WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASP copyบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
     Fed คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาด โดยมีโอกาสปรับขึ้นในปี 2559 เชื่อว่าทิศทางของ SET Index จากนี้ไปน่าจะสะท้อนภาพเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น ซึ่งหลังจากมาตรการกระตุ้นฯ ต่างๆถูกนำมาปฏิบัติ ก็น่าจะทำให้เกิดพัฒนาการเชิงบวกได้ ยังคงเน้นตัวเลือกที่เป็น Domestic Play เลือก CK([email protected]) และ TCAP([email protected]) เป็น Top picks

 

Fed คงดอกเบี้ยตามคาด มีโอกาสปรับขึ้นปีหน้า
        ผลจากการประชุม FOMC วานนี้เป็นไปตามคาด โดย Fed มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25% (คงที่ตั้งแต่ปลายปี 2551 หลังวิกฤติ subprime) โดยให้เหตุผลว่า ยังกังวลกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ (เงินเฟ้อ เดือน ส.ค. อยู่ที่ระดับ 0.2%) ห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2% ในส่วนของภาคแรงงาน แม้อัตราการว่างงาน ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 5.1% (ใกล้กับระดับเป้าหมายที่ 5%) ซึ่งจะต้องติดตามการพัฒนาที่ดีขึ้นต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม Fed ก็ยังเปิดโอกาสว่า ยังมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ได้ภายในปี 2558 (เหลือการประชุมอีก 2 ครั้ง) หรือต้นปีหน้า โดยสอดคล้องกับล่าสุด การให้ความเห็นของคณะกรรมการของ FOMC ทั้งหมด 17 คน ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ให้ความเห็นกับการปรับอัตราดอกเบี้ยภายในสิ้นปีนี้ 13 คน ลดลง จาก15 คน (จากการให้ความเห็นเดือน มิ.ย.) และอีก 4 คนที่เหลือ มองว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้นปีหน้า ซึ่งฝ่ายวิจัยยังมองเหมือนเดิมว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นเร็วสุด ในปลายปีนี้ 15 -16 ธ.ค. หรือต้นปีหน้าเช่นกัน


       ในส่วนของประเทศไทย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของภาครัฐที่ออกมาก่อนหน้านี้นั้น ในส่วนโครงการกองทุนหมู่บ้าน วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาท ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมแล้วที่จะปล่อยสินเชื่อ โดยคาดว่าจะสามารถกระตุ้นกำลังซื้อและเห็นผลได้ในงวด 4Q58 เป็นต้นไป โดยเมื่อรวมกับมาตรการอื่น ๆ ซึ่งมีวงเงินรวม 1.36 แสนล้านบาท คาดว่าจะสามารถดัน GDP Growth ในปี 2558 เติบโตได้ 2.7% ตามที่ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ไว้


       รวมทั้งมาตรการอื่นที่ค่อยๆ ทยอยออกมา ล่าสุด 16 ก.ย. การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) เห็นชอบในการกำหนดประเภทคลัสเตอร์เป้าหมาย จำนวน 6 กลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มซุปเปอร์คลัสเตอร์ 6 กลุ่มได้แก่ ยานยนต์ และชิ้นส่วน, เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์โทรคมนาคม, ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์, เกษตรแปรรูป และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งคาดว่าจะเป็นการวางยุทธศาสตร์ให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนชัดเจนขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนตามแผนที่รัฐบาลวางไว้

 

