- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 03 July 2014 18:29
- Hits: 2517
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาด SET เคลื่อนไหวตามผลประกอบการงวด 2Q57 โดยเฉพาะหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ที่เติบโตโดดเด่น จึงยังเลือก ANAN ([email protected]) เป็น Top pick และแนะนำลงทุนระยะสั้น TNH เนื่องจากมีค่า P/E ต่ำสุด และยังมีโอกาสที่จะเป็นเป้าหมายถูก Take over ได้
ยังใช้ดอกเบี้ยต่ำตราบที่การว่างงานเกิน 6% หุ้นแกว่งตัวต่อ
การรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังแข็งแกร่งต่อเนื่อง ล่าสุดพบว่า รายงานการจ้างงานภาคเอกชนในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 281,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่คาดไว้ 205,000 ตำแหน่ง และสูงกว่าที่มีการจ้างงานเพียง 179,000 ตำแหน่ง ในเดือน พ.ค. ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับการจ้างงานนอกภาคเกษตร ที่จะมีการเปิดเผยวันนี้ ในเวลา 19.30 ตามเวลาไทย อย่างไรก็ตาม การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นจะมีผลทำให้อัตราการว่างงานจะลดลงจาก 6.3% ซึ่งทรงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ได้หรือไม่ และน่าจะเป็นประเด็นที่จะมีผลต่อการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของ FED ในระยะถัดไป ทั้งนี้แม้ล่าสุด ตัวแปรที่สำคัญทั้งอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.1% (จากเป้าหมาย 2%) และอัตราการว่างงานที่ 6.3% (จากเป้าหมายที่ 6.5%) ต่างได้ทะลุเป้าหมายไปแล้วก็ตาม
ทั้งหากพิจารณาอัตราการว่างงานในอดีตคือ ก่อนที่จะเกิดวิกฤติซับไพร์มพบว่าอัตราการว่างงานอยู่ที่ 5-5.5% ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นระดับที่ FED มีความสบายใจที่จะดำเนินงานเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน โดยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ซึ่งใช้มานานติดต่อกัน 5 ปีครึ่ง แต่หากอัตราการว่างงานยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากที่เป็นอยู่ คาดว่า FED จะวางแผนขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายใน 6 เดือนแรกของปี 2558 หลังตัดลด QE หมดแล้ว ซึ่งประเด็นนี้น่าจะช่วยลดแรงกดดันต่อตลาดหุ้นสหรัฐ แต่เชื่อว่าดัชนีดาวโจนส์ที่ระดับ 17,000 จุด น่าจะเป็นแนวต้านที่มีนัยสำคัญระดับหนึ่ง และตลาดน่าจะรอปัจจัยหนุนใหม่ที่น้ำหนักมากพอที่จะขับเคลื่อนดัชนีนั่นก็คือ ผลประกอบการไตรมาส 2 ที่กำลังจะประกาศในช่วงปลายเดือนนี้ ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นไทย
เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตต่ำกว่า 2% จากปัญหาแรงงาน
จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานของภาคธุรกิจในไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรม การเกษตร ประมง และบริการ ทำให้ตลาดแรงงานต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก และจากประเด็นปัญหาล่าสุดที่สหรัฐ ได้ปรับลดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยในปี 2557 ลงสู่ระดับ 3 (ต่ำสุด) และจะมีการตัดสินคว่ำบาตรไทยหรือไม่ภายใน 90 วัน ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ ธปท. วิตกกังวลว่าจะกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออก ซึ่งอาจทำให้การขยายตัวด้านการส่งออกไม่เป็นไปตามที่เคยคาดไว้ ทำให้ ธปท. ได้ปรับลดประมาณการ การส่งออกสินค้าและบริการ ในปี 2557 เหลือ 3% จาก 4.5% ทำให้ตลอดทั้งปี 2557 คาดว่า GDP Growth จะอยู่ที่ 1.5%
ทั้งนี้หากพิจารณาตัวเลขการส่งออก จากกระทรวงพาณิชย์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี ยังหดตัวคือ -0.97%yoy นั่นหมายความว่า หากจะให้ยอดส่งออกทั้งปีนี้ เป็นไปตามเป้าหมาย 5% ที่ ASP คาดไว้ ยอดส่งออกในช่วง 8 เดือนที่เหลือของปีนี้ จะเติบโตเฉลี่ยได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 8% และทำให้ GDP Growth ทั้งปี อยู่ที่ 2% (ตาม ASP คาด) ซึ่งถือว่าเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่อย่างไรก็ตามคาดว่า การเดินหน้าหนุนนโยบายค่าครองชีพต่ำต่อเนื่อง พร้อมกับตรึงราคาก๊าซฯ แก่ภาคครัวเรือน น่าจะมีส่วนช่วยผลักดันภาคการบริโภค (คิดเป็น 55% ของ GDP) กลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนภาคส่งออกที่หายไป จึงยังคง GDP Growth ไว้ 2% ตามเดิม
เงินทุนต่างชาติเริ่มไหลกลับ แต่ยังชะลอการซื้อในกลุ่ม TIP
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงเข้าซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 8 ราว 656 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มขึ้นถึง 65% จากวันก่อนหน้า โดยที่ยอดซื้อส่วนใหญ่ยังคงมาจากเกาหลีใต้ที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5 ราว 306 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า ตามมาด้วยไต้หวันซื้อสุทธิเป็นวันที่ 9 ราว 299 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 47% ขณะที่ประเทศในกลุ่ม TIP ยังคงซื้อสุทธิเช่นกันแต่เพียงเบาบางเท่านั้น กล่าวคือ อินโดนีเซียซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 แต่ยอดซื้อลดลง 48% เหลือราว 23 ล้านเหรียญฯ ตามมาด้วยไทย ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 และลดลง 74% เหลือราว 19 ล้านเหรียญฯ (628 ล้านบาท) สุดท้ายคือฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7 ราว 9 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 66% จากวันก่อนหน้า)
ทั้งนี้แม้ว่าเงินทุนจากต่างชาติเริ่มไหลกลับเข้ามาในภูมิภาค แต่เป็นการเลือกซื้อรายประเทศโดยเฉพาะเกาหลีใต้ และไต้หวัน และชะลอการซื้อประเทศในกลุ่ม TIP ซึ่งถูกเข้าซื้ออย่างหนักในช่วงก่อนหน้า ยกเว้นเพียงแต่ไทยที่มีปัญหาการเมืองกดดัน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากค่า Expected P/E ในกลุ่ม TIP แพง เช่น ฟิลิปปินส์ 19.2 เท่า อินโดนีเซีย 16 เท่า และไทย 15 เท่า เทียบกับประเทศเกาหลีใต้ และ ไต้หวันเพียง 12.5 เท่า และ 15.4 เท่า ตามลำดับ ดังนั้นคาดว่านักลงทุนต่างชาติน่าจะยังคงซื้อสลับขายตามสถานการณ์ต่อไป
ราคาน้ำมันดิบถูกกดดันจากสถานการณ์ในลิเบีย
กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานยอดน้ำมันดิบคงคลังลดลง 3.16 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 384.9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 2.4 ล้านบาร์เรล เป็นผลมาจากการเพิ่มกำลังผลิตของโรงกลั่นถึงระดับ 91.4% สูงสุดในรอบ 5 เดือน ตรงข้ามกับสต๊อกน้ำมันเบนซิน ที่ลดลง 1.24 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 213.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่ม 5.5 แสนบาร์เรล เนื่องมาจากการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นถึงระดับ 9.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนเชื้อเพลิงอื่น ๆ (heating oil) เพิ่มขึ้น 9.8 แสนบาร์เรล แตะระดับ 121.5 ล้านบาร์เรล (เพิ่มขึ้นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน)
นอกจากนี้ แม้ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะยังมีอยู่ แต่การที่กลุ่มกบฏในลิเบียอนุญาตให้ท่าส่งน้ำมันที่ยึดไว้ 2 ท่า มีความสามารถในการส่งออกน้ำมันรวมกัน 5.6 แสนบาร์เรลต่อวัน กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง ถือเป็นแรงกดดันต่อราคาน้ำมันดิบระยะสั้น สะท้อนจากตลาดล่วงหน้า WTI ส่งมอบเดือน ส.ค. กลับลดลงสู่ระดับ 104.48 เหรียญฯต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับ Brent และ ดูไบ ที่ราคาลดลงมาอยู่ที่ 109.95 และ 108.82 เหรียญฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวถือว่าราคาน้ำมันดิบยังคงเป็นขาขึ้น และ ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยจากต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 105.8 เหรียญฯต่อบาร์เรล ยังสูงกว่าสมมติฐานของ ASP ที่ราว 100 เหรียญฯ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสปรับเพิ่มประมาณการกำไรและ Fair Value ปี 2557 ได้จึงยังคงคำแนะนำซื้อหุ้น PTT (FV@B 360) และ PTTEP (FV@B 195)
แนะนำขายหุ้นที่ขึ้นมากและแพงสุด คือ SKR, VIBHA และ Switch ไป TNH
ดังที่กล่าวมาตลอดว่าในระดับดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้มี Expected P/E 15 เท่า ถือว่าอาจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่หุ้นไทยอาจจะมีเสน่ห์น้อยลง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการปรับฐาน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าราคาหุ้นในบางกลุ่มปรับตัวขึ้นมาจนอยู่ในระดับที่ P/E สูงมาก เช่น หุ้นโรงพยาบาล พบว่าค่าเฉลี่ยเกินกว่า 30 เท่า นำโดยหุ้น SKR, NEW, BGH, VIH, BCH, CHG, BH VIBHA, RAM รายละเอียดดังปรากฏในภาพข้างต้น เพราะแม้เป็นกลุ่มที่คาดว่า EPS Growth โดดเด่น โดยมีอัตราเติบโตมากกว่า 10% และมีประเด็นการควบรวมฯ เป็นปัจจัยหนุนราคาหุ้น (นอกจากเพื่อหวังเติบโตทางลัดแล้ว ยังเป็นการช่วยให้เกิด Economy of Scale) แต่การที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาแรงมากเช่น SKR เพิ่มขึ้น 61%, ตามมาด้วย VIBHA 59%, VIH 58%, NTV 51%, TNH 44%, BGH 40%, SVH 39%, BCH 36%, BH 34% และ CHG 33% จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ขายทำกำไร
ทั้งนี้ธุรกิจการแพทย์ ถือเป็นบริการที่เป็น 1 ในปัจจัย 4 ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองน้อย (ยกเว้น BH และ BGH ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติถึง 59% และ 30% ของรายได้รวม ตามลำดับ) แต่งวด 2Q57 ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูกาล (คนไข้จะน้อยกว่าปกติ) จึงทำให้ผลกำไรอ่อนตัวเมื่อเทียบกับงวด 1Q57 และยังได้รับผลกระทบจากการประกาศเคอร์ฟิวในช่วงที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าผลกำไรจะกลับโดดเด่นในงวด 3Q57 เนื่องจากผลของฤดูกาล ซึ่งมักจะมีผู้ป่วยกับโรคที่มากับฤดูฝน ได้แก่ โรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร โรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผล โรคระบบทางเดินหายใจ โรคติดต่อที่เกิดจากยุง และโรคเยื่อบุตาอักเสบ เป็นต้น
