- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 15 October 2015 16:04
- Hits: 868
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET Index แกว่งตัวโดยมีแนวรับ 1,390-1,400 จุด กดดันจากปัจจัยภายนอก ขณะที่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐค่อย ๆ มีน้ำหนักมากขึ้น กลยุทธ์ให้สลับมาเลือกรายหุ้นที่มีผลกำไรเด่นใน 2H58 โดยเฉพาะที่อิงภาคท่องเที่ยว ซึ่งกำลังเข้าสู่ High season เลือก BA([email protected]) เป็น Top pick
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำยังจำเป็น
จากการรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังคงส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างล่าช้า โดยล่าสุดพบว่าการบริโภคภาคครัวเรือนชะลอตัวลง สะท้อนจากยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. เพิ่มขึ้น 0.1% yoy ต่ำกว่าที่ตลาดคาดและต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 0.2% ตามมาด้วย ยอดการขอสินเชื่อบ้าน ติดลบ 27.6%yoy เทียบกับก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 25.5% สอดคล้องกับฝั่งผู้ผลิตที่ส่งสัญญาณชะลอตัว สะท้อนจากดัชนีราคาผู้ผลิต ออกมาติดลบ 1.1% มากกว่าเดือนก่อนหน้า ที่ติดลบ 0.8% ด้วยเหตุนี้ ทำให้ตลาดประเมินว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ภายในปีนี้เป็นไปได้ยาก (เหลือการประชุม อีก 2 ครั้งในปีนี้คือ 27-28 ต.ค. และ 15-16 ธ.ค.) และน่าจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วสุดคือต้นปีหน้า
เช่นเดียวกับอังกฤษ ที่คาดว่าจะเลื่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นปีหน้าเช่นเดียวกัน เนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภคและผู้ผลิตยังคงชะลอตัวกล่าวคือ เงินเฟ้อ ล่าสุดติดลบ 0.1% และเช่นเดียวกับดัชนีราคาผู้ผลิต ติดลบ 1.8% แม้ภาคแรงงานยังมีพัฒนาการในเชิงบวก คือ อัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. ลดลงมาที่ 5.4% เทียบกับ 5.5% เดือน ก.ค. ก็ตาม
และจีน ล่าสุดพบว่าเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. อยู่ที่ 1.6% yoy เทียบกับ 2% yoy ในเดือนก่อนหน้า และเป็นการปรับลดลงครั้งแรกหลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 4 สัปดาห์ และยังคงต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ 1.8% ในทิศทางเดียวกับดัชนีราคาผู้ผลิตที่ล่าสุด ติดลบ 5.9% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 43 อย่างไรก็ตามติดตามการรายงาน GDP Growth งวด 3Q58 ซึ่งตลาดคาดไว้ที่ 6.8% ขณะที่รัฐบาลจีนประเมินไว้ที่ 7%
ด้วยเหตุนี้ทำให้เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มโน้มอ่อนค่า สะท้อนจาก Dollar index ล่าสุดอยู่ 93.2 อ่อนค่าราว 2% จากต้นเดือน ต.ค. เป็นต้น ทั้งนี้เป็นการอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลคู่ค้าหลัก ไม่ว่าจะเป็น เงินเยน ออสเตรเลียดอลลาร์ และยูโร เป็นต้น และเช่นเดียวกับสกุลเงินของประเทศกำลังพัฒนา หรือเกิดใหม่ มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องในระยะสั้น ๆ หลังจากเริ่มชะลอตัวการแข็งค่าใน 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะเงิน ริงกิตและรูเปียะห์ ที่ปรับตัวแข็งค่ามาที่สุดที่ 1.77% และ 1.98% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ค่าเงินเปโซ และบาท ยังคงชะลอตัวแข็งค่า ทำให้คาดการณ์น่าจะกลับมาแข็งค่าเพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ และเป็นปัจจัยหนุน Fund Flow ไหลกลับเข้ามาในตลาดอีกครั้ง
ต่างชาติสลับมาขายหุ้นในภูมิภาคอีกครั้ง
วานนี้ ตลาดอินโดนีเซียหยุดทำการ เนื่องจากเป็นวันหยุด ส่วนตลาดหุ้นที่เหลือยังเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่า นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 202 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 6 วัน) โดยเป็นการขายสุทธิทั้ง 4 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 113 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 6 วัน) รองลงมาคือ ไต้หวันถูกขายสุทธิราว 62 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 5 วัน) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิเล็กน้อยราว 1 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ส่วนไทยต่างชาติขายสุทธิราว 26 ล้านเหรียญ หรือ 924 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ต่างกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 618 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 13,787 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 3,520 ล้านบาท ส่วนทางค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 35.28 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์