- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 10 November 2015 17:42
- Hits: 1244
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET ไม่สามารถต้านการปรับฐานตลาดหุ้นโลก จากความกังวลว่าสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. ทำให้คาดว่าการทำงานของ LTF และความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว น่าจะมีส่วนหนุนให้ SET สามารถยืนเหนือ 1,400 จุดได้ ยังชอบ PLANB(FV@B8) ซึ่งมีโอกาสเข้า SET100 สูง Top picks วันนี้ ASK(FV@B23) และ MAKRO(FV@B47)
OECD กังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และญี่ปุ่น
วานนี้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้ปรับลด GDP Growth โลกลง โดยปี2558 ลดเหลือ 2.9% (เทียบกับครั้งก่อนหน้า เดือน ก.ย. คาดที่ 3%) และปี 2559 เหลือ 3.3% (ครั้งก่อนหน้า คาดที่ 3.6%) ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำ เมื่อเทียบกับ IMF ที่คาดไว้ที่ 3.1 % ปี 2558 และ 3.6% ปี 2559 โดยสหรัฐมีการปรับลดปี 2559 เหลือ 2.5% (ครั้งก่อนหน้า คาดที่ 2.6 %) ส่วนปี 2558 ยังคาดไว้เท่าเดิม 2.4% และ กลุ่มยูโรโซน เหลือ 1.5% ปี 2558 (ครั้งก่อนหน้า คาดที่ 1.6%) และ 1.8% ปี 2559 (ครั้งก่อนหน้า คาดที่ 1.9%) และญี่ปุ่นปรับลดปี 2559 จาก 1.2% เหลือ 1% โดยยังคงปี 2558 ที่ 0.6%
ตรงกันข้ามประเทศอังกฤษปรับขึ้นปี 2559 เป็น 2.4% (ครั้งก่อนหน้า คาดที่ 2.3%) แต่ยังคงปี 2558 ที่ 2.4% และประเทศจีน ปรับเพิ่มในปี2558 เป็น 6.8% (ครั้งก่อนหน้า ที่ 6.7%) โดยยังคงปี 2559 ที่ 6.5%
โดยสรุปการปรับลดมุมมองเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางโลกบางแห่งจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน และ ยูโรโซน ซึ่งล่าสุดพบว่า ค่าเงินยูโรที่ปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่อง นับจากระดับสูงสุด เดือน ส.ค. (หรืออ่อนค่าราว 7.4% นับจากที่ตลาดคาดการณ์ FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ) จึงทำให้มีการคาดการณ์ธนาคารกลางยุโรป จะกลับมา ขยายระยะเวลาและเพิ่มวงเงินการทำ QE เพิ่มเติม และอาจจะมีการปรับลดเงินฝากลงอีก แม้ว่าปัจจุบันจะอยู่ที่ติดลบ 0.2% ก็ตาม ซึ่งติดตามในการประชุมในวันที่ 3 ธ.ค. นี้ ซึ่งถือเป็นหนุนที่ยังคาดหวังได้ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่สดใสหนัก
Dollar Index ชะลอแข็งค่า สะท้อนความคาดหวังการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว
ดังที่กล่าวไปแล้ววานนี้ว่า ในสัปดาห์นี้ ตลาดจะให้น้ำหนัก ต่อ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ ธนาคารกลางสหรัฐ ในการประชุม 15-16 ธ.ค. นี้ หลังจากดัชนีเศรษฐกิจมีสัญญานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดแรงงาน ล่าสุดอัตราการว่างงานลดลงเหลือ 5% เป็นไปตามเป้าหมาย (ยอดการจ้างงานนอกภาคการเกษตร สิ้นสุดเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดคาดมาก โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2,71 แสนราย เทียบกับเดือนก่อนหน้า 1.42 แสนราย) และ ผลการสำรวจ Fed Fund Rate ของ Bloombergs ล่าสุดสรุปว่า โอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยภายในเดือน ธ.ค. นี้สูงขึ้น (จากการสำรวจครั้งก่อนที่เพียง 56% เป็น 68%)
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ ASPS ยังเห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ย ฯ ในการประชุมรอบนี้ยังมีน้ำหนักน้อย ด้วยเหตุผลที่ว่า เศรษฐกิจโลกยังมีปัญหาในบางพื้นที่โดยเฉพาะยุโรปและจีน จากที่กล่าวข้างต้น ประกอบกับ สหรัฐยังคงติดกับดัก เงินเฟ้อ ต่ำ ล่าสุด -0.1% ซึ่งยังห่างไกลเป้าหมายที่ 2% อีกมาก และหากพิจารณาการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ในอดีตพบว่าอัตราเงินเฟ้อมักอยู่ในระดับสูง จึงเชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยฯ น่าจะเกิดขึ้นในต้นปี 2559 ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงอังกฤษที่คาดว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จนกว่าสหรัฐจะนำร่องไปก่อน เนื่องจากอังกฤษ เผชิญกับอัตราเงินเฟ้อติดลบ
และหากพิจารณา Dollar Index วานนี้พบว่าได้ชะลอการแข็งค่า หลังจาก แข็งค่าราว 1.36% ตลอด 1 สุปดาห์ที่ผ่านมา (จากจุดที่อ่อนค่าสุดเมื่อ กลางเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ระดับ 99.29) และลาสุดอยู่ที่ 98.968 ซึ่งอาจจะเป็นการสะท้อนความคาดหวังต่อการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ไปแล้ว ดังนั้นในช่วงนี้จนถึงช่วงประชุม FOMC หากการรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ บ่งบอกถึงภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวล่าช้า หรือมีความขัดแย้งกัน อาจจะทำให้ ตลาดกลับมาเปลี่ยนมุมมองใหม่ โดยอาจจะเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไป สะท้อนได้จาก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่ ได้ชะลอการลดลง เช่น ราคาทองคำ เริ่มยืนที่ 1,092 เหรียญ ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงจุดต่ำสุดเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบ ยังทรงตัว 43-44 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของปีนี้ จึงคาดว่าแนวโน้มการปรับลดจากนี้เริ่มจำกัด
กังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของ FED กดดันต่างชาติขายหุ้นภูมิภาค
ตลาดหุ้นยังคงให้น้ำหนักกับการที่ Fed มีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยใน ธ.ค. นี้ ส่งผลให้วานนี้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกปรับตัวลดลง ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 137 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) แต่ยังคงซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ซื้อสุทธิราว 6 ล้านเหรียญ และ ฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิเล็กน้อย 1 ล้านเหรียญ ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศ ยังคงขายสุทธิ คือ ไต้หวันถูกขายสุทธิสูงสุด 74 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 42 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) และไทยสลับมาขายสุทธิราว 29 ล้านเหรียญ หรือ 1,024 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 231 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ พบว่านักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 11,593 ล้านบาท สวนทางกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 1,812 ล้านบาท ส่วนของค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดยล่าสุดอยู่ที่ 35.93 บาท/ดอลลาร์
กลยุทธ์การลงทุน เน้นหุ้น Domestic Play : PLANB, ASK, MAKRO
ภายใต้แรงกดดันจาดตลาดหุ้นทั่วโลก คาดว่าตลาดหุ้นในประเทศไทย ยังได้รับแรงหนุน จากปัจจัยชี้นำเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น หลังจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือน ต.ค. ฟื้นตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ซึ่งสะท้อนภาวะเศรษฐกิจต่ำสุด และน่าจะหนุนความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค จากสถิติในอดีต พบว่ายอดขายสาขาเดิมมีแนวโน้มจะกระเตื้องขึ้นทันที่ CCI ฟื้นตัว ซึ่งน่าจะหนุนผู้ประกอบการหลายกลุ่ม ที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายในประเทศ โดยเฉพาะ กลุ่มลิสซิ่ง และ บันเทิง ซึ่งได้กล่าวไปแล้วเมื่อวานนี้ และ ยังมีอีกหลายกลุ่ม ซึ่งจะกล่าวถึงในวันนี้คือ ธุรกิจค้าปลีก และ ยานยนต์ เป็นต้น
ธุรกิจค้าปลีก หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค(CCI) กับ ยอดขายสาขาเดิมของกลุ่ม (SSSG) พบว่าจะมีความสัมพันธ์ในเชิงบวก (จากสถิติในอดีตจะเกิด 3 จาก 5 ครั้ง) กล่าวคือ หลัง CCI ฟื้นตัวราว 2-4 เดือน SSSG จะฟื้นตัวตาม นั่นหมายความว่า ยอดขายสาขาเดิมของธุรกิจค้าปลีกน่าจะเริ่มกระเตื้องขึ้นตั้งแต่งวด 4Q58 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามขึ้นกับ รูปแบบ และ นโยบายการบริหารงานของผู้ประกอบการแต่ละราย อย่างไรก็ตามเป็นการสะท้อนว่า กลุ่มธุรกิจค้าปลีกเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ผ่านพ้นจุดต่ำสุด หลังจากที่รายงบงวด 3Q58 ส่วนใหญ่ ผลกำไรได้อ่อนตัวจากงวดก่อนหน้า เนื่องจากยอดขายสาขาเดิมที่ชะลอตัว ได้แก่ HMRPO, MAKRO, BIGC เป็นต้น ทั้งนี้ ยกเว้นบางบริษัท ที่มีกลยุทธ์ในการวางตำแหน่งเป็นผู้นำตลาดค้าส่ง ซึ่งมีการแข่งขันที่น้อยกว่าร้านค้าประเภท Modern trade และ ความสามารถในการควบคุมต้นทุนดำเนินงาน ทำให้ผลกำไรในงวด 3Q58 โดดเด่นกว่าอุตสาหกรรม และ น่าจะมีแนวโน้มสูงสุดในงวด 4Q58 และ น่าจะเติบโต 21% ในปี 2559 โดยคาดว่า ค่า PER มีแนวโน้มลดลง จาก 32.66 เท่าปีนี้ เหลือ 27 เท่าในปีหน้า นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเพิ่ม Free Flaot ของหุ้นจากปัจจุบัน % เป็น 15% ขั้นต่ำที่ตลาดกำหนดสำหรับบริษัทจดทะเบียน โดยคาดว่าจะนำหุ้น MAKRO ที่ CPALL ถืออยู่ ออกมาขายในตลาดฯ โดยคาดว่าราคาตลาดต้องไม่ต่ำกว่าต้นทุนของ CPALL เฉลี่ย 41-42 บาทต่อหุ้น
กลุ่มยานยนต์: ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค. ที่ฟื้นตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน เชื่อว่าจะหนุนให้การจับจ่ายใช้สอยรวมถึงความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ปรับตัวสูงขึ้น โดยหากเปรียบเทียบกับช่วงเดือน ต.ค. 2544 ที่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจคล้ายกัน พบว่าทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและยอดขายรถยนต์ในประเทศได้ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเชื่อว่าเมื่อประกอบกับปัจจัยบวกอื่นๆ อาทิ การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในปีหน้า ซึ่งจะช่วยเร่งให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อรถยนต์เร็วขึ้นก่อนรถยนต์ส่วนใหญ่ปรับราคาสูงขึ้นในปีหน้า, การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ, และการจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โปปลายปี จะหนุนให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศฟื้นตัวขึ้นได้
โดยฝ่ายวิจัยเลือก SAT (FV@B20) เป็น Top pick ของกลุ่ม จากฐานลูกค้าหลักได้แก่ Toyota, Mitsubishi, และ Kubota ผู้ผลิตรถกระบะและรถ Tractor รายใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคระดับล่างที่ได้รับประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ บวกกับคาดกำไร 3Q58 ฟื้นตัวชัดเจน 176% qoq และแนวโน้มผลประกอบการจะโดดเด่นกว่ากลุ่มฯตั้งแต่ 4Q58 เป็นต้นไปหลังจากได้รับออเดอร์ผลิตชิ้นส่วนรถบรรทุกขนาดใหญ่ (Big Truck) และงานขึ้นรูปเข้ามาเพิ่ม
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์