต้น
โดยรวม GDP Growth ใน 9 เดือนแรก ( 3 ไตรมาส ) อยู่ที่ 2.9 % โดย ASPS คาดจะขยายตัวต่อเนื่องใน 4Q58 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มุ่งช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย (วงเงิน 1.36 แสนล้านบาท) รวมทั้งช่วยเหลือ SMEs ผ่านการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ Soft loan 4% ซึ่งคาดว่าเม็ดเงินทยอยไหลเข้าระบบตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นไป ทำให้ ตลอดปี 2558 อาจจะเติบโตได้ 2.9 - 3 % สูงกว่าที่ฝ่ายวิจัยเคยประเมินว่าทั้งปีจะโตที่ 2.7%
เงินบาทอ่อนค่าใกล้ 36 บาท/ดอลลาร์ ดีต่อ KCE, SVI
ล่าสุด เงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง มาปิดที่ 35.98 บาทต่อ ดอลลาร์ และมีแนวโน้มทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ (จุดสูงสุดเดิม 36.5 บาทต่อดอลลาร์) และ เช่นเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค โดยเฉพาะ เงินริงกิต อ่อนค่า 1.6% ตลอดเดือน พ.ย. ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์ ASPS ทำการปรับเพิ่มค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ เป็น 36 บาท จากเดิม 35 บาทต่อดอลลาร์ในปี 2559 ซึ่งทำให้ต้องทยอยปรับเพิ่มประมาณการของหุ้นส่งออก (อาหาร เกษตร และชิ้นส่วนฯ) ซึ่งวานนี้ได้นำเสนอ KCE และ KSL ใน Market talk วานนี้ โดยวันนี้นักวิเคราะห์ ASPS ได้ปรับเพิ่มประมาณการ SVI ซึ่งมีรายละเอียดคือ
SVI มีโครงสร้างรายได้ 85% เป็นเงินสกุลดอลลาร์ และ 15% เป็นเงินยูโร ขณะที่มีโครงสร้างต้นทุน 75% เป็นดอลลาร์ ยูโร 10% และ 15% เป็นเงินบาท ซึ่งเมื่อเงินบาท เทียบกับเงินดอลลาร์รและยูโร อ่อนค่าทุกๆ 1 บาท จะหนุนให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 6% (จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ 5.2% และยูโร 0.7% ) จึงทำให้มีการปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน ( Norm Profit) ปี 2559เพิ่มขึ้นจากเดิม 30.8% เป็น 310 ล้านบาท พร้อมปรับเพิ่ม Fair value ใหม่ 4.5% เป็น 7 บาท และ ณ ราคาปัจจุบันมี Upside ราว 37.25 % (ติดตามรายละเอียดใน Equity Talk เช้านี้)
ดัชนีหุ้นไทยบวกได้จากแรงซื้อสถาบัน ส่วนต่างชาติยังขายสุทธิ
วานนี้ นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 619 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7) โดยเป็นการขายสุทธิทั้ง 5 ประเทศ นำโดยไต้หวันถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 293 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7) รองลงมาคือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 293 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 8) ตามมาด้วยอินโดนีเซียถูกขายสุทธิราว 31 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 16 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นไทย แม้วานนี้จะกลับมาปิดในแดนบวก โดยเพิ่มขึ้น 0.45% มาอยู่ที่ 1388.62 จุด ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิสูงถึง 3,448 ล้านบาท อย่างไรก็ตามต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 63 ล้านเหรียญ หรือ 2,272 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 6,269 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 1,212 ล้านบาท ในส่วนของค่าเงินบาทล่าสุดอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 35.99 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์