- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 26 June 2014 16:23
- Hits: 2411
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
โค้งสุดท้าย คาดว่าจะมีการทำ Window Dressing หุ้นที่เข้าข่ายจะให้ผลตอบแทนสูง 3.4% หากซื้อก่อนสิ้นงวด 3 วัน และขายหลังจากนี้ 2 สัปดาห์ หุ้นเด่นคือ ADVANC(FV@B270) และ PTTEP(FV@B195) เลือก เป็น Top picks
กลยุทธ์ “Window Dressing” หุ้นเด่น ADVANC/INTUCH/PTTEP
จากการวิเคราะห์เชิงปริมาณ พบว่า SET มีโอกาสปรับขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นไตรมาส 2 และขายใน 2 สัปดาห์ต่อมา โดยจากการศึกษาข้อมูลในรอบ 5 ปี ล่าสุด พบว่า SET Index สามารถปรับขึ้นถึง 4 ปี หรือราว 80% และให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2.35% แต่ผลตอบแทนจะสูงขึ้น หากใช้กลยุทธ์ซื้อหุ้นในช่วงเวลาที่สั้นลงคือ 3 วันสุดท้ายก่อนสิ้นไตรมาส (และขายใน 2 สัปดาห์ต่อมา) โดยพบว่าในช่วง 5 ปีหลังสุด พบว่าโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนสูงทุกครั้งหรือ 100% เฉลี่ย 2.29% ทั้งนี้เชื่อว่าเหตุผลหลักน่าจะเกิดจากการทำราคาปิดของหุ้นของกองทุน หรือสถาบันในประเทศ ก่อนสิ้นสุดงบรายไตรมาสมาส 2 โดยไม่น่ามาจากเหตุผลอื่น ๆ เช่น เก็งกำไรผลประกอบการงวดไตรมาส 2 ซึ่งปกติแล้วไตรมาส 2 มักจะเป็นงวดที่บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่มีผลประกอบการย่ำแย่ที่สุดในทุกปี และเป็นที่สังเกตว่าหุ้นที่กองทุนถือส่วนใหญ่จะเป็นหุ้น Big cap / Blue Ship ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และสภาพคล่องสูง
ฝ่ายวิจัยคัดเลือกหุ้นภายใต้แนวคิดการลงทุนดังนี้ 1) มีอัตราการเติบโตของกำไรมากกว่าตลาด 2) มี Dividend Yield สูง และ Expected P/E ไม่สูงมากนัก 3) ราคายังขึ้นล่าช้ากว่าตลาด หรือกลุ่ม (Laggard) พร้อมกับมี Expected P/E ต่ำ 4) มีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ได้หุ้นเด่นที่คาดว่าน่าจะเป็นเป้าหมายทำ Window Dressing มาจำนวน 7 ตัว คือ INTUCH, ADVANC, PTTEP, SCC, SCB, KBANK และ PTT
กลยุทธ์การลงทุนภายใต้ Window Dressing Play แนะนำให้ซื้อสะสมหุ้นก่อนสิ้นงวด 2Q57 3 วัน และขายหลังสิ้นงวด 2 สัปดาห์ จะให้ผลตอบแทนสูงสุด หรือ Expected Return สูงถึง 3.4% Top Picks เลือก INTUCH(FV@109) ADVANC(FV@B270) และ PTTEP(FV@B195) (อ่านรายละเอียด Quantitative Analysis ฉบับบ่ายวานนี้)
เศรษฐกิจสหรัฐช่วงที่เหลือปีนี้น่าจะโตเกิน 2% หลังชะลอตัวในงวด 1Q57
จากการเปิดเผยตัวเลขอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ งวด 1Q57 ขั้นสุดท้าย (ครั้งที่ 3) โตเพียง 1.5% (ต่ำสุดในรอบ 5 ปี และต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อนหน้าที่ 1.9%) เป็นผลมาจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ขยายตัวเพียง 0.3%qoq (ซึ่งเป็นระดับอ่อนแอสุดในรอบ 5 ปี) เนื่องจากผลกระทบจากสภาวะอากาศหนาวเย็นผิดปกติ รวมถึงค่าใช้จ่ายบริการสุขภาพที่ต่ำกว่าคาด แต่เชื่อว่าได้สะท้อนในราคาหุ้นในสหรัฐ ที่ปรับฐานในช่วงต้นสัปดาห์ และสะท้อน World bank ได้มีการปรับลดประมาณการ GDP ของสหรัฐลง 0.7% เหลือ 2.1%
หากพิจารณาจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่รายงานในเดือน เม.ย. และ พ.ค. ทั้ง ภาคครัวเรือน (70% ของ GDP) และภาคการผลิตและอุตสาหกรรม (ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และ ดัชนี PMI) มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง น่าจะทำให้ GDP Growth สหรัฐในช่วงที่เหลือดีขึ้นกว่างวด 1Q57 ทั้งนี้จากการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ ของบลูมเบิร์ก คาดว่า GDP Growth ในงวด 2Q57 จะขยายตัว 1.8%yoy ขณะที่งวด 2H57 จะต้องขยายตัว ได้ไม่ต่ำกว่าไตรมาสละ 2.6% หากอิงตามประมาณการ World Bank ที่กล่าวข้างต้น
ด้วยเหตุนี้จึงคาดว่า FED ยังคงเดินหน้าตัดลด QE ต่อเนื่องอีกเดือนละ 1 หมื่นล้านเหรียญฯ (คาดว่าจะเสร็จสิ้นราวเดือน ก.ย.-ต.ค. 2557) และพร้อมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายใน 6 เดือนแรกของปี 2558 หลังจากที่ยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% มานาน 5 ปีครึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยกดดันตลาดระยะสั้นและระยะกลาง แต่อย่างไรก็ตาม หากผลการขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่าตลาดคาด หรือ การขึ้นดอกเบี้ยยังทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐยังไปได้ดี เชื่อว่าตลาดหุ้นน่าจะตอบรับด้านบวกอีกครั้ง
สถานการณ์ในอิรักยังหนุนราคาน้ำมันดิบเดินหน้าต่อ PTT/PTTEP เด่นสุด
จากการรายงานสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ สัปดาห์ล่าสุดพบว่า ปรับเพิ่มขึ้นถึง 1.74 ล้านบาร์เรล หลังจากที่ลดลงติดต่อกัน 3 สัปดาห์ก่อนหน้า ขึ้นแตะระดับ 388.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าการส่งออกน้ำมันของอิรักจะเพิ่มขึ้นในเดือนหน้า เนื่องจากความรุนแรงทางที่เกิดขึ้นในไม่ส่งผลกระทบกำลังการผลิตน้ำมันที่ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อสถานการณ์ในอิรัก ยังคงกดดันตลาดน้ำมันโลก ขณะที่สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น หนุนให้ราคาน้ำมันดิบแกว่งตัวขึ้นต่อ
ล่าสุดพบว่า ราคาน้ำมันในตลาดล่วงหน้า WTI ส่งมอบเดือน ก.ค. ยังคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแตะระดับ 106.50 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในขณะที่ Brent และ ดไบ ราคาเริ่มทรงตัว อยู่ที่ 114.23 และ 110.11 เหรียญฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยจากต้นปี 2557 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 105.8เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าสมมติฐานของ ASP ที่ราว 100 เหรียญฯ ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบยังทรงตัวในระดับสูงเกิน 110 เหรียญฯ ต่อไปอีกระยะ ส่งผลให้นักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานมีการปรับเพิ่มประมาณการราคาน้ำมันดิบขึ้นอีก 10 เหรียญฯ ซึ่งจะมีผลทำให้ประมาณการกำไรและ Fair Value ปี 2557 มีโอกาสขยับสูงขึ้นจากปัจจุบัน จึงยังคงคำแนะนำซื้อหุ้น PTT (FV@B 360) และ PTTEP (FV@B 195)
ต่างชาติยังไม่มีท่าทีจะหวนกลับมาตลาดหุ้นไทย
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 182 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากวันก่อนหน้า) แรงซื้อหลักๆยังคงมาจากไต้หวัน ที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 131 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 11%) ส่วนประเทศอื่นๆต่างสลับกลับมาซื้อสุทธิเบาบาง เริ่มจาก เกาหลีใต้ซื้อสุทธิราว 29 ล้านเหรียญฯ เช่นเดียวกับ ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย สลับมาซื้อสุทธิราว 16 และ 12 ล้านเหรียญฯ ตามลำดับ เว้นเพียงแต่ไทยที่ยังคงขายสุทธิเป็นวันที่ 11 แต่ลดลงถึง 69% จากวันก่อนหน้า เหลือเพียงราว 6 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น (202 ล้านบาท)
แม้ว่าต่างชาติจะเริ่มกลับมาซื้อหุ้นภูมิภาคอีกครั้ง แต่ตลาดหุ้นไทยยังคงถูกขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 11 รวม 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเชื่อว่ายังคงเป็นผลมาจากการเมืองที่กดดัน และ ยังมีปัจจัยเพิ่มเติมกรณีของสหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าแรงขายของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยน่าจะเหลืออยู่อีกไม่มากแล้วและน่าจะเป็นการรอจังหวะเพื่อเข้าซื้อในรอบต่อไปเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล