- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 03 September 2015 16:45
- Hits: 1630
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
หลังปรับคาด SET จะขึ้นไปทดสอบ 1,384 จุดอีกครั้ง แต่เนื่องจากใกล้ดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 2558 (อิง PER 15.5 เท่า) อาจกดดันให้ SET ผันผวนต่อไป ระยะสั้นยังเน้นหุ้น Domestic Play ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ (ROBINS, SCC, BTS, EASTW) เลือก SCC(FV@B580) Top pick
การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐยังมีโอกาสเลื่อนไปเป็นต้นปี 2559
การรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐล่าสุด ยังแสดงสัญญาณฟื้นตัว แม้ยังมีความขัดแย้งอยู่บ้าง สะท้อนจากตัวเลขภาคการผลิตยังชะลอตัวลง กล่าวคือ ดัชนี ISM เดือน ส.ค. อยู่ที่ 51.1 ต่ำกว่าผลสำรวจที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 52.5 ตามมาด้วย ยอดสั่งสินค้าภาคการผลิต เดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 0.4% ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 1.8% ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือนยังคงมีสัญญาณที่ดีขึ้นตามตลาดแรงงาน ทั้งนี้ต้องติดตามการรายงานตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ ยอดการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (non farm payrolls) เดือน ส.ค. ที่จะประกาศในวันที่ 4 ก.ย. ซึ่งจะผลทำให้อัตราการว่างงานลดลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 5.3% หรือไม่ ซึ่งถือเป็นปัจจัย 1 ใน 2 ประการ ที่จะมีผลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed อย่างไรก็ตามอีกปัจจัยคือ อัตราเงินเฟ้อ ปัจจุบันยังอยู่ที่ระดับ 0.1% (ต่ำกว่า 1% มาตั้งแต่ พ.ย.57) ซึ่งเชื่อว่าทำให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมของ Fed ในวันที่ 16-17ก.ย. มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย
นับว่าสอดคล้องกับผลสำรวจล่าสุดของ Bloomberg จากนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด 54 ราย (ระหว่างวันที่ 27-31 ส.ค.) พบว่า 48% ของผู้ที่ตอบ คาดว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 16-17 ก.ย. นี้ ซึ่งลดลงจากผลสำรวจครั้งก่อน เดือน ก.ค. ที่มีผู้สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยสูงถึง 77% ตรงกันข้าม จำนวนผู้ที่คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยหลังเดือน ก.ย. มีเพิ่มขึ้น กล่าวคือ คาดว่าจะขึ้นในเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้นมาเป็น 17% จาก 8% และคาดว่าจะขึ้นเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้นมาเป็น 24% จาก 11% ซึ่งสอดคล้องกับฝ่ายวิจัยที่เชื่อว่า Fed น่าจะไม่เร่งรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยเร็วสุดในปลายปี คือ 15-16 ธ.ค. 2558 หรืออาจเป็นต้นปี 2559
Stock น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น สะท้อนกำลังซื้อของสหรัฐดีขึ้น
ราคาน้ำมันดิบโลกยังทรงตัวได้ในระดับสูง แม้ว่าวานนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ได้รายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ สิ้นสุด 28 ส.ค. เพิ่มขึ้นราว 4.7 ล้านบาร์เรล (เป็นการเพิ่มขึ้นในสัปดาห์เดียวที่สุงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. และมากกว่าคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1 แสนบาร์เรล) ส่งผลให้สต็อกน้ำมันดิบล่าสุดอยู่ที่ 455.4 ล้านบาร์เรล และเช่นเดียวกับสต็อกน้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น กล่าวคือ น้ำมันกลั่น Heating Oil และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 115,000 บาร์เรล อยู่ที่ 150 ล้านบาร์เรล เนื่องจากสิ้นสุดฤดูกาลขับขี่ในสหรัฐแล้ว ตรงข้ามกับสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 271,000 บาร์เรล อยู่ที่ 214.2 ล้านบาร์เรล สะท้อนกำลังซื้อของประชาชนที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบที่สามารถปรับขึ้นได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากตัวเลขชี้วัดภาคแรงงานของสหรัฐที่ค่อนข้างดี โดยเฉพาะประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานนอกภาคเกษตรที่ปรับตัวขึ้นมากกว่าคาดในไตรมาส 2 หนุนต่อ demand การใช้น้ำมัน ฉะนั้น คาดว่าราคาน้ำมันจึงยังน่าจะค่อยๆ ดีขึ้นในช่วงสั้น ส่งผลดีต่อหุ้นน้ำมัน จึงยังคงแนะนำสะสมหุ้น PTT (FV@360) เนื่องจากมี upside สูงถึง 39%
ต่างชาติยังคงขายหุ้นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 159 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) โดยเป็นการขายเกือบทุกตลาด ยกเว้นประเทศเดียวที่ซื้อสุทธิ คือ ซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 5 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน) ที่เหลืออีก 4 ประเทศ ยังคงขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ที่ถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 55 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 19) รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ ถูกขายสุทธิราว 42 ล้านเหรียญ เช่นเดียวกับอินโดนีเซียถูกขายสุทธิราว 39 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ส่วนไทยต่างชาติสลับมาขายสุทธิสูงสุดอีกครั้งราว 28 ล้านเหรียญ หรือ 1,002 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 859 ล้านบาท
ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 12,621 ล้านบาท ตรงข้ามกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 6,724 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนสำคัญกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ 35.77 บาท/ดอลลาร์
กำไรตลาด และ GDP น่าจะดีขึ้นงวด 4Q58
แม้วานนี้คณะรัฐมนตรีฯ ได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นไปแล้ว แต่ยังมีมาตรการอื่นๆ ตามมา เช่น แนวคิดที่จะปลดล๊อกรถยนต์คันแรก ให้สามารถขาย/เปลี่ยนมือได้หลังจากที่ครบ 3 ปี จากเดิมที่ 5 ปี ซึ่งเงื่อนไขเดิมนั้น รถยนต์คันแรก ที่ถูกยึดต้องติดอยู่กับผู้ให้กู้ยืม (ที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ ได้แก่ KKP, TCAP, TISCO ซึ่งคิดเป็น 70%, 53%, 63%, ของสินเชื่อรวม) ให้สามารถปล่อยออกมาในตลาดได้ แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถยนต์จะต้องเผชิญกับการตั้งสำรองการด้อยค่าของรถยนต์เพิ่มเติมตามราคารถยนต์มือสองที่ลดลง (จากผลกระทบของนโยบายรถยนต์คันแรก) แม้ได้มีการตั้งสำรองฯ ไปจำนวนมากแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ก็ตาม ตรงกันข้ามผู้ที่ได้ประโยชน์น่าจะเป็นกลุ่มคนกลางที่ทำหน้าที่ประมูลรถยนต์ (AUCT) เพราะทำให้มีปริมาณรถยนต์ออกสู่
ตลาดมากขึ้น เป็นปัจจัยหนุนให้รายได้ค่าบริการเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าจะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งโดยรวมคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดอย่างน้อย 1-2 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นช่วง Honey moon period ของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จนกว่าตลาดจะรับรู้ว่ามาตรการทั้งหมดที่พูดมาจะเป็นจริงดังที่นำเสนอหรือไม่
เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น จึงคาดว่าจะมีผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมได้ราวงวด 4Q58 ซึ่งน่าจะทำให้ GDP Growth มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากงวด 3Q58 ที่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ราว 2% (ลดลงจากงวด 1H58 เฉลี่ย 2.9%) และเช่นเดียวกับผลกำไรของตลาดน่ามีสัญญาณที่ดีขึ้นในงวด 4Q58 โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้ประโยชน์โดยตรง เริ่มจากกลุ่มที่ให้บริการการเงินแก่รากหญ้าที่จะสร้างอาชีพได้ เช่น SINGER (ธุรกิจบัตรเติมเงิน/หัวปั้มน้ำมัน) ธุรกิจการเงินที่เน้น SMEs (KBANK)
กลุ่มค้าส่ง-ค้าปลีก (ROBINS/COM7 ราคายัง Laggard) แต่ในงวด 3Q58 คาดกำไรจะทรงตัวหรือใกล้เคียงกับงวด 2Q58 ซึ่งทำกำไรได้ราว 2.12 แสนล้านบาท ต่ำกว่าที่ ASPS คาดการณ์ เพราะเผชิญกับหลายปัญหา ตั้งแต่การฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ช้า และการลดลงของราคาน้ำมัน แต่อย่างไรก็ตามพบว่ามีอีกหลายบริษัทที่มีผลกำไรดีกว่าตลาดคาด เนื่องจากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยควบคุมค่าใช้จ่ายฯ (WORK) กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันขาลง ส่งผลให้ต้นทุนลดลง (TASCO) หรือกลุ่มที่พลิกกลับมากำไรได้ตามวัฏจักรขาขึ้น เช่น ปิโตรเคมี (IVL, IRPC, SCC) เป็นต้น โดยรวมแม้ทำให้กำไรตลาดปี 2558 ภายหลังการปรับปรุงล่าสุด ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ เติบโต 16.8% จากปี 2557 ซึ่งมีบางบริษัทที่เติบโตอย่างมากจากปี 2557 เริ่มจากกลุ่มแรกเติบโตสูงมาก เกินกว่า 2 เท่าตัว ได้แก่ WORK, IVL, TASCO กลุ่มสอง เติบโตเกิน 80% คือ VNG, WHA, TK และ BTS และหุ้น Turnaround คือ IRPC และ SVI อย่างไรก็ตามหากพิจารณา upside พบว่าหลายบริษัทพบว่าราคาตลาดเริ่มมีจำกัด จึงแนะนำสะสมหุ้นต่อไปนี้ IVL, BTS และ IRPC
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์