- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 25 September 2015 17:26
- Hits: 1982
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การประกาศแผนลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในรูปแบบ PPP 5 โครงการ 2 แสนล้านบาท น่าจะสร้างกระแสเชิงบวกให้กับกลุ่มรับเหมาฯ วัสดุก่อสร้าง และอีกหลายบริษัทที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายวิจัยยังคงเลือก SCC (FV@B 580) เป็น Top Pick ด้วยความเหมาะสมทั้งทางด้านราคา และ Dividend Yield ขณะที่ BTS เป็นอีกตัวที่น่าจะได้รับกระแสเชิงบวกจากข่าวนี้ อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมของ SET Index คาดว่าจะยังผันผวนในกรอบแคบต่อไป
เตรียมลงทุน 5 โครงการมูลค่า 2 แสนล้านบาท ในแบบ PPP… ดีต่อหุ้นหลายกลุ่ม
คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เห็นชอบการลงทุนแบบ PPP ในปี 2558 รวม 5 โครงการ มูลค่า 2 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1)รถไฟฟ้าสายสีชมพู 5.67 หมื่นล้านบาท 2) รถไฟฟ้าสายสีเหลือง 5.47 หมื่นล้านบาท 3)ว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-กาญจนาภิเษก) 8.24 หมื่นล้านบาท 4)โรงไฟฟ้าขยะ อบจ. นนทบุรี 4.14 พันล้านบาท และ 5) โรงไฟฟ้าขยะ เทศบาลนครนครราชสีมา 2.25 พันล้านบาท โดยทั้ง 5 โครงการ จะทยอยนำเข้าสู่การอนุมัติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ภายในปี 2558 สำหรับสัดส่วน และรูปแบบที่จะให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน จะมีการสรุปของแต่ละโครงการในภายหลัง แนวทางการลงทุนแบบ PPP ถือเป็นกลไกในการจัดหาแหล่งเงินทุนของรัฐบาลเพื่อแบ่งเบาภาระของงบประมาณ และควบคุมวินัยการเงินของประเทศไม่ให้หนี้สาธารณะต่อ GDP สูงเกิน 50-60% ทั้งนี้หลักเกณฑ์การดูแลเรื่องการร่วมทุนระหว่างรัฐ-เอกชน ถูกกำหนดไว้ว่า โครงการลงทุนระดับไม่เกิน 1 พันล้านบาท หน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถดำเนินการได้ โครงการลงทุนมูลค่า 1 – 5 พันล้านบาท จะมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเข้ามาพิจารณา ส่วนโครงการที่มีมูลค่าลงทุนเกิน 5 พันล้านบาท ต้องให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
ตามแผนงานหลักที่ถูกกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ช่วงปี 2558 – 2562 มีจำนวนโครงการตามแผนทั้งหมด 65 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 1.41 ล้านล้านบาท ซึ่งนับจากนี้ไปเชื่อว่าน่าจะเห็นการเดินหน้าการลงทุนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น สำหรับ 5 โครงการแรกที่จะนำร่อง พอจะประเมินถึงบริษัทจดทะเบียนที่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมได้ดังนี้
กลุ่มรถไฟฟ้า : มี 3 เส้นทาง โดยในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) มีผู้ประกอบการที่แสดงความสนใจชัดเจนที่สุดได้แก่ BTS ซึ่งมีความพร้อมทางด้านการเงินสูง และเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ยังมีจุดตัดรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ BTS บริหารการเดินรถอยู่แล้ว รวมถึง สายสีแดง และ สีม่วงด้วย ,ส่วนของการบริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ – กาญจนาภิเษก) ดูเหมือนว่า BMCL น่าจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันเนื่องจากปัจจุบันเป็นผู้บริหารการเดินรถสายสีน้ำเงิน ซึ่งมีปลายทางอยู่ที่บางซื่ออยู่แล้ว สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ถือเป็นโครงการใหม่ที่ประกาศออกมาล่าสุด เอกชนต่างๆ ยังน่าจะอยู่ในช่วงของการศึกษาข้อมูล
กลุ่มโรงไฟฟ้าขยะ : ผู้ประกอบการที่ได้เคยแสดงความสนใจลงทุนโครงการในลักษณะนี้มีอยู่ค่อนข้างหลากหลาย เช่น AJP, BWG,DEMCO, EGCO, GENCO, IFEC, PAF, PSTC, SAMART, TPIPL และ GPSC เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มที่มีประสบการณ์การลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะก็มีอยู่ไม่กี่รายเช่น TPIPL, EGCO และ IEC (2 บริษัทหลังเป็นการร่วมทุน) ดังนั้นการที่จะระบุว่าผู้ประกอบการรายใดจะมีโอกาสเข้าร่วมใน PPP โรงไฟฟ้าขยะของ นนทบุรี และ นครราชสีมา คงยังเป็นเรื่องยาก แต่ก็น่าจะทำให้เกิดกระแสการเก็งกำไรโดยภาพรวม เมื่อมีข่าวความคืบหน้าของโครงการดังกล่าว
การเดินหน้าลงทุนดังกล่าว นอกจากจะส่งผลบวกต่อหุ้นแต่ละบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้นแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลบวกอย่างชัดเจนได้แก่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งน่าจะมีกระแสเชิงบวกเข้ามาเก็งกำไร อย่างไรก็ตามพบว่าค่า PER ส่วนใหญ่ได้ปรับขึ้นไปอยู่ในระดับสูงแล้ว การเข้าซื้อหุ้นที่ระดับราคาปัจจุบัน อาจต้องกำหนดกลยุทธ์ในลักษณะการเก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งตัวเลือกที่เกี่ยวข้องกับแผนการลงทุนที่ประกาศมาน่าจะเป็นกลุ่มผู้รับเหมาฯรายใหญ่ เช่น CK, STEC, ITD และ UNIQ นอกจากนี้กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ โดย SCC (FV@B 580) เป็นตัวเลือกที่ดี
แม้ Fed จะยืนยันขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ แต่ก็มีโอกาสปรับขึ้นปีหน้าเช่นกัน
วานนี้ มีการประกาศดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐออกมาหลายตัว เริ่มจากภาคแรงงานที่ส่งสัญญาณดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ สิ้นสุด 19 ก.ย. อยู่ที่ระดับ 2.67 แสนราย น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 2.72 แสนราย (ต่ำกว่า 3 แสนรายมากกว่า 6 เดือน) บ่งชี้ว่าภาคแรงงานของสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราการว่างงานล่าสุดอยู่ที่ระดับ 5.1% (ใกล้ระดับเป้าหมาย 5%) ในส่วนตลาดบ้านที่เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดขายบ้านใหม่ เดือน ส.ค.เพิ่มขึ้นที่ระดับ 5.52 แสนยูนิต (เพิ่มขึ้น 21.5%YoY จากปีก่อนหน้า) มากกว่าที่ตลาดคาด 5.15 แสนยูนิต อย่างไรก็ตามยังขัดแย้งกับภาคการผลิตที่ชะลอตัวลง สะท้อนจากยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ติดลบ 2% ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 2% พร้อมกันนี้ช่วงเย็นวานนี้ (ตรงกับเวลาประมาณ 04.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่ Amherst Collage, Massachusetts โดยเยลเลนยังคงยืนยันในคำพูดเดิมที่ว่า Fed ยังมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ (ขณะที่ยังเหลือการประชุม อีก 2 ครั้ง ในเดือน ต.ค. และ ธ.ค.) อย่างไรก็ตาม Fed ยังเปิดช่องว่ามีโอกาสที่การขึ้นดอกเบี้ยจะเลื่อนเป็นปีหน้าได้หากตัวเลขเศรษฐกิจโลกไม่เป็นใจ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของฝ่ายวิจัย
ในทางตรงข้าม ยังมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากหลายๆ ประเทศให้เห็น โดยวานนี้ ธนาคารกลางนอรเวย์ มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เหลือ 0.75% เช่นเดียวกับ ไต้หวัน มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นครั้งแรก (ตั้งแต่ มิ.ย.2554 เป็นเวลา 4 ปี) ลง 0.125 % เหลือ 1.75% รวมทั้งธนาคารกลางเกาหลีใต้ก็มีแนวโน้มที่จะปรับลงเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าการใช้นโยบายยังจำเป็นกับหลายๆ ประเทศ
กลยุทธ์การลงทุนไตรมาส 4Q58 เน้นหุ้นฟื้นพื้นฐานแกร่ง
ฝ่ายวิจัยได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ Invest+ กลยุทธ์การลงทุนไตรมาส 4Q58 ไปตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าอานิสงส์ของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ คาดว่าจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่งวด 4Q58 และฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2559 จึงปรับเพิ่มดัชนีเป้าหมายจากเดิมที่อิง Ex PER สิ้นปี 2558 ที่ 15.5 เท่า ขึ้นไปเป็น 16.5 เท่า จะอยู่ที่ 1,480 จุด (อิง EPS 89.63 บาท) ซึ่งเมื่อคำนวนกลับมาเป็นค่า PER สิ้นปี 2559 ก็จะลดลงเหลือเพียง 14.54 เท่า (อิง EPS ปี 2559 ที่ 101.92 บาท) แม้จะมี upside ราว 7.8% แต่จะเพิ่มเป็น 15% ในปี 2559 ซึ่งคาดว่าดัชนีเป้าหมายจะอยู่ที่ 1,580 จุด โดยกลยุทธ์การลงทุน เน้นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยยังให้น้ำหนักการลงทุน 40% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยมีหุ้นเด่นคือ ADVANC, AOT, CK, COM7,IRPC, KBANK, SCC, SINGER และ SIRI
สำหรับ เงินลงทุนที่เหลือ ให้กระจายไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ทางเลือกที่แนะนำในช่วงนี้ คือการลงทุนตลาดหุ้นต่างประเทศ ซึ่งแนะนำ 3 ตลาดหลัก ที่คาดว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว ได้แก่ ตลาดหุ้นยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐ โดยหุ้นเด่นแนะนำระยะ 3 เดือนข้างหน้าคือ Visa และ Starbucks หรือสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวม ที่เน้นการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ เช่น K-USA (เน้นหุ้นที่เน้นลงทุนในหุ้นที่มี EPS Growth สูง) และ ASP-EUPROP เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นอสังหาริมทรัพย์ และกอง REIT ที่ลงทุนในสินทรัพย์ให้เช่า และ ธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น
ต่างชาติกลับมาขายหนัก กดดันเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง
วานนี้ ตลาดหุ้นอินโดนีเซียหยุดทำการเนื่องจากเป็นวันหยุด แต่ตลาดหุ้นที่เหลือยังคงเปิดทำการปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 447 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) และเป็นการขายสุทธิทั้ง 4 ประเทศ นำโดยไต้หวันถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 206 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) รองลงมาคือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 152 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 24 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ส่วนไทยต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 65 ล้านเหรียญ หรือ 2.4 พันล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกัน 2 วัน โดยมียอดขายรวม 7.2 พันล้านบาท) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันฯขายสุทธิราว 4,653 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ ทั้งนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิราว 774 ล้านบาท และ 494 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ 36.23 บาท/ดอลลาร์ สาเหตุหนึ่งเกิดจาก แรงขายของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยที่กลับมาขายหนักอีกครั้ง โดยวานนี้อ่อนค่าไปมากถึง 36.37 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในรอบเกินกว่า 8 ปีครึ่ง นับตั้งแต่ เดือน ก.พ. 2550 สอดคล้องกับประเทศเพื่อนบาทที่ค่าเงินยังคงอ่อนค่าเช่นกัน โดยตั้งแต่ต้นสัปดาห์นี้ เงินริงกิตมาเลเซีย อ่อนค่า 2.64%, เปโซฟิลิปปินส์อ่อนค่า 0.7% รูเปียะห์อินโดนีเซียอ่อนค่า 0.89% สวนทางกับ Dollar Index กลับปรับตัวแข็งค่าขึ้น 0.41%
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์