ย้อนเวลากลับไปดู ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2544 กลุ่มอสังหาฯ โดดเด่นสุด
        ฝ่ายวิจัยได้เคยนำเสนอข้อมูลเชิงเปรียบเทียบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลปัจจุบัน นำออกมาใช้กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2544 ซึ่งพบว่ามีความคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเคลี่อนไหวของเศรษฐกิจในระดับชุมชน และการส่งเสริมการลงทุนด้านต่างๆ เพียงแต่ในการใช้มาตรการในรอบนี้มีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่ปิดข้อบกพร่องของสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต ประเด็นที่น่าสนใจกลับไปดูอีกครั้งก็คือผลของการดำเนินมาตรการกระตุ้นปี 2544 ในแง่มุมต่างๆ โดยหากพิจารณาในเชิงของภาพรวมเศรษฐกิจ ก็จะพบว่า หลังมาตรการต่างๆ มีผลบังคับใช้ สถานการณ์เศรษฐกิจก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ (อ่านใน ASP Economic Update ฉบับวานนี้) ส่วนในแง่มุมของ SET Index แล้ว พบว่าหลังจากผ่านงวด 1Q44 ไปแล้ว SET Index ก็ผ่านจุดต่ำสุด และค่อยๆ ปรับขึ้นไปตามลำดับ โดยช่วง เม.ย. ถึงสิ้นปี 2544 SET index ปรับขึ้น 8.7% กลุ่มฯ ที่สามารถปรับขึ้นได้มากกว่าตลาด ได้แก่ อสังหาฯ 70.5% วัสดุก่อสร้าง 44.5% เกษตรฯ 41.5% ชิ้นส่วนฯ 39.1% ยานยนต์ฯ 36.6%, อาหาร 31%, ธุรกิจการเงิน 29.8%, ประกันฯ 24.8% จนเห็นการปรับขึ้นแรง ในช่วงปี 2545 – 2546 (ปี 2545 SET ปรับขึ้นได้ในช่วงครึ่งแรกของปี ก่อนที่จะอ่อนตัวลงในครึ่งปีหลัง ส่งผลให้ทั้งปี 2545 SET ปรับขึ้น 17.3% นำโดยกลุ่มวัสดุก่อสร้าง 115.7%, ปิโตรฯ 71.9%, อสังหาฯ 71.9%, การแพทย์ 68.3%, ขนส่ง 61.9%, ยานยนต์ 53.2%)


        โดยหากประเมินในแง่มุมของ PER แล้วพบว่า ในปี 2544 เป็นปีแรกที่ บริษัทจดทะเบียนกลับมาทำกำไร หลังจากวิกฤติต้มยำกุ้ง โดยระดับค่า PER ณ สิ้นปี 2544 อยู่ที่ระดับประมาณ 10 เท่า ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับขึ้นไปสู่ 12 เท่าในปี 2546 ตามลำดับ หากรูปแบบของผลกระทบในรอบนี้ ออกมาคล้ายๆ กับปี 2544 – 2546 ก็น่าจะทำให้ Downside ของ SET Index อยู่ในกรอบที่จำกัด และน่าจะค่อยๆมีพัฒนาการที่ดีขึ้น

ค่าเงินเอเชียกลับมาแข็งค่าต่อเนื่อง


       หลังจากการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยของ Fed พบว่า Dollar Index ปรับตัวอ่อนค่าราว 1% นับจากต้นสัปดาห์ เช่นเดียวกันเมื่อเทียบดอลลาร์กับยูโร ก็พบว่าอ่อนค่าราว 1.14% ในขณะที่ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียกลับปรับตัวมาแข็งค่า หลังจากอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องหลังการประกาศลดค่าเงินหยวนในเดือนที่ผ่านมา อาทิ ริงกิต (1.15%) เปโซ (0.61%) ขณะที่เงินรูเปียะห์ยังคงอ่อนค่า (-0.08%) ด้านเงินบาทไทยกลับมาแข็งค่า (0.46%) อยู่ที่ 35.84 บาท/เหรียญฯ ซึ่งเมื่อสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนกับ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) จะพบว่าเมื่อบาทแข็งค่าขึ้นจะทำให้ Fund Flow ไหลเข้า ผลักดันตลาดให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยสะท้อนจากดัชนี SET Index กล่าวคือเมื่อย้อนดูในอดีตพบว่าในช่วงเดือน มิ.ย. 2553- เม.ย. 2554 ระยะเวลา 10 เดือนเงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 11.14% ทิศทางเดียวกับ SET Index ที่ปรับขึ้นราว 31.20% และในลักษณะเดียวกันช่วงเดือน ก.ย. 2556 – ต.ค. 2556 ระยะเวลา 1 เดือน บาทแข็งค่าราว 3.66% ทิศทางเดียวกับ SET Index ที่ปรับขึ้นราว 10.28%

 

ต่างชาติซื้อหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นวันที่ 3
       วานนี้ นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 468 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) แต่เป็นการขายสุทธิอยู่ประเทศเดียว คือ อินโดนีเซียที่ถูกขายสุทธิราว 47 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ส่วนที่เหลืออีก 4 ประเทศ ต่างชาติซื้อสุทธิ คือไต้หวันถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 379 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิราว 97 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่ถูกซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 5 ล้านเหรียญ ส่วนไทยต่างชาติยังคงซื้อสุทธิราว 35 ล้านเหรียญ หรือ 1,250 ล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 625 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1,392 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 198 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ 35.76 บาท/ดอลลาร์

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!