- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 04 September 2015 15:44
- Hits: 2014
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET ยังแกว่งตัว หลังไม่ผ่าน 1,384 จุด กลยุทธ์ยังเน้นหุ้น Domestic Play ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ (ROBINS, SCC, BTS, EASTW) และยังเลือก SCC(FV@B580) Top pick
โอกาสการปรับลด GDP โลกเพิ่มขึ้น..หลังจีนชะลอตัว
ปัจจัยภายนอกยังคงปกคลุมตลาดหุ้นโลกและอาจจะทำให้ยังมีความผันผวนอยู่ โดยเฉพาะความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกอาจจะต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งทำให้ IMF มีแนวโน้มที่จะปรับลด GDP Growth โลกลงจากเดิมที่ประเมินไว้ 3.3% ในปี 2558 (เทียบกับ 3.4% ในปี 2557) ทั้งนี้ปัญหาหลักน่าจะเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน (เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก) ที่อาจเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย (7% ปี 2558) และน่าจะถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ (เศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก) สะท้อนจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐมีความขัดแย้งกัน ระหว่างภาคการผลิตและการบริโภค กล่าวคือ ดัชนีภาคการผลิตยังชะลอตัว (ดัชนี ISM เดือน ส.ค. อยู่ที่ 51.1 ต่ำกว่าผลสำรวจ เช่นเดียวกับยอดสั่งสินค้า เดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 0.4% ต่ำกว่าเดือน มิ.ย.) ส่วนการบริโภคภาคครัวเรือนแม้มีสัญญาณ
ที่ดีขึ้นตามตลาดแรงงาน แต่อย่างไรก็ตามล่าสุดพบว่ายอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์สิ้นสุด 29 ส.ค. 58 ยังแกว่งตัว โดยล่าสุดเพิ่ม 12,000 ราย อยู่ที่ 2.82 แสนราย มากกว่าตลาดคาด และวันนี้จะมีการรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (non farm payrolls) ซึ่งตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2 พันตำแหน่ง หลังจากที่ปรับตัวลดลงติดต่อกัน 2 เดือน ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่บ่งชี้ว่าอัตราการว่างงานจะลดลงจาก 5.3% หรือไม่ และถือเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะน้ำหนักต่อการตัดสินใจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดในช่วงเวลานี้หรือไม่
ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ยังคงกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัว เช่น ญี่ปุ่นพบว่าอัตราเงินเฟ้อล่าสุดอยู่ที่ 0.2% และตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเฉลี่ย 1.22% ต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ซึ่งอาจจะทำให้แผนจัดเก็บภาษีผ่านการเพิ่ม sale tax อีก 2% เป็น 10% เดือน เม.ย. 2560 อาจจะถูกเลื่อนออกไป ขณะที่ทางฝั่งยุโรป ผลการประชุมของธนาคารกลาง (ECB) วานนี้ ยังคงสรุปให้มีการนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไป คือยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.05% และยังให้เดินหน้าอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่าน QE เดือนละ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเนื่องไปจนถึง ก.ย. 2559 และมีแนวโน้มจะยืดการใช้ออก QE ไปหากทุกอย่างยังมีมีพัฒนาการเชิงบวก
คาดดัชนีความเชื่อมั่นจะดีขึ้น...หลังการกระตุ้นของรัฐ
ดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคล่าสุด เดือน ส.ค. อยู่ที่ 72.3 ยังคงลดลงต่อเนื่อง และต่ำสุดในรอบ 15 เดือน (นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2557) หลัก ๆ คาดว่ามาจากความกังวลต่อเหตุการณ์ระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ และผลผลิตเกษตรที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง และราคาพืชผลทางการเกษตร (ข้าวและยางพารา) ที่ลดต่ำตามภาวะตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ASPS เชื่อว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคน่าจะค่อย ๆ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในเดือน ก.ย. เป็นต้นไป หลังจากที่ภาครัฐได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น 1-3 เดือน เป็นเงินกว่า 1.3 แสนล้านบาท ผ่านการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงคาดว่า GDP Growth จะดีขึ้นตั้งแต่ในงวด 4Q58 เป็นต้นไป โดย GDP Growth ในงวด 4Q58 น่าจะดีกว่างวด 3Q58 ที่คาดว่าจะเป็นระดับต่ำสุดของปีนี้ จากการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัว และการส่งออกที่ยังคงติดลบ โดยมีการใช้จ่ายภาครัฐเป็นส่วนเดียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในขณะนี้ ดังนั้นโดยรวมคาดว่า GDP Growth ในงวด 2H58 น่าจะสูงกว่าประมาณการเดิมที่ 2% (1H58 GDP Growth อยู่ที่ 2.9% และ ทั้งปี 2558 อยู่ที่ 2.5%) จึงเป็นไปได้ที่ GDP Growth ของทั้งปี 2558 จะอยู่ที่ 2.8-3% ซึ่งขณะนี้นักเศรษฐศาสตร์ของ ASPS อยู่ระหว่างการทบทวน GDP Growth ปี 2558
ด้วยปัจจัยหนุนดังกล่าว ทำให้เชื่อว่าแนวโน้มการทำกำไรของตลาดน่าจะมีโอกาสที่ดีขึ้นในงวด 4Q58 เช่นกัน ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นว่ากำไร ตลาดที่ประเมินไว้ล่าสุด คือ EPS ที่ 89.63 บาท ในปี 2558 และ 101.92 บาท ในปี 2559 มีความเป็นไปได้สูง (มี Expected PER 15.4 เท่า และ 13.57 เท่า ตามลำดับ) หากทุกอย่างเป็นไปตามที่กล่าวมา เชื่อว่าทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้นน่าจะได้ผ่านจุดเลวร้ายไปแล้ว กลยุทธ์การลงทุนจึงยังคงเน้นไปที่หุ้น Domestic Play ที่ได้ประโยชน์จากแผนกระตุ้นภาครัฐ และเป็นหุ้นที่ยัง Laggard เช่น CK, SCC, DRT, ROBINS, SYNTEC
ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. ต่างชาติยังขายสุทธิสะสมทั้ง 5 ประเทศ
ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. จนถึงปัจจุบัน แม้ตลาดหุ้นในภูมิภาคจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นมา แต่ต่างชาติยังคงขายสุทธิสะสมทั้ง 5 ประเทศ โดย วานนี้ยังขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 113 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) และเป็นการขายเกือบทุกตลาด ยกเว้น ไต้หวันที่ซื้อสุทธิราว 114 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ส่วนที่เหลือขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 140 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 20) รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ขายสุทธิราว 19 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับอินโดนีเซียขายสุทธิราว 21 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) และ ไทยต่างชาติขายสุทธิราว 46 ล้านเหรียญ หรือ 1,648 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 2,988 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศศซื้อสุทธิ 13,482 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 5,675 ล้านบาท ส่วนทางค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 35.83 บาท/ดอลลาร์
ต่างชาติขายสุทธิไทยเป็นปีที่ 3 รองรับ FED ขึ้นดอกเบี้ย
เป็นที่สังเกตว่า ต่างชาติได้ทยอยขายหุ้นในเอเซียนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้ แต่สำหรับประเทศไทย ต่างชาติได้ขายต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จนทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติลดลงไปต่ำสุดที่ 31.78% (รวม NVDR ด้วย) ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 7 ปี ทั้งนี้หากพิจารณาภาพข้างต้นจะพบว่าจุดต่ำสุดที่ใกล้เคียงกับครั้งนี้คือ เมื่อ 31 ธ.ค. 2551 และปีที่มีสัดส่วนการถือครองของต่างชาติต่ำกว่าคือปี 2547 อยู่ที่ 28.53% อาจมีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น
เชื่อว่าการที่ต่างชาติขายหุ้นในเอเซียนั้นถือว่าเป็นการปรับพอร์ตของนักลงทุนสถาบันเพื่อรองรับนโยบายการเงินของ ธนาคารกลางสหรัฐหรือ Fed ที่เตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ย สะท้อนจากปี 2547 เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว (GDP Growth สูงถึง 4.4%yoy ในงวด 2Q47)จึงทำให้ Fed เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Rate) ต่อเนื่องหลายปีติดต่อกัน ระหว่าง มิ.ย. 2547 – ส.ค. 2550 กล่าวคือ ปรับขึ้นจาก 1.25% เป็น 5.25% ซึ่งทำให้เกิดการดึงเงินกลับไปยังสหรัฐ และผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่รวดเร็วได้กดดันให้ GDP Growth ของสหรัฐชะลอตัวลงเหลือเพียง 3.4% และลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากนั้นจนถึงปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่เกิด วิกฤติ subprime ในสหรัฐ
ขณะที่ไทย ในช่วงก่อนที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในปี 2547 นั้น GDP Growth ยังคงร้อนแรงโดย งวด 1Q47 เติบโตสูงถึง 7.9% ก่อนที่จะค่อยๆ ชะลอความแรงลงหลังจาก ธปท. ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP 1 วัน) ขึ้นจาก 1.25% เป็น 1.5% ราวเดือน ส.ค.47 (ตามหลัง Fed ประมาณ 2 เดือน) และปรับขึ้นต่อเนื่องอีกหลายครั้งเป็น 5% ระหว่างเดือน ต.ค. 47 ถึง ธ.ค. 49 แต่ GDP Growth ของไทยก็ยังอยู่ในระดับทรงตัวที่ 4-5.5% ก่อนที่จะได้รับผลจากวิกฤติ subprime ในช่วงปี 2551 เช่นกัน
ในครั้งนี้อาจจะคล้ายกับครั้งที่แล้ว คือ สหรัฐเตรียมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย แต่เศรษฐกิจเอเซีย โดยเฉพาะไทย ถือว่าอยู่ในภาวะชะลอตัวจากปัญหาเศรษฐกิจโลก จึงคาดว่าจะทำให้สหรัฐน่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นไปค่อยไป ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะยืนดอกเบี้ยนโยบาย ณ ระดับ ปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาเงินบาทได้อ่อนตัวลงมาระดับหนึ่งและ รัฐได้เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว คงต้องดูผลกระทบที่ขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวมก่อนการตัดสินใจหลังจากนี้ จึงคาดว่าประเด็นเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐน่าจะสะท้อนในราคา และ ตลาดหุ้นปัจจุบันแล้ว
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์