- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 17 September 2015 18:26
- Hits: 1471
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เงินเอเซียมีสัญญาณแข็งค่าระยะสั้น ถือเป็นปัจจัยหนุน Fund Flow กลับเข้าเอเซียระยะสั้น ๆ จนกว่าจะเห็นการฟื้นตัวเศรษฐกิจในงวด 4Q58 ขณะที่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยบวกที่รออยู่ และช่วยผ่อนคลายความกังวลในจีนได้บ้าง ยังเน้นหุ้น Domestic Play เลือก CK([email protected]) และ TCAP([email protected]) เป็น Top picks
ให้น้ำหนักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในงวด 4Q58
เป็นไปตามคาด วานนี้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงดอกเบี้ยฯ ที่เดิมคือ 1.5% หลังจากได้ปรับลดไปแล้ว 2 ครั้ง รวม 0.5% นับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากรัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบราว 2 แสนล้านบาท ซึ่งน่าจะกระตุ้นกำลังซื้อได้ดีกว่าการลดดอกเบี้ยฯ และน่าจะเห็นผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในงวด 4Q58 ประเด็นนี้จึงมีน้ำหนักต่อตลาดไม่มาก แต่น่าจะยังคงให้ความสำคัญกับการเดินหน้าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมนับจากนี้ ทั้งนี้หากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปตามคาดคือ สามารถอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นไป คาดว่า GDP Growth ของไทยในงวด 4Q58 น่าจะเติบโตได้ 2.6% ฟื้นตัวจากที่คาดว่าจะเติบโตเพียง 2.3% ในงวด 3Q58 ขณะที่ในงวด 1H58 เติบโต 2.9% ดังนั้นทั้งปี 2558 จะเติบโต 2.7% ซึ่งดีกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่า 2.5% ภายใต้สมมติฐานการบริโภคภาคครัวเรือน เติบโต 2.2%, การใช้จ่ายภาครัฐ เติบโต 4.7%,
การลงทุนภาคเอกชน เติบโต 3.4 %, การส่งออก เติบโต 3.2% และการนำเข้า เติบโต 2.8% และกำหนดให้เงินบาทเฉลี่ยปี 2558 อยู่ที่ 34 บาทต่อเหรียญ และปี 2559 คาดว่า GDP Growth จะเติบโต 3.8% ภายใต้สมมติฐานการบริโภคภาคครัวเรือน เติบโต 3 %, การใช้จ่ายภาครัฐ เติบโต 5%, การลงทุนภาคเอกชน เติบโต 3.0 %, การส่งออก เติบโต 1.4% แต่การนำเข้า -0.1% โดยกำหนดให้เงินบาทเฉลี่ยปี 2559 อยู่ที่ 35 บาทต่อเหรียญ
สำหรับปี 2559 นักวิเคราะห์กลุ่มพลังงาน ได้กำหนดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 65 เหรียญฯต่อบาร์เรล สูงกว่าสมมติฐานปี 2558 ที่เฉลี่ย 53 เหรียญฯ อยู่ราว 23% ทำให้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2559 อาจจะขยับขึ้นเป็น 2.15-4% จากปี 2558 ที่คาดว่าจะติดลบ 0.85% ด้วยเหตุนี้จึงคาดว่า กนง. มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าเป็นต้นไป (ติดตาม Economics Update เร็วๆ นี้)
ตลาดน่าจะผ่อนคลาย คาดหวัง Fed เลื่อนการขึ้นดอกเบี้ย
วันนี้เป็นวันที่ 2 ของการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ซึ่งกำหนดขึ้นระหว่าง 16-17 ก.ย. นี้ เชื่อว่าผลการประชุมไม่น่าจะมีอะไรใหม่ และน่าจะเป็นไปตามตลาดคาดคือ Fed จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ แต่น่าจะไปขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ คือวันที่ 15-16 ธ.ค. โดยตลาดประเมินอัตราดอกเบี้ยฯ เป้าหมายสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 0.76% (ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ที่ 1.375%) เพราะถึงแม้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจนทำให้อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 5.1% แต่ประเด็นที่น่าจะมีน้ำหนักในการตัดสินใจของ Fed คือ อัตราเงินเฟ้อที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับต่ำ 0.2% ต่อเนื่องมานาน 2 เดือน ซึ่งยังห่างจากเป้าหมาย 2% ขณะที่ยอดค้าปลีก (Retail sales) เดือน ส.ค. อยู่ที่ระดับ 0.2% ลดลงจาก 0.6 % เดือนก่อนหน้า สะท้อนกำลังซื้อภาคครัวเรือนชะลอตัวลงและเพิ่มความระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เช่นเดียวกับ ตัวเลขการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ลดลงเท่ากับ 0.4% เทียบกับตลาดคาดว่าจะลดลง 0.1% จึงทำให้เชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยฯ จะค่อยเป็นค่อยไป และหากจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ก็น่าจะทำได้เพียงครั้งเดียว และปรับขึ้นได้ไม่เกิน 0.25% ทั้งนี้เนื่องจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยังส่งสัญญาณการฟื้นตัวล่าช้า
ด้วยเหตุนี้จึงได้หนุนให้เงินสกุลดอลลาร์มีแนวโน้มชะลอการแข็งค่า และเริ่มอ่อนค่าตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตรงกันข้ามกับค่าเงินในภูมิภาคเอเชียก็กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง หลังจากอ่อนตัวอย่างต่อเนื่องหลังการประกาศลดค่าเงินหยวนในเดือนที่ผ่านมา โดยพบว่าเงินบาทเริ่มแข็งค่า โดยลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 36 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่า 0.5% ค่าเงินเปโซ แข็งค่า 1% เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่หนุนให้ Fund Flow กลับมาซื้อขายหุ้นในเอเซียระยะสั้น จนกว่าจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2559
สต็อกน้ำมันลด หนุนราคาน้ำมันดิบฟื้นตัว ดีต่อ PTT/PTTEP
วานนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ สิ้นสุด 11 ก.ย. ลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการลดลงหลังจากปรับขึ้น 2 สัปดาห์ติดต่อกัน ส่งผลให้สต็อกน้ำมันดิบอยู่ที่ 455.8 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นโอกาสของโรงกลั่นที่จะเข้ามาผลิตอีกครั้ง ซึ่งจะเห็นว่าปริมาณน้ำมันดิบในคลังน้ำมัน Cushing ซึ่งเป็นคลังน้ำมันใหญ่สุดลดลงกว่า 1.5 ล้านบาร์เรล ในขณะที่สต็อกน้ำมันสำเร็จรูปกลับปรับเพิ่มขึ้น ทั้งน้ำมันดีเซล และกับน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้น 2.84 และ 3.06 ล้านบาร์เรล เนื่องจากสิ้นสุดฤดูกาลขับขี่ในสหรัฐแล้ว แต่เป็นที่สังเกตว่าราคาน้ำมันดิบโลกไม่ลดลง แต่มีลักษณะทรงตัว เช่น ราคาน้ำมันในตลาดล่วงหน้า ฟื้นตัวและยืนเหนือระดับต่ำสุดที่ 42.69 เหรียญฯ และราคาน้ำมันดูไบ ไม่ทำจุดต่ำใหม่ โดยเคลื่อนไหวใกล้ 45 เหรียญฯ หากราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยจากต้นปีถึงปัจจุบันที่ 55.14 เหรียญฯ ซึ่งเทียบกับสมมุติฐาน 53 เหรียญฯ และปี 2559 ที่ 65 เหรียญฯ ซึ่งถือว่าได้สะท้อนในราคาหุ้นน้ำมัน เช่น PTT(FV@360), PTTEP(FV@94) ไปมากแล้ว
ต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อหุ้นไทย กดดันให้บาทแข็งค่าขึ้น
วานนี้ นักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 318 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่องเป็น 4 วัน) แต่เป็นการขายสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซียที่ถูกขายสุทธิราว 26 ล้านเหรียญ เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่ถูกขายสุทธิราว 7 ล้านเหรียญ ส่วนที่เหลือต่างชาติซื้อสุทธิคือ เกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิเป็นครั้งแรกราว 184 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่องนานถึง 28 วัน) ตามมาด้วยไต้หวันถูกซื้อสุทธิราว 184 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิได้เพียงวันเดียว) ส่วนไทยต่างชาติยังคงซื้อสุทธิราว 11 ล้านเหรียญ หรือ 403 ล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 1,086 ล้านบาท
หากสังเกตในช่วง 5 วันทำการที่ผ่านมา พบว่า ไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่ม TIP ที่ต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อหุ้นมากขึ้น โดยมียอดซื้อสุทธิสะสมราว 42 ล้านเหรียญ หรือ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากจุดสูงสุดที่ 36.17 บาทต่อเหรียญฯ ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ 35.86 บาทต่อเหรียญฯ ขณะที่ตลาดหุ้นอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่ยังคงถูกขายสุทธิสะสมราว 50 ล้านเหรียญ, 534 ล้านเหรียญ ตามลำดับ
ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1,392 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิราว 991 ล้านบาท
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์