- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 25 June 2014 17:29
- Hits: 2530
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
หุ้นส่งออกยังได้รับผลกระทบทางจิตวิทยา จากการสร้างแรงกดดันของสหรัฐ และยุโรปต่อประเทศไทย ระยะสั้นจึงยังเน้นสะสมหุ้นพลังงาน โดยเลือก PTTEP(FV@B195) และ PTT(FV@B360) เป็น Top picks และยังแนะนำถือหุ้นพลังงานทดแทน เช่น KSL(FV@B17)
ภาคครัวเรือนสหรัฐยังแข็งแกร่ง หนุนการใช้นโยบายขึ้นดอกเบี้ยในปี 2558
ดัชนี ชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐ มีแนวโน้มตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นการยืนยันถึงภาคครัวเรือนที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เริ่มจากยอดขายบ้านใหม่ เดือน พ.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 18.6%mom (เพิ่มขึ้นในอัตราเร็วที่สุดในรอบ 22 ปี และเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ พ.ค. 2551) และขยายตัว 16.9%yoy หลังจากการรายงานยอดขายบ้านมือสอง เดือน พ.ค. วานนี้ปรับเพิ่มขึ้น 4.9%mom (เป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ ต.ค. 2556 และสูงกว่าที่คาดราว 2.9%) ทั้งนี้เป็นผลจากการจ้างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามพบว่าราคาขายโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัว กล่าวคือราคาบ้านในช่วง 12 เดือนนับจาก เม.ย. 2556 - เม.ย. 2557 เพิ่มขึ้น 10.8%yoy ชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ เม.ย. 2556 - มี.ค. 2557 ที่ขยายตัว 12.4%
ทั้งนี้ เนื่องจากกำลังซื้อที่ชะลอลง หลังจากจากต้นทุนเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. อยู่ที่ระดับ 85.2 สูงสุดในรอบกว่า 6 ปี ตามมาด้วยภาคการผลิต พบว่าดัชนี PMI (มาร์กิต) ในเดือน มิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 57.5 (สูงสุดในรอบ 4 ปี) เพิ่มขึ้น 2.7% mom ซึ่งน่าจะหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในงวด 2Q57 เป็นต้นไป หลังจากที่งวด 1Q57 ขยายตัวได้เพียง 1.9% โดยหากอิงการประมาณการของ World Bank ที่คาดว่าตลอดปี 2557 เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวได้ 2.1% นั่นแสดงว่าในอีก 3 ไตรมาสที่เหลือของปีนี้ ต้องขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2% ในแต่ละไตรมาส ซึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐน่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ และ FED ยังคงเดินหน้าตัดลด QE ต่อเนื่องอีกเดือนละ 1 หมื่นล้านเหรียญฯ (คาดว่าจะเสร็จสิ้นราวเดือน ก.ย.-ต.ค. 2557) และพร้อมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายใน 6 เดือนแรกของปี 2558 หลังจากที่ยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% มานาน 5 ปีครึ่ง การฟื้นตัวของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ นับจากนี้น่าจะขึ้นกับปัจจัยพื้นฐานราคาหุ้นเป็นหลัก
ราคาน้ำมันดิบเดินหน้าต่อ จากปัญหาแหล่งผลิต หนุน PTT, PTTEP
ราคาน้ำมันดิบโลกยังทรงตัวในระดับสูง โดยสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ส่งมอบเดือน ส.ค. ปรับขึ้นเป็นวันที่ 8 จาก 9 วันหลังสุด ราคาขึ้นไปเหนือ 106 เหรียญฯ/บาร์เรลอีกครั้ง เช่นเดียวกับสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า Brent ส่งมอบเดือน ส.ค. ทรงตัวใกล้ 115 เหรียญฯ/บาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบตลาดสิงคโปร์ พุ่งทะยานแตะ 112 เหรียญ/บาร์เรล แต่พบว่าค่าการกลั่น (น้ำมันสำเร็จรูป หัก ต้นทุนน้ำมันดิบ) ทรงตัวที่ 4.7 เหรียญฯ/บาร์เรล ซึ่งยังคงดีต่อโรงกลั่น ทั้งนี้สาเหตุยังมีปัจจัยกดดันหลักจากปัญหาในแหล่งผลิต
