- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 12 October 2015 17:34
- Hits: 946
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ปัจจัยแวดล้อมยังคงหนุนตลาดฯ ทั้ง Fund flow และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังฟื้นตัวต่อ แต่คาดว่าต้องเผชิญกับแนวต้าน 1,420-1,430 จุด ยังแนะนำให้ผสมผสานหุ้น Global + Domestic วันนี้เลือกหุ้น KSL([email protected]) เป็น Top pick
นโยบายผ่อนคลายการเงินยังจำเป็น และหนุนตลาดหุ้นโลกต่อ
ความกังวลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจของสหรัฐล่าช้า หรืออาจจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวมีน้ำหนักมากขึ้น สะท้อนจากผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ ของ Bloomberg พบว่ามีโอกาส 15% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า (คิดเป็น % มากที่สุดนับตั้งแต่ ต.ค. 2013) และได้คาดการณ์ GDP Growth 3Q58 ลดเหลือ 2% (เดิม 3% จากการสำรวจในเดือน ก.ค.) จากความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามล่าสุด การรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในส่วนของภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากปริมาณสินค้าคงคลังภาคค้าส่ง เดือน ส.ค. อยู่ที่ระดับ 0.1% (เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 0%) ทำให้ประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่คณะกรรมการ Fed หลายคนออกมาให้ความเห็นว่า อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้ มีน้ำหนักน้อยลง อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามการประชุม FOMC 27-28 ต.ค. นี้และครั้งถัดไป 15-16 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ โดย ASPS ยังมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จะเกิดขึ้นในต้นปีหน้า โดยรวมปัจจัยดังกล่าวยังกดดันค่าเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง เมื่อเทียบสกุลหลักของโลก
ทั้งนี้ สวนทางกับฝั่งของยุโรป หลังการประชุมนอกรอบในการประชุมประจำปีของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ให้ความเห็นว่าอาจต้องพึ่งพาการปรับใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) ต่อไป โดยจะพิจารณาการปรับขนาดและระยะเวลาของโครงการซื้อพันธบัตร ถือว่าเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นโลก
กำไรงวด 3Q58 ไม่สดใส แต่น่าจะข้ามไปงวด 4Q58
สัปดาห์นี้ บริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ จะเริ่มทยอยประกาศผลการดำเนินงานรอบ 3Q58 เริ่มจากธนาคารพาณิชย์เป็นกลุ่มแรก (TISCO ได้ประกาศไปแล้วตั้งแต่ค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา) ซึ่งฝ่ายวิจัยคาดว่าผลการดำเนินงานของ ธ.พ. ทั้ง 10 แห่งภายใต้ coverage จะมีกำไรสุทธิหดตัวถึง 13.6%qoq และหดตัว 17.9%yoy ผลกระทบหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ของ SCB, KTB และ TISCO หลังจากการจัดชั้นลูกหนี้ SSI เป็น NPL รวมทั้งแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของ NPL ในกลุ่มลูกหนี้ SMEs โดยคาดว่ากลุ่ม ธ.พ.ใหญ่จะได้รับผลกระทบจากการหดตัวของกำไรสุทธิมากกว่ากลุ่ม ธ.พ.กลาง-เล็ก (เนื่องจาก ธ.พ. ขนาดกลาง-เล็ก ได้รับผลกระทบไปแล้วตั้งแต่ปี 2557 ส่วนกลุ่ม ธ.พ. ใหญ่ เพิ่งได้รับผลกระทบหนักในงวด 1Q58) ทั้งนี้ ธ.พ. ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิลดลงสูงสุดในงวดนี้ คือ TISCO, KTB และ SCB ตรงข้ามกับ ธ.พ. ที่คาดว่ากำไรสุทธิเติบโตโดดเด่นคือ BBL
สำหรับ แนวโน้มงวด 4Q58 คาดว่าผลการดำเนินงานอาจยังดูไม่ดีนักเนื่องจากแนวโน้มการตั้งสำรองหนี้และค่าใช้จ่ายดำเนินงานอาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากช่วงฤดูกาล ส่งผลให้ปี 2558 จะเป็นจุดต่ำสุดของ ธ.พ. (หดตัว 11.7%yoy) แต่จะฟื้นตัวได้ถึง 17.7%yoy ในปี 2559 หลังตั้งสำรองหนี้ฯ SSI จบแล้ว และเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ
ส่วนทางด้านกลุ่มพลังงาน งวด 3Q58 คาดกำไรของกลุ่มฯจะปรับตัวลดลงแรงจากธุรกิจปิโตรเลียมเป็นหลัก ทั้งในส่วนของ PTTEP ที่คาดราคาขายผลิตภัณฑ์จะปรับตัวลดลง และความเสี่ยงที่อาจเกิดการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ (impairment charges) เพิ่มเติม ทั้งยังอาจเกิดผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงก่อนหน้านี้ ส่วน PTT อาจมีเรื่องของผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันจากกลุ่มโรงกลั่นอีกด้วย อย่างไรก็ดี ในงวด 4Q58 คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวจากงวด 3Q58 โดย PTT น่าจะดีขึ้นในส่วนของธุรกิจโรงกลั่นที่จะเริ่มกลับเข้าสู่ช่วงฤดูกาลอีกครั้ง และธุรกิจปิโตรเคมีที่จะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลช่วงสต๊อกผลิตภัณฑ์เพื่อการผลิตสินค้าไว้รองรับช่วงเทศกาลปีใหม่ ทางด้านแนวโน้มราคาน้ำมันน่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีเมื่อเทียบกับในช่วง 3Q58 น่าจะเป็นผลดีต่อทั้ง PTT และ PTTEP โดยรวมแล้วคาดแนวโน้มกำไรปี 2558 ของ PTT จะเติบโต 57.1%yoy ผลมาจากการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ทั้ง NGV และ LPG ซึ่งจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาว ขณะที่แนวโน้มกำไรในปี 2558 ของ PTTEP จะลดลง 16.8%yoy แต่จะดีดตัวแรงในปี 2559 ถึง 70.3%yoy
กระแสเงินทุนไหลเข้ายังคงซื้อสุทธิกลุ่ม TIP
ค่าเงินดอลลาร์ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง ล่าสุด Dollar Index ปรับตัวอยู่ที่ 94.83 หรืออ่อนค่าราว 2% นับจากปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาหนุนให้ Fund Flow ไหลเข้าในสินทรัพย์ที่สามารถทำกำไรได้ดีกว่า โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ทองคำ น้ำตาล และน้ำมันสะท้อนจากราคาน้ำตาลดิบล่าสุด (9 ต.ค. 58) อยู่ที่ 14.34 เซ็นต์ ต่อปอนด์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4% จากวันก่อนหน้า และปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 24% ในระยะเวลา 2 สัปดาห์ เช่นเดียวกับราคาทองคำที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 3.7% ขณะที่ราคาน้ำมันสามารถปรับระดับมายืนเหนือ 50 เหรียญฯต่อบาร์เรลได้ ล่าสุดราคาน้ำมันดูไบอยู่ที่ 51.07
ทางด้านน้ำมันนั้น OPEC ได้มีรายงานถึง ปัญหา Over Supply จะเริ่มลดลง และจะสามารถกลับมาสมดุลได้ในไตรมาส 3 ปีหน้า (2559) จากปริมาณการผลิตของ NON-OPEC ที่เริ่มลดลง (โดย OPEC ยังคงปริมาณการผลิตที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน) กล่าวคือแนวโน้มความต้องการน้ำมันของโลกยังคงเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 110 ล้านบาร์เรล ต่อวันในปี 2583 จากปัจจุบัน อยู่ที่ 94.5 ล้านบาร์เรล ต่อวัน(จากการประมาณการครั้งก่อนที่ 93 ล้านบาร์เรล ต่อวัน) ขณะที่ด้าน Supply โลกปีนี้จะอยู่ที่ ราว 96.5 ล้านบาร์เรล จากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันของโลก ผนวกกับการลดปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐราว 6 แสนล้านบาร์ เรล ต่อวัน หรือ 8.6 ล้านบาร์เรลต่อปี ลดแรงกดดันปัญหา Over Supply กล่าวคือ ลดลงเหลือ 2 ล้านบาร์เรล ต่อวัน จาก 3.5 ล้านบาร์เรล ต่อวัน ซึ่งหนุนแนวโน้มราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น กล่าวคือ ราคาน้ำมันดูไบสามารถปรับตัวขึ้น จากต่ำสุด 42 เหรียญฯต่อบาร์เรลเมื่อปลายเดือน ก.ย. ราว 22% มาอยู่ 51.07 เหรียญฯต่อบาร์เรล และพบว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยจากต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ราว 54.40 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งเมื่อเทียบกับสมมติฐานที่กำหนดไว้ในปี 2558 ที่ 53 เหรียญฯต่อบาร์เรล นั่นหมายความว่าในช่วงที่เหลืออีก 3 เดือนของปีนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบต้องมีค่าเฉลี่ย 48.79 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งยังคงสอดคล้องกับสมมุติฐานของ ASPS ในสถานการณ์นี้ถือว่าดีต่อ PTTEP(FV@B94) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและสำรวจปิโตรเลี่ยม ตามมาด้วย PTT(FV@B360) ซึ่งทำธุรกิจปิโตรเลี่ยมครบวงจร เป็นต้น
ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องวันที่ 4
วันศุกร์ที่ผ่านมา แม้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้และไต้หวันจะหยุดทำการเนื่องจากเป็นวันหยุด แต่ตลาดหุ้นกลุ่ม TIP ยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 51 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) โดยเป็นการซื้อสุทธิทั้ง 3 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ถูกซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 2 แสนเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน) ตามมาด้วยอินโดนีเซียถูกซื้อสุทธิราว 13 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6) และไทยต่างชาติยังคงซื้อสุทธิราว 37 ล้านเหรียญ หรือ 1,324 ล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 277 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 13,150 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 27,108 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ 35.56 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งสอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวโน้มค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นเช่นกัน โดยถ้าวัดจากจุดสูงสุดตั้งแต่ต้นวันที่ 2 ต.ค. 58 จนถึงปัจจุบัน พบว่า รูเปียะห์อินโดนีเซียแข็งค่าสูงถึง 9.08%, เงินริงกิตมาเลเซียแข็งค่า 7.19%, เปโซฟิลิปปินส์แข็งค่า 2.03% และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.25%
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์