- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 14 October 2015 20:49
- Hits: 898
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET Index ยังปรับฐานต่อ คาดจะมีแนวโน้ม 1,390-1,400 จุด โดยคาดมาตรการกระตุ้นภาครัฐรอบใหม่ ทั้ง SMEs และอสังหาฯ ยังมีน้ำหนักประคองตลาด วันนี้เลือก PS(FV@B>34.4) และ ADVANC(FV@B>285) เป็น Top picks
จีนกลับมากดดันตลาดหุ้นโลกอีกรอบ
วันนี้เชื่อว่า ตลาดจะกลับมาให้น้ำหนักกับเศรษฐกิจจีนอีกครั้ง หลังจากที่วานนี้ กระทรวงพาณิชย์จีน เปิดเผยข้อมูลการนำเข้า เดือน ก.ย. หดตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 โดยลดลง 20.4%yoy (สกุลดอลลาร์) ซึ่งนับเป็นการลดลงนานที่สุดในรอบ 6 ปี เช่นเดียวกับตัวเลขการส่งออกที่ติดลบ 3.7%yoy เทียบกับหดตัว 5.5% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3 ทั้งนี้เชื่อว่าปัจจัยกดดันมาจากการบริโภคภายในประเทศชะลอตัว ผนวกกับ ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ยังต้องติดตามการประกาศ GDP Growth งวด 3Q58 ในสัปดาห์หน้า ที่รัฐบาลจีนคาดการณ์ไว้ที่ 7% ขณะที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 6.8% ทั้งนี้หากการประกาศ GDP Growth ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ อาจกดดันตลาดหุ้นโลกอีกระยะหนึ่ง
ส่วนดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของอังกฤษ วานนี้พบว่าอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย. ยังคงปรับตัวลดลงโดยติดลบ 0.1% จากเดือนก่อนหน้า ที่สามารถคงระดับ 0% และเช่นเดียวกับดัชนีราคาผู้ผลิต ในเดือนเดียวกันยังคงทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าคือ ติดลบ 1.8% ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ซึ่งสะท้อนการชะลอตัวในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลก
มาตรกระตุ้นอสังหาฯ PS เด่นสุด/ประมูล 4G ชอบ ADVANC มากสุด
ตลาดหุ้นกลับมาปรับฐานอีกครั้ง หลังจากไม่ผ่านแนวต้าน 1415 จุด โดยได้รับแรงกดดันจากหุ้น Global เช่น หุ้นน้ำมัน ที่ย่อตัวตามราคาน้ำมันดิบโลก หลังจากไม่ผ่าน 50 เหรียญฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำตาลดิบโลกที่เริ่มย่อตัวเล็กน้อย หลังจากที่ยืนเหนือ 14 เซนต์ต่อปอนด์มาติดต่อกันกว่าสัปดาห์ เป็นต้น และเช่นเดียวกับหุ้น Domestic ที่ถูกกดดันจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่เห็นการย่อตัวบ้างเป็นรายหุ้น เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลรายงานงบงวด 3Q58 ซึ่งยังคงย่ำแย่ตามภาวะเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้า และก่อนที่รัฐจะมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ขณะที่ต่างชาติเริ่มสลับขายบ้างเล็กน้อย หลังจากที่ซื้อต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังเชื่อว่ากลยุทธ์การลงทุนยังเน้นไปรายหุ้น โดยเฉพาะที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
อสังหาริมทรัพย์ ที่ประชุม ครม. วานนี้อนุมัติมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ คือ 1. ลดค่าธรรมเนียมการโอนลงเหลือ 0.01% ของราคาประเมิน (เดิม 2%) 2. ลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองลงเหลือ 0.01% ของราคาประเมิน (เดิม 1%) (แตกต่างจากอดีตที่ลดภาษีเฉพาะ 3.3% ด้วย) จนถึง 30 เม.ย. 2559 และ 3. ให้นำค่าซื้อ 20% ของราคาบ้านที่ซื้อ มาลดหย่อนภาษีเงินได้เป็นเวลา 5 ปี โดยมาตรการนี้มีผลถึงสิ้นปี 2559 ซึ่งน่าจะหนุนให้ผู้ซื้อมีการโอนบ้านเร็วขึ้นนับตั้งแต่ 4Q58 ซึ่งดีต่อผู้ประกอบการที่เน้นตลาดบ้านระดับกลาง เช่น PS (ราคาตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป) ซึ่งมีงานที่อยู่ในมือพร้อมโอนมากสุดที่ จึงน่าจะทำกำไรงวด 4Q58 โดดเด่นสุด
สื่อสาร การประมูล 4G ยังคงเดินหน้า โดย กสทช. ยืนยันว่ายังเดินหน้าตามกำหนดคือ 11 พ.ย. นี้ สำหรับคลื่น 1800 MHz ซึ่งทาง ASPS ยังเชื่อว่า ADVANC มีศักยภาพมากสุดทั้งด้านฐานลูกค้าและเงินทุน จึงน่าจะเป็น 1 ในผู้ชนะแน่นอน ส่วนอีก 1 ใบคาดเป็นการแย่งกันระหว่าง DTAC และ TRUE ซึ่งมีความจำเป็นและฐานะการเงินใกล้เคียงกัน และวันที่ 12 พ.ย. จะมีการประมูลคลื่น 900 MHz แม้ยังมีความเสี่ยงที่จะมีการฟ้องร้องจาก TOT (เป็นเจ้าของคลื่น 900 MHz ยืนกรานจะรักษาสิทธิ์การใช้งานต่อไปอีกราว 10 ปี แม้หลังสิ้นสุดสัมปทานแล้ว) เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ระงับประมูลคลื่น แต่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้น้อย เพราะ กสทช. ต้องปฏิบัติตามกฎหมายในการกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยคาดว่า ADVANC ที่ประมูลคลื่น 900 MHz เพื่อนำไปต่อยอดให้บริการทั้งลูกค้าที่ยังใช้ 2G และเพิ่มประสิทธิภาพบริการ 3G (ส่วนใบอนุญาต 900 MHz อีก 1 ใบ คาดว่า DTAC และ TRUE อาจสนใจ หากพลาดหวังคลื่น 1800 MHz) โดยภาพรวมยังชอบ ADVANC(FV@B>285) มากที่สุด
รอมาตรการช่วย SMEs รอบ 2 ซึ่งคาดจะเข้า ครม. วันที่ 20 ต.ค. 2559 ซึ่งยังมิได้กำหนดวงเงิน ทั้งนี้วงเงินช่วยเหลือ SMEs รอบแรก 1 แสนล้านบาท ผ่านการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี (รัฐปล่อยกู้ธนาคารที่ 0.1%) เป็นเวลา 7 ปี ซึ่งได้เริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.58 เป็นต้นไป ซึ่งมาตรการช่วยเหลือ SMEs ถือว่าเป็นการช่วยเพิ่มธุรกรรมให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เน้นสินเชื่อ SMEs ได้แก่ KBANK(FV@B>232) ซึ่งมีสัดส่วนราว 38% และ TMB(FV@B>2.5) 37% เป็นต้น ส่วนธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ จะมีการปล่อยในสัดส่วนที่น้อยกว่าคือ BBL(30%) และ KTB(20%) เป็นต้น ภาพรวมยังชอบ KBANK(FV@B>232) ราคาตลาดยังมี upside 25.41%
ตลาดน่าจะตอบรับด้านลบต่อผลประกอบการงวด 3Q58
คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ถึงต้นสัปดาห์หน้า กลุ่ม ธ.พ. ส่วนใหญ่น่าจะมีการทยอยประกาศงบงวด 3Q58 เสร็จสิ้น หลังจาก TISCO ได้ประกาศงบฯ ไปตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว (กำไรในงวด 3Q58 ลดลงถึง 19.3% qoq และ 25.6% yoy แต่ก็ถือว่าดีกว่าคาดถึง 21% ส่วนแนวโน้ม 4Q58 น่าจะเห็นการฟื้นตัวจากช่วง 9M58 เนื่องจากการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่ลดลงเป็นปกติ คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2558 หดตัว 16.4% yoy แต่จะกลับมาเติบโตอย่างมีนัยฯ ถึง 33.9% yoy ในปี 2559) ทั้งนี้ ภาพรวมผลการดำเนินงานงวด 3Q58 ของกลุ่ม ธ.พ. ภายใต้ coverage ของฝ่ายวิจัย คาดว่ากำไรสุทธิจะหดตัวถึง 13.6%qoq และ 17.9%yoy ผลจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ของ SCB, KTB และ TISCO จาก SSI และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของ NPL ในกลุ่มลูกหนี้ SMEs ส่วนคาดการณ์งวด 4Q58 คาดว่าผลการดำเนินงานทรงตัวเนื่องจากแนวโน้มการตั้งสำรองหนี้และค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากช่วงฤดูกาล ส่งผลให้ทั้งปี 2558 กำไรหดตัว 11.7%yoy แต่จะฟื้นตัวได้ถึง 17.7%yoy ในปี 2559 จากการตั้งสำรองหนี้ ฯ ที่เข้าสู่ระดับปกติ และเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ
ทางด้านของกลุ่ม Real Sector น่าจะทยอยประกาศราวปลายเดือนนี้เป็นต้นไป ที่ต้องสนใจเป็นพิเศษคือ ภาคก่อสร้าง และ วัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นกลุ่มแรกๆ ที่น่าจะได้รับผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ นำโดย SCC ประกาศงบงวด 3Q58 ต่ำกว่าคาด โดยมีกำไรสุทธิราว 9.4 พันล้านบาท (ลดลง 32% qoq แต่ยังเติบโต 20% yoy) ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าปกติที่กำไรในแต่ละไตรมาสเฉลี่ยแล้วสูงเกินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้เกิดจาก ธุรกิจปิโตรเคมี ที่ปกติแล้วจะเป็นช่วง High Season หนุนปริมาณขายเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ คาดว่าส่งผลให้เกิด stock loss ราว 2 พันล้านบาท และจะกดดันธุรกิจปิโตรเคมีในไตรมาสนี้ไม่โดดเด่นนัก ธุรกิจปูนซีเมนต์ เนื่องจากงวด 3Q58 เป็นช่วง low season ของภาคก่อสร้าง รวมทั้งความล่าช้าของโครงการก่อสร้างต่างๆ ทั้งในส่วนของการลงทุนก่อสร้างเชิงพาณิชย์ และการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ยังมีอัตราการเติบโตติดลบจากปีก่อน มีเพียงการก่อสร้างภาครัฐเท่านั้นที่ยังเติบโต จึงคาดว่าปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ในงวดนี้จะลดลงราว 3% และธุรกิจกระดาษ ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตทางการเกษตรออกมาน้อย รวมทั้งการบริโภคในประเทศที่ยังซบเซา ส่งผลให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์ชะลอตัวตามไปด้วย
ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นกลุ่ม TIP
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 117 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6) โดยเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 92 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6) และไต้หวันซื้อสุทธิราว 77 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) ยกเว้นประเทศในกลุ่ม TIP ที่สลับมาขายสุทธิ นำโดย ฟิลิปปินส์ขายสุทธิราว 24 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน) ตามมาด้วยอินโดนีเซียถูกขายสุทธิราว 26 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 7 วัน) และไทยสลับมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 2 ล้านเหรียญ หรือ 81 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 5 วัน) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 1,160 ล้านบาท
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์