สถานการณ์สู้รบในอิรักยังคงเป็นความเสี่ยงหลัก และอาจยืดยาวกว่าที่คาด หลังจากกองกำลังติดอาวุธ ISIL ยังคงรุกคืบเข้าใกล้กรุงแบกแดดเหลือไม่ถึง 100 กม. แล้ว แม้จะห่างไกลจาก โรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งมีแหล่งผลิต 3 ใน 4 อยู่ในภาคใต้ของอิรักก็ตาม
นอกจากนี้ การปิดท่าเรือขนส่งน้ำมันในลิเบีย ที่เพิ่งเปิดทำการในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เกิดเหตุขัดข้อง ก็เป็นอีกปัจจัยกดดันต่อ supply กล่าวโดยสรุป สงครามในอิรักผลักดันราคาน้ำมันโลกให้ขยับขึ้นโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบได้ขึ้นแตะจุดสูงสุดเดิมที่ 110 เหรียญฯ ต่อบาร์เรลเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ราคาเฉลี่ยจากต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 105.8 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าสมมติฐานของ ASP ที่ราว 100 เหรียญฯ ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบยังทรงตัวในระดับสูงเกิน 110 เหรียญฯ ต่อไปอีกระยะ ส่งผลให้นักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานมีการปรับเพิ่มประมาณการราคาน้ำมันดิบขึ้นอีก 10 เหรียญฯ ซึ่งจะมีผลทำให้ประมาณการกำไรและ Fair Value ปี 2557 มีโอกาสขยับสูงขึ้นจากปัจจุบัน จึงยังคงคำแนะนำซื้อหุ้น PTT (FV@B 360) และ PTTEP (FV@B 195)
หุ้นส่งออกถูกกดดัน..สหรัฐฯ และยุโรป ยังต่อต้านการยึดอำนาจไทย
เชื่อว่า หุ้นส่งออกที่เน้นไปยังตลาด สหรัฐฯ และยุโรป น่าจะยังได้รับแรงกดดัน หลังสหรัฐได้ขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) ไทย ในเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ อันดับ 3 ซึ่งเป็นขั้นต่ำสุด โดยสินค้าส่งออกในตลาดนี้คือ อาหารทะเล และสิ่งทอ เป็นต้น ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ได้ระงับการเยือนอย่างเป็นทางการระหว่างกัน รวมถึงไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement) กับประเทศไทย จนกว่าไทยจะกลับเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย จะทำให้ไทยอาจสูญเสียโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือ หรือร่วมมือทางการค้า ระหว่างไทย ยุโรป หรือ FTA ที่ได้มีการเจรจาในรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งจะมีการบรรจุสินค้าแช่แข็ง อาทิ กุ้งแช่แข็ง เข้าไว้ในสัญญาดังกล่าว ซึ่งขณะนี้การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งส่งออกไปยุโรป กำลังจะสิ้นสุดสิทธิประโยชน์ทางภาษีการค้า หรือ GSP โดยเฉพาะกุ้งสด จะหมดอายุ GSP ในปีนี้ และในปี 2558 จะต้องจ่ายภาษีนำเข้าเพิ่มเป็น 12% จากปัจจุบัน
ทั้งนี้ หลังจากที่การส่งออกกุ้งแปรรูปไปยังยุโรปได้สิ้นสุดในปี 2556 ทำให้ปีนี้ไทยต้องจ่ายภาษีนำเข้าในอัตรา 20% จากเดิมที่จ่ายเพียง 7% ในที่สุดจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน และที่สำคัญอาจจะสูญเสียความเป็นผู้นำ ที่เคยเป็นผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่สุดของโลก
ทั้งนี้ การสร้างแรงกดดันต่อประเทศไทยจากทั้ง 2 ประเทศมหาอำนาจ มิใช่การคว่ำบาตรทางการค้า เนื่องจากสหรัฐ และ ยุโรปยังคงต้องการนำเข้าสินค้าจากไทย เนื่องจากสินค้าไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ เมื่อเทียบกับผู้ส่งออกรายอื่นๆ ในภูมิภาคเอเซีย แต่น่าจะมีผลต่อ sentiment เชิงลบต่อบริษัทจดทะเบียนไทยที่ส่งออกไปยัง 2 ตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารส่งออกที่มีผลิตภัณฑ์ อาหารทะเลแช่แข็ง ได้แก่ TUF (ส่งออกไปยังสหรัฐราว 13.4% ของรายได้รวม แยกเป็นการส่งออก กุ้ง 5.8% และ ทูน่า 7.6% ขณะที่ส่งออกไปตลาดอียู 7% ของรายได้รวม แยกเป็นกุ้ง 1.3% และ ทูน่า 5.7.%), CPF (ส่งออกไปตลาดสหรัฐเพียง 0.7% ของรายได้รวม และทั้งหมดเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้ง), CFRESH (ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งเป็นส่วนใหญ่ โดยอยู่ในตลาดสหรัฐ และ ยุโรป 7% และ 66%) เป็นต้น ซึ่งในที่สุดคาดว่ากลุ่มนี้อาจจะกระทบในเรื่องต้นทุนค่าแรงงานที่สูงขึ้น จึงมีความเสี่ยงต่อการปรับลดประมาณการได้
ขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการใช้แรงงาน จึงน่าจะกระทบในเรื่องของ sentiment มากกว่า และ หากพิจารณาตลาดส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของไทย พบว่าส่งออกไป 2 ประเทศ คือ สหรัฐ และ ยุโรป รวมกันราว 15% ของมูลค่าส่งออกรวม ที่เหลือเป็นการส่งออกไปยัง 3 ทวีปหลักคือ เอเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนต์ และ ตะวันออกกลางราว 70% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด จึงน่าจะกระทบในวงจำกัด ยกเว้นสินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กระจุกตัวอยู่ใน 2 ตลาดหลักนี้คือ สหรัฐ และ ยุโรป แต่เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดโลก การเปลี่ยนแปลงผู้ผลิต อาจจะเป็นเรื่องยุ่งยาก จึงเชื่อว่าจะผลกระทบจึงน่าจะอยู่ในวงจำกัดเช่นกัน
ต่างชาติกลับมาซื้อภูมิภาค แต่ยังขายไทย
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 182 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากวันก่อนหน้า) แต่แรงซื้อหลักๆยังคงมาจากไต้หวัน ที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 131 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 11%) ส่วนประเทศอื่นๆ ต่างสลับกลับมาซื้อสุทธิเบาบาง เริ่มจาก เกาหลีใต้ซื้อสุทธิราว 29 ล้านเหรียญฯ เช่นเดียวกับ ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย สลับมาซื้อสุทธิราว 16 และ 12 ล้านเหรียญฯ ตามลำดับ เว้นเพียงแต่ไทยที่ยังคงขายสุทธิเป็นวันที่ 11 แต่ลดลงถึง 69% จากวันก่อนหน้า เหลือเพียงราว 6 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น (202 ล้านบาท)
โดยรวมต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นวันที่ 11 รวม 1.2 หมื่นล้านบาท (แต่จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน 4.4 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเชื่อว่ายังคงเป็นผลมาจากการเมืองที่กดดัน โดยเฉพาะประเด็นล่าสุดคือ การที่สหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป ต่อต้านการยึดอำนาจของทหารอย่างชัดเจนดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามเชื่อว่าแรงขายของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยน่าจะเหลืออยู่อีกไม่มากแล้วและน่าจะเป็นการรอจังหวะเพื่อเข้าซื้อในรอบต่อไปเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล