- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 11 August 2015 18:20
- Hits: 5168
โบรกฯ คาด SET พฤหัสบดีนี้ แกว่งตัวกรอบแคบ ชี้จีนลดค่าเงินหยวนกดดัน พร้อมปรับลด GDP ไทยปีนี้เหลือ 2.5% จาก 3% แนะชะลอลงทุน
บล.ทรีนีตี้ คาด SET พฤหัสบดีนี้ แกว่งตัวในกรอบแคบ เหตุตลาดฯไร้ปัจจัยหนุนส่งผลให้วอลุ่มซบเซา ชี้จีนลดค่าเงินหยวนกดดันศก.ไทยหลายทาง พร้อมปรับลด GDP ไทยปีนี้เหลือ2.5% จากเดิม3% ขณะที่ราคาน้ำมันยังผันผวน มั่นใจเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ แนะชะลอลงทุนหรือลุยหุ้นเล็กที่งบเด่น ประเมินแนวรับ 1,400จุด แนวต้าน 1,430จุด
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยวันนี้ ดัชนีฯปรับตัวแดนลบ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาค ได้ปัจจัยกดดันจากการธนาคารกลางจีน(PBOC) ประกาศลดค่าเงินหยวนประมาณ1.9% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยจากปัจจัยดังกล่าวมีผลกระทบต่อ 3 ปัจจัยหลักในประเทศ ได้แก่
1.เม็ดเงินต่างชาติที่ยังไม่มีสัญญาณกลับเข้ามาลงทุนสาเหตุจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง 2.กระทบต่อภาคส่งออกให้ชะลอตัวลงไปในระยะยาวโดยจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ซึ่งโอกาสลดคำสั่งสินค้าในไทยน้อยลง ส่งผลให้อัตราการส่งออกโดยรวมปีนี้ยังติดลบต่อเนื่อง ดังนั้นบล.ทรีนีตี้ จึงเตรียมปรับลดประมาณการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ(GDP) ปีนี้ลงเหลือ2.5% จากเดิมคากว่าจะขยายตัวได้3% และ3.กดดันภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลง เนื่องจากนักเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ที่เข้ามาภายในประเทศส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นหลัก
นอกจากนี้ การขึ้นเครื่องหมาย XD ของหุ้นขนาดใหญ่อย่าง ADVANC ส่งผลกระทบต่อดัชนีอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเพียงการรีบาวน์ทางเทคนิค เนื่องจากปรับลดต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายวัน ประกอบกับกำลังการผลิตทั่วโลกยังคงล้นตลาด แต่อย่างไรก็ตามมองว่าภาพรวมราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงไม่สามารถทำ New low ได้ โดยทาง บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า ในช่วงปลายไตรมาส3/2558 และในไตรมาส4/2558 กำลังการผลิตจะทยอยลดน้อยลงตามความต้องการของตลาด จึงมองว่าช่วงสิ้นปี น้ำมันตลาด Brent จะแกว่งตัวอยู่ในระดับ55-60 เหรียญ/บาร์เรล ส่วนตลาดWTI จะแกว่งตัวอยู่ในระดับ 50-55 เหรียญ/บาร์เรล
"ราคาน้ำมันจะขึ้นก็ลำบาก แต่ก็ยากที่จะทำ New low ซึ่งไม่สามารถลงไปอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงQ1/58ได้ แต่แนวโน้มช่วงQ3-Q4/58 ดีมานด์กับซัพพลายจะลงตัวกันได้ไม่ยาก เพราะผู้ผลิตส่วนใหญ่อยู่ในช่วงทยอยพักกิจการบ้างในช่วงนี้ ส่วนประเด็นอิหร่านใกล้ยกเลิกการคว่ำบาตรยังไม่น่าห่วงเพราะว่าอิหร่านได้หยุดการผลิตมานานหลายปี หากจะกลับมาผลิตน้ำมันอีกครั้งจะสามารถผลิตได้เพียง 200,000บาร์เรล/วัน ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะกลับมาผลิตได้จำปริมาณที่ค่อนข้างสูงก่อนถูกคว่ำบาตรที่มีกำลังการผลิต 3,000,000บาร์เรล/วัน " นายณัฐชาต กล่าว
อีกทั้ง ด้านธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ที่ยังคงมีแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งต้องจับตาการประชุมเฟดในช่วงเดือนก.ย.58 ซึ่งมีโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตรา0.25% และในการประชุมเดือนธ.ค.58 ก็อาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เช่นเดียวกัน
สำหรับ แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันพฤหัสบดี คาดว่า ดัชนีฯ แกว่งตัวในกรอบแคบ เนื่องจากไม่มีปัจจัยใหม่หนุนตลาด อีกทั้งปริมาณการซื้อขายยังคงเบาบาง ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันคาดว่าจะSideway ส่งผลให้หุ้นขนาดใหญ่อย่างหุ้นกลุ่มพลังงานให้แกว่งตัวในกรอบแคบ
กลยุทธ์การลงทุน แนะนำ wait & see หรือเข้าลงทุนในหุ้นขนาดเล็กที่มีแนวโน้มผลประกอบการออกมาโดดเด่นทั้งในไตรมาส2/2558และไตรมาส3/2558 หุ้นเด่น SYNEX ราคาเป้าหมาย 5.60บาท และ KKC ราคาเป้าหมาย 4.50 บาท ประเมินแนวรับ 1,400จุด แนวต้าน 1,430จุด
ทางด้านนายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสายงานวิจัยลูกค้าบุคคล บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวลงต่อ โดยดัชนีฯ เจอแรงขายหุ้นในกลุ่มสายการบิน-ท่าอากาศยาน และกลุ่มสื่อสารออกมากดดัน โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มสื่อสาร อย่าง ADVANC ที่ร่วงหนัก จากการขึ้นเครื่องหมาย XD จนทำให้ราคาหุ้นหลุดเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน
ส่วนกรณีจีนลดค่าเงินหยวนลง 1.9% มองว่ากระทบต่อหุ้นในกลุ่มสายการบิน การท่องเที่ยว และการส่งออกค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการปรัลลดค่าเงินของจีนครั้งนี้ถือเป็นการรักษาสมดุลค่าเงิน หลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าเร็ว
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นในภูมิภาคอาเซียนต่างร่วงแรงถ้วนหน้า เริ่มจากตลาดหุ้นอินโดนีเซียปรับลงราว 2-3% ตลาดหุ้นมาเลเซียร่วงแรง 2 วันทำการถึง 3% ส่วนตลาดหุ้นสิงคโปร์ก็ร่วงราว 1.35% มองว่าน่าจะมาจากกองทุนรวมต่างชาติปิดกองออกไปบางส่วน อีกทั้งค่า PE ตลาดหุ้นในอาเซียนค่อนข้างแพง สวนทางกับภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว
สำหรับ วันพฤหัสฯ นี้ คาดหุ้นไทยแกว่งลงต่อ โดยทางเทคนิค หากดัชนีฯ หลุดแนวรับ 1,410 จุด มีโอกาสร่วงต่อหลุด 1,400 จุด อีกทั้งด้วยภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ ทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอลงทุนหุ้นไทย ดังจะเห็นได้จากแรงขายที่มีออกมาต่อเนื่อง การที่ต่างชาติจะกลับเข้ามาซื้อเต็มตัวอีกครั้ง อาจจะต้องรอให้ค่า PE ลดต่ำลงสู่ระดับ 10 เท่า ส่วนปัจจัยการเมืองไม่น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ต่างชาติเทขายหุ้นออกมาในช่วงนี้
ด้านกลยุทธ์ชะลอลงทุน พร้อมกับประเมินแนวรับ 1,400 จุด แนวต้าน 1,420 จุด
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย