- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 09 September 2015 17:04
- Hits: 4900
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
รัฐเดินหน้าช่วยเหลือ SMEs ผ่านการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ธนาคารพาณิชย์ เท่ากับช่วยกระตุ้นสินเชื่อโดยรวม ดีต่อธนาคารฯ ที่มีฐานลูกค้า SMEs สูง คือ KBANK(FV@B232) จึงเลือกเป็น Top pick และลงทุนระยะสั้น RS(FV@B13) เป็นผู้ที่อยู่รอดในธุรกิจทีวีดิจิตอล โดยให้ขายทำกำไร WORK(FV@B45) เพราะราคาหุ้นเกินมูลค่าพื้นฐานปี 2558 แล้ว
ผ่อนคลายระยะสั้น..มีปัจจัยหนุนทั้งภายนอกและในประเทศ
เชื่อว่าตลาดหุ้นโลกวันนี้น่าจะได้รับ sentiment เชิงบวกทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยหลังจากบ่ายวานนี้ จีนรายงานยอดการค้าระหว่างประเทศดีกว่าคาด กล่าวคือยอดส่งออกเดือน ส.ค. ลดลง 5.5 %YoY น้อยกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 6.6% YoY (และยังฟื้นตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ปรับตัวลงแตะระดับ 8.3% YoY) ขณะที่ยอดนำเข้าเดือน ส.ค.หดตัวลง 13.8% YoY (หดตัวลงเป็นเดือนที่ 10ติดต่อกัน) โดยเป็นการหดตัวลงมากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดเพียง 8.2% แต่ได้หนุนให้ยอดดุลการค้า เกินดุลสูง 6.024 หมื่นล้านเหรียญ และสูงกว่าตลาด คาดการณ์ 4.82 หมื่นล้านเหรียญ แม้ว่าภาพรวมยังเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวต่ำกว่าคาด และมีโอกาสเติบโตต่ำกว่า 7% ทำธนาคารกลางจีนยังมีช่องว่างที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก แม้ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้เพิ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% พร้อมกับลด RRR ลงอีก 0.5% (เมื่อ 2สัปดาห์ที่แล้ว)
ส่วนทางด้านสหรัฐฯ แม้อัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. ลดลงอยู่ที่ 5.1% และเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์ แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีปัญหาเงินเฟ้อ ที่ยังต่ำเพียง 0.1 %(ต่ำกว่าเป้าหมาย 2%) ซึ่งทำให้ ASPS เชื่อว่า Fed จะยังไม่รีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม ในวันที่ 16-17 ก.ย. (อีก 1สัปดาห์ข้างหน้าที่จะถึงนี้) โดยคาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วสุดในปลายปีคือ 15-16 ธ.ค. 2558หรืออาจเป็นต้นปี 2559 ปัจจัยนี้ถือว่าตลาดน่าจะให้น้ำหนักน้อยลง
ขณะที่ปัจจัยในประเทศ วานนี้ ครม. ได้อนุมัติ โครงการช่วยเหลือ และร่วมลงทุนกับ SMEs รวมถึงมีแผนที่จะปิดโครงการรถยนต์คันแรก โดยเตรียมจะเสนอให้ลดระยะเวลาการถือครองรถยนต์คันแรก จากเดิม 5 ปี ให้เหลือ 3 ปี พร้อมกับจะลดภาษีส่งออกรถยนต์มือสอง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้รถยนต์มือสองสามารถระบายออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ แล้วยังช่วยให้ราคารถยนต์มือสองไม่ตกต่ำอย่างมากเหมือนช่วงที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะดีต่อผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (TCAP, KKP, TISCO) ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศอีกทางหนึ่ง
กระตุ้นเศรษฐกิจกิจผ่าน SMEs ดีต่อ KBANK, TMB
ครม. อนุมัติโครงการปล่อยสินเชื่อ Soft loans ให้กับ SMEs วงเงิน 1 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 4% ต่อปี พร้อมกับลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 10% จากปัจจุบัน 15% โดยวงเงินดังกล่าวจะมาจากธนาคารออมสิน จะเป็นผู้ปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 0.1% ให้กับธนาคารพาณิชย์ เป็นผู้ปล่อยกู้ให้กับ SMEs โดยที่มีธนาคาร บสย. ค้ำประกันเงินกู้ยืมราว 18-21% (นโยบายการช่วยเหลือ SMEs ในครั้งนี้จะคล้ายกับปี 2545 ซึ่งมีการปล่อยกู้ให้ SMEs 8.5 หมื่นล้านบาท จากวงเงินช่วยที่กำหนดไว้ราว 2 แสนล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนมาจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดย่อม ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย)
สำหรับแผนระยะกลาง-ยาว มีนโยบายที่จะจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนระหว่าง SME Bank ออมสิน และ KTB มูลค่ารวม 6 พันล้านบาท โดยมีเป้าหมายจะเข้าร่วมทุนในลักษณะ Venture Capital กับ SMEs เพื่อให้ SMEs มีเงินทุนในการหมุนเวียน โดยปราศจากดอกเบี้ย โดยคาดว่าจะทยอยลงทุนครั้งละ 2 พันล้านบาท
โดยภาพรวมคาดว่าส่วนนโยบายปล่อยสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ SMEs น่าจะสร้าง sentiment เชิงบวกต่อธนาคารพาณิชย์ กล่าวคือจะทำให้ภาพรวมของการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ น่าจะเติบโตได้เกินจากเป้าหมายที่นักวิเคราะห์ ASPS ประเมินไว้ที่ 7.48% ในปี 2558 และ 7.17% ในปี 2559 โดยเฉพาะธนาคารที่มีฐานลูกค้า SMEs ในสัดส่วนที่สูงได้แก่ KBANK(FV@B232),TMB([email protected]) ซึ่งมีสัดส่วนสินเชื่อ SMEs ราว 38% และ 37% ของสินเชื่อรวม ตามลำดับ อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในเรื่องปัจจัยพื้นฐานทั้งในเรื่องของ PER และ upside พบว่า KBANK มี PER ต่ำเพียง 10.3 เท่าในปีนี้ และ 8.8 เท่าในปีหน้า และมี upside สูงสุด 30% จึงเลือกเป็น Top pick
ความเสี่ยงปรับลดประมาณการฯ มีน้อยลง
ดังที่กล่าวแล้วว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจะมีส่วนช่วยให้ GDP Growth มีแนวโน้มฟื้นตัวตั้งแต่งวด 4Q58 และ ASPS มีแนวโน้มจะปรับเพิ่ม GDP Growth ในปี 2558 จากที่ประเมินไว้ 2.5% เล็กน้อย โดยน่าจะอยู่ระหว่าง 2.8-3% และในปี 2559 คาดว่า GDP Growth น่าจะแตะระดับใกล้ 4% ซึ่งจะนำเสนอเร็วๆ นี้ ทำให้เชื่อมั่นว่าความเสี่ยงต่อการปรับลดประมาณการกำไรตลาดในปี 2558 และ 2559 มีน้อยลง หลังจากที่มีการปรับลดประมาณถึง 3 ครั้ง นับจากต้นปี 2558 ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ ASPS เปิดเผยว่ามีโอกาสปรับเพิ่มกำไรในบางกลุ่ม โดยเฉพาะหุ้นที่อิงเศรษฐกิจในประเทศ ได้แก่
กลุ่มธนาคารพาณิชย์: คาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ น่าจะเริ่มมีผลอย่างเร็วสุดคืองวด 4Q58 ก่อนที่จะส่งผลชัดเจนตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป โดยคาดยอดสินเชื่อจะเติบโตสูงกว่าประเมินไว้ที่ราว 7% yoy และการตั้งสำรองหนี้ฯ อาจลดลง จากเดิมที่ทำไว้สูงขึ้น ทั้งนี้คาดว่า KBANK, TMB จะได้ประโยชน์จากแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อ SME ได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ TISCO, TCAP, KKP เริ่มเห็น sentiment เชิงบวกมากขึ้นทั้งการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ใหม่และรถเก่าในปี 2559 รวมถึงการตั้งสำรองหนี้ฯสำหรับผลขาดทุนจากการขายรถยึดที่ลดลงจากเดิมมาก หากภาครัฐสามารถแก้ไขหลักเกณฑ์การระบายรถมือสองเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้มากขึ้น
กลุ่มเช่าซื้อ: มีแนวโน้มปรับเพิ่มประมาณการของ AUCT, LIT ในปี 2559 เนื่องจากได้ประโยชน์จากการปล่อยสินเชื่อรถมืองสองมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการส่งออกรถยนต์มือสองไปยังตลาดต่างประเทศ ขณะที่กลุ่มอื่นๆ มีแนวโน้มคงประมาณการ ได้แก่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้างและกลุ่มวัสดุก่อสร้าง, เหล็ก, นิคมอุตสาหกรรม, บันเทิงสื่อสาร, ขนส่งทางอากาศ รวมถึงกลุ่ม Global Play คือ กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี เช่นเดียวกับกลุ่มส่งออก ก็มีแนวโน้มคงประมาณการเช่นกัน คือ
กลุ่มเกษตร-อาหาร : กำลังซื้อในประเทศและราคาผลิตภัณฑ์สัตว์บกที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อาจกดดันผลประกอบการของ CPF แต่ฝ่ายวิจัยได้ตัดลดประมาณการไปล่วงหน้าแล้ว จึงคาดว่าช่วงที่เหลือของปี 2558 ไม่น่าจะมีการปรับลดประมาณการอย่างมีนัยฯ
กลุ่มชิ้นส่วนฯ : แม้งวด 3Q58 จะเป็นช่วง High Season ของอุตสาหกรรมส่งออก แต่จากภาวะที่เศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลกชะลอตัวลง ส่งผลให้คำสั่งซื้อต้องมีการเลื่อนหรือชะลอออกไป อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดประมาณไปแล้วล่วงหน้า จึงคาดว่าช่วงที่เหลือของปีไม่น่าจะมีการปรับประมาณการเพิ่มเติม
ปี 2558 ต่างชาติยังขายสุทธิในตลาด TIP
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 434 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7) โดยเป็นการขายสุทธิทั้ง 5 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 238 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 23) รองลงมาคือ ไต้หวันขายสุทธิราว 97 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่ขายสุทธิราว 50 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6) และฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 17 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ และ 5) ไทยขายสุทธิราว 32 ล้านเหรียญ หรือ 1,150 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 911 ล้านบาท
หากพิจารณากระแสเงินจากต่างชาติตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่า ยอดซื้อสุทธิสะสมหุ้นในภูมิภาคลดลงเหลือเพียง 633 ล้านเหรียญ (เมื่อเทียบกับยอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน พ.ค. สูงราว 1.8 หมื่นล้านเหรียญ) โดยเป็นการซื้อสุทธิสะสมอยู่ 2 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวันและเกาหลีใต้ ซึ่งมียอดซื้อสะสมสุทธิราว 2.7 พันล้านเหรียญ และ 1.2 พันล้านเหรียญ ตามลำดับ สวนทางกลับกลุ่ม TIP ที่ต่างชาติขายสุทธิสะสม ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, และไทย มียอดขายสะสมสุทธิราว 237 ล้านเหรียญ, 550 ล้านเหรียญ และ 2.7 พันล้านเหรียญ ตามลำดับ ขณะที่ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 15,670 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 3,150 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 36.06 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์