- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 30 June 2014 12:46
- Hits: 2449
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
นับจากสัปดาห์นี้ คาดตลาดจะให้ความสนใจต่อผลกำไรงวด 2Q57 (Preview Earnings) กลุ่มที่มีกำไรโดดเด่นได้แก่ พลังงาน (PTTEP) และอสังหาฯ (ANAN และ SC) จึงเลือก PTTEP(FV@B195) และ ANAN(FVB2.9) เป็น Top picks
เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบ V-Shape แม้ความเสี่ยงยังมีอยู่
วันศุกร์ที่ผ่านมา ธปท. ได้เปิดเผยสมมติฐานการปรับลด GDP Growth ปี 2557 ลง 1.2% เหลือ 1.5% โดยปรับประมาณการดังนี้
การลงทุนภาครัฐเหลือ 1.1% จากเดิม 1.7% สะท้อนการชะลอตัวโครงการลงทุนในปี 2557 แต่ไปลงทุนในปี 2558 แทน การลงทุนภาคเอกชนเหลือ -2.6% จากเดิม -0.5% เพื่อรอความชัดเจนของการลงทุนภาครัฐ
การส่งออกสินค้าและบริการ เหลือ 3% จากเดิม 4.5% สะท้อนอุปสงค์ชะลอตัวจาก ญี่ปุ่น จีน และกลุ่มอาเซียน เป็นต้น
และตรงกันข้ามได้ปรับเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ เป็นขยายตัว 3.5% จากเดิมคาดไว้ 2.9% จากการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 93% จากเดิม 90.5% เพื่อสะท้อนปัจจัยการเมืองที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ ธปท. จึงคาดว่าช่วง 2H57 เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตเฉลี่ย 3.5% ภายใต้สมมติฐาน GDP Growth งวด 2Q57 ทรงตัว หรือติดลบ 0.4% หลังจากงวด 1Q57 ติดลบ 0.6%yoy จะพบว่าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวแบบ V-Shape ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับที่ ASP คาดว่าในงวด 2H57 เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตราว 3.9% ภายใต้สมมติฐานตลอดปี 2557 จะอยู่ที่ 2%
ทั้งนี้สมมติฐานข้างต้น ธปท. ยังมิได้รวมผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จากการที่สหภาพยุโรปชะลอความสัมพันธ์กับไทย และสหรัฐ ได้ขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) ไทย ด้านปัญหาการค้ามนุษย์ อันเป็นผลกระทบจากการยึดอำนาจ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเชื่อว่า ณ ระดับปัจจุบันมี ค่า Expected P/E 15 เท่า เป็นการสะท้อนความคาดหวังเชิงบวกต่อการเดินหน้าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ การที่ดัชนีหุ้นไทยจะขับเคลี่อนไปอยู่ในระดับที่สูงกว่านี้ จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ โอกาสการปรับเพิ่มประมาณการกำไรตลาดที่ระดับ 98.14 บาทต่อหุ้น จะมีอยู่หรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะยังไม่มี และแรงขับเคลื่อนจากต่างชาติที่จะดัน Expected P/E ขึ้นไปแตะระดับ 16-17 เท่า เหมือนในอดีตหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่ายังคาดหวังน้อย ตราบที่ยังมีการต่อต้านดังกล่าวข้างต้น
ผลประกอบการ 2Q57 อาจ ไม่ได้เป็นตัวช่วยหนุน SET Index
จากการสำรวจมุมมองนักวิเคราะห์เกี่ยวกับผลประกอบการงวด 2Q57 พบว่า โดยภาพรวมถือว่าไม่โดดเด่น เริ่มจาก
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ จะประกาศงบเร็วกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ คาดว่าจะเห็นการชะลอของกำไรสุทธิเล็กน้อย เทียบกับ 1Q57 จากการชะลอตัวของสินเชื่อ เห็นได้จากช่วง 5M57 ที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.96% จากสิ้นปี 2557
กลุ่มพลังงาน โดดเด่นที่สุดน่าจะเป็น PTTEP(FV@B 195) และ PTT(FV@B 360) ขณะที่ส่วนธุรกิจอื่น ไม่ว่าจะเป็นโรงกลั่น หรือปิโตรเคมี ชะลอตัว เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้า Aromatic ทำให้ภาพรวมทั้งกลุ่มน่าจะเห็นการชะลอตัวลงเล็กน้อยจาก 1Q57 แต่เพิ่มขึ้น YoY เนื่องจาก 2Q56 มีฐานกำไรที่ต่ำ ส่วนหุ้นพลังงานทดแทน พบว่า GUNKUL(FV@B 20) น่าจะมีผลกำไรโดดเด่นสุดในงวดนี้
กลุ่ม ICT ปกติในงวดไตรมาสที่ 2 ถือได้ว่าเป็น Low Season ของปีอยู่แล้ว ขณะที่ปีนี้ผู้ประกอบการมือถือ อาจมีค่าใช้จ่ายในด้านการตลาดเข้ามามากขึ้น ทำให้ผลประกอบการไม่โดดเด่น ทั้งนี้ยกเว้น THCOM(FV@B 50) ที่คาดว่าจะเติบโตโดดเด่นจากความคืบหน้าของธุรกิจทีวีดีจิตอล และความต้องการดาวเทียมในต่างประเทศ
กลุ่มวัสดุก่อสร้าง หุ้นโดดเด่นคือ TASCO(FV@B 69) ขณะที่หุ้นใหญ่อย่าง SCC(FV@B 520) คาดว่ากำไรจะไม่ได้ดีขึ้นจาก 1Q57 แม้จะมีการบันทึกรายได้เงินปันผลเข้ามา แต่การที่ปิโตรเคมีขั้นปลายยังไม่ปรับขึ้นมาเต็มที่ และการชะลอตัวของปูนซิเมนต์ จะเป็นตัวฉุดกำไร
พัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งเชื่อว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดคือ 1Q57 ไปแล้วทั้งยอดขาย และยอดโอนฯ หุ้นเด่นได้แก่ AP (FV@B 7.10), ANAN (FV@B 2.90), RML (FV@B 2.38) และ SC (FV@B 4.45)
รับเหมาก่อสร้างคาดว่าหุ้นโดดเด่นคือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กคือ SYNTEC(FV@B 2.23) และ STPI(FV@B 28.46), UNIQ(FV@B 9.05) และ SEAFCO(FV@B 6.03)
ต่างชาติพลิกกลับมาซื้อหุ้นไทยในรอบเกือบ 3 สัปดาห์
วันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ราว 448 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มขึ้น 56% โดยกลับซื้อสุทธิสุทธิเกาหลีใต้ และติดต่อเป็นวันที่ 2 ราว 301 ล้านเหรียญฯ โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวจากวันก่อนหน้า ตามมาด้วย ไต้หวันซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 5 แต่ลดลงจากเดิม 42% เหลือราว 108 ล้านเหรียญฯ ตามมาด้วยไทย ซึ่งพลิกกลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 59 ล้านเหรียญฯ (1.9 พันล้านบาท) หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 13 วัน และฟิลิปปินส์ซื้อสุททธิราว 6 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า) สวนทางกับอินโดนีเซียที่ยังคงขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 27 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มจากขายสุทธิเพียง 3 ล้านเหรียญฯในวันก่อนหน้า)
การกลับมาซื้อตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ เป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค และเช่นเดียวกับตลาดตราสารหนี้ของไทยที่นักลงทุนกลุ่มนี้ยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ราว 1.4 พันล้านบาท (ซื้อ 9 จาก 11 วันหลังสุด รวม 3.3 หมื่นล้านบาท) แต่อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่าในระยะสั้นนักลงทุนต่างชาติจะยังรีรอการเข้าซื้อหุ้นไทย เพื่อรอดูสถานการณ์ต่อไป
กลยุทธ์การลงทุนงวด 3Q57 : หุ้นเด่น PTTEP, BECL, KSL, ANAN
การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในปีนี้ ยังคาดหวังได้จากภูมิภาคยุโรป เนื่องจากมีปัญหาอัตราการว่างงานที่ยังสูงเกือบ 12% และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเพียง 0.5% จนทำให้ ECB ต้องตัดสินใจใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.1% และจีน ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว แต่คาดว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะได้อานิสงส์จากประเด็นดังกล่าวน้อย เนื่องจากการถูกระงับความร่วมมือทางเศรษฐกิจชั่วคราวจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป หลังการยึดอำนาจ ยังเป็น sentiment เชิงลบ และเป็นอุปสรรคต่อการไหลกลับของเงินทุนต่างชาติ
แม้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปัจจุบัน มีค่า Expected P/E 15 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากลุ่มประเทศ TIP แต่เมื่อเทียบการเติบโตของกำไรตลาดหุ้นไทยที่ระดับ 7% ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ และยังเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยดูด้อยไป
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยได้ตอบรับความคาดหวังเชิงบวกไปแล้ว หลังจาก คสช. ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น-ยาว ที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบ V-Shape สะท้อนจากที่ดัชนีได้ปรับตัวกว่า 100 จุดภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ภายหลังการยึดอำนาจการปกครอง ซึ่งหลังจากนี้ต้องติดตามผลงานของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้หรือไม่ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ระยะเวลา 3 เดือนจากนี้ ดัชนีหุ้นไทยน่าจะแกว่งตัวลง โดยมีดัชนีเป้าหมายสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1,472 จุด อิง P/E 15 เท่า (เพิ่มขึ้นจากเดิม 14 เท่า ล่าสุด 23 พ.ค. 2557) เพราะได้รับผลดีที่ปัญหาการเมืองคลี่คลาย
กลยุทธ์ การลงทุนนับจากนี้คงต้องคัดเลือกหุ้นอย่างระมัดระวัง เลือกลงทุนในหุ้นไทย สัดส่วน 40-50% ของเงินลงทุน โดยแนวคิดในการลงทุน แนะนำดังนี้ คือ 1) เลือกหุ้นที่มีอัตราการเติบโตของกำไรมากกว่าตลาด 2) หุ้นที่มี Dividend Yield สูง และ Expected P/E ต่ำ 3) หุ้นขึ้นล่าช้ากว่าตลาด (Laggard) พร้อมกับมี Expected P/E ต่ำ หุ้นเด่น ได้แก่ ANAN, BECL, GUNKUL, KSL, PTTEP, SC, SCB, SYNTEC และ THCOM ส่วนเงินลงทุนที่เหลือ 60-50% กระจายลงทุนหุ้น/กองทุนต่างประเทศสหรัฐฯ และยุโรป (ติดตามอ่านได้จากรายงาน “กลยุทธ์ลงทุนไตรมาส 3/2557” เมื่อบ่ายวันพุธที่ 25 มิ.ย.)
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล