- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 21 September 2015 17:43
- Hits: 1458
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยง ขณะที่ภายในประเทศเชื่อว่าการเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ น่าจะเริ่มส่งผลดี กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ เน้นไปที่หุ้น Domestic Play ซึ่งมีโอกาสสร้างผลตอบแทนชนะตลาดได้ เลือก CK([email protected]) และ TCAP([email protected]) เป็น Top picks
Fed คงดอกเบี้ย ตอกย้ำกังวลเศรษฐกิจโลกผันผวน
การที่ Fed มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25% ในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางฯ ให้เหตุผลว่า อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ (เงินเฟ้อ เดือน ส.ค. อยู่ที่ระดับ 0.2% ห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2%) รวมทั้งต้องการเห็นการฟื้นตัวของภาคแรงงานที่ชัดเจนขึ้น โดยอัตราการว่างงาน ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 5.1% (ใกล้กับระดับเป้าหมายที่ 5%) การตัดสินใจดังกล่าวแม้จะสร้างความผ่อนคลายให้กับตลาดเงิน และตลาดหุ้นทั่วโลก ในเรื่องของ Fund Flow ว่ากระแสเงินทุนจะยังไม่ไหลกลับเข้าสหรัฐเร็วเกินไป แต่อีกนัยหนึ่ง ถือเป็นการตอกย้ำว่า Fed ยังกังวลกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สะท้อนได้จากการปรับประมาณการค่ากลาง GDP Growth แม้ว่าจะปรับในปีนี้ขึ้นเป็น 2.1% (จาก 1.9% ในการประชุม มิ.ย.) แต่ได้มีการปรับลด GDP Growth ปีหน้าลงเป็น 2.3% (จาก 2.5% ในการประชุม มิ.ย.) และปรับปี 2560 ลงเป็น 2.2% (จาก 2.3%) พร้อมทั้งปรับอัตราเงินเฟ้อปี 2558 ถึง 2560 ลงเป็น 0.4%, 1.7% และ 1.9% (จาก 0.7%, 1.8% และ 2% ตามลำดับ)
ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะจีน ที่กำลังเข้าสู่การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ และอาจทำให้เศรษฐกิจจีนอยู่ในภาวะชะลอตัวไปอีกราว 1-2 ปี ล่าสุด รัฐบาลจีนได้ผลักดันแผนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในประเทศ ส่งผลให้ Fed จำต้องอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถกระทำการใดๆ ที่จะเกิดความเสี่ยงต่อตลาดเงินโลก และจะส่งผลสะท้อนกลับมายังสหรัฐที่พึ่งพิงการบริโภคเป็นหลัก ฉะนั้น สิ่งที่เหมาะสมในขณะนี้คือ Fed ยังคงต้องรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งฝ่ายวิจัยยังคงมีมุมมองเหมือนเดิมว่า แม้ Fed จะยืนยันว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปลายปีนี้แน่นอน แต่ก็เชื่อว่าโอกาสที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงต้นปีหน้า ก็มีโอกาสเช่นกัน
เช่นเดียวกับอังกฤษ ที่มีการคาดการณ์กันว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจยังไม่เร่งรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน จากตัวเลขเงินเฟ้อและการจ้างงานที่ยังคงไม่ฟื้นตัว เช่นเดียวกับภาคการผลิตและก่อสร้างที่ยังคงชะลอตัว ซึ่งทำให้คาดการเติบโตเศรษฐกิจ (GDP Growth) และเงินเฟ้อในครึ่งปีแรกจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ
หุ้น Domestic Play น่าจะสร้างผลตอบแทนชนะตลาด
ความกังวลจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ที่ดูเหมือนการฟื้นตัวยังไม่มีเสถียรภาพ ขณะที่ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อยู่ในภาวะที่น่ากังวลมากขึ้นดังกล่าวมาข้างต้น สภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้หุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศขาดแรงขับเคลื่อน ทำให้ยากที่จะสร้างผลตอบแทนชนะตลาด (Outperform) ได้ แต่สำหรับหุ้นที่อาศัยแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยในประเทศ (Domestic Play) เป็นหลัก เชื่อว่าจะมีความโดดเด่นและมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ Outperform ตลาดได้ดีกว่า ทั้งนี้ประเมินจากนโยบายของรัฐบาลไทย ที่ได้รวบรวมสรรพกำลัง และเม็ดเงิน โดยให้ความสำคัญกับการออกมาตรการต่างๆ เพื่อเข้าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ให้ฟื้นตัวในทุกภาคส่วน โดยขอบเขตของมาตรการกระตุ้นครอบคลุมตั้งแต่ระดับชุมชนที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจ ธุรกิจ SMEs การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และนำมาซึ่งการสร้างแรงดึงดูดให้ภาคเอกชนลงทุนตามมา ในการกำหนดกลยุทธ์ ฝ่ายวิจัยจะให้ความสำคัญกับหุ้น Domestic Play ที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง เช่น
CK ([email protected]) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่มีโครงสร้างธุรกิจ และโครงสร้างการเงินที่แข็งแกร่ง ทำให้เชื่อว่ามีโอกาสที่จะชนะงานประมูลในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ได้หลายแห่ง
SCC (FV@B580) เป็นผู้ประกอบการในธุรกิจวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าความต้องการสินค้าในระยะยาวมี
แนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากการที่อยู่ในวัฎจักรขาขึ้นของ Olefins
SIRI ([email protected]) ผลประกอบการงวด 2H58 โดดเด่น ขณะที่การสร้าง Presale ใหม่ๆ ก็ทำได้ดีขึ้นมาก นอกจากนี้หากย้อนกลับไปดูผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบที่ผ่านมา พบว่าหุ้น Property ให้ผลตอบแทนที่ชนะ SET Index เกือบ 10 เท่าตัว ในปี 2544
ADVANC (FV@B285) การเปิดประมูลโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 4G ถือเป็นเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของหน่วยงานรัฐ
โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วง พ.ย.2558 ถือเป็นประโยชน์สูงสุดต่อ ADVANC ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีโครงข่ายให้บริการในระบบ 4G
สัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยลดลง อาจเริ่มทยอยกลับมาซื้อ
นับตั้งแต่ย่างเข้าไตรมาส 2 ของปีนี้ นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นการขายสุทธิสะสมติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยมียอดขายสุทธิสะสมในช่วง 3 ปีราว 9.8 พันล้านเหรียญฯ หรือกว่า 3.3 แสนล้านบาท (แบ่งเป็นปี 2556 ขายสุทธิ 6.2 พันล้านเหรียญฯ, ปี 2557 ขายสุทธิ 1.1 พันล้านเหรียญฯ และนับจากต้นปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ขายสุทธิราว 2.5 พันล้านเหรียญฯ) ส่งผลให้ยอดซื้อสะสมของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ปี 2552 ที่มีมูลค่ากว่า 2.09 แสนล้านบาท (ราคาทุน) หรือกว่า 3.22 แสนล้านบาท (ราคาตลาด) ถูกขายไปหมดแล้วเรียบร้อย โดยคาดว่าแรงขายที่ยังหลงเหลืออยู่ในขณะนี้ น่าจะมาจากแรงขายของการถือหุ้นผ่าน NVDR ที่มีสัดส่วนต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี และเมื่อรวมกับยอดที่ปิดโอนเป็นชาวต่างชาติ จะเห็นว่าสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติลดลงไปต่ำสุดที่ 31.78% (ณ วันที่ 31 ส.ค. 2557) เป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 7 ปี
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในอดีต พบว่า สัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติเคยอยู่ในระดับต่ำสุดเมื่อปี 2547 ที่ 28.53% เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติทยอยปรับพอร์ตเพื่อรองรับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed แต่ในครั้งนี้ Fed ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยไปก่อน จึงคาดว่าแรงขายเพื่อเตรียมปรับพอร์ตจึงน่าจะลดน้อยลง บวกกับสถิติในอดีต (10 ปีย้อนหลัง) พบว่า ต่างชาติมีโอกาสซื้อหุ้นไทยในเดือน ต.ค. ราว 60% (ก่อนที่จะกลับมาขายสุทธิอีกครั้งในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. ด้วยโอกาสของความน่าจะเป็นราว 60% เช่นกัน) รวมทั้งแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้น น่าจะเป็นแรงจูงใจที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาซื้อหุ้นไทยในเดือน ต.ค.
ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค แต่กลับขายกลุ่ม TIP
วันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 307 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) โดยเป็นการขายสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 231 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) และไต้หวันถูกซื้อสุทธิราว 126 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) สวนทางกลับกลุ่ม TIP ที่ต่างชาติยังคงขายสุทธิ อย่างอินโดนีเซียที่ถูกขายสุทธิราว 32 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่ถูกขายสุทธิราว 11 ล้านเหรียญ ส่วนไทยต่างชาติสลับมาขายสุทธิราว 7 ล้านเหรียญ หรือ 237 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 3 วัน) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 428 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 21,082 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 254 ล้านบาท ขณะที่ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ 35.68 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์