ปี 2557 คาดว่ากำไรสุทธิของหุ้น ร.พ. จะอยู่ที่ราว 7.3% ซึ่งส่วนใหญ่กำไรกว่า 60% มาจาก 2 แห่งหลัก BGH และ BH ซึ่งคาดว่ามีแนวโน้มเติบโตในปี 2557 ราว 8.7% และ 6.5% ตามลำดับ ขณะที่ ร.พ. ขนาดเล็กจะเติบโตมากกว่า (เช่น TNH, SKR, CHG) เติบโตราว 10% ทั้งนี้เพราะโรงพยาบาลขนาดใหญ่กระทบจาก ปัญหาการเมืองในกลุ่มที่ผ่านมา ทำให้ฝ่ายวิจัยคาดว่าในช่วงเวลาหลังจากนี้หุ้น ร.พ. น่าจะ underperform ตลาดหลังซึบซับข่าวดีไปหมดแล้ว โดยหากต้องการเลือกลงทุนแนะนำหุ้นที่มี P/E ต่ำสุด คือ TNH (17 เท่า), และ CMR (ถือหุ้นโดย VIBHA 83.75%) และอาจเป็นเป้าหมายถูก Takeover ได้
กระแสเก็งกำไรหุ้น ธ.พ. จะฟื้นตัวในงวด 2H57
แนวโน้มกำไรงวด 2Q57 ของกลุ่ม ธ.พ. คาดจะอ่อนตัวจากงวด 1Q57 หลักๆ เกิดจากผลของฤดูกาล (มีวันหยุดทำการยาวในช่วงเดือน เม.ย. และยังเป็นช่วงเปิดเทอม ทำให้กำลังซื้อรายย่อยลดลง) และนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น ทำให้สินเชื่อสุทธิชะลอตัวลง คือ สินเชื่อเช่าซื้อสุทธิ (สินเชื่อใหม่หักยอดชำระรายเดือน) โดยเฉพาะรถยนต์มือสอง ทำให้ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อสุทธิใน 2Q57 ยังทรงตัวจากงวด 1Q57 และเช่นเดียวกับ NIM ที่มีโอกาสอ่อนตัวลงเล็กน้อย ผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายเดือน มี.ค.57 กดดัน Yield ในงวด 2Q57 มากกว่า ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง ขณะที่การตั้งสำรองฯ ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ น่าจะยังทรงตัวสูงใกล้เคียงงวดที่ผ่านมา เช่น กรณีที่ KTB ตั้งสำรองหนี้ฯ (สูงกว่าระดับนโยบายเพื่อเพิ่ม NPL Coverage ratio) จากปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้นักวิเคราะห์กลุ่ม ธ.พ. ได้ทำการประเมินกำไรของ ธ.พ. 4 แห่ง คือ SCB, KBANK, KKP, TISCO โดยคาดว่ากำไรสุทธิในงวดนี้น่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 5% เฉพาะ SCB, KBANK ยกเว้น KKP, TISCO ที่กำไรสุทธิจากอ่อนตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าทุกแห่งจะมีแนวโน้มที่ฟื้นตัวในงวด 2H57 จากสินเชื่อที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นหลังการเมืองคลี่คลาย ทั้งนี้คาดว่า ตลอดปี 2557 คาดว่าจะสามารถทำกำไรได้ตามเป้าหมาย หรือดีกว่าเดิมเล็กน้อย เนื่องจากสมมติฐานเดิมยึดหลักความระมัดระวังมาก เช่น สินเชื่อสุทธิเติบโตเพียง 6.26% NIM 3.12% และรายได้ค่าธรรมเนียมฯ 11.0% จึงเลือกหุ้นที่เน้นการปล่อยสินเชื่อ SME/รายย่อย ซึ่งมีโอกาสฟื้นตัวได้มากกว่ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ หุ้นเด่นเลือกเป็น Top picks คือ SCB, KBANK และ KKP โดยหุ้นเหล่านี้มีค่า Expected P/E ต่ำ เพียง 10 เท่า และ มี PBV ราว 2 เท่า (ติดตามอ่านใน Equity Talk ในสัปดาห์นี้)
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล