WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASP copyบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
      เชื่อว่าน้ำหนักการกระตุ้นแผนลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศ 2 แสนล้านบาท และความคาดหวังว่า ECB อาจยืดการใช้วงเงิน QE เพื่อหนุนเศรษฐกิจ ยังเอื้อให้ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอีกรอบหลังจากปรับฐานมาระยะหนึ่งแล้ว ยังเลือก SCC (FV@B 580) เป็น Top Pick ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงจากแรงขายของ SCB เพื่อรับรู้กำไร น่าจะเป็นโอกาสสะสมของนักลงทุนระยะกลาง-ยาว

ยังคาดหวังเชิงบวกต่อการเพิ่ม QE ในยุโรป
       แม้ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐ รายงาน GDP Growth งวด 2Q58 รอบที่ 3 อยู่ที่ 3.9 %QoQ (Annualized) มากกว่าครั้งก่อนหน้า 3.7% แต่หากเทียบเป็นรายปีแล้วยังถือว่าทรงตัวเท่าครั้งก่อนหน้าที่ 2.7%YoY หลักๆ มาจากการฟื้นตัวของภาคครัวเรือนเป็นหลัก ขณะที่ภาคแรงงานของสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราการว่างงาน ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 5.1% (ใกล้ระดับเป้าหมาย 5%) ขณะที่ภาคการผลิตยังทรงตัว ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจของสหรัฐ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed น่าจะยืดออกไปเป็นปลายปีนี้หรือต้นปี 2559 (ขณะที่ยังเหลือการประชุม อีก 2 ครั้ง ในเดือน ต.ค. และ ธ.ค.)
      สวนทางกับ ยูโรโซน ที่มีแนวโน้มใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่อง หรือ อาจจะเพิ่มขึ้น โดยนายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB ยอมรับเศรษฐกิจยูโรโซนยังคงชะลอตัว คาดอัตราเงินเฟ้อยังจะยังคงอยู่ในระดับต่ำและอาจติดลบไปจนถึงสิ้นปี นอกจากนี้ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ออกมาต่ำกว่าเดือนก่อนที่ 53.9 จากเดือนก่อนที่ 54.3 ซึ่งแม้ว่าจะยังอยู่ในระดับสูงกว่า 50 แต่ก็สะท้อนว่าเศรษฐกิจในยูโรโซนยังไม่ฟื้นตัว ทำให้คาดการณ์ ECB จะขยายเวลาการอัดฉีดเงินเข้าระบบจากกำหนดสิ้นสุด เดือน ก.ย 2559
ในส่วนของประเทศไทย สัปดาห์ที่แล้วมีการปรับลด GDP Growth จากหลายสถาบัน นำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ได้ปรับลด GDP Growth ในปีนี้ลงเหลือ 2.7% (จากเดิม 3%) และ ปีหน้าปรับลดลงเหลือ 3.7% (จากเดิม 4.1%) ภายใต้สมมติฐาน การส่งออกปีนี้จะติดลบ 5% (จากเดิม ติดลบ 1.5% ) และปีหน้าคาดการณ์ โต 1.2% (จากเดิม โต 2.5% ) รวมทั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย (ADB) ได้ปรับลด GDP Growth เหลือ 2.7% (จากเดิม 3.6%) และปีหน้า คาดโต 3.8 % เช่นดียวกัน จะเห็นว่าเป็นการปรับลดมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ ASPS (Economic Update 17 ก.ย. 2558) จึงเชื่อว่าประเด็นนี้ไม่น่าจะมีน้ำหนักต่อ SET เนื่องจากเป็นการปรับลดจากเดิมที่คาดไว้สูงเกินไป และตลาดได้รับรู้ไปแล้วผ่านการปรับฐานในช่วงที่ผ่านมา

การลงทุนภาครัฐน่าจะมีบทบาทมากขึ้นหลังขึ้นปีงบประมาณใหม่
เนื่องจากจะเริ่มเข้าสู่ปีงบประมาณใหม่ประจำปี 2559 ซึ่งจะเริ่มต้น 1 ต.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะมีวงเงินรวม 2.72 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบฯ ปี 2558 ราว 5.6% คิดเป็นสัดส่วนราว 20.4% ของ GDP โดย จัดสรรเป็นรายจ่ายประจำราว 2.1 ล้านล้านบาท (77.2% ของงบฯ) รายจ่ายลงทุนราว 5.44 แสนล้านบาท (20% ของงบฯ) โดยในส่วนของงบจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 20.9% นอกจากนี้ยังมีงบประมาณลงทุนปี 2558 ที่ค้างเบิกเข้ามารวมอีกส่วนหนึ่งด้วย นอกจากนี้รัฐยังได้เตรียมการด้านการเงินสำหรับรองรับการลงทุนไว้อีกหลายแนวทาง เช่นการปรับเงื่อนไขการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยโครงการลงทุนระดับไม่เกิน 1 พันล้านบาท ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถดำเนินการเองได้ โครงการลงทุนมูลค่า 1-5 พันล้านบาท จะมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเข้ามาพิจารณา และโครงการที่มีมูลค่าลงทุนเกิน 5 พันล้านบาท จึงต้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งเป็นการเพิ่มความคล่องตัวทางด้านการเงินมากขึ้น โดยในเบื้องต้น รัฐบาลกำหนดแผนที่จะลงทุนโดยใช้กลไก PPP 5 โครงการ มูลค่า 2 แสนล้านบาท (แยกเป็นรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง และ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะอีก 2 โครงการ) อีกแนวทางหนึ่งที่จะใช้ในการจัดหาเงินทุนสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก็คือการจัดตั้ง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งน่าจะมีรายละเอียดออกมาในภายหลัง
ด้วยความพร้อมของแหล่งเงินทุนดังกล่าว ที่จะมาจากทั้ง งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบค้างเบิกจากปีงบประมาณที่ผ่านมา การลงทุนแบบ PPP และ การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อว่าน่าจะทำให้เห็นการขับเคลื่อนเม็ดเงินลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐบาลออกมาอย่างต่อเนื่อง และจะมีส่วนอย่างสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตตามแผนคือ GDP Growth ปี 2558 และ 2559 ขึ้นไปที่ 2.7% และ 3.8% ตามลำดับ (ประมาณการของ ASPS Research) สำหรับหุ้นเด่นที่น่าจะได้ประโยชน์จากแผนการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ได้แก่ SCC (FV@B 580), CK (FV@B 31.25), BTS (FV@B12)

แนะนำสะสม SCC ราคาหุ้นลดลงต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน
สัปดาห์ที่แล้วราคาหุ้น SCC ถูก panic sell ลงหนักถึง 4.9% เนื่องจาก SCB ได้มีการขายหุ้น Big Lot ออกมากว่า 9 ล้านหุ้น รวมมูลค่ากว่า 4.4 พันล้านบาท เพื่อนำเงินที่ได้ไปชดเชยภาระการตั้งสำรองหนี้ที่มีปัญหาของกลุ่ม SSI ฝ่ายวิจัยประเมินว่า การขายหุ้น SCC ของ SCB ในครั้งนี้ จะไม่กระทบต่อโครงสร้างการบริหารงานของ SCC เนื่องจากเป็นการขายหุ้นให้กับสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งของ SCC และน่าจะช่วยลดแรงกดดันต่อราคาหุ้น SCC ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 วันก่อนหน้านี้ไปได้ เนื่องจากราคา Big Lot อยู่สูงกว่าราคาปัจจุบันของ SCC ในส่วนของปัจจัยพื้นฐานเอง ฝ่ายวิจัยยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อทิศทางธุรกิจของ SCC ทั้งในส่วนของธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ รวมถึงธุรกิจปิโตรเคมีที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัฏจักรขาขึ้นเต็มตัว สะท้อนจาก Spread ของผลิตภัณฑ์หลักทั้ง HDPE-Naphtha และ PP-Naphtha ที่ยืนอยู่เหนือระดับ 700 เหรียญฯ/ตัน ได้อย่างมีเสถียรภาพ ฝ่ายวิจัยคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2558 ไว้ 4.69 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 40%YoY และเติบโตต่อเนื่องเป็น 5 หมื่นล้านบาท ในปี 2559 สำหรับ Fair Value อยู่ที่ 580 บาท มี Upside อีก 24% บวกกับผลตอบแทนจากเงินปันผลอีกราว 3% ต่อปี ดังนั้น ราคาหุ้นที่ลงมาลึก จึงถือเป็นโอกาสในการสะสมระยะกลาง-ยาว

ต่างชาติขายหุ้นไทย 3 วันติด และมียอดขายรวมถึงหมื่นล้านบาท
ตลาดวันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์หยุดทำการเนื่องจากเป็นวันหยุด แต่ตลาดหุ้นที่เหลือยังคงเปิดทำการปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 481 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) และเป็นการขายสุทธิทั้ง 4 ประเทศ นำโดยเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 277 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) รองลงมาคือ ไต้หวันถูกขายสุทธิราว 89 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ตามมาด้วยอินโดนีเซียถูกขายสุทธิราว 36 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 8) ส่วนไทยต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 80 ล้านเหรียญ หรือ 2,908 ล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกัน 3 วัน โดยมียอดขายรวมสูงถึง 1.0 หมื่นล้านบาท) ต่างกับนักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิราว 506 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิราว 6,211 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 1,862 ล้านบาท ส่วนทางค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 36.21 บาท/ดอลลาร์


นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์ : ภราดร เตียรณปราโมทย์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!