- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 16 September 2015 17:22
- Hits: 1214
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดน่าจะได้รับ Sentiment เชิงบวกตลาดต่างประเทศ ซึ่งน่าจะผ่อนคลาย Fed มีแนวโน้มเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยสูง ขณะที่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยบวกที่รออยู่ และช่วยผ่อนคลายความกังวลในจีนได้บ้าง ยังเน้นหุ้น Domestic Play เลือก CK([email protected]) และ TCAP([email protected]) เป็น Top picks
TISCO, KTB, SCB ต้องตั้งสำรองฯ SSI เพิ่มขึ้น
แม้ระยะสั้นแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ จะช่วยหนุนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจการเงินรายย่อย (ลิสซิ่ง แฟคตอริ่ง) และค้าปลีก เป็นต้น แต่ยังมีประเด็นลบที่อาจจะเข้ามากดดันบรรยากาศการซื้อขายของตลาดได้เนื่องจากปัญหาของ SSI ที่คาดว่าจะประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และกระทบกับราคาเหล็กมากสุด เนื่องจาก SSI เป็นผู้ผลิตเหล็กครบวงจร คือตั้งแต่เหล็กต้นน้ำ โดยมีโรงถลุงเหล็กที่อังกฤษ (SSI UK) และเหล็กทรงแบน (ใช้ในการผลิตรถยนต์ ท่อเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และเครื่องใช้ไฟฟ้า) จนทำให้ปัจจุบันนี้มีส่วนของผู้ถือหุ้น (มูลค่าตามบัญชีติดลบ) ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ นอกจากกระทบต่อผู้ถือหุ้นเดิมแล้ว ยังกระทบต่อเจ้าหนี้รายใหญ่ 3 รายคือ KTB, SCB และ TISCO ที่จำเป็นจะต้องตั้งสำรองหนี้ที่มีปัญหาเพิ่มเติม โดย KTB และ SCB มีการปล่อยสินเชื่อให้ SSI แห่งละ 2 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยสินเชื่อที่ปล่อยให้แก่ SSI (ประเทศไทย) และ SSI – UK ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ส่วน TISCO ปล่อยสินเชื่อ 4
พันล้านบาท ประกอบด้วย SSI (ประเทศไทย) เพียง 800 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 3.20 พันล้านบาท เป็นสินเชื่อที่ให้แก่ SSI – UK ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยกดดันที่เกิดต่อเนื่องมานาน และทำให้มีความเสี่ยงที่ทั้ง 3 ธ.พ. ต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มเติมในงวด 3Q58 ดังกล่าว
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยแนะนำให้ชะลอการลงทุนในหุ้นทั้ง 3 ธ.พ. ที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการตั้งสำรองหนี้ของ SSI และแนะนำให้ switch การลงทุนไปยัง ธ.พ. อื่น ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการภาครัฐ ได้แก่
มาตรการปรับลดภาษีรถยนต์มือสองส่งออก เลือก TCAP ([email protected]) ราคาปัจจุบันยังมี upside อีกกว่า 21% ซึ่งยังไม่ได้รวมประเด็นบวกจากมาตรการปรับลดภาษีรถมือสองส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้เร็วๆ นี้จะส่งผลบวกต่อราคารถมือสองในประเทศ และบวกต่อ TCAP ทั้งความต้องการรถยนต์มือสอง และแนวโน้มผลขาดทุนจากรถยึดคืนที่จะปรับตัวลดลง ส่งผลบวกต่อแนวโน้มผลการดำเนินงาน
มาตรการสภาพคล่องของลูกหนี้ SMEs เลือก KBANK (FV@B232) มีสัดส่วนในการปล่อยสินเชื่อ SMEs สูงถึง 38% ของสินเชื่อรวม ทั้งยังมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีเยี่ยม ทั้งยังมีการตั้งปริมาณสำรองหนี้ระดับสูงเป็นภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง
ตลาดน่าจะรับรู้ Fed เลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไป
วันนี้จะเริ่มมีการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เป็นเวลา 2 วัน คือระหว่าง 16-17 ก.ย. นี้ ตลาดน่าจะรับรู้ถึงแนวโน้มที่ Fed จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ แต่น่าจะไปขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ คือวันที่ 15-16 ธ.ค.ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป้าหมายที่ตลาดประเมินไว้สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 0.76% (ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ที่ 1.375%) ซึ่งคาดว่ายังสูงไป หากจะขึ้นครั้งเดียวน่าจะปรับขึ้นได้ไม่เกิน 0.25% ทั้งนี้เนื่องจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยังส่งสัญญาณการฟื้นตัวล่าช้า กล่าวคือ ตัวเลขยอดค้าปลีก (Retial sales) ประจำเดือน ส.ค. อยู่ที่ระดับ 0.2% ลดลงจาก 0.6 % เดือนก่อนหน้า ทั้งนี้คาดว่าเกิดจากภาคครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เช่นเดียวกับ ตัวเลขการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ลดลงเท่ากับ 0.4% ซึ่งลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 0.1%
ประเทศไทย วันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเชื่อว่าน่าจะยืนดอกเบี้ยฯ ที่เดิมคือ 1.5% เพราะเชื่อว่าการที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบราว 2 แสนล้านบาท น่าจะกระตุ้นกำลังซื้อได้ดีกว่าการลดดอกเบี้ยฯ และน่าจะเห็นผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในงวด 4Q58 ประเด็นนี้จึงมีน้ำหนักต่อตลาดไม่มาก แต่น่าจะยังคงให้ความสำคัญกับการเดินหน้าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมนับจากนี้
ขณะที่ผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เมื่อวานนี้ สรุปว่ายังคงมาตรการ QE ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อไป จนกว่าจะเห็นอัตราเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% โดยล่าสุดเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. อยู่ที่ระดับ 0.2% ทั้งนี้เชื่อว่าตลาดน่าจะให้ความสนใจในการประชุมรอบถัดไปคือ 30 ต.ค. ซึ่งจะมีการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ และเป้าหมายเศรษฐกิจในปี 2559 ทำให้คาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากปัจจุบัน
การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจวานนี้เป็นการตอกย้ำว่าแนวโน้มการเลื่อนปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้สูง สะท้อนให้เห็นต่อเงินสกุลดอลลาร์ที่อ่อนค่าต่อเนื่องตั้งแต่ปลายสัปดาห์ก่อน เช่นเดียวกันเมื่อเทียบดอลลาร์กับยูโร ก็พบว่าอ่อนค่าราว 7.39% (จุดแข็งค่าสุดเดือน มี.ค. ที่ 1.05 เหรียญฯต่อยูโร) ตรงกันข้ามกับค่าเงินในภูมิภาคเอเชียก็กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง หลังจากอ่อนตัวอย่างต่อเนื่องหลังการประกาศลดค่าเงินหยวนในเดือนที่ผ่านมา อาทิ ริงกิต (1%) เปโซ (0.6%) รูปี (0.7%) และรูเปียะห์ที่ยังยืนระดับเดิม จึงคาดการณ์ว่ายังคงเป็นปัจจัยให้ Fund Flow ไหลเข้าในระยะสั้น
ไทยเป็นตลาดเดียวในภูมิภาคที่ต่างชาติซื้อสุทธิ
วานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 686 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) โดยเป็นการขายสุทธิอยู่ 4 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 523 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2556 ที่ผ่านมารองลงมาคือ เกาหลีใต้ขายสุทธิราว 121 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 28) ตามมาด้วยไต้หวันขายสุทธิราว 49 ล้านเหรียญฯ หลังจากซื้อสุทธิได้เพียงวันเดียว) และอินโดนีเซียขายสุทธิราว 18 ล้านเหรียญ สวนทางกับไทย เป็นประเทศเดียวที่ต่างชาติซื้อสุทธิราว 24 ล้านเหรียญ หรือ 876 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ตรงข้ามกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 816 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 12,749 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 198 ล้านบาท แต่การที่ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นไทย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทชะลอการอ่อนค่าขึ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ 35.93 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์