- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 27 June 2014 17:40
- Hits: 2730
บล.ฟินันเซีย ไซรัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
ช่วงนี้คาด..กรอบขึ้นจำกัดและมีสิทธิย้อนลบให้เห็นอยู่ ดังนั้นรอซื้อลบ!!
กลยุทธ์ : ถึงแม้ว่าเมื่อวานนี้ SET จะสามารถรีบาวด์กลับขึ้นมาได้ดีเกินคาด แต่ FSS มองว่ากรอบขึ้นน่าจะยังจำกัด โดยมีสิทธิผันผวนและปรับย้อนลงได้อีก เนื่องจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจของไทยและแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งเช้านี้ยังมีประเด็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดของเฟดเข้ามากดดันอีก ดังนั้นเรายังแนะนำให้ดูจังหวะทยอยซื้อช่วงตลาดย้อนลบดีกว่า อย่างไรก็ตามส่วนถือลงทุนเรายังแนะนำเน้นถือต่อเนื่องได้
หุ้นเด่นทางเทคนิค : AI, LPN, KKP(short)
แนวโน้ม : เช้านี้ตลาดหุ้นต่างประเทศไม่ได้สดใสนัก หลังตลาดหุ้นสหรัฐกลับมาปรับตัวลงอีกครั้ง เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มที่เฟดอาจจะขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ตามที่ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ออกมาส่งสัญญาณ แต่เนื่องจากประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ไม่ได้เป็นหนึ่งในที่ประชุม FOMC จึงทำให้ DJIA ปรับลงแรงแค่ช่วงต้น ก่อนที่จะมีแรงซื้อกลับเข้ามาหนุนให้ปิดลบเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้ตลาดเอเชียเช้านี้ไม่ได้ปรับตัวลงรุนแรงมากนัก อย่างไรก็ตามเนื่องจาก SET ยังแกว่งตัวอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศก็ยังคงมียอดขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยติดต่อกันถึง 3 สัปดาห์แล้ว ถึงแม้ว่าจะเริ่มบางตาลงบ้าง แต่ก็น่าจะยังกดดันต่อความมั่นใจของนักลงทุนพอควร จึงทำให้ FSS คาดว่ากรอบการบวกขึ้นของ SET ช่วงนี้น่าจะยังจำกัด และยังมีโอกาสที่จะปรับพักตัวลงก่อนได้ ดังนั้นเราจึงยังแนะนำให้รอเลือกหุ้นเข้าซื้อในช่วงตลาดปรับตัวลงเป็นลบจะเหมาะสมกว่า
แนวรับ 1475-1472 , 1469-1465 จุด แนวต้าน 1478-1480 , 1483-1486 จุด
Fund Flow วานนี้ยังไหลเข้าตลาดหุ้นภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ในปริมาณที่ค่อนข้างเบาบาง นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไต้หวัน US$187.5 ล้าน เกาหลีใต้ US$101.1 ล้าน เวียดนาม US$5.5 ล้าน และฟิลิปปินส์ US$2.8 ล้าน แต่ขายตลาดหุ้นอินโดนีเซีย US$3.2 ล้าน และไทย US$1.5 ล้าน ค่าเงินภูมิภาคเช้านี้ทรงตัว Flow น่าจะไหลเข้าแต่เบาบาง
ข่าว/หุ้นเด่นมีประเด็น
(-) ส่งออกยังอ่อนแอกว่าที่คาด ส่งออกเดือนพ.ค. หดตัว 2.1% Y-Y ทำให้การส่งออก 5 เดือนแรกหดตัว 1.2% Y-Y ถ้าไม่รวมทองคำ การส่งออก 5M14 จะหดตัวถึง 2% Y-Y สินค้าเกษตร (ข้าว ยางพารา อาหารทะเลแช่แข็ง) ยังคงเป็นสาเหตุหลักของการหดตัวดังกล่าว ส่วนตลาดส่งออก ไม่มีตลาดใดน่าห่วง การลดลงของญี่ปุ่นในเดือน เม.ย.-พ.ค. เป็นผลจากการขึ้นภาษี VAT ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ถ้าดูเป็นรายเดือน เริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของการส่งออกสินค้าเกษตร แต่การที่ไทยถูกสหรัฐปรับลดอันดับด้านการค้ามนุษย์ อาจทำให้การส่งออกสินค้าประมงชะงักในระยะสั้น การส่งออกในปีนี้ที่ตลาดคาดโต 4-5% น่าจะเป็นไปได้ยาก เรายังแนะนำซื้อ CPF ส่วน TUF รอซื้ออ่อนตัว
(+) กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง แม้ว่างานประมูลในปีนี้จะล่าช้าไปบ้างเพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคสช. ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างรถไฟทางคู่ (ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย) ที่เลื่อนไปประมูล 15 ก.ค. การขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 และงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต แต่ไม่มีผลต่อประมาณการกำไรในปี 2014 ของเรา เรายังคงน้ำหนัก Overweight จากแนวโน้มโครงการต่างๆที่จะมากขึ้นในปีหน้า ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมเสนอแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งแบ่งเป็น 2 ระยะ คืองบประมาณลงทุนปี 2015 (วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นโครงการเดิม เช่นรถไฟรางคู่และรถไฟฟ้าสีต่างๆ และงบลงทุนระยะ 8 ปี (ปี 2015-22) แบ่งเป็น 3 เฟสๆละ 2-3 ปี Top Pick ยังคงเป็น STEC (ราคาเป้าหมาย 27.50 บาท) รองลงมาคือ CK (เป้าหมาย 24.50 บาท) ส่วน ITD (เป้าหมาย 5.15 บาท) ความสามารถในการทำกำไรด้อยกว่าบริษัทอื่น จึงแนะนำเป็นเล่นเก็งกำไรตามข่าว
(+) EGCO ซื้อโรงไฟฟ้าถ่านหิน Masinloc Power Partner Co. Ltd. ที่มีกำลังการผลิตปัจจุบัน 630 เมกะวัตต์ (MW) ในฟิลิปปินส์ด้วยจำนวนเงิน US$453 ล้าน การซื้อโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ทำให้กำลังการผลิตของ EGCO เพิ่มขึ้นอีก 258MW (5.7%) จากปัจจุบัน 4,518MW เป็น 4,776MW และในอีก 1-2 ปีข้างหน้า โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีโอกาสจะขยายกำลังการผลิตอีกเท่าตัวคืออีก 630MW และจะเริ่มขายไฟฟ้าในส่วนขยายประมาณปี 2019 ปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหิน Masinloc มีกำไรสุทธิปีละประมาณ 4,359 ล้านบาท เมื่อต้องรับรู้ส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนที่ถือ หักดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดจากการกู้สำหรับดีลนี้ EGCO จะมีกำไรเพิ่มขึ้น 1,000-1,140 ล้านบาท/ปี หรือ 16% ของประมาณการกำไรของ EGCO และจะทำให้มูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นอีก 10 บาทจากปัจจุบันที่ 155 บาท ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นมา 5 บาทวานนี้ยังไม่สะท้อนมูลค่าของโรงไฟฟ้าใหม่ เรายังคงแนะนำซื้อ
(+) TISCO เราคาดกำไรสุทธิ 2Q14 เพิ่ม 6% Q-Q แต่ยังคงลดลง 15% Y-Y กำไรที่ฟื้นตัว Q-Q จะมาจากการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง จากสถานการณ์ NPL ในกลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่เริ่มผ่อนคลาย ไม่ใช่มาจากการเติบโตของรายได้ เพราะคาดว่าสินเชื่อจะยังหดตัว 1-2% Q-Q เราปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2014 ลง 5% เป็นหดตัว 6% Y-Y จากการปรับลดการเติบโตของสินเชื่อในปีนี้เหลือ 6% จากเดิมคาด 10% แต่คงประมาณการกำไรปี 2015 ที่คาดเติบโต 14% Y-Y และปรับมาใช้ราคาเป้าหมายปี 2015 ที่ 57 บาท (PE 10 เท่า) เพราะสถานการณ์ที่แย่ที่สุดได้ผ่านไปแล้ว ยังคงแนะนำซื้อ
ตลาดหุ้นสหรัฐเปิดปรับตัวลงกว่า 100 จุด หลังประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ออกมาส่งสัญญาณว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงต้นปีหน้าซึ่งถือว่าเร็วกว่าคาด แต่เนื่องจากประธานเฟดเซนต์หลุยส์ไม่ได้อยู่ใน FOMC จึงทำให้หลังจาก DJIA ลงแรงแล้วก็ยังมีแรงซื้อกลับเข้ามาหนุนให้กลับมาปิดลบเพียง 21.38 จุดได้
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเป็นส่วนใหญ่ จากประเด็นความกังวลที่ว่าเฟดอาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด
ตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้ส่วนใหญ่เปิดลบเล็กน้อย คาดว่ายังกังวลกับโอกาสในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดของเฟด
ค่าเงินบาทเริ่มกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้ง แต่ยังไม่รุนแรงมากนัก โดยล่าสุดแกว่งอยู่ในกรอบ 32.43-32.48 บาท/ดอลลาร์
ราคาน้ำมันดิบในตลาด NYMEX ส่งมอบเดือน ส.ค. กลับมาปรับตัวลง 0.66 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยปิดที่ 105.84 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่าการผลิตน้ำมันในอิรักอาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศ
ราคาทองคำในตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค. ร่วงลง 5.6 ดอลลาร์/ออนซ์ มาปิดที่ 1,317 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากสัญญาทองคำพุ่งขึ้นติดต่อกันถึง 6 วันทำการในช่วงก่อนหน้า จึงทำให้เริ่มมีแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
27 มิ.ย. - ไทย: ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (พ.ค.), ธปท.แถลงประมาณการเศรษฐกิจปี 2014-15
- อังกฤษ: 1Q14 GDP
30 มิ.ย. - ไทย: ธปท.รายงานเศรษฐกิจเดือน พ.ค.
1 ก.ค. - ไทย: อัตราเงินเฟ้อ (มิ.ย.), เริ่มใช้ SET50-SET100 ชุดใหม่ โดยSET50 หุ้นที่เอาเข้า KKP, M หุ้นที่เอาออกคือ CK, THAI
- จีน: Manufacturing PMI (มิ.ย.)
- ออสเตรเลีย: ธนาคารกลางประชุม
- สหรัฐ: ISM Manufacturing (มิ.ย.)
- ยูโรโซน: Markit Eurozone Manufacturing PMI (มิ.ย.)
2 ก.ค. - สหรัฐ: การจ้างงานภาคเอกชน (มิ.ย.) ตลาดคาดเพิ่มขึ้นเป็น 2.05แสนตำแหน่งจาก 1.79 แสนตำแหน่งเดือน เม.ย.
3 ก.ค. - จีน: Non-manufacturing PMI (มิ.ย.)
- สหรัฐ: การจ้างงานและอัตราการว่างงาน (มิ.ย.)
- ยูโรโซน: Markit Eurozone Manufacturing PMI (มิ.ย.)
Contact person : Somchai Anektaweepon
Research Dept. Tel: 02-646-9967, 02-646-9852