- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 11 November 2015 17:48
- Hits: 943
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แม้ถูกกดดันจากข่าว FED อาจขึ้นดอกเบี้ย แต่เม็ดเงินซื้อ LTF และ CCI ฟื้นตัวครั้งแรกรอบ 10 เดือน สะท้อนเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น คาดช่วยหนุนดัชนีกลับมายืน 1,400 จุดได้ ยังชอบ PLANB(FV@B8), ASK(FV@B23), MAKRO(FV@B47) และ EASTW([email protected]) วันนี้เลือก KSL(FV@B6) เป็น Top pick ASPS ปรับเพิ่มประมาณการ&มูลค่าหุ้น ตามราคาน้ำตาลที่สูงกว่าคาด
จีนยังคง outperform ตลาดท่ามกลาง ความกังวล FED จะขึ้นดอกเบี้ย ธ.ค. นี้
เชื่อว่าตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงเคลื่อนไหวผันผวน ขยับปรับขึ้นได้ไม่มากนัก เนื่องจากยังคงให้น้ำหนักต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ในการประชุมวันที่ 15-16 ธ.ค. นี้ หลังจากประธาน Fed เจเน็ต เยลเลน และประธาน Fed สาขาต่างๆ ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจสหรัฐมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดแรงงาน ส่งผลให้ Dollar Index และ Yield ของพันธบัตรสหรัฐดีดตัวขึ้นแรงในช่วง 2 สัปดาห์ที่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามในมุมมองของฝ่ายวิจัยยังเห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ยฯ ในการประชุมรอบนี้ยังมีน้ำหนักน้อย ด้วยเหตุผลว่าเหมือนเช่นที่กล่าวมาก่อนหน้า คือ เศรษฐกิจโลกยังมีปัญหา ทั้งในยุโรปและจีน
นอกจากนี้ Dollar Index ชะลอการแข็งค่ามากว่า 3 วันทำการแล้ว ล่าสุดอยู่ที่ 99.0869 เช่นเดียวกับเงินยูโรเทียบดอลลาร์ที่ชะลอการอ่อนค่าลงมาเช่นกัน สะท้อนความคาดหวังต่อการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปแล้ว นอกจากนี้ หากการรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ บ่งบอกถึงภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวล่าช้าหรือมีความขัดแย้งกัน อาจจะทำให้ตลาดกลับมาเปลี่ยนมุมมองใหม่ โดยอาจจะเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไปเป็นต้นปี 2559 ก็เป็นได้
ล่าสุด จีน ยังคงส่งสัญญาณถึงปัญหาเศรษฐกิจ หลังจากวานนี้มีการายงานอัตราเงินเฟ้อของจีน เดือน ต.ค. ที่ 1.3%yoy เทียบกับเดือนก่อนที่ 1.6%yoy (นับเป็นการลดลง 3 เดือนติดต่อกัน) ปัจจัยหลักจากการปรับตัวลงของราคาอาหารสด และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทิศทางเดียวกับ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI Index) ยังคงติดลบที่ 5.9%yoy (คงที่ติดต่อกัน 3 เดือน) โดยหดตัวติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 44 ภายหลังจากการรายงานตัวเลขการส่งออกและนำเข้าเดือน ต.ค. ออกมาหดตัว 6.9% และ 18.8% เพิ่มความจำเป็นให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยและการลดเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง แม้ว่าจะได้ทำการลดดอกเบี้ยไปแล้ว 6 ครั้งนับตั้งแต่ปลายปี 2557 รวม 1.65% และปรับลด RRR 4 ครั้งรวม 2.5% อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อที่ออกมาลดลงนั้นทำให้ช่องว่างระหว่างอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย (ดอกเบี้ยนโยบาย 4.35%) กว้างขึ้น หนุนความเป็นไปได้ที่ธนาคาการกลางจีนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม ทั้งนี้ตลาดหุ้นจีน ทั้งเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง Valuation ยังต่ำ ค่า Current PER อยู่ที่19.7 และ 9.7 เท่าตามลำดับ (Forward PER ที่ 15.58 และ 11.24 เท่า) ล่าสุดตลาด SHCOMP Index ปิดตลาด 3,640.48 จุด ซึ่งยังเห็น upside 11.28% ขึ้นไปแตะแนวต้านแรกที่ 4,051.15 จุด
ปัจจัยภายนอกยังกดดันให้ต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาค
ความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้ วานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคทั้ง 5 ประเทศ โดยมียอดขายสุทธิรวมราว 481 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) และหากพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า ไต้หวันถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 347 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) รองลงมาคือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 54 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) ตามมาด้วยอินโดนีเซียถูกขายสุทธิราว 37 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 22 ล้านเหรียญ และไทยต่างชาติขายสุทธิราว 22 ล้านเหรียญ หรือ 776 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ต่างกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 1,111 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 8,419 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 3,018 ล้านบาท ในส่วนของค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 35.89 บาท/ดอลลาร์
กลยุทธ์การลงทุนเน้นรายหุ้นที่มีแนวโน้มธุรกิจสดใส EASTW, KSL, JWD
แม้ปัญหาภายนอกจากจะยังกดดันตลาดอยู่ แต่คาดว่ามาตรกากรระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มเห็นผล สะท้อนจาก CCI ที่ฟื้นตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน และในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีมักจะมีเงินจากกองทุน LTF เข้ามาหนุนตลาดราว 3-4 หมื่นล้านบาท ทำให้เชื่อว่า SET Index มีโอกาสฟื้นกลับมายืนเหนือ 1400 จุดได้อีกครั้ง กลยุทธ์การลงทุนยังเลือกเน้นเป็นรายหุ้น ที่มีข้อมูลพื้นฐานสนับสนุน ได้แก่ KSL และ EASTW ซึ่งทั้ง 2 บริษัทน่าจะได้ประโยชน์ในสถานการณ์ภัยแล้ง ขณะที่ JWD น่าจะได้ประโยชน์จากการเติบโตของธุรกิจคลังสินค้า และ ขนส่ง เป็นต้น ซึ่งจะกล่าวในหัวข้อถัดไป
ประเด็นที่อยากให้น้ำหนักไปถึงปีหน้า คือ เรื่องของปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปี 2558 อันเนื่องมาจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ( โดยสถิติในอดีตพบว่าจะเกิดขึ้นทุกๆ 4-5 ปี ในรอบ 115 ปีที่ผ่านมา (ช่วงปี 2443-2558) ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักในทวีปอเมริกาและอเมริกาใต้ ตรงกันข้าม ปริมาณน้ำฝนในออสเตรเลีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้กลับมีแนวโน้มลดลง โดยปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในปี 2552-2553 ปรากฎการณ์นี้ทำให้ปริมาณฝนตกเฉลี่ยในปีนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 30ปีที่ผ่านมา และ คาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศไทยน่าจะมีต่อเนื่องในปี 2559 ทั้งนี้เพราะหากพิจารณาพื้นที่ภาคกลางซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญ พบว่า ระดับน้ำใน 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยฯ และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีระดับน้ำที่ใช้ได้รวมกันราว 4.23 พันล้านลบ.ม. (10 พ.ย. 58) ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปีอื่นๆ มาก เนื่องจากปีนี้ปริมาณฝนตกล่าช้า น้อยกว่าปกติ ขณะที่ ความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งปีหน้า (ม.ค. – มิ.ย.) ในอดีตที่ผ่านมา 8 ปีนั้น จะอยู่ที่ราว 5 – 7 พันล้านลบ.ม. ซึ่งระดับน้ำที่มีปัจจุบัน ถือว่ายังไม่เพียงพอ ซึ่งผลกระทบที่ตามมาจะทำให้น้ำไม่เพียงพอต่อภาคการเกษตร และ อาจจะทำให้ผลผลิตเกษตรลดลง ทั้งนี้จากการเปิดเผยของ สศก. เผยเศรษฐกิจการเกษตร ใน 3Q58 (ก.ค. – ก.ย.58) พบว่าหดตัว -4.9%YoY ( เมื่อเทียบกับปี 2557 ซึ่งเกิดภาวะภัยแล้งเช่นกัน) ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องจาก 1H58 ขณะเดียวกันก็อาจจะกระทบต่อปริมาณน้ำใช้อุปโภคบริโภคไม่เพียงพอเช่นกัน (การใช้น้ำธรรมชาติ ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง และ แม่น้ำบางปะกง เป็นต้น)
EASTW([email protected]) เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำดิบในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ปัจจุบันมีแหล่งน้ำ 6 แหล่ง โดย อ่างเก็บน้ำหลักแหล่ง ล้วนมีปริมาณน้ำเกือบเต็มความจุทุกอ่างฯ (อ่างดอกกราย 106% ของความจุ, หนองปลาไหล 97%, ประแสร์ 113%, คลองใหญ่ 105% ยกเว้นอีก 2 แหล่ง ปริมาณความจุน้อย อ่างบางพระ 37%, อ่างหนองค้อ 32%) แต่อย่างไรก็ตาม ยังทำสัญญาใช้น้ำกับแหล่งน้ำเอกชน “ชลกิจสากล” ระยะเวลา 30 ปี ปีละ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งโดยรวมจะทำให้ EASTW มีปริมาณน้ำใช้ได้รวม 420 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เทียบกับความต้องการใช้ปีละ 302 ล้านลูกบาศก์ต่อปี (รวมปริมาณน้ำที่ขายให้การปะปาพัทยาแล้ว) นอกจากนี้ในปลายปี 2559 จะมีแหล่งน้ำใหม่ที่คาดว่าจะสร้างเสร็จปลายปี 2559 อีก 47 ล้านลูกบาศก์ ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำใช้ได้ทั้งหมด 467 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งยังมีปริมาณน้ำเกินความต้องการราว 30% (ภายใต้สมมติฐานความต้องการใช้น้ำเติบโตเฉลี่ยปีละ 2-3%) จึงทำให้ EASTW สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีปัญหาภัยแล้งก็ตาม และจะเห็นผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากงวด 3Q58 ทำกำไรสุทธิสูงสุดของปี และงวด 4Q58 คาดยังเพิ่มขึ้นราว 4% yoy อยู่ที่ 288 ล้านบาท ทำให้ตลอดปี 2558 จะเติบโตราว 19% แม้จะชะลอตัวเหลือ 4% ในปี 2559 โดยใช้สมมติฐานที่ระมัดระวัง โดยกำหนดให้ปริมาณขายน้ำเพิ่ม 4% ขณะที่ราคาขายคงที่ แต่มีโอกาสปรับขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา คาดว่าจะสามารถเพิ่มได้ราว 5% ต่อปี ซึ่งจะปรับประมาณการกำไรเมื่อได้รับรู้มูลที่ชัดเจน ปัจจุบันราคาตลาด EASTW (FV@ 14.50) มี PER ปี 59 อยู่ที่ 12.7 เท่า (ต่ำกว่า TTW ซึ่งมี PER ปี 59 ที่ 15.5 เท่า) และยังให้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผ 4.1% และ มี Upside ราว 25%
อีกบริษัทหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ภัยแล้งก็คือ หุ้น KSL (FV@B 6) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย ส่งออกน้ำตาลทราย และ ต่อยอดทำธุรกิจเอทานอล ปัญหาภัยแล้งจากปรากฏเอลนีโญ ทำให้ปริมาณผลผลิตน้ำตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงนับจากนี้และต่อเนื่องในปีนี้ สะท้อนจาก ราคาน้ำตาลโลกล่าสุดขยับขึ้นไปอยู่ที่ 14.7 เซ็นต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นกว่า 33.5% นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 58 และ จะทำให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลโลกน้อยกว่าความต้องการเป็นครั้งแรกในปีผลผลิต 2558/59 ส่งผลบวกโดยตรงต่อ KSL ทำให้โดยฝ่ายวิจัยได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2558/59 ขึ้น 8.6% จากเดิม ตามการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำตาลโลก ส่วนปริมาณขายเอทานอลก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน บวกกับราคาเอทานอลที่มีการปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้คาดการณ์ผลการดำเนินงานปี 2558/59 เติบโตราว 11% พร้อมกับเพิ่ม Fair Value จากเดิม 26%
ส่วนอีกธุรกิจที่อยากจะเน้นคือ ธุรกิจ เกี่ยวกับโกดัง และ โลจิสติกส์ ซึ่งถือว่ามีศักยภาพมาก คือ JWD (FV@B 22.11) เป็นผู้ให้บริการ ธุรกิจห้องเย็น ธุรกิจรับฝากรถยนต์ ธุรกิจขนส่งสินค้า และธุรกิจรับฝากสินค้าอันตราย นับเป็นธุรกิจที่มีผู้ประกอบการน้อยราย ทำให้แนวโน้มการดำเนินงานสดใสมาก สะท้อนจากงวด 3Q58 พบว่ากำไรเติบโต 18%qoq ปัจจุบันยังเข้าไปแผนขยายธุรกิจไปยังเพื่อนบ้าน ลาว กัมพูชา และพม่า คาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ในปลายปีนี้ ซึ่งประเทศเหล่านี้น่าจะเป็นฐานในการขยายธุรกิจหลังการเปิด AEC ในอนาคต นอกจากนี้ยังเตรียมขยายธุรกิจในต่างประเทศ ผ่าน M&A โดยจะอาศัยแหล่งเงินทุนจากการขายสินทรัพย์เข้า REIT ในปี 2559 ซึ่งคาดว่าจะได้เงินราว 2 พันล้านบาท ซึ่งนักวิเคราะห์ ASPS ได้รวมกำไรจากการขายกอง REIT ประมาณ 25% ไว้ในประมาณการกำไรปี 2559 จึงทำให้มีการปรับเพิ่มประมาณการกำไรขึ้นจากเดิม 85% พร้อมกับปรับเพิ่ม Fair Value ปี 2559 ขึ้นจากเดิม 37%
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์