- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 03 November 2015 17:27
- Hits: 1339
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันนี้คาดว่า SET จะกลับไปทดสอบแนวต้าน 1,415-1,420 จุด ขณะที่กลยุทธ์ยังเน้นถือหุ้นที่มีกำไรเด่นใน 2H58 EASTW(FV@B14) และ SYNTEC([email protected]) หรือได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐ เลือก CK([email protected]) และ PLANB(FV@B8) ซึ่งเป็น Growth Stock เป็น Top picks
เงินเฟ้อดีกว่าคาด แต่ต่ำกว่าเป้าฯ การใช้นโยบายดอกเบี้ยฯ ต่ำยังจำเป็น
วานนี้กระทรวงพาณิชย์ รายงานอัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ (-0.94%yoy) โดยติดลบ 0.77%yoy ปรับตัวดีขึ้นมากเทียบกับในเดือนก่อนหน้าซึ่ง ติดลบ 1.07%YoY แต่ยังเป็นการติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ทั้งนี้เหตุผลหลักๆ ที่ยังกดดันเงินเฟ้อติดลบ เกิดจากราคาอาหารสำเร็จรูปมีราคาสูงขึ้น ตามการปรับขึ้นของราคาผักสด ผลไม้สด (อยู่ในช่วงเทศกาลกินเจ) เพิ่มขึ้น 5.35% เทียบกับเดือน ก.ย. ที่เพิ่มขึ้นราว 4.34% ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศยังชะลอตัว (ทั้งน้ำมันดีเซล และแก๊สโซฮอล์ 91) โดย ติดลบ 14.6% ดีกว่าที่ติดลบเกือบ 16.8% ในเดือน ก.ย. 2558 และตลอด 10 เดือนของปี 2558 (YTD) พบว่าเงินเฟ้อยังคงติดลบ 0.89% ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ฝ่ายวิจัยประมาณการอัตราเงินเฟ้อ ตลอดทั้งปีไว้ที่ติดลบ 0.83% (ภายใต้สมมติฐาน ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 53 เหรียญฯต่อบาร์เรล) ดังนั้น ความจำเป็นในการใช้นโยบายทางการเงินต่อไปยังมีความสำคัญอยู่ สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะถึงในวันพรุ่งนี้ 4 พ.ย. ฝ่ายวิจัยคาดว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 1.5% ตามเดิม และคาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจนถึงการประชุมในรอบสุดท้ายของปีนี้ (16 ธ.ค.)
เงินหยวนกลับมาอ่อนค่า หลัง PMI จีนยังหดตัว
วานนี้ จีน ได้มีการประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต เดือน ต.ค.จัดทำโดย Markit และ Caixin ซึ่งเป็นการสำรวจบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง ปรากฏว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 48.3 ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 47.6 (หลังจากหดตัวติดต่อกัน 8 เดือน) แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งเป็นสัญญาณแสดงภาวะหดตัวของภาคการผลิต บวกกับตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ 7% ในปี 2558 ส่งผลให้ค่าเงินหยวนกลับมาแกว่งตัวอ่อนค่าอีกครั้งราว 0.32% จากวันก่อนหน้า อยู่ที่ 6.3374 หยวนต่อดอลลาร์ หรือกลับมาอ่อนค่าราว 0.35% (หลังจากที่วันศุกร์ที่ผ่านมา PBOC เพิ่มอัตราอ้างอิงเงินหยวนกับเงินดอลลาร์ขึ้นอีก 0.54% ทำให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าเป็น 6.3154 จาก 6.3495 หยวนต่อดอลลาร์ โดยจีนหวังจะผลักดันเงินหยวนให้เข้าสู่ตะกร้าเงินของ IMF) ทั้งนี้ เงินหยวนอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค อาทิ ค่าเงินเปโซ อ่อนค่า 0.05% ริงกิต อ่อนค่า 0.12% รูปี อ่อนค่า 0.32% สวนทางกับเงินบาทกับรูเปียะห์ แข็งค่าขึ้น 0.065% และ 0.620% ตามลำดับ
ในฝั่งของสหรัฐ วานนี้มีการรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในภาคการผลิตที่ยังมีความขัดแย้งกัน สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของมาร์กิต เดือน ต.ค. อยู่ที่ระดับ 54.1 สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ระดับ 54 (เป็นการขยายตัวมากที่สุดในรอบ 6 เดือน) แต่สวนทางกับ ดัชนี PMI ภาคการผลิต ของสถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) อยู่ที่ระดับ 50.1 ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.2 (ขยายตัว ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค.2013) ทำให้ฝ่ายวิจัยยังเชื่อว่า โอกาสที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยเร็วสุดคือต้นปี2559
ราคาน้ำตาลโลกปรับขึ้นแรง เป็นผลดีต่อ KSL
ราคาน้ำตาลโลกยังอยู่ในขาขึ้น ล่าสุดอยู่ที่ 15.11 เซ็นต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้น 4.1% จากวานนี้ และปรับเพิ่มขึ้น 14.0% นับตั้งแต่ต้นเดือนต.ค. 58 หลักๆ ยังคงเป็นความกังวลเกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยตลาดคาดการณ์ส่วนเกินน้ำตาลในปี 2558/59 จะเป็นขาดดุลครั้งแรกในรอบ 5 ปี เนื่องจากแนวโน้มผลผลิตน้ำตาลในประเทศบราซิล อินเดียและสหภาพยุโรป มีแนวโน้มออกสู่ตลาดต่ำกว่าที่คาดไว้ถึง 8 ล้านตัน จากปรากฏการณ์เอลนิโญข้างต้น และปัญหาการเมืองในบางประเทศ ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยกำหนดราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยปี 2558/59 ไว้อย่างระมัดระวังที่ 14 เซ็นต์/ปอนด์ ยังต่ำกว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกปัจจุบันที่ 15.11 เซ็นต์/ปอนด์ จึงถือเป็น upside ต่อประมาณการปี 2558/59
ถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อ KSL ที่มีรายได้จากธุรกิจน้ำตาลราว 70% โดยฝ่ายวิจัยยังคงคำแนะนำซื้อ กำหนด Fair value ปี 2558/59 เท่ากับ 4.75 บาท อิงวิธี SOTP
ยังขาดปัจจัยหนุนระยะสั้น แต่คาดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจยังหนุนเศรษฐกิจและตลาดหุ้น
ตลาดหุ้นไทยงานนี้ปรับขึ้นได้กว่า 18 จุด หรือ 1.3% แต่มูลค่าการซื้อขายไม่มากนัก จึงทำให้การปรับขึ้นของ SET ดูยังขาดน้ำหนักไป เชื่อว่าในระยะสั้นตลาดยังขาดปัจจัยหนุน โดยยังคงได้รับแรงกดดันจากการรายงานงบการเงินงวด 3Q58 ซึ่งขณะนี้รายงานงบมาแล้วกว่า 42 บริษัท คิดเป็น 30% ของมูลค่าตลาดรวม(คำนวนจากฐานจำนวนบริษัท) โดยหุ้นขนาดใหญ่ในภาคการผลิต (real sector) ได้รายงานงบไปบ้างแล้ว เช่น PTTEP, SCC กำไรออกมาชะลอตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา และบางบริษัทมีการบันทึกรายการพิเศษในฝั่งค่าใช้จ่ายเข้ามาในระดับสูง เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มพลังงาน และสื่อสาร ส่วนบริษัทที่ยังไม่ประกาศแต่น่าจะมีผลประกอบการที่ขาดทุนในระดับสูงได้แก่ THAI และ SSI สถานการณ์ดังกล่าวน่าจะทำให้ฐานกำไรสุทธิปี 2558 ต่ำกว่าประมาณการที่ฝ่ายวิจัยทำไว้ ทำให้ต้องมีการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2558 ลงมา โดยคาดว่า EPS น่าจะปรับลดลงมากวก่า 10% ซึ่งจะสรุปตัวเลขที่ชัดเจนหลังผ่านช่วงประกาศงบการเงิน 3Q58
สำหรับ วันนี้ตลาดน่าจะมุ่งไปที่การประชุม ครม. ที่คาดว่าน่าจะมีการพิจารณาการใช้นโยบายเร่งด่วน (Fast Track) เพื่อลดขั้นตอนของกระบวนที่ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการภาครัฐ (PPP) ซึ่งหากจำเป็นอาจจะใช้อำนาจมาตรา 44 ของนายกฯ เพื่อเร่งรัดกระบวนการ ในแต่ละขั้นต่อ ไม่ว่าจะเป็น การที่ต้องผ่านการพิจารณาของหลายหน่วยงาน หรือ การจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ประเด็นดังกล่าวน่าจะยังทำให้กลุ่มรับเหมาฯ รวมถึงกลุ่มวัสดุก่อสร้างยังได้ Sentiment เชิงบวก และน่าจะกลับมาเก็งกำไรอีกครั้ง โดยเฉพาะบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ได้แก่ ITD, CK, STEC, UNIQ ที่มีความพร้อมมากที่สุด เนื่องจากมีคุณสมบัติครบถ้วนที่เคยรับงานก่อสร้างขนาดใหญ่มาก่อน และได้เปรียบในเรื่องของฐานเงินทุน โดยฝ่ายวิจัยยังชื่นชอบ CK(FV@B33) เนื่องจากมีความโดดเด่นเหนือผู้รับเหมารายอื่นๆ ส่วนทางด้านผู้รับเหมารายเล็ก ยังชอบ SYNTEC([email protected]) มากที่สุด จากแนวโน้มผลประกอบการโดดเด่นในงวด 2H58 รวมทั้ง Backlog จำนวนมาก และ Hidden Asset และประเด็นบวกเก็งกำไรในอนาคต รวมทั้งหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ที่แนวโน้มผลประกอบการงวด 2H58 จะเติบโตได้อย่างโดดเด่น ต่อเนื่องปี 2559 เช่น BJCHI, PLANB, MCS ส่วนนักลงทุนที่เน้นถือยาว SCC ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ
ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค
วานนี้ นักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 233 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 4 วัน) โดยเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 3 ประเทศ คือ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 135 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) รองลงมาคือ เกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิราว 125 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 4 วัน) และฟิลิปปินส์ถูกซื้อสุทธิราว 1 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ส่วนที่เหลืออีก 2 ประเทศต่างชาติยังคงขายสุทธิ คือ อินโดนีเซียที่ถูกขายสุทธิราว 20 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) และไทยต่างชาติขายสุทธิราว 8 ล้านเหรียญ หรือ 294 ล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกัน 5 วัน โดยมียอดขายสุทธิสะสมรวม 8.2 พันล้านบาท) ต่างกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 1,568 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 2,243 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 1,407 ล้านบาท ในส่วนของค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 35.59 บาท/ดอลลาร์
นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์ : ภราดร เตียรณปราโมทย์