WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASP copyบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
      เงินเอเชียที่มีแนวโน้มทรงถึงแข็งค่า หนุน Fund Flow ชะลอการขาย/ทยอยกลับมาซื้อหุ้นเอเซีย ส่วนดอลลาร์อ่อนค่าหนุนสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ SET มีโอกาสแตะ 1,380 จุด ยังชอบ PTT(FV@B360) ราคาลงลึกจนมี upside สูง และ KBANK(FV@B232) เลือกเป็น Top picks

ดอลลาร์อ่อนค่า หนุนสินค้าโภคภัณฑ์ หุ้นเด่น PTT, PTTEP
      ในการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา คาดจะทราบผลสรุปในช่วงสายของวันนี้ ประเด็นที่ตลาดให้ความสำคัญคือ เรื่องของการเพิ่มปริมาณเงินผ่าน QE โดยตลาดฯ ประเมินว่า BOJ มีแนวโน้มจะเพิ่มมาตรการผ่อนคลายทางการเงินจากการกำหนดฐานเงินปีละ 80 ล้านล้านเยน เป็น 100 ล้านล้านเยนต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังอยู่ในภาวะชะลอตัว สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเข้าใกล้ระดับ 0% และมีโอกาสจะกลับไปติดลบเหมือนในอดีต และเหมือนประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ (เงินเฟ้อของญี่ปุ่นปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดในเดือน ม.ค. ที่ 2.4% มาอยู่ที่ระดับ 0.2% ในเดือน ก.ย.) แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากค่าเงินเยนยังคงแกว่งตัวในกรอบแคบๆ สะท้อนว่าการเพิ่ม QE อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ไม่ใช้การประชุมรอบนี้
      ขณะที่ทางค่าเงินในภูมิภาคเอเชียได้ฟื้นตัวจากการอ่อนค่า และกลับมาแกว่งตัวในทิศทางแข็งค่าตลอดสัปดาห์นี้ ทั้งนี้หลักๆ เกิดจากที่ตลาดมีคาดหวังว่าสหรัฐจะเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไปอย่างน้อย 3 เดือน กดดันให้ค่าเงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าแล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นและหนุนให้ต่างชาติกลับเข้ามาซื้อหุ้นในภูมิภาคเอเซีย (อ่านรายละเอียดในช่วงท้าย) ที่เห็นชัดเจนคือ ค่าเงินรูเปียะของอินโดนีเซียที่แข็งค่ามากสุด 4% จากจุดที่อ่อนค่าสุดของรอบนี้ (นอกจากนี้ยังเกิดจากการที่รัฐบาลอินโดนีเซียจะมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบที่ 3 ในวันพฤหัสบดีนี้) ตามมาด้วย เงินริงกิตของมาเลเซียแข็งค่า 3% ขณะที่ค่าเงินเปโซของฟิลิปปินส์และไทย ยังคงแกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ ซึ่งประเด็นนี้ยังเป็นบวกต่อตลาดหุ้น เพราะมิใช่แต่เพียงทำให้ Fund Flow ชะลอการขายหรือ เริ่มทยอยหุ้นเอเชียเท่านั้น แต่ดอลลาร์ที่อ่อนค่ายังคงหนุนสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งน้ำมัน ล่าสุดราคาน้ำมันดิบดูไบกำลังแตะ 50 เหรียญฯ ต่อบาร์เรลอีกครั้ง ทำให้สมมติฐานของ ASPS มีความเป็นไปได้สูง และดีต่อ PTTEP(FV@B94) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและสำรวจปิโตรเลี่ยม ตามมาด้วย PTT(FV@B360) ซึ่งทำธุรกิจปิโตรเลี่ยมครบวงจร (ถือหุ้น PTTEP 65.2% และยังถือหุ้นโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีอีกหลายแห่งคือ TOP(FV@B56) ถือหุ้น 49.1% PTTGC(FV@B67) 48.9% และ IRPC([email protected]) 38.5%) แนะนำทยอยสะสม PTT, PTTEP ยังมี upside และ laggard มาก แนะนำให้ switch จากหุ้นโรงกลั่นมายัง PTT, PTTEP และ IRPC

IMF ปรับลด GDP Growth โลก เชื่อว่าประเด็นนี้น่าจะซึมซับไปแล้ว
       วานนี้ IMF มีการรายงานมุมมองเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) เดือน ต.ค. โดยได้ปรับลดคาดการณ์ GDP Growth โลกจากครั้งก่อนหน้าในเดือน ก.ค. โดยประเมิน GDP Growth โลก เท่ากับ 3.1% ในปี 2558 (เดิมคาดไว้ที่ 3.3%) และ 3.6% ในปี 2559 (เดิมคาดไว้ที่ 3.8 %) โดยฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว ได้มีการปรับเพิ่มสหรัฐ จาก2.5% เป็น 2.6% ในปี 2558 แต่ปรับลดปี2559 จากเดิม 3% เป็น 2.8 % ในปี 2559 ส่วนญี่ปุ่น ปรับลดเหลือ 0.6 % ในปี 2558 (เดิมคาดไว้ที่ 0.8%) และ 1% ในปี 2559 (เดิมคาดไว้ที่ 1.2%) ยุโรปยังคง 1.5 % ในปีนี้ แต่ปรับลดปี 2559 เหลือ 1.6% จากเดิม 1.7% และ อังกฤษปรับเพิ่มเท่ากับ 2.5% ในปี 2558 (เดิม 2.4%) ส่วนปี 2559ยังคงไว้ที่ 2.2%
ส่วนประเทศตลาดเกิดใหม่และในภูมิภาคเอเซีย ได้ปรับการคาดการณ์ของจีนเท่ากับ 6.8% ในปี 2558 และ 6.3% ในปี 2559 เท่าเดิม อินเดีย ลดลงเหลือ 7.3% ปี 2558 (เดิม 7.5%) แต่ยังคง 7.5% ในปี 2559 ขณะในภูมิภาคอาเซียน ปรับลดเหลือ 4.6% ปี 2558 (เดิม 4.7%) และ 4.9% ในปี 2559 (เดิม 5.1%) โดยไม่ได้ระบุรายประเทศ การปรับลดดังกล่าวเป็นการสะท้อน ถึงการชะลอตัวของการค้าทั่วโลก จากสาเหตุของสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง รวมทั้งการชะลอตัวของประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ เช่น จีน
ส่วนไทย วานนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ปรับลดการคาดการณ์ GDP Growth ของไทย ปี 2558 ลงเหลือ 2.5-3% (เดิมคาดการณ์ที่ 3-3.5%) ซึ่งสอดคล้องกับนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักที่ได้ปรับลดลงไปก่อนหน้านี้ และสอดคล้องกับ ASPS ซึ่งคาดการณ์ GDP Growth ในปี 2558 เท่ากับ 2.7% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งคาดว่าได้ทยอยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. เป็นต้นไป น่าจะเห็นผลชัดเจนขึ้นในงวด 4Q58 (อ่านรายละเอียดใน Economic Update 17 ก.ย. 2558) อย่างไรก็ตามคาดว่าประเด็นนี้ตลาดน่าจะตอบรับไปแล้ว

6 เดือนจากนี้ การเมืองเข้าสู่ช่วง จำศีล (ร่างรัฐธรรมนูญ)
      ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 5 ต.ค.2558 ลงประกาศ รายชื่อ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รวม 21 ท่าน และ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปแห่งชาติ 200 ท่าน เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งถือเป็นกระบวนการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยกำหนดให้ คสช. - นายกรัฐมนตรี ต้องตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ พร้อม สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ ภายใน 30 วัน นับจากที่ สปช. ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดย คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ชุดที่ ดร.บวรศักดิ์ เป็นประธาน) เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2558 ทั้งนี้ หัวใจหลักในการขับเคลื่อนเส้นทางการเมืองไทยตาม Roadmap จากนี้ไปได้แก่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุด ซึ่งมี คุณมีชัย ฤชุพันธ์ ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการฯ โดยคณะกรรมการฯ มีระยะเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน (6 เดือน) หลังจากนั้นให้เตรียมการจัดทำประชามติ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากการร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จประมาณ 4 เดือน เมื่อรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากการทำประชามติแล้ว ตามกำหนดการที่ รัฐบาลกำหนดไว้ก็น่าจะใช้เวลาในการร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งน่าจะใช้เวลาในช่วงนี้ประมาณ 6 เดือนหลังจากนั้นเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินงานและเตรียมหาเสียงอีกประมาณ 4 เดือน (ทั้งหมดเป็นไปตามสูตร 6+4+6+4 รวม 20 เดือน) หากทุกอย่างเรียบร้อยไปตามแผนงาน การจัดการเลือกตั้งทั่วไปก็น่าจะเกิดขึ้นได้ราวกลางปี 2560
      ประเมินว่าสถานการณ์การเมืองในช่วง 6 เดือนจากนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างนิ่ง โดยอาจจะมีกระแสเรื่องแนวทางของร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาวิพากวิจารณ์บ้างเป็นระยะ แต่น่าจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้งในช่วงเวลาที่ร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ และกำลังจะเข้าสู่การทำประชามติ ซึ่งโดยปกติก็มักเกิดกระแสรณรงค์ให้โหวตรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสำหรับ Sentiment ของการเมือง ต่อการลงทุนใน SET ช่วง 6 เดือนข้างหน้า จึงยังไม่น่าจะมีน้ำหนัก

ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคทั้ง 5 ประเทศ
      กระแสเงินทุนจากต่างชาติเริ่มมีแนวโน้มไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นเอเชียอีกครั้ง น่าจะได้รับแรงหนุนจากค่าเงินเอเซียที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หลังจากที่อ่อนค่าตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยวานนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 277 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิทั้ง 5 ประเทศ (โดยครั้งล่าสุดที่ซื้อสุทธิทั้ง 5 ประเทศคือวันที่ 31 ก.ค.58 ที่ผ่านมา) และหากพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า เกาหลีใต้ซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 114 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) รองลงมาคือ ไต้หวันซื้อสุทธิราว 69 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน) อินโดนีเซียซื้อสุทธิราว 58 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) และฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 2 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) ส่วนไทยต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิราว 33 ล้านเหรียญ หรือ 1,210 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 478 ล้านบาท
ทางด้านตราสารหนี้นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 20,979 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 440 ล้านบาท